พปชร.เดินเกม ชิงเสียงตั้งรัฐบาล ไม่เอางูเห่า แต่เปิดดีลดอดทาบทั้งพรรค เริ่มเจรจาเพื่อชาติ-ประชาชาติ แต่อยู่ระหว่างรอคำตอบ เงื้อมานาน กกต.อ้างไม่รอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดสูตรปาร์ตี้ลิสต์ในคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมเดินหน้าลุยเคาะเองเร็ววันนี้ เผยมี 3 สูตร พบทุกสูตรมีผลต่อการชิงเสียงตั้งรัฐบาล
มีรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการพยายามรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลว่า ล่าสุดมีการระบุว่า พปชร.ได้ทาบทามพรรคเพื่อชาติ ที่มีนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต รมช.พาณิชย์ เป็นหัวหน้าพรรค ที่คาดว่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 5 ที่นั่ง และพรรคประชาชาติ ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นแกนนำพรรค ที่คาดว่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 5 ที่นั่ง และส.ส.เขต 1 ที่นั่ง ให้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่า 2 พรรคดังกล่าวที่เคยร่วมลงสัตยาบันร่วมกับพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 27 มีนาคม จะตกลงในเงื่อนไขของ พปชร.หรือไม่
ขณะที่เรื่องการคำนวณสูตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงได้นั้น
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาการใช้วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าขณะนี้ทาง กกต.อยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการคำนวณ 2-3 สูตร ซึ่งมีทั้งสูตรที่ทางนักวิชาการเสนอมา และสูตรที่ทางสำนักงาน กกต.เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ทาง กกต.จะรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาก่อนหรือไม่นั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า กระบวนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นไปตามกฎหมาย โดยในระหว่างนี้หากยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาบัญญัติ ทางสำนักงาน กกต.ก็จะเสนอเรื่องดังกล่าวไปยัง กกต. เพื่อประกาศผลการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยืนยันว่าทางสำนักงาน กกต.จะเสนอไปตามกฎหมายและกรอบระยะเวลาที่กฎหมายได้กำหนด ทั้งนี้ สูตรที่สำนักงาน กกต.ได้พิจารณาไว้ 2-3 สูตร
เมื่อถามถึงกรณี กกต.ใช้ดุลยพินิจประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.แล้ว แต่หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงจะทำอย่างไร พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ระบุเพียงสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการคำนวณสูตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญและตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นคำร้องผ่านมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน
รายงานข่าวจากสำนักงาน กกต.แจ้งว่า วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่สำนักงาน กกต.เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีทั้งหมด 3 วิธีการคำนวณ
ประกอบด้วย 1.วิธีคำนวณของ กกต. ที่เสนอร่วมกับ กรธ.แจก ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน จำนวน 27 พรรค
2.วิธีการคิดคำนวณของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. คำนวณออกมา 16 พรรค
3.วิธีคิดคำนวณของนายโคทม อารียา อดีต กกต. ซึ่งคำนวณแล้วออกมาจะได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 16 พรรค เช่นเดียวกันกับของนายสมชัย แต่ 2 วิธีการคำนวณจะไม่แจก ส.ส.ให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,057 คะแนน ซึ่งต่างกันเล็กน้อยตรงที่การคำนวณในส่วนของนายสมชัยรอบ 2 ตัดทศนิยมทิ้ง
ทั้งนี้ มีการมองกันว่า ทั้ง 3 สูตรพบว่ามีผลต่อการชิงเสียง ส.ส.ของขั้วเพื่อไทยและขั้วพรรคพลังประชารัฐในการชิงการจัดตั้งรัฐบาลด้วยกันทั้งสิ้น หากสุดท้าย กกต.เคาะสูตรใดสูตรหนึ่งออกมา
ปชช.ยังสับสนแม้เลือกตั้งจบไปแล้ว
ขณะที่ความเคลื่อนไหวการเมืองอื่นๆ พบว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,107 คน ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2562
ผลสำรวจดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจสรุปผลได้ ดังนี้ เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนรอคอยหลังจากการเลือกตั้งผ่านมา 1 เดือนเต็มคืออะไร อันดับ 1 รัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ 40.71%, อันดับ 2 การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 32.03%, อันดับ 3 การประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง 25.96%, อันดับ 4 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีขึ้น เป็นประชาธิปไตย 17.18%, อันดับ 5 มีการบริหารงานที่ชัดเจน ทำตามนโยบายที่ให้ไว้ 16.62%
เมื่อถามต่อว่า ประชาชนคิดอย่างไรต่อ“สถานการณ์ทางการเมือง” ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้ ประชาชนมองว่า สิ่งที่ดีขึ้น ณ วันนี้คือ อันดับ 1 มีการเลือกตั้ง ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิของตนเอง 38.44%, อันดับ 2 จะได้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง 24.73%, อันดับ 3 ประชาชน กลุ่มคนรุ่นใหม่ตื่นตัว สนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น 19.35%, อันดับ 4 ได้นักการเมืองใหม่ๆ เข้ามาทำงาน 11.29%, อันดับ 5 บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย 7.80%
ส่วนสิ่งที่แย่ลง ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 ปัญหาการเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ 36.47%, อันดับ 2 สภาพเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน 24.27%, อันดับ 3 การโจมตีทางการเมือง ความขัดแย้งของนักการเมือง 21.37%, อันดับ 4 การทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่โปร่งใส 14.40%, อันดับ 5 เสถียรภาพทางการเมือง ทิศทางการเมืองไม่ชัดเจน 12.54%
ถามถึงความสับสนทางการเมือง “ก่อนเลือกตั้ง” กับหลังเลือกตั้งเป็นอย่างไร อันดับ 1 สับสนพอๆ กัน 47.33% เพราะ กกต.ไม่มีความชัดเจน เกี่ยวข้องกับการตีความตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเข้าใจยาก มีการปล่อยข่าวลวง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ฯลฯ, อันดับ 2 “หลังเลือกตั้ง” สับสนมากกว่า 33.98% เพราะการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน การจับขั้วทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ มีการร้องเรียนให้นับคะแนนใหม่ ยังไม่มีข้อสรุปของการหาสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. ฯลฯ, อันดับ 3 “ก่อนเลือกตั้ง” สับสนมากกว่า 18.69% เพราะมีกระแสข่าวเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเลื่อนวันเลือกตั้ง บัตรลงคะแนน ยุบพรรคการเมือง ผู้สมัครย้ายพรรค การแข่งขันของพรรคการเมืองต่างๆ ในการลงพื้นที่หาเสียง ฯลฯ
ขณะที่สิ่งที่ประชาชนอยากบอกกับ “นักการเมืองไทย” คือ อันดับ 1 เป็นนักการเมืองที่ดี ทำตามหน้าที่ รักษาสัญญา 50.12%, อันดับ 2 ยุติการทะเลาะเบาะแว้ง ใส่ร้ายป้ายสี โจมตีกันไปมา 31.43%, อันดับ 3 ขอให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม ร่วมมือกันพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้า 21.48%, อันดับ 4 เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ดูแลเอาใจใส่ประชาชน 17.51%, อันดับ 5 เคารพกฎหมาย ยึดหลักประชาธิปไตย 9.35%
วันเดียวกัน นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง จุดยืนทางการเมืองของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,060 ตัวอย่าง
พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 ระบุจุดยืนทางการเมืองของตนเองเป็นกลุ่มพลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในขณะที่ไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลมีอยู่ร้อยละ 23.3 และกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมีอยู่ร้อยละ 20.6
ที่น่าสนใจคือ เมื่อแยกออกเป็นกลุ่มคนที่เป็นคอการเมือง และกลุ่มคนที่ไม่ใช่คอการเมือง พบว่า กลุ่มคนที่ไม่ใช่คอการเมืองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.1 เป็นกลุ่มพลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มากกว่ากลุ่มที่เป็นคอการเมืองเล็กน้อยคือร้อยละ 54.4 ที่ระบุเป็นกลุ่มพลังเงียบ แต่กลุ่มคอการเมืองร้อยละ 25.2 สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มไม่ใช่คอการเมืองที่มีอยู่ร้อยละ 20.7 ระบุสนับสนุนรัฐบาล
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 ระบุเป็นกลุ่มพลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่กลุ่มผู้ชายมีสัดส่วนของกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 25.8 มากกว่าหญิงที่มีอยู่ร้อยละ 21.2 และกลุ่มผู้ชายมีสัดส่วนไม่สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 23.5 มากกว่าหญิงที่มีอยู่ร้อยละ 17.8 เช่นกัน
และเมื่อจำแนกกลุ่มที่ระบุจุดยืนทางการเมืองออกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า นักศึกษาเป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 2.9 ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากที่สุดคือร้อยละ 37.1 ในขณะที่กลุ่มพนักงานเอกชนสนับสนุนรัฐบาลมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐคือร้อยละ 35.1 ต่อร้อยละ 22.6 อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.8 และร้อยละ 60.0 ระบุเป็นกลุ่มพลังเงียบ
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า สัญญาณเตือนภัยในความขัดแย้งรุนแรงบานปลายเริ่มก่อตัวขึ้น แต่ยังพอจะควบคุมสถานการณ์ได้ ถ้ารัฐบาลและฝ่ายอำนาจรัฐไม่ปฏิบัติการกับฝ่ายตรงข้ามแบบเหมารวม (Stereotype) ยกเข่งกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพราะข้อมูลจุดยืนทางการเมืองของประชาชนครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังเงียบที่ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง คนกลุ่มนี้ยังอยู่ตรงกลาง ไม่สนับสนุนและไม่ต่อต้านรัฐบาลชัดเจนโดยเห็นได้ชัดในกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มเกษตรกร ดังนั้น รัฐบาลยังมีโอกาสบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้
"จตุพร"ยันไม่มีเกาเหลานปช.
วันเดียวกันนี้ ที่ห้องประชุมอภิวันท์ วิริยะชัย ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ชั้น 5 ได้มีการจัดงาน สงกรานต์บานฉ่ำ โดยมีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมทั้งนักร้องมาร่วมกันให้ความบันเทิง
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวระหว่างร่วมงานถึงกรณีความกังวล นปช.เกิดความแตกแยกว่า ได้เคยอธิบายผ่านสื่อสารมวลชนไปแล้วว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีนี้ สภาพการณ์ของ นปช.เหมือนทหารผ่านศึก ซึ่งเป็นทหารประชาชน บาดเจ็บ ล้มตาย ถูกคุมขัง ถูกจับเป็นเชลย สารพัด รวมกระทั่งมีโรคภัยไข้เจ็บ ทุพพลภาพ คือโลกแห่งความเป็นจริง หลังเหตุการณ์ปี 2553 พวกเราก็อยู่ในฐานะจำเลยหลายคดี
ประธาน นปช.กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีนี้ คนที่ยังไม่มีคดี ก็มีพื้นที่ที่จะไปต่อสู้มากกว่าคนมีคดี แต่คนมีคดี ก็สามารถขยับได้บางช่วงบางเวลา บางจังหวะ และท้ายที่สุด ต้องสังเวยด้วยอิสรภาพ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องน่ากลัว ถ้ากลัวคงไม่ถูกติดมา 4 รอบ ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าภายใต้สังขารและอิสรภาพที่จำกัด เราจะรักษาแนวทาง จุดยืน อุดมการณ์กันได้อย่างไร พี่น้องตนทุกคนแม้ว่าไม่ได้มาในวันนี้ แต่ว่ายังเจอในเวลาขึ้นศาลกันทุกครั้ง ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ เพราะว่าเราเองต่างก็รู้ ไม่ว่าเราจะยืนอยู่ ณ มุมใด เวลานี้คือการแสดงความคิดเห็น ทุกคนยังคงสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ดังเดิม ไม่ว่าจะเป็น นางธิดา ถาวรเศรษฐ, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายแพทย์เหวง โตจิราการ, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และคนอื่นๆ ก็ยังเจอพูดคุยกันเป็นปกติ เพียงแต่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ การเมืองก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ
"เราเป็นคณะบุคคล เป็นประชาชนที่รวมตัวกัน เป็นเรื่องของการอาสาสมัครทั้งสิ้น ไม่มีผลประโยชน์ใดที่จะเอื้อให้แก่กัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผูกพันผูกมัดกันอยู่นั้นคือคำว่าจิตวิญญาณประชาธิปไตย ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี เราได้ถูกทำร้ายสารพัด ผมอาจจะโดนหนักมากกว่าคนอื่นหน่อย เรียนกับพี่น้องว่า ไม่มีอะไรที่ไหวหวั่น ทองแท้ไม่แพ้ไฟ เชื่อว่าเราคบกันมานาน เรารู้ว่าทองแท้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นมั่นใจพี่น้องประชาชนว่าเรารวมกันเพราะเรามีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราต้องติดตามสถานการณ์บ้านเมืองกันอย่างใกล้ชิด เราได้ต่อสู้กันมากว่า 10 ปีนี้ ยืนยันกับพี่น้องว่า เราจะยังผูกพันกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ นี่เป็นความผูกพันที่เราจะต้องยืนหยัดกันต่อไป" ประธาน นปช.กล่าว
นายจตุพรกล่าวด้วยว่า ที่ห้องประชุมแห่งนี้เราจะจัดงานเป็นครั้งสุดท้าย ไม่ใช่ว่าเจ้าของห้างเขาไล่ เพียงแต่เราเองไม่อยากเป็นภาระมากขึ้น ก็ต้องหาสถานที่ให้มันเล็กลง แต่พี่น้องสามารถไปมาหาสู่กันได้เหมือนเดิม ความจริงแล้วเรายิ่งเดินยิ่งสู้ยิ่งลำบาก และความลำบากก็มากยิ่งขึ้น ภายในเดือนมิถุนายน เราก็ต้องย้ายสถานที่ เราจึงจะเดินต่อไปกันได้ ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีนี้นั้น การที่ยืนหยัดมาจนถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ไม่ว่าด้วยการถูกบีบรัดด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมาย เราก็เดินฝ่าฟันกันไปได้
"วันนี้อุปสรรคมากมาย เพียงแต่พร้อมที่จะกลืนเลือดเข้าไป ไม่พร้อมที่จะมาบอกกับพี่น้อง แต่ยังยืนหยัดกับพี่น้องว่า เรายังจะต้องมีภารกิจที่เราจะยังต้องเดินหน้าต่อไป เพียงแต่ว่าเราเองก็ต้องปรับวิธีการให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริง เราต้องยอมรับความจริงให้ได้ แล้วเราจึงจะเดินได้ มิฉะนั้นเราจะล้มลงไป ในเวลาที่มันยังไม่เหมาะสม ไม่ได้บอกว่าองค์กรมันจะต้องอยู่ไป คนจะต้องอยู่ไป เพราะเรามีสิ่งผูกมัดเดียว คืออุดมการณ์ แนวทาง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่บ้าน อยู่หนแห่งใดก็ตาม เราก็ยังเหมือนเดิม เราไม่พบหน้าหรือเราจะพบหน้ากัน เราได้เจอกัน เราไม่เจอกัน เราก็ยังเหมือนเดิมกันอยู่" นายจตุพรกล่าว
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า บรรยากาศการเมืองขณะนี้กลับไปสู่วังวนเดิม มีการโจมตีตอบโต้กันไปมา ใช้วาทกรรมต่างๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรกับพี่น้องประชาชน มีแต่สร้างความเบื่อหน่ายและก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว แต่พรรคการเมืองบางพรรคก็ยังออกมาโจมตีพรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ตลอดเวลา
รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า สังเกตได้ว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เคยออกมาโจมตีให้ร้ายใครเลย มีแต่ถูกพรรคการเมืองบางพรรคคอยดิสเครดิตตลอดเวลา วันนี้บ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว น่าจะนำประเทศเดินไปข้างหน้า ปัญหาทุกอย่างก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทุกฝ่ายต้องยอมรับกติกาบ้านเมือง ไม่มีใครไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้ เมื่อทุกอย่างยุติก็ต้องยอมรับ ไม่เช่นนั้นสังคมจะไม่ปกติสุข
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.การคลัง ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” หัวข้อ “ภราดรภาพในฝ่ายประชาธิปไตย” ระบุว่า สัญลักษณ์หนึ่งที่เรามักเห็นกันอยู่เสมอหลังรัฐประหาร 2557 คือ การยกมือขึ้นแล้วชู 3 นิ้ว เชื่อกันว่า เป็นอิทธิพลที่ได้รับจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ตอน Catching Fire เมื่อประชาชนผู้ยืนหยัดแสดงความไม่เห็นด้วยต่อผู้มีอำนาจ พร้อมใจกันยกมือขึ้นชู 3 นิ้วเพื่อให้กำลังใจแก่ แคทนิส เอเวอร์ดีน บางคนแปลความหมายว่า 3 นิ้วนั้น คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่ผู้รักประชาธิปไตยใฝ่หา
“เสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวางตลอดการรณรงค์เลือกตั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่น่าเสียดาย “ภราดรภาพ” ที่เป็น 1 ใน 3 นิ้วนั้น ถูกละเลย มองข้ามความสำคัญทั้งจากการกระทำและคำพูด เราจึงเห็นการระแวงสงสัย การทับถม หรือแม้กระทั่งด่าทอกันเอง ในบางส่วนของฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ถูกล่ะ ในการรณรงค์เลือกตั้ง พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต่างต้องทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ มีกระทบกระทั่งกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของการแข่งขัน เพื่อเสนอแนวทางของตนต่อประชาชน แต่เมื่อประชาชนตัดสินใจแล้ว ทุกพรรคการเมืองก็มีหน้าที่สรุปบทเรียน"
นพ.สุรพงษ์ให้ความห็นว่า พรรคที่ผิดพลาดก็ต้องยอมรับแล้วปรับปรุงแก้ไข พรรคที่ประสบความสำเร็จก็ไม่หยิ่งผยองลำพอง แต่กลับต้องถ่อมตนแล้วทำต่อไปให้ดียิ่งขึ้น เพราะ “ความสำเร็จ” เป็นอนิจจัง มีขึ้นมีลง ไม่ยั่งยืน บนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยเต็มไปด้วยขวากหนาม การจับมือกุมมั่นเดินฝ่าข้ามไปก็นับว่า ยากอยู่แล้ว ถ้าแตกคอ ปล่อยมือ ไม่ร่วมกันฟันฝ่า การไปถึงจุดหมายแทบเป็นไปไม่ได้เลย บทเรียนจากมาเลเซียสอนให้เรารู้ว่า การมีแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้นจึงสามารถนำไปสู่ชัยชนะ สิ่งที่เราต้องการในวันนี้คือ การร่วมคิด ร่วมทำ ลงมือปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นทุ่มเท ไม่ยอมท้อถอย และให้กำลังใจซึ่งกันและกันแก่มิตรร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |