แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุด แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับรัสเซียไม่สิ้นสุดไปด้วย ยิ่งในยุคที่วลาดิมีร์ ปูติน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี บริหารประเทศต่อเนื่องยาวนาน เรื่องที่รัฐบาลสหรัฐพยายามปิดล้อม บั่นทอนผลประโยชน์รัสเซีย มีความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ประจักษ์ชัด
มีผู้สงสัยว่าทำไมโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีเป็นมิตรกับรัสเซียตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่นักการเมืองส่วนใหญ่ หลายรัฐบาลที่ผ่านมามองรัสเซียเป็นปรปักษ์ จนกระทั่งฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งของทรัมป์ กล่าวว่ารัสเซียยังคงบ่อนทำลายสหรัฐ ทำสงครามไซเบอร์ กำลังแทรกแซงการเลือกตั้งอเมริกา หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งจะเป็นหุ่นเชิดของรัสเซีย มีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายยุทธศาสตร์แม่บทอาจมองเป็นทางเลือกหลังไม่อาจล้มรัฐบาลปูตินด้วยการกดดันค่าเงินรูเบิลจนอ่อนตัวถึงร้อยละ 50 เศรษฐกิจปั่นป่วนอย่างหนักจากการคว่ำบาตรเมื่อช่วงปี 2013-15
ในเมื่อเล่นงานไม่ได้หันมาจับมือกันจะดีไหม ช่วยกันปิดล้อมจีน นักวิชาการบางคนเอ่ยถึงเรื่องนี้ กลยุทธ์นี้คือวิธีเดิมที่รัฐบาลนิกสันจับมือกับรัฐบาลจีนในทศวรรษ 1970 ช่วยกันปิดล้อมสหภาพโซเวียตและประสบผลสำเร็จด้วยดี
ในยุคนั้นกลายเป็นว่า 2 คอมมิวนิสต์ขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง โลกสังคมนิยมแบ่งออกเป็น 2 ค่าย ผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยสหรัฐจับมือกับคอมมิวนิสต์จีนอย่างเปิดเผย ควรบันทึกไว้ว่า รัฐบาลอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยเข้าได้กับรัฐบาลสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จีน
บัดนี้ รัฐบาลทรัมป์หวังใช้วิธีนี้ซ้ำ เปลี่ยนจากจับมือกับจีนมาเป็นจับมือกับรัสเซียแทน
ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐไม่ยอมรับว่ารัสเซียเป็นประชาธิปไตยแม้มีการเลือกตั้ง ชี้ว่าเป็นอำนาจนิยมระบอบหนึ่ง ดังนั้น ถ้าร่วมมือกับรัสเซียคราวนี้จะเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลเสรีประชาธิปไตยจับมือกับรัฐบาลประชาธิปไตยปลอมๆ (ตามการตีความของสหรัฐ)
เมื่อวิเคราะห์แล้วแนวคิดจับมือกับรัสเซียเพื่อต้านจีนมีจุดอ่อนอย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก จีนคู่ค้าสำคัญทั่วโลก
แม้หลายประเทศไม่กล้าพูดสนับสนุนจีนอย่างเปิดเผย แสดงตัวเป็นมิตรกับสหรัฐมากกว่า แต่หากดูตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ หลายสิบประเทศทั่วโลกมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ ไม่เว้นกลุ่มอียู ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่ล้วนเป็นพันธมิตรสหรัฐ
ถ้าพูดให้สุด สหรัฐคือตัวอย่างที่ทำการค้ากับจีนเต็มตัว ตัวเลขการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยมา และเป็นฝ่ายขาดดุลหนักแม้ใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน น่าคิดใช่หรือไม่ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้
การพูดจาในที่สาธารณะอาจเป็นอย่างหนึ่ง แต่ความสัมพันธ์การค้าเป็นอีกเรื่องประโยชน์ที่ได้จากการค้าการลงทุนระหว่างกันเป็นผลประโยชน์มหาศาล ไม่ใช่เรื่องระดับรัฐเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับผลกำไรของนักลงทุนอเมริกัน บริษัทใหญ่น้อยนับพันนับหมื่นแห่ง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนอเมริกานับร้อยล้านคน
อาจอธิบายว่าเป็นผลจากการค้าเสรี โลกาภิวัตน์
ดูเหมือนว่าทรัมป์จะไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจ ยังคงพูดต่อต้านการค้ากับจีน
ในยามนี้ รัฐบาลทรัมป์ไม่อาจปิดล้อมจีนเหมือนกับที่ทำกับโซเวียตรัสเซียในสมัยสงครามเย็นอีกแล้ว หากหวังผลจริงๆ ต้องใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป ต้องปรับเปลี่ยนค่านิยมบริโภคคนอเมริกัน บริษัทเอกชนและอีกหลายอย่าง เรื่องหนึ่งที่ต้องทบทวนคือยุทธศาสตร์ปิดล้อมได้ผลแค่ไหน จีนยังคงก้าวขึ้นมาเรื่อยๆ ใช่หรือไม่
นี่ยังไม่รวมการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เพียง 6 ปีหลังรัฐบาลจีนเริ่ม BRI บัดนี้ 125 ประเทศกับ 29 องค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมโครงการ ลงนามสัญญาความร่วมมือ 173 ชิ้น ทำให้โลกเชื่อมโยงใกล้ชิด เดินทางสะดวกง่ายกว่าเดิม การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
มีการพูดถึงข้อเสียจาก BRI หลายกรณีน่าจะเป็นจริง ในระดับยุทธศาสตร์บ้างคิดว่า “เป็นหัวหอกนโยบายสร้างความเป็นมหาอำนาจของจีน” จีนจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อสังคมวัฒนธรรมประเทศเหล่านี้ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การบงการของชนชั้นปกครองจีน เป็นตัวอย่างมุมมองด้านลบ
ไม่อาจปฏิเสธว่ามีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่โดยรวมแล้วนานาชาติยังคงมุ่งหน้าร่วมมือกับจีน
ประการที่ 2 รัสเซียได้อะไร เสียอะไร
นักวิชาการตะวันตกหลายคนมักพูดว่าที่รัสเซียร่วมมือกับจีนเป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ ไม่คิดผูกมิตรกันจริงๆ คำพูดเช่นนี้มีส่วนถูกต้องไม่มากก็น้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนจะมีเพียงสั้นๆ ตราบใดที่ผลประโยชน์ร่วมยังคงอยู่ การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ย่อมดำเนินต่อไป ปรับเปลี่ยนตามบริบทแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักเป็นเช่นนี้
หากนับตั้งแต่สิ้นสงครามเย็นจนปัจจุบัน นับเวลารวมราว 3 ทศวรรษแล้ว สัมพันธ์ทวิภาคีรัสเซียกับจีนดีขึ้นตามลำดับ ร่วมมือกันหลายด้าน โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางทหาร เศรษฐกิจบางหมวด การค้นคว้าวิจัย ถ้าคิดลงในรายละเอียด หากรัสเซียปิดล้อมจีนจะหมายถึงการปิดล้อมด้านพลังงานที่จีนนำเข้าน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลจากรัสเซีย 2 ประเทศร่วมลงทุนสร้างท่อส่งน้ำมันจากไซบีเรียเข้าหลายมณฑลของจีน ถ้ารัสเซียปิดล้อมจีนด้านพลังงาน และหากพวกซาอุฯ ตัวช่วยอีกแรง จะสร้างปัญหาแก่เศรษฐกิจจีนเป็นแน่แท้
ความร่วมมือกับรัสเซียช่วยให้จีนได้ประกันว่าจะมีน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวนมหาศาลจากรัสเซีย ในยามที่จีนได้รับการเปรียบเปรยว่าคือโรงงานอุตสาหกรรมยักษ์ของโลกผู้หิวกระหายพลังงานอย่างไม่จบสิ้น ส่วนรัสเซียหวังว่าการขายน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นรายได้หลักอันดับหนึ่งของประเทศจะได้รับประกันเช่นกัน
ด้านต่อมาคืออาวุธที่จีนยังคงต้องพึ่งพานำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ จากรัสเซีย แม้จีนจะพยายามพัฒนาของตัวเองแล้วก็ตาม จีนเป็นลูกค้ารายสำคัญด้านอาวุธของรัสเซีย มักเป็นผู้ได้รับอาวุธรุ่นใหม่ล่าสุดก่อนประเทศอื่นใด
ด้านสุดท้ายคือการเมืองระหว่างประเทศ หากรัสเซียแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อจีน อาจส่งผลให้ประเทศเล็กๆ หลายประเทศเปลี่ยนทิศทางถอยห่างจีนมากขึ้น ในทางกลับกันการจับมือระหว่างจีนกับรัสเซียเสริมอำนาจการเมืองระหว่างประเทศ คัดคานอำนาจฝ่ายปรปักษ์
หากรัสเซียปิดล้อมจีนอย่างจริงจัง ความสำเร็จ 3 ด้านดังกล่าวเพียงพอที่จะบั่นทอนจีนอย่างมาก
แต่คำถามคือ น้ำมันกับก๊าซธรรมชาติส่วนนี้รัสเซียจะไปขายใครแทน สหรัฐจะรับซื้อแทนหรือ จะยอมปล่อยให้ชาติสมาชิกนาโตซื้อใช้อาวุธรัสเซียหรือ รวมความแล้วจะได้อะไรตอบแทนในการช่วยปิดล้อมจีน คุ้มค่าหรือไม่ ส่วนเรื่องที่ถูกสหรัฐกดดัน คว่ำบาตร คอยบั่นทอนทำลายทุกวิถีทางเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ต่อไปดังเช่นที่ดำเนินเรื่อยมา
มองอีกมุม รัสเซียกับจีนต่างหากที่ต้องจับมือต้านสหรัฐ : หากรัสเซียร่วมมือกับสหรัฐต้านจีนและเป็นผลสำเร็จ ผลที่เกิดขึ้นคือส่งเสริมรักษาความเป็นเจ้าของสหรัฐ แม้ระบบโลกจะเป็นแบบหลายขั้ว แต่ขั้วอื่นๆ จะอ่อนแอเมื่อเทียบกับสหรัฐ ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกแก่สหรัฐ รัสเซียได้ปันผลบางส่วน คำถามคือจะมีหลักประกันอะไรว่ารัฐบาลสหรัฐชุดต่อไปจะยังสัมพันธ์ดีกับรัสเซีย รัฐบาลชุดใหม่อาจยกเลิกมิตรภาพแล้วหันมา “จัดการ” รัสเซียเหมือนที่เล่นงานจีนหรือไม่
สหรัฐคงไม่ปล่อยให้ประเทศใด “ก้าวขึ้นมา” เป็นใหญ่เทียบเคียงตัวเอง เหมือนโซเวียตในอดีต จีนในยุคปัจจุบัน เรื่องราวยุทธศาสตร์แม่บท (Grand Strategy) ของสหรัฐยังคงวนเวียนอยู่ดังนี้
จึงเป็นคำถามว่ารัฐบาลปูตินจะยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือ เพราะวันใดที่รัสเซียก้าวขึ้นมาเหมือนจีนในปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐคงหันกลับมาเล่นงานตนแน่ และที่เป็นอยู่ก็เห็นชัดอยู่แล้ว
ไปๆ มาๆ จุดอ่อนของยุทธศาสตร์แม่บทคือการยึดผลประโยชน์ตนฝ่ายเดียวมากเกินไป ไม่ว่าจะได้รัฐบาลจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครต
ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ควรเอ่ยถึง เช่น จะเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันหรือไม่ นาโตจะยังคงขยายตัว (NATO expansion) อีกไหม ความขัดแย้งเห็นต่างอีกหลายเรื่องจะเป็นอย่างไร มีคำถามอีกมากที่ต้องหารือก่อนตัดสินใจ
แน่นอนว่ารัสเซียอยากปรับปรุงความสัมพันธ์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่รัฐบาลสหรัฐยังมองรัสเซียเป็นปรปักษ์ ในอีกด้านที่รัสเซียเป็นมิตรกับจีนเพราะผลประโยชน์ แต่เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน ต่างได้ปรึกษาหารือและเห็นร่วมกัน ด้วยท่าทีเท่าเทียมกัน เคารพซึ่งกันและกัน อยู่รอดด้วยกันทั้งคู่ เหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมรัสเซียอยากร่วมมือกับจีนมากกว่า ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า รัสเซียจะมีสัมพันธ์ฉันมิตรด้วยถ้าประเทศนั้น “เคารพรัสเซียและผลประโยชน์ของรัสเซีย” ประธานาธิบดีปูตินเอ่ยถึงความผิดพลาดที่กระทำต่อยุโรปตะวันออกในอดีตว่า “หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราพยายามบังคับให้หลายประเทศในยุโรปตะวันออกใช้รูปแบบการพัฒนาของเรา (เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง) เราต้องยอมรับเรื่องนี้ มันไม่ใช่เรื่องดี ทุกวันนี้เรายังรับรู้ผลกระทบแง่ลบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น” “ทุกวันนี้พวกอเมริกันยังคงพยายามบังคับให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกใช้รูปแบบของพวกเขา พวกเขาจะล้มเหลวเช่นกัน”.
-----------------------
ภาพ : ประธานาธิบดีปูตินในที่ประชุมสหประชาชาติ
ที่มา : http://en.kremlin.ru/events/president/news/50385
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |