ผู้ตรวจการแผ่นดินดันทุรังส่งศาล รธน.วินิจฉัยปมคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อ้าง ม.128 พ.ร.ป.ส.ส.ขัด รธน.ม.91 ยุติไม่ส่งเรื่องการเลือกตั้งเป็นโมฆะ การันตีไม่เข้าข่ายไม่สุจริต พท.หนุนส่งศาลรธน.ตีความ ผนึกคนอยากเลือกตั้งบี้ กกต.ไม่เอาสูตรปาร์ตี้ลิสต์ฉบับ กรธ. "สุรพล" บุก กกต.ขอทบทวนมติแจกใบส้ม โวยโดนกลั่นแกล้ง ประธานศาลฎีกาห่วงบ้านเมืองวุ่นวายหากคนไทยไม่ยอมรับกติกา "เทพไท" ย้ำการเมืองเดินสู่ทางตันเพิ่ม 3 ตัวเลือกนายกฯ คนกลาง "ไพบูลย์-อำพน-กิตติพงษ์"
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 26 เมษายน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการพิจารณาคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาในการเลือกตั้งหลายประเด็น โดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 128 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับวิธีการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91
โดยเห็นในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 มีการกำหนดวิธีการคำนวนไว้ 5 อนุมาตรา แต่เมื่อมาบัญญัติเป็นพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับมีการขยายเพิ่มเป็น 8 อนุมาตรา โดยอนุ 4, 6, 7 ขยายข้อความนอกเหนือมาตรา 91 ที่ระบุ ส.ส.พึงมีเบื้องต้น ทำให้การคำนวณ ส.ส.ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จึงให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งทางสำนักงานจะพยายามยกร่างคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จและส่งให้ได้ภายในวันนี้ หรืออย่างช้าภายในวันที่ 29 เม.ย.
ทั้งนี้ ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีผูกพันกันองค์กรอื่น แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)อาจใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาหรือจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นอิสระ โดยผู้ตรวจฯ ไม่ต้องทำหนังสือเสนอแนะไปยัง กกต. ส่วนการพิจารณาของศาลจะมีผลอาจทำให้ กกต.ไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ทันวันที่ 9 พ.ค.หรือไม่ ไม่ทราบ เพราะผู้ตรวจฯ จะพิจารณาเฉพาะว่าองค์กรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างไร
ขณะที่ประเด็นขอให้วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคสาม มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91(4) และมาตรา 91 (4) มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 83(2) ซึ่งทั้ง 3 บทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ยุติคำร้อง เนื่องจากผู้ตรวจฯ ไม่มีอำนาจพิจารณากรณีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขัดกันเอง
ส่วนกรณีร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากประเด็นจำนวนรายงานผลนับคะแนนไม่ตรงกัน มีปัญหาคลาดเคลื่อนบัตรเขย่ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิและจำนวนบัตรแตกต่างกันอยู่ 9 ใบ เห็นว่าเป็นการแถลงข่าวจำนวนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลในเบื้องต้น จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่สุจริต ส่วนการไม่นำบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์มานับรวม กกต.ก็ได้มีการวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าข่ายเป็นความผิด ส่วนที่ร้องว่าไม่มีการแจ้งผลคะแนนให้ประชาชนได้รับทราบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางปฏิบัติ กกต.แจ้งว่ามีการติดประกาศที่หน้าหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้วประชาชนสามารถไปตรวจสอบได้ สำหรับที่ร้องว่านำบุคคลที่ไม่มีสัญชาติมารวมในการคิดคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น ตามมาตรา 86 ของ รธน.กำหนดว่าการประกาศเขตเลือกตั้งให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งหมดทั่วประเทศมาคำนวณอาจจะมีทั้งที่เป็นคนไทยและผู้มีสัญชาติไทยเพื่อให้รู้ว่าพื้นที่มีขนาดแค่ไหน ควรมี ส.ส.กี่คน
"การดำเนินการส่วนนี้ของ กกต.ถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย จึงมีมติเอกฉันท์ว่ายังไม่เข้าข่ายการเลือกตั้งไม่สุจริต จึงยุติเรื่องไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะตามที่ยื่นคำร้อง" นายรักษเกชา ระบุ
ทั้งนี้ ในช่วงเย็น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับวิธีการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 มีการกำหนดวิธีการคำนวณไว้ 5 อนุมาตรา แต่เมื่อมาบัญญัติเป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับมีการขยายเพิ่มเป็น 8 อนุมาตรา โดยมีอนุ 4, 6, 7 ขยายข้อความนอกเหนือมาตรา 91 ที่ระบุ ส.ส.พึงมีเบื้องต้น ทำให้การคำนวณ ส.ส.ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 แล้ว
พท.หนุนตีความ
พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป.ส.ส.มาตรา 128 ขัดต่อ รธน.มาตรา 91 หรือไม่ ว่าถือว่าดีเหมือนกัน ทุกอย่างจะได้กระจ่าง ไม่เช่นนั้น กกต.จะลังเลในข้อกฎหมาย หากเป็นเช่นนี้แล้วเมื่อทำทุกอย่างให้ชัดจะได้ไม่มีปัญหาในอนาคต
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เป็นผู้ร้องในประเด็นการขัดกันของข้อกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลน่าจะรับไว้พิจารณา เพราะเป็นแนวทางเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลที่ไม่รับคำร้องวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต. โดยคำวินิจฉัยมีช่องในการดำเนินการ คือยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการฯหากศาลรับพิจารณาและมีคำวินิจฉัยออกมา อย่างน้อยที่สุด กกต.จะได้สบายใจ ช่วยให้ทำงานได้อย่างสะดวกใจมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าสูตรคำนวณของตัวเองจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อถามว่า จะกระทบการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 9 พ.ค.ของ กกต.หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินระบุจะเร่งยื่นคำร้องโดยเร็ว จึงคาดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องเงื่อนไขเวลาด้วย ส่วนจะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าสุดท้ายแล้วศาลจะพิจารณาอย่างไร ถ้าขัดรัฐธรรมนูญ จะขัดในส่วนไหน ถึงขนาดไม่สามารถประกาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็น่าคิดเหมือนกัน
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า กกต.ไม่ควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น ผู้ดูแลการเลือกตั้งควรรู้กติกาเป็นอย่างดี ควรมีความชัดเจนก่อนทำหน้าที่เป็นกรรมการ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้วจะไม่รู้กติกา และสุดท้ายมาสงสัยในกติกา จึงเห็นด้วยที่ไม่รับคำร้องของ กกต. เนื่องจากศาลยึดหลักอยู่แล้วว่าหากไม่มีเหตุก็จะไม่มีการวินิจฉัย แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อใด จึงสมควรที่จะไปยื่นศาล แต่การยื่นคำร้องในครั้งนี้ยังไม่มีปัญหาใดๆ เลยเป็นเพียงความเชื่อของ กกต.เท่านั้น
ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจฯ วินิจฉัยคำร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ นายจตุพรกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าติดตาม ประเด็นนี้น่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ แต่ประเทศไทยทุกเหตุการณ์ห้ามกะพริบตาแม้แต่วินาทีเดียว
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ว่าที่ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อ กกต.เป็นตำบลกระสุนตก จึงอยากจะให้กำลังใจ ด้วยการขอให้ท่านนำความยุติธรรม ความสุจริต เป็นเกราะกำบังตนเองให้พ้นภัย อย่าเอามือไปซุกหีบเด็ดขาด หากมือขาดไม่มีใครช่วยท่านได้ ขอฝากข้อสังเกต ดังนี้ 1.เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ กกต.ทำหน้าที่ของตนเองในการคำนวณสูตรปาร์ตี้ลิสต์ จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย สำหรับสูตรการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ โดยให้ยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 เป็นหลัก มีสาระสำคัญโดยสรุปที่ห้ามมิให้จัดสรรที่นั่งให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.ที่พึงมีตั้งแต่ต้น
2.ในการตรวจสอบการทุจริตในการเลือกตั้ง ขอให้ กกต.พิจารณาองค์ประกอบอื่นในภาพรวมนอกเหนือจากข้อกฎหมายด้วย มิเช่นนั้น กกต.ก็จะถูกมองว่าเลือกปฏิบัติ ซึ่งการเร่งรัดสอยว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 ในเวลาเพียง 7 วันนับแต่รับคำร้อง ด้วยข้อหาถวายเงินทำบุญ 2,000 บาทแด่พระภิกษุ เทียบไม่ได้เลยกับการจัดโต๊ะจีนเพื่อหาทุนเข้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง การตรวจสอบของ กกต.จึงไม่คลายข้อสงสัย ไม่สิ้นกระแสความ หากต้องการต้องการออกจากตำบลกระสุนตก ต้องรีบตรวจสอบอย่างรอบคอบเป็นธรรม ตรงไปตรงมา
จี้ กกต.ทบทวนใบส้ม
ที่สำนักงาน กกต. นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายเอกชัย หงส์กังวาน และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง" เดินทางมาทำกิจกรรมยื่นใบแดง ใบสั่ง ให้ กกต. กรณีเลือกตั้งผ่านไปกว่า 1 เดือนแล้วยังไม่ยอมประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง รวมทั้งยังมีปัญหายุ่งเหยิงเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมระบุว่าวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอไม่ต้องถูกต้องตามกฎหมาย
โดย นพ.ทศพรกล่าวพร้อมนำชาร์ตตัวอย่างการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ กรธ. มานำเสนอว่า วิธีการคำนวณดังกล่าวผิด กกต.ก็ควรเลิกดื้อรั้นเสียที แล้วเชิญตน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. มาพูดคุยว่าอะไรผิดกฎหมาย และขอเรียกร้องความรับผิดชอบไปยัง กรธ. คือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. โดยเฉพาะนายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ที่มาเสนอแนะกับ กกต.ว่าตัวอย่างการคำนวณด้วยวิธีนี้ถูกต้อง
ด้านนายเอกชัยกล่าวว่า น่าสงสัยว่าการกระทำของ กกต. ได้รับใบสั่งจากใครมาหรือไม่ เพื่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถมีเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งนายอนุรักษ์ก็ได้กล่าวสนับสนุน พร้อมกับบอกว่าการกระทำดังกล่าวของ กกต.จึงถือว่าการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ล้มเหลวกว่า กกต.ชุดไหนๆ ที่ผ่านมา สมควรที่ กกต.จะได้ใบแดงมากกว่าใครทั้งสิ้น
ที่พรรคเพื่อไทย นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงขอให้กกต.ทบทวนมติแจกใบส้ม และขอให้ กกต.ให้ความเป็นธรรม คะแนนกว่า 52,000 คะแนน มาจากความนิยมของประชาชน ขอให้ทุกคนเป็นพยานกับด้วย
ต่อมานายสุรพลเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้ทบทวนมติสั่งระงับสิทธิสมัครชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าที่ตนนำเงินถวายพระ 2,000 บาท เป็นการถวายพระส่วนตัว ไม่ใช่ถวายให้วัด และพระไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายจูงใจหรือมีผลให้ตนเองได้รับเลือกตั้งจากการถวายเงินดังกล่าว นอกจากนี้ระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ก็กระชั้นชิด โดยสำนักงาน กกต.เชียงใหม่ได้แจ้งให้ชี้แจงในวันที่ 18 เม.ย. วันที่ 19 เม.ย. ตนต้องนำพยานไปให้ถ้อยคำและสำนักงาน กกต.เชียงใหม่ ส่งสำนวนเข้าให้ กกต. วันที่ 22 เม.ย. วันที่ 23 เม.ย. กกต.ก็มีมติเลย จึงทำให้น่าเชื่อว่าข้อมูลที่นำเสนอต่อ กกต.กลางให้พิจารณาไม่ครบถ้วนถูกต้อง
อีกทั้งมั่นใจว่าเรื่องนี้เป็นความพยายามกลั่นแกล้งกันทางการเมือง โดยโยงให้ตนผิดกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 73 ( 2) ของกลุ่มที่ฝ่ายการเมืองที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทยอยู่ โดยนำภาพจากเฟซบุ๊กของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถ่ายรูปตนที่เห็นแต่ด้านหลัง นำไปยื่นร้องในลักษณะบัตรสนเท่ห์ และภาพที่ปรากฏในสำนวนของ กกต. ก็ไม่ใช่ภาพที่ตนถวายเงิน แต่เป็นภาพในอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ตนเข้าไปร่วมในพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งตนไม่ได้ถวายปัจจัยให้กับพระเลย จึงเห็นว่าตนเองไม่ผิด และอยากขอความเป็นธรรมต่อ กกต.
ที่โรงแรมสองพันบุรี จ.สุพรรณบุรี มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2562 ของพรรคชาติไทยพัฒนา โดย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายคนสมหวัง หลายคนผิดหวัง แต่เราจะสู้กันต่อไป จะไม่ท้อถอย เพราะการเลือกตั้งไม่ได้มีขึ้นเพียงแค่หนเดียว
ห่วงคนไทยไม่ยอมรับกติกา
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรค กล่าวว่าพรรคชาติไทยพัฒนาได้รับเลือกตั้งน้อยกว่าที่ตั้งเป้าหมาย และขณะนี้พรรคไม่ทราบว่าจะได้ ส.ส.เข้าสู่สภา จำนวน 10 หรือ 11 ที่นั่ง เพราะ กกต.มีสูตรคำนวณเพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ซับซ้อนและมีวิธีคิดหลายแบบ แต่ไม่ว่าใช้แบบใด ขอให้พรรคได้ ส.ส.เข้าสภา 11 ที่นั่ง กกต.เป็นองค์กรที่น่าเห็นใจ เหมือนเป็นกระโถนท้องพระโรง เพราะต้องรับแรงกดดันจากทุกฝ่าย อีกทั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติซึ่งตีความการปฏิบัติได้หลายแบบ ดังนั้นไม่ควรกดดันการทำงานของ กกต.
"การเลือกตั้งที่ผ่านมา มีกระแสเกิดขึ้นหลากหลาย ทั้งล้มช้าง และกระแสคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันมีความพยายามให้เกิดสงครามทางความคิด ระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า หรือคนรุ่นใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดผิด เพราะการทำงานการเมืองต้องใช้การผสมผสานการทำงานระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่" นายวราวุธกล่าว
วันเดียวกัน คณะผู้เข้ารับการอบรมผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 23 จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง "มองกัญชาให้รอบด้าน" ณ ห้องบอลรูม 1 อาคารไทย ซีซี ชั้น 12 โดยนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กล่าวเปิดสัมมนาตอนหนึ่งว่า การดำเนินชีวิตในสังคมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับแพทย์และศาล โดยเฉพาะศาล ฝ่ายชนะคดีก็จะพึงพอใจได้รับความเป็นธรรม หากแพ้คดีก็จะบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือแม้แต่คนคนเดียวกัน เวลามาใช้บริการชนะคดีก็ดีไป หากแพ้คดีก็จะพูดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้สังคมกังขาตลอด ซึ่งไม่ว่าศาลใดในโลก ความยุติธรรมคือความพึงพอใจ
"ศาลไม่ได้มีส่วนได้เสียกับใคร ศาลเป็นองค์กรตั้งรับ เราไม่ได้ทำงานเชิงรุก ทำงานต่อเมื่อมีผู้นำคดีมาฟ้องต่อศาล เราถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ให้ความเป็นธรรม ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้แพ้คดี ดังนั้นเราไม่มีทางทำให้ชนะคดีทั้งสองฝ่าย ไม่มีทางเป็นไปได้"
ประธานศาลฎีกากล่าวด้วยว่า ปัญหาทุกวันนี้ คนไทยเราไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดการปกครองประเทศ ได้กำหนดบทบาทหน้าที่องค์กรต่างๆ ไว้ ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ศาล องค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างเขียนไว้ในกฎหมายหมด แต่คนไทย สังคมไทยเราไม่ยอมรับ องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เมื่อวินิจฉัยชี้ขาดแล้วก็ไม่พอใจ คนไทยส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ ถามว่าสังคมเราจะอยู่ได้อย่างไรหากเราไม่ยอมรับ ก็จะกลายเป็นใช้ความพึงพอใจส่วนตัว สังคมไม่สงบสุข ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวที่เป็น ทั่วโลกแม้ประเทศซึ่งอ้างว่าศิวิไลซ์ ประเทศเจริญแล้ว หากไม่พอใจรัฐก็ออกมาก่อความวุ่นวายมากมาย
"จึงอยากฝาก ถ้าเราไม่ยอมรับกติกา ไม่ว่ากติกาใดๆ ทั้งสิ้น ก็วุ่นวาย หากเราไม่เห็นด้วยกับกติกาก็ต้องแก้กติกาก่อน แต่เมื่อวินิจฉัยหรือตัดสินออกมาแล้ว ไม่มีทางพึงพอใจได้ทุกฝ่าย" นายชีพกล่าว
ปูด 3 ชื่อนายกฯ คนกลาง
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า จากที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับตีความคำร้องของ กกต.เกี่ยวกับสูตรคำนวณการนับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงการดำเนินการกรณีคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะเป็นปัญหาการเมืองที่อึมครึมอยู่ ขอให้จับตามองวันที่ 9 พ.ค.นี้ หาก กกต.ไม่สามารถรับรอง ส.ส.ได้ครบ 95% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะมีปัญหาการนับหนึ่งของการตั้งรัฐบาลที่ต้องหยุดชะงักทันที แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นรัฐบาลยาวต่อไป หลังวันที่ 9 พ.ค.นี้ ถ้า กกต.ไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ ขอให้ทุกฝ่ายเตรียมตัวเตรียมใจเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง
นายเทพไทกล่าวย้ำว่า รัฐบาลปรองดองแห่งชาติมีโอกาสเกิดขึ้น และเพิ่มมากขึ้นตามลำดับของสถานการณ์การเมืองไทย เพราะการจัดตั้งรัฐบาลกำลังเดินสู่ทางตัน แนวทางที่ตนเสนอให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ก็ยังยืนยันว่ายังเป็นทางออกของความขัดแย้งในสังคมไทยได้ หลายคนถามว่าทำไมไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ คนกลาง ก็เพราะสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่คนกลาง แต่เลือกข้างไปแล้ว คือยินยอมให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นนายกฯ จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นนายกฯ คนกลางอีกต่อไป
“มีชื่อที่ความเหมาะสมอีกท่านคือ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ซึ่งมีบทบาทในวันที่ยังดำรงตำแหน่งเป็น รมว.ยุติธรรม ที่เข้มแข็งจริงจังในการปราบทุจริต ซึ่งเห็นว่าบทบาทของท่านอาจจะเป็นปัญหากับคนบางกลุ่ม บางฝ่าย แต่ท่านมีความเหมาะสมและเป็นกลาง และอีกคนคือ ดร.อำพน กิตติอำพน เพราะผ่านงานสำคัญมาหลายบทบาท โดยเฉพาะการเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และอีกท่านที่สังคมเริ่มกล่าวถึงคือนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ทั้งสามรายชื่อใหม่นี้ หลังจากที่ผมเคยเสนอแนวทางรัฐบาลปรองดองแห่งชาติไปแล้ว 4 ชื่อ ก็มีอีก 3 ชื่อใหม่นี้ก็ถือว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ คนกลางได้ และขอให้สังคมร่วมพิจารณาด้วย” นายเทพไทกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |