กกต.เงื้อต่อไม่รีบเคาะสูตรปาร์ตี้ลิสต์ หลังศาล รธน.เตรียมลงมติรับคำร้องผู้ตรวจการฯ หรือไม่สัปดาห์นี้ "ประชาชาติ-เพื่อชาติ" ปฏิเสธร่วมงาน พปชร. "อนุทิน" ย้ำชัดไม่เป็นนายกฯ ตาอยู่ ไม่เอาสูตรหาทางออกไม่ได้แล้วโยนเก้าอี้มาให้ ยังกั๊กพา ภท.ร่วมรัฐบาลขั้วเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐ
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับวิธีการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมรับหรือไม่รับพิจารณาคำร้องดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้แน่นอน ซึ่งก็พยายามเร่งให้มีการประชุมก่อนหรือหลังการประชุมวาระปกติที่ศาลจะมีประชุมทุกๆ วันพุธของสัปดาห์ โดยตอนนี้ตุลาการได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้พิจารณาครั้งนี้
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.แถลงย้ำว่า กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดได้ทันในวันที่ 9 พ.ค. ส่วนเรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมคณะกรรมการ กกต.เมื่อ 29 เม.ย. แต่ยืนยันว่าสูตรไม่ได้อยู่ในที่ประชุม กกต.แต่อยู่ในรัฐธรรมนูญ
ด้านความเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาล หลังมีกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐเริ่มทาบทามพรรคการเมืองจับมือตั้งรัฐบาล โดยมีการทาบทามพรรคประชาชาติและพรรคเพื่อชาติด้วย
เรื่องดังกล่าวนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ย้ำว่ายังไม่ได้มีการหารือหรือ พบปะกับใครในการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีการติดต่อพูดคุยจากใครมาถึงตนเอง รวมถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงในการหารือเข้าร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้หารือกับใคร หากมีก็ต้องแจ้งในที่ประชุมพรรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเพราะยังต้องรอการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจาก กกต.ในวันที่ 9 พ.ค.
"ยืนยันพรรคประชาชาติไม่ได้ฉีกสัตยาบันที่ทำไว้กับ 7 พรรคแนวร่วมในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. เพราะถือเป็นสัญญาประชาชน สัตยาบันที่ทำนั้นไม่ได้ทำกับพรรคการเมือง แต่ทำกับประชาชนด้วย พรรคประชาชาติจึงไม่หักหลังประชาชนเด็ดขาด" หัวหน้าพรรคประชาชาติกล่าว
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวเช่นกันว่า พรรคเคารพเสียงประชาชนและนโยบายที่ใช้หาเสียงที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ คสช. ที่ผ่านมาไม่เคยมีคนในฝ่าย คสช.ติดต่อมาแต่อย่างใด ยืนยันพรรคประชาชาติตระหนักว่า ในระบอบประชาธิปไตยต้องอยู่ข้างประชาชนและนักการเมืองต้องศรัทธาต่อประชาชน ก่อนและหลังการเลือกตั้งได้ร่วมตกลงและประกาศให้ประชาชนทั้งประเทศและสื่อมวลชนต่างประเทศทราบว่า จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยในการจัดตั้งรัฐบาล และหากดูคะแนนทั้ง 7 พรรคที่ร่วมลงสัตยาบัน Popular Vote มากกว่า 16.4 ล้านเสียง ส่วนพรรคที่สนับสนุนหัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ มี 3 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย ประชาชนปฏิรูป รวมกันเพียงประมาณ 8.8 ล้านเสียงเท่านั้น คะแนน Popular Vote นี้ยังไม่รวมถึงพรรคการเมืองอื่นที่ในช่วงหาเสียงที่หัวหน้าพรรคพูดผ่านสื่อสารมวลชนทั้งประเทศว่าไม่สนับสนุนหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าจำไม่ผิดหัวหน้าพรรคที่ได้ที่ 4 และที่ 5 ได้ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงด้วยที่จะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ที่สำคัญการตัดสินใจหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ จะรอผลเลือกตั้งจาก กกต.อย่างเป็นทางการที่จะประกาศประมาณช่วงวันที่ 9 พ.ค.ก่อน
เช่นเดียวกับพรรคเพื่อชาติ น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรค กล่าวว่าได้สอบถามนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรค ซึ่งไม่ทราบข่าวการทาบทามนี้เช่นกัน พร้อมยืนยันอุดมการณ์เดิมที่ได้ลงสัตยาบันโดยกล่าวว่า "ผมคนทำธุรกิจ ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย เป็นคนซื่อสัตย์และรักษาคำพูด และไม่ได้เดือดร้อนที่จะต้องเอาพรรคไปแลกผลประโยชน์กับเผด็จการ"
วันเดียวกัน มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2562 ของพรรคภูมิใจไทย จากนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ได้กล่าวหลังประชุมว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถกำหนดท่าทีทางการเมืองใดๆ ได้เพราะยังไม่ทราบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และยังมีการนับคะแนนใหม่กันอยู่ พรรคจึงตัดสินอยู่อย่างเงียบๆ เพื่อรอให้ทุกอย่างได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ได้กำชับให้สมาชิกพรรคทุกคนใช้ช่วงเวลามหามงคลอยู่กับประชาชน และชักชวนให้ประชาชนออกมาร่วมงานพระราชพิธีนี้เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ตอนนี้ขอให้ลืมเรื่องการเมืองไปก่อนจนกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะผ่านพ้นไปด้วยความเป็นมงคล ซึ่งหลังจากวันที่ 8-9 พฤษภาคมค่อยมาคิดหาแนวทางและทิศทางทางการเมืองของทุกคนต่อไป
เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยจะร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยหรือพรรคฝั่งสืบทอดอำนาจ นายอนุทินกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยประกาศมาตลอดว่าจุดรีเซตคือการเลือกตั้ง ใครก็ตามที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วถือว่าผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นพรรคภูมิใจไทยจะไปทางไหนหรือไปกับใคร เราไม่ได้ดูว่าอยู่ฝั่งไหน แต่จะดูว่าสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ มีความขัดแย้งใดๆ หรือไม่ เข้าใจกันหรือไม่ และมองเห็นประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลักชัยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่พรรคจะพิจารณาว่าจะไปร่วมรัฐบาลกับใคร เนื่องจากเราไม่ได้เป็นพรรคแกนนำ ไม่ได้คะแนนเป็นที่หนึ่ง ก็ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวและรู้สถานะของตัวเอง ทั้งนี้อย่ามาพูดเรื่องเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยอีกเลย เพราะทุกคนผ่านกระบวนการประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาหมดแล้ว และเท่าที่เห็นก็ยังไม่มีกระบวนการไหนในการเลือกตั้งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยบอกมาตลอดว่าเราเคารพกติกาทุกอย่างที่มาจากรัฐธรรมนูญ และหลังจากการเลือกตั้งพรรคยังไม่ได้ทำอะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่าจะผลักดันนโยบายกัญชาเสรีหรือผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน นายอนุทินกล่าวว่า การผลักดันนโยบายน่าจะผลักดันได้เร็วกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยเข้าสภาเพื่อทำงาน เราไม่ได้มีปัญหาอย่างมีนัยกับรัฐธรรมนูญจนรู้สึกว่าจะทำงานไม่ได้ พรรคจึงกล้าที่จะแถลงจุดยืนและนโยบายที่ตั้งใจจะทำได้ทันที ทำได้เร็วและทำได้เลย เพราะรู้ว่าถ้ามัวแต่ไปวุ่นวายหรือกังวลกับปัญหาทางการเมืองเราจะทำงานไม่ได้ พี่น้องประชาชนเลือกพรรคภูมิใจไทยเข้ามาทำงานและแก้ไขปัญหาปากท้อง เราต้องทำตามสิ่งที่ประชาชนได้สั่งการ ไม่ได้เข้ามาแก้ไขอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง
นายอนุทินยังกล่าวหลังถูกถามว่า มีพรรคการเมืองใดทาบทามให้เข้าไปร่วมรัฐบาลแล้วหรือไม่ โดยบอกว่าไม่มี เพราะทุกคนต้องรอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ยังไม่ได้มีการพูดคุยติดต่ออะไรกัน
เมื่อถามว่ามีกระแสเสนอให้นายอนุทินเป็นนายกรัฐมนตรี นายอนุทินกล่าวว่า "เป็นกระแส ก็ว่ากันไป ใครจะรู้ดีกว่าผม เพราะไม่เห็นมีใครมาให้ผมสักคน เรื่องนี้เป็นการคาดการณ์ พรรคภูมิใจไทยบอกแล้วว่าจะเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเป็นพรรคที่หนึ่ง มี ส.ส.มากมาย แต่ตอนนี้เป็นพรรคลำดับที่ 5 ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราต้องให้คนที่มาที่ 1 ที่ 2 สามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ แต่ผมก็ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญจากฝ่ายใดเลย"
ถามย้ำว่าหากมีการเสนอให้เป็นนายกฯ จริงๆ จะรับหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า "ไม่รับครับ บอกแล้วว่าคนเราจะได้อะไรต้องสมควรได้ ไม่ใช่ว่าหาทางออกไม่ได้แล้วโยนมาให้ นี่เป็นเรื่องของบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องตัวเอง ถามว่าอยากเป็นนายกฯ ไหม ตอบว่าอยากเป็น แต่จะเป็นได้หรือไม่ได้มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย"
ถามถึงท่าทีของพรรคหลังวันที่ 9 พฤษภาคมจะเปิดประตูเจรจาอ้าซ่าหรือไม่ นายอนุทินย้อนถามว่า "ทำไมต้องบอกว่าเปิดประตูอ้าซ่า ทำไมไม่บอกว่าปิดประตูแล้วให้คนหา ทั้งนี้ธรรมชาติการเมืองมันมีอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาคนนี้จะคุยกับคนนี้ มันกำหนดไม่ได้ถ้ามาถามผมตอนนี้ แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ผมจะรู้ว่าถ้าเกิดโทรศัพท์สายนี้ดังเข้ามา เราควรจะคุยกับคนนี้ แล้วคิดว่าน่าจะมีข้อสรุป หรือว่าเราไม่ควรจะรับสายคนนี้ เพราะคุยไปก็ไม่ได้ข้อสรุป ถือเป็นสัญชาตญาณเพราะอธิบายไม่ได้ วันนี้ผมก็ยังไม่ทราบว่าจะคุยกับใคร และยังไม่มีใครโทรเข้ามา ถ้าการเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะก็เป็นเรื่องดีจะได้ทำงานต่อไป แต่หากเป็นโมฆะก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ถือเป็นกงเกวียนกำเกวียน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเข้าใจธรรมชาติของการเมืองดีอยู่แล้ว" นายอนุทินกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |