นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประมาณต้นเดือนเม.ย.62 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอให้คุ้มครองชั่วคราวคำสั่งคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่ได้นำสินค้ายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 62 โดยสมาคมฯอ้างว่า ก่อนที่กกร.จะนำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าสู่บัญชีสินค้าและบริการควบคุมนั้น สมาคมฯไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นใดๆ และคำสั่งดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะกับโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงโรงพยาบาลของรัฐด้วย จึงส่งผลเสียหายต่อโรงพยาบาลเอกชน และขอให้ศาลคุ้มครองคำสั่งชั่วคราว เพื่อให้การออกประกาศของกกร.หยุดการบังคับใช้
”โรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมยา และเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ จึงฟ้องศาลปกครอง และฟ้องเอาผิดกับกกร.ทุกคน รวมถึงรมว.พาณิชย์, ปลัดพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งกระทรวงพร้อมชี้แจงเต็มที่ ส่วนศาลจะตัดสินว่าอย่างไรเป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณา หากไม่จบในศาลเดียวต้องว่ากันต่อไปในศาลสูงสุด และในที่สุดแล้ว ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ก็พร้อมดำเนินการตาม”
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กระทรวง ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค เพราะได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งคิดค่ายา และค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้ธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชนยังเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญ การนำยา และเวชภัณฑ์ และบริการทางแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุมนั้น จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้กำหนดมาตรการใดๆ ออกมาควบคุมเลย เป็นเพียงแค่การนำมาจับตาเพื่อเฝ้าระวังเท่านั้น
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวต่อว่า คาดว่า จะประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยา และเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ซึ่งมีตนเป็นประธานในเร็วๆ นี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมการได้สั่งการให้คณะทำงานพิจารณาโครงสร้างต้นทุนราคายา ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน ศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคายาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานได้ข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า จากโรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต-ผู้นำเข้า และร้านจำหน่ายยารายใหญ่ครบถ้วนแล้ว และอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลมาเสนอคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการกำกับดูแลต่อไป
ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ศาลปกครองได้แจ้งกรมมาแล้ว เพื่อให้ทำหนังสือชี้แจงภายใน 15 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ก่อนที่กกร.จะอนุมัติให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบนั้น ได้ขอความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งโรงพยาบาลเอกชน, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุข, สมาคมประกันชีวิต-ประกันวินาศภัย มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลเอกชนจะอ้างว่าไม่มีส่วนแสดงความเห็นได้อย่างไร
นอกจากนี้ ในประกาศของกกร.จะครอบคลุมกับยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลทุกแห่ง ไม่ได้บังคับใช้เฉพาะกับโรงพยาบาลเอกชนตามที่สมาคมฯเข้าใจ แต่การที่กรมขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้าจากโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น เป็นเพราะกรมไม่มีข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชน แต่ข้อมูลของโรงพยาบาลรัฐ กรมได้ขอจากกรมบัญชีกลางแล้ว
นายวิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการทื่ทนายความ ซึ่งได้รับมอบหมายจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ส่งหนังสือถึงตนเพื่อขอให้ระงับการให้ข่าวที่เป็นการข่มขู่โรงพยาบาลนั้น ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายของกรมทำหนังสือชี้แจงไปแล้วว่า ตนไม่เคยข่มขู่ เพียงแค่ต้องการชี้แจงว่า กรมสามารถดำเนินการใดได้บ้างตามกฎหมายราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 เช่น หากกรมทำหนังสือขอให้โรงพยาบาล ส่งข้อมูลราคาซื้อขาย นำเข้า มาให้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเพิกเฉย กรมสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ไม่ได้ข่มขู่แต่อย่างใด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |