สอบลง 'ส.ส. 'ถือหุ้นสื่อ อาจมีตกม้าตายเพียบ!


เพิ่มเพื่อน    

       คุณสมบัติต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 มาตรา 42 (3) ที่ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เรื่องดังกล่าว เท่าที่หลายฝ่ายแลเห็น ปมปัญหา มีหุ้นสื่อ-มีชื่อในกิจการทำเกี่ยวกับเรื่องสื่อ กำลังกลายเป็นโดมิโนการเมือง ขยายจากกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปสู่ว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส.อีกหลายพรรคการเมือง

                ที่คาดหมายกันว่า เรื่องดังกล่าวหากสอบขยายผลกันทุกคน และยึดมาตรฐานตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42 (3) แบบเป๊ะๆ ไม่แน่ อาจเจอคนที่สุ่มเสี่ยงจะมีปัญหาเรื่องมีคุณสมบัติต้องห้ามดังกล่าว แต่มาลงสมัคร ส.ส.กันอีกหลายพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหญ่-พรรคเล็ก ในลักษณะไม่ตั้งใจ หรือหลงลืม

                เพราะกรณีของธนาธรที่จะไปชี้แจงต่ออนุกรรมการของ กกต.ในวันอังคารที่ 30เม.ย. และคาดว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะได้ข้อยุติภายในต้นเดือน พ.ค. ว่าสุดท้าย กกต.จะให้ ธนาธรเข้าสภาฯ หลัง 9 พ.ค.หรือไม่? แต่ตอนนี้ หุ้นสื่อ ก็ยังมีว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส.อีกหลายคนทั้งที่สอบได้-สอบตกในระบบเขตและว่าที่ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ กำลังถูกร้องเรียนให้ กกต.สอบสวนขยายผลว่าอาจขาดคุณสมบัติ

                โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 19 เม.ย. ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล  เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อให้ตรวจสอบผู้ลงสมัคร ส.ส.-ว่าที่ ส.ส.ของพรรคการเมือง 6 พรรค เพราะพบว่ายังถือครองหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจ ด้านสื่อสารมวลชน แม้บางแห่งปัจจุบันเป็นบริษัทร้าง แต่ก็ยังเป็นความผิดเพราะยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

                รายชื่อที่ ร.อ.ทรงกลดยื่นให้ กกต.สอบ เจ้าตัวยอมรับเองว่า ยื่นเฉพาะพวกฝ่าย ขั้วเพื่อไทย ที่กำลังชิงตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยแยกเป็นผู้สมัครจาก 6 พรรคการเมือง รวม 32 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 10 คน อาทิ นางอาภรณ์ สาราคำ ภรรยาของนายขวัญชัย สาราคำ แกนนำคนเสื้อแดง, นพดล ปัทมะ ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ, สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งร.อ.ทรงกลดก็ยอมรับตรงๆ ว่าที่ไปยื่น กกต.ดังกล่าว จะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลของขั้วเพื่อไทยแน่นอน เพราะแม้บางคนจะสอบตกในระบบเขต แต่ที่ตกไปก็มีคะแนนที่ได้จากการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคต้นสังกัดได้คะแนนรวมจนไปได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์

                “เรื่องดังกล่าวจะมีผลให้คะแนนของทั้ง 6 พรรคหายไป 286,805 คะแนน ซึ่งจะทำให้จำนวน ส.ส.พึงมีหายไป 9 คน และส่งผลให้คะแนนของทั้ง 6 พรรค ไม่ใช่เสียงข้างมากที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้” ร.อ.ทรงกลด ระบุ

                และเวลานี้ฝ่ายขั้วเพื่อไทย-อนาคตใหม่ ก็เอาคืนบ้าง มีการไปยื่น กกต.ให้สอบคนของพลังประชารัฐคืนบ้างแล้ว ไล่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายอภิชิต ถาบุตร ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 จ.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ไปยื่นคำร้องต่อผอ.เลือกตั้ง จ.สกลนคร ให้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของนายสมศักดิ์ สุขประเสริฐ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 จ.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ หลังพบว่ามีชื่อถือหุ้นอยู่ในบริษัท ณัฐฐินีย์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ตามเอกสารของบริษัทที่แจ้งทำกิจการค้าว่า จัดพิมพ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภท

                ขณะที่ก่อนหน้านั้น ณรงค์ รุ่งธนวงศ์ คนจากพรรคเพื่อไทย ไปยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ  ชาญวิทย์ วิภูศิริ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 15 มีนบุรี-คันนายาว พลังประชารัฐ ที่ชนะการเลือกตั้งในเขตดังกล่าว โดยเอาชนะวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.เพื่อไทยหลายสมัย โดยอ้างว่าชาญวิทย์เป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน โดยถือหุ้นร่วม 250 ล้านหุ้น และยังบอกด้วยว่า มีข้อมูลของผู้สมัคร พปชร.อีกหลายรายที่จะยื่นต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ

                จากบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาแผนคดีเลือกตั้งเคยตัดสินว่า ภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูก กกต.ไม่ประกาศรับรองเป็นผู้สมัคร ส.ส. เพราะพบว่านายภูเบศวร์ถือหุ้นในกิจการสื่อ จากนั้น เจ้าตัวได้ยื่นคำร้องคัดค้าน กกต.ต่อศาลฎีกาฯ จนต่อมาศาลฎีกาฯ ตัดสินว่า การที่นายภูเบศวร์มีชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอนจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งในหนังสือยื่นขอตั้งกิจการ ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจ มีการระบุว่า เป็นกิจการที่ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ รับจัดทำสื่อโฆษณา สปอตโฆษณา เผยแพร่ข้อมูล โดยถือหุ้นไว้ก่อนยื่นสมัคร ส.ส. จึงถือว่ามีคุณสมบัติต้องห้าม

                แม้ในความเป็นจริง ภูเบศวร์จะบอกว่ากิจการของหจก.มาร์ส เอนจิเนียริ่งฯ ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคาร ไม่เคยประกอบหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อใดๆ ทั้งสิ้น แต่เนื่องจากตอนยื่นจดทะเบียนโดยได้ใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปในการจดทะเบียน ซึ่งเป็นแบบฟอร์มของกรมพัฒนาธุรกิจเอง ที่มีด้วยกัน 43 ข้อ ครอบคลุมกิจการเกือบทุกประเภทในประเทศ กรณีดังกล่าวเมื่อเอกสารที่เป็นเอกสารทางราชการ พบว่ามีชื่อของนายภูเบศวร์ในกิจการดังกล่าว   ทาง กกต.และทางศาลจึงต้องวินิจฉัย-ตัดสินไปตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้ใน รธน.และกฎหมายเลือกตั้ง และถือเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว สำหรับการตรวจสอบต่อจากนี้ในทุกกรณี

                เรื่องนี้เชื่อได้ว่า หลายกิจการในประเทศไทยที่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกิจการต่อกระทรวงพาณิชย์ส่วนใหญ่ก็จะใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปดังกล่าวเพื่อความสะดวก สำหรับการขยายกิจการในอนาคต จะได้ไม่ต้องไปยื่นหลายรอบโดยเฉพาะกิจการขนาดกลาง-เล็ก

                ซึ่งพวกที่ลงสมัคร ส.ส.ทั้งพรรคใหญ่-กลาง-เล็ก ก็น่าเชื่อได้ว่าหลายคนก็มีกิจการของตัวเองหรือไปมีร่วมลงทุน ถือหุ้นในกิจการหลายแห่งทั้งกิจการทั่วไป บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ทำเอง หรือร่วมลงทุนกับเครือญาติ เพื่อนฝูง หรือมีหุ้นในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยก็ไม่เห็นเอกสารการยื่นขอจดทะเบียนบริษัท ว่ามีการระบุว่า  ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ รับจัดทำสื่อโฆษณา สปอตโฆษณา เผยแพร่ข้อมูล ไว้ด้วยหรือไม่?

                ปมปัญหามีชื่อ-ถือหุ้นในกิจการสื่อ ของบรรดาว่าที่ ส.ส.-ผู้ลงสมัคร ส.ส. ที่มีทั้งสอบตก-สอบได้ ที่อาจมีไว้โดยไม่ได้ตั้งใจ ลืมโอน-ลืมขาย ก่อนลงเลือกตั้ง  ประเมินกันว่า หากสแกนกันละเอียด เชื่อได้ว่าจะมี "คนตกม้าตาย” กันเพียบ ถ้าตีความกฎหมายกันอย่างเคร่งครัด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"