30 เม.ย.62 - ที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา คณะสื่อมวลชนราว 20 คน พร้อมด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางนฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะของศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร คณะกรรมการชาวเล เครือข่ายชาวเล มูลนิธิชุมชนไท ได้ร่วมกันลงพื้นที่หมู่บ้านมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ เมื่อวันที่ 28-29 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ชาวมอแกนร่วมกันให้ข้อมูลว่า ขณะนี้เรือที่ถูกไฟไหม้ไปพร้อมกับบ้านจำนวน 32 ลำยังไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในช่วงหน้ามรสุมที่พวกตนไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวก็มักใช้เรือออกหาปลา แต่ปีนี้ไม่มีเรือ ทั้งนี้ปัจจุบันยังต้องอยู่กันอย่างแออัด บางครอบครัวอยู่กันถึง 8 คน โดยเฉพาะบ้านที่มีครอบครัวใหม่ก็ต้องอยู่รวมกับพ่อแม่เหมือนเดิมเพราะไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอให้มีการขยับขยายชุมชนไปอีกด้านหนึ่งของชายหาดอ่าวบอน แต่ได้รับการปฎิเสธ
"เรื่องนักท่องเที่ยวแต่งชุดบิกินี่หรือชุดว่ายน้ำเดินขึ้นมาเที่ยวหมู่บ้านจริงๆแล้วพวกเราก็รู้สึกอึดอัด เพราะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชน แต่เราก็ไม่รู้จะห้ามอย่างไร หากไกด์หรือธุรกิจนำเที่ยวบอกกับนักท่องเที่ยวให้เคารพและให้เกียรติพวกเราหน่อยก็เป็นเรื่องดีและสามารถแก้ปัญหาได้”ชาวมอแกน กล่าว
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่าที่หมู่เกาะสุรินทร์ มีปัญหาสถานะบุคคล จำนวน 193 คน ได้นำข้อมูลเดิมที่เคยสำรวจเมื่อปี 2559 และการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้หาพยานรู้เห็นการเกิด ตามมาตรา 23 และมาตรา 7 ทวิ ได้พบหมอตำแยที่ทำคลอด และนายอำเภอตะกั่วป่าได้ส่งปลัดฝ่ายทะเบียนมา พบว่าน่าจะเป็นไปได้ที่ใช้พยานรู้เห็นการเกิด และอาจจะสามารถยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยได้เลย และยังพบว่ามีชาวมอแกนอีกกลุ่มที่ไม่เคยได้รับสำรวจเลย เป็นกลุ่มคนไร้รัฐ
นางเตือนใจ กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าการท่องเที่ยวเป็นแบบไม่มีส่วนร่วม นักท่องเที่ยวขึ้นเกาะมา ใครอยากมาเดินดูบ้านชาวมอแกนก็ดูได้ตามสบาย ปัญหาคือทำอย่างไรจะกำหนดกติกาการเข้าชุมชนสำหรับนักท่องเที่ยว กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนมีวิถีชีวิตไม่มีพรมแดนรัฐชาติ อาจต้องประสานไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนพม่าเพื่อจัดการร่วมกัน
ขณะที่ผู้แทนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่าที่นี่เป็นพื้นที่ห่างไกล การที่เจ้าหน้าที่อำเภอมาสำรวจ ก็มีค่าใช้จ่ายแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูมรสุม เด็กส่วนมากเกิดโดยการทำคลอดของหมอตำแย แล้วเมื่อหมดฤดูมรสุมจึงไปแจ้งเกิดที่อำเภอ ซึ่งหากมีการทำข้อมูลบุคคลที่ตกหล่น กรมการปกครองจะส่งเจ้าหน้าที่มาช่วย กรณีแบบนี้ที่อำเภอตะกั่วป่า จะนำไปสู่การแก้ปัญหาชาวมอแกนไร้สัญชาติ และจะทำข้อเสนอต่อกรมการปกครอง เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่น อาทิ เกาะเหลาเหลียง และ เกาะพยาม
นางนฤมล กล่าวว่า มอแกนเป็นกลุ่มที่โยกย้ายถิ่นไปมา อาจต้องมีสิทธิอีกแบบ เราไม่สามารถปิดกั้นการเดินทางข้ามพรมแดนได้เพราะพวกเขาอยู่กันมานาน ต้องดูว่าการอพยพในปัจจุบันเป็นเพราะปัจจัยอะไร เพราะปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ ที่นี่เป็นอุทยานแห่งชาติ การท่องเที่ยวเป็นใหญ่ จริงๆควรมีการพูดคุยหารือเรื่องปัญหาต่างๆ และทางออกร่วมกับอุทยาน ธุรกิจท่องเที่ยวและชุมชนว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมอแกนมีศักดิ์ศรี ชาวมอแกนอยู่อย่างสบายๆ แต่อะไรๆเปลี่ยนไปมากมาย ในชุมชนไม่มีผู้นำชัดเจน เป็นสังคมเท่าเทียมกัน ทุกวันนี้ชุมชนมอแกนเป็นฝ่ายตั้งรับ การที่เขาต้องการอะไรในปัจจุบันต้องวิเคราะห์ให้ดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |