ไม่ได้สร้างความประหลาดใจใดๆ ต่อตลาดเลย กับการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะคาดการณ์กันมาตลอดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2560 ในเดือน ธ.ค.แน่นอน และก็เป็นไปตามคาดเมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค.2560 ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของเฟด มีมติ 7 ต่อ 2 เสียงให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระหว่าง 1.25%-1.50%
โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ และเป็นครั้งที่ 5 ของการปรับสมดุลนโยบายการเงิน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2558 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มสดใสขึ้น สะท้อนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน เฟดยังส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง คือในปี 2561 ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง และปี 2562 ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 2.8%
และจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้เปิดตลาดค่าเงินบาทแข็งค่าสู่ระดับ 32.53 ต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 10% ถือว่าแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเงินวอนเกาหลีใต้ ด้วยปัจจัยหนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องและกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ของไทย ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง มีแรงขายเงินเหรียญสหรัฐเทียบกับทุกสกุลเงินหลักและหนุนราคาทองคำในตลาดโลกขึ้น
แต่ในส่วนของตลาดทุนไม่ค่อยจะมีอะไรหวือหวามาก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้ตอบรับมากนัก เป็นเพราะตลาดรับรู้มาก่อนหน้านี้พอสมควรแล้ว จึงปรับตัวกันไปหมดแล้ว ทำให้มีผลต่อตลาดหุ้นไทยดัชนีปรับเพิ่มขึ้นแค่ 8.06 จุด หรือ 0.47% เท่านั้น และที่สำคัญมาจากเม็ดเงินจากแรงซื้อของกองทุนแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟที่เข้ามาช่วยหนุนด้วยซ้ำ จึงมองได้ว่า ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศมากกว่าต่างประเทศ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้ความสนใจไปที่มาตรการปฏิรูปภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐมากกว่า ว่าจะสามารถออกมาได้ทันวันที่ 25 ธ.ค.หรือไม่ เพราะนายทรัมป์ได้เคยออกมาเปรยว่า จะให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสแก่ชาวสหรัฐ ซึ่งก็ต้องมารอดูกันต่อไป
ขณะเดียวกัน เมื่อเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ก็ต้องมาจับตาท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) บ้าง ว่าจะเป็นในทิศทางใด แต่ส่วนใหญ่นักวิเคราะห์จะออกมาคาดการณ์เป็นทิศทางเดียวกันว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้แน่นอน
โดย นายเชาว์ เก่งชน กรรมการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า การประชุม กนง. ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ เชื่อว่ายังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% และยังไม่ปรับขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะ กนง.ต้องการให้เศรษฐกิจภายในประเทศของไทยแข็งแกร่ง เนื่องจากปัจจุบันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทั้งภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนกำลังซื้อภายในประเทศไม่ได้เติบโตมากนัก ทำให้ต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน
ด้าน นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงไม่ปรับขึ้น แม้เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ก็ตาม แต่เชื่อว่า กนง.จะพิจารณาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะหากปรับขึ้นอาจมีผลต่อจิตวิทยาที่กระทบต่อกำลังซื้อได้
หลังจากหมดปัจจัยหลักๆ ไปหลายเรื่อง ทำให้ตอนนี้ ตลาดหุ้นไทยจะพึ่งแรงซื้อจากกองทุนเป็นหลักไปก่อน เพราะปัจจัยใหม่ที่จะเข้าหนุนนั้นคงต้องรอปีหน้าเลยทีเดียว ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ ที่จะเข้ามาช่วยให้บรรยากาศลงทุนคึกคักอีกครั้งหลังผ่านช่วงซึมมากนานพอสมควร และหากจะหวังเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติก็คงจะมีหวังน้อยนิด แค่ดูจากช่วงท้ายๆ ก็มองเห็นแล้วว่าแนวโน้มยังคงไหลออกเรื่อยๆ
จากนี้ก็คงต้องพึ่งปัจจัยภายในเป็นหลักไปก่อน แต่เชื่อได้ว่าด้วยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ยังแข็งแกร่ง จะช่วยผลักดันตลาดหุ้นไทยต่อไปได้.
ปฏิญญา สิงห์พิสาร
ปฏิญญา สิงห์พิสาร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |