สงครามเก้าทัพ กวาดต้อน สร้างเมือง


เพิ่มเพื่อน    


สงครามเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามที่แสวงหาการได้มาซึ่งอำนาจในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ปกครองที่ต้องการกำลังคนในช่วงที่ถูกเรียกขานว่า "ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง" จำต้องทำสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ไปตีหัวเมืองล้านนาที่ทำให้รัชกาลที่ 1 ได้ไพร่พล ในลักษณะกวาดต้อนแบบเทครัวจากหัวเมืองเหนือเป็นชาวยวนหรือโยนก  

สงครามกับอาณาจักรล้านช้างที่ทำให้ได้ชาวลาว เวียง และชาวโซ่ง, สงครามกับเมืองพระตะบองที่ทำให้ได้ชาวเขมร และสงครามกับพม่ารามัญที่ทำให้ได้ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยง

การก่อตั้งเมืองจำเป็นต้องอาศัยไพร่พลมาด้วย "พระเดช" หรือ "สงคราม" ทำให้อาณาจักรต่างๆ จำต้องยอมสวามิภักดิ์ไม่กล้าแข็งข้อกระด้างกระเดื่องด้วยความยำเกรงในฤทธานุภาพ 

และด้วยพระปรีชาญาณในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ทรงนำไพร่พลจากการทำสงครามมาเป็นแรงงานในการสร้างเมืองซึ่งก็คือกรุงเทพมหานคร โดยมีเมืองราชบุรีเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในการจัดสรรกำลังพล

แม้ว่าสงครามเก้าทัพเป็นการถูกรุกลำจากพม่ารามัญ ทว่าการวางแผนการรบอย่างดีของรัชกาลที่  1 พร้อมด้วยการมีขุนศึกผู้สวามิภักดิ์อย่างกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาถ (วังหน้า) และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทำให้ข้อจำกัดในการมีไพร่พลน้อยหมดไป สิ่งนี้ยิ่งทำให้เห็นถึงการได้มาซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จของไทยเหนือกลุ่มชนกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น

การนำไพร่พลจากสงครามของรัชกาลที่ 1 มาจัดสรรที่เมืองราชบุรีน่าจะเป็นเพราะสาเหตุสำคัญ 2  ประการ คือ ทรงเคยดำรงพระยศเป็น "หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี" ซึ่งเป็นตำแหน่งตัวแทนของพระราชาที่มาสอดส่องดูแลเมืองราชบุรีมาก่อนที่จะปราบดาภิเษกเป็นรัชกาลที่ 1 อีกทั้งทรงมีพระอัครมเหสีเป็นชาวเมืองอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีอาณาเขตติดกับอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

เนื่องจากราชบุรีเป็นเมืองสำคัญที่ลำเลียงกำลังพลในการสร้างกรุงเทพมหานคร หรือกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้ฐานอำนาจของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีมั่นคงมากยิ่งขึ้น เมืองต่างๆ ยอมอ่อนน้อมเพราะถูกตีแตกมาแล้วหลายระลอก

เมืองราชบุรีจึงเป็นเสมือน "บ้านคุ้มเหง้า เงาคุ้มร่าง" ที่ไพร่พลซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากสงครามแสวงหาที่พักพิง ประกอบกับเป็นเมืองที่มีจุดเด่นเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การเป็นเมืองที่มีดินดี ดินที่เกิดจากตะกอนทับถมกันย่อมมีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุเอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร, เลี้ยงสัตว์และปั้นโอ่งได้ดี 

พร้อมกับการมีแหล่งน้ำที่ดี มีทั้งห้วย หนอง บึง และแม่น้ำที่ไหลลงสู่ปากอ่าวไทย ทำให้มีสัตว์น้ำที่เป็นอาหารปากอาหารท้องแก่ชนกลุ่มต่างๆ ควบคู่กับการมีป่าไม้ดี ย่อมทำให้มีไม้มากพอเพียงที่จะใช้ในการสร้างบ้านเรือน ด้วยเหตุนี้เมืองที่มีรากแก้วที่มั่นคงอย่างราชบุรีย่อมทำให้ผู้คนจากต่างถิ่นแสวงหา  "บ้านคุ้มเหง้า เงาคุ้มร่าง" ด้วยเช่นกัน ดังนี้

อัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะหรือความโดดเด่นที่แสดงความเป็นตัวตนของกลุ่มชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดราชบุรีมี 

 มอญราชบุรี มีอัตลักษณ์ในเรื่องภาษาและวัฒนธรรม นักภาษาศาสตร์จัดให้ภาษามอญอยู่ในตระกูลภาษาออสโตร เอเชียติก หรือมอญ-เขมร ซึ่งมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ในส่วนของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมอญที่ยังคงดำรงอยู่ ได้แก่ วัฒนธรรมการแต่งกาย, วัฒนธรรมการละเล่นผีนางด้งและโยนลูกช่วงในเทศกาลแห่ปลา

วัฒนธรรมอาหาร โดยเฉพาะการกินข้าวแช่ในเทศกาลสงกรานต์ ในส่วนของอัตลักษณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง คือการใช้ภาษามอญสื่อสารในชีวิตประจำวันลดน้อยลง และอัตลักษณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว คือการสร้างบ้านมอญ ซึ่งในชุมชนมอญวัดม่วง อำเภอโพธาราม มีบ้านที่คล้ายคลึงกับบ้านทรงมอญแบบดั้งเดิมอยู่เพียงหลังเดียว

โซ่งราชบุรี มีอัตลักษณ์ทั้งในเรื่องภาษาและวัฒนธรรม นักภาษาศาสตร์จัดให้ภาษาไทยโซ่งอยู่ในตระกูลภาษาไท-กระได โดยมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ในส่วนของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไทยโซ่งที่ยังคงดำรงอยู่ ได้แก่ การเสนเรือนการรำแคนในเทศกาลอิ่นก๊อนฟ้อนแคน,  วัฒนธรรมอาหาร ไดแก่ แกงหน่อส้ม อัตลักษณ์ในส่วนที่กำลังมีการปรับเปลี่ยนไปในทางสูญสลาย  ได้แก่ พิธีศพและพิธีแต่งงานแบบโซ่ง, การบันทึกปั๊บผีเฮือน และการร้องขับแบบกลอนใน พิธีเสนเรือน       

อัตลักษณ์ไทยโซ่งที่ทางราชการไทยให้การส่งเสริม ได้แก่ การทอผ้าซิ่น, การปั้นเกล้า และชุมชนไทยโซ่งที่ได้รับการจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านไทยเข้มแข็งจากหน่วยงานราชการไทย คือชุมชนบ้านหัวเขาจีน  ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ

กะเหรี่ยงราชบุรี มีอัตลักษณ์ทั้งในเรื่องภาษาและวัฒนธรรม นักภาษาศาสตร์จัดให้ภาษากะเหรี่ยงอยู่ในตระกูลไซ โนทิเบตัน หรือจีน-พม่า มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยอักษรกะเหรี่ยงได้รับอิทธิพลมาจากอักษรมอญและอักษรพม่า อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงที่ยังคงสืบเนื่องต่อมาคือ ประเพณีก่อพระทรายและเวียนเจดีย์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์, ประเพณีแห่ฉัตร, ไหว้ต้นไม้, สรงน้ำหลวงพ่อนวม-เหยียบหลังกะเหรี่ยง, ประเพณีกินข้าวห่อกะเหรี่ยง 

นอกจากนี้ยังมีการแต่งกายแบบดั้งเดิมที่ยังคงดำรงอยู่ในช่วงงานเทศกาลควบคู่กับการฟื้นฟูผลิตภัณฑ์เม็ดเงิน "ไน้ไถ้ไต่จี" นอกจากนี้หน่วยงานราชการไทยโดยเฉพาะเทศบาลอำเภอบ้านคา ยังได้จัดงานวันสับปะรดหวานที่รวบรวมผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน และศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมให้ชนชาวกะเหรี่ยงขึ้นเป็นประจาทุกปี

เขมรราชบุรี เป็นกลุ่มชนที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่เกิดการสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองไปแล้วในช่วงเวลาปัจจุบัน เขมรเป็นกลุ่มชนเพียงกลุ่มเดียวในจังหวัดราชบุรีที่อยู่ในภาวะทิ้งอัตลักษณ์ทั้งทางภาษาและวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากการสร้างทัศนคติด้านลบของการเป็นชาติเขมร (ขอม)

อีกทั้งคนเขมรขาดความศรัทธาในการสร้างความเข้มแข็งของชาติตน แม้ว่าอิทธิพลของชนชาตินี้จะเกิดก่อนชนชาติอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ดังปรากฏหลักฐานการสร้างพระปรางค์วัดมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดราชบุรี ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2

ยวนราชบุรี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ทั้งทางภาษาและวัฒนธรรม นักภาษาศาสตร์จัดกลุ่มภาษายวนให้อยู่ในตระกูลภาษาไท-กระได ภาษายวนมีอัตลักษณ์ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนที่คล้ายคลึงกับภาษาไทยถิ่นเหนือ และมีการใช้รูปอักษรธรรมล้านนาในการบันทึกคัมภีร์ทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานของพระครูสิริคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนาหนอง 

ในส่วนของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของยวนที่ยังคงดำรงอยู่ คือภาษาพูด ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวยวนยังคงพูดภาษายวนกับลูกหลานในชุมชน ทว่าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมบางอย่าง ได้แก่ การทอซิ่นตีนจก กลับเริ่มสั่นคลอนในพื้นที่บ้านดอนแร่

ไทยพื้นถิ่นราชบุรี มีอัตลักษณ์ทั้งทางภาษาและวัฒนธรรม นักภาษาศาสตร์จัดกลุ่มภาษาไทยพื้นถิ่นให้อยู่ในตระกูลภาษาไท-กระได อัตลักษณ์ทางภาษาพูดเป็นอัตลักษณ์ที่ยังคงดำรงอยู่ทั้งเด็กนักเรียนไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ยังคงดำรงอยู่คือ ประเพณีการวิ่งวัวลาน ความน่าสนใจของชนกลุ่มนี้คือ การเป็นชุมชนที่น่าจะเป็นแหล่งอารยธรรมไทยในยุคเริ่มแรกประมาณ 1,000 ปีล่วงมาแล้ว เนื่องจากมีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 48 โครงฝังรวมกับสิ่งของเครื่องใช้เครื่องประดับจำนวนมากที่เนินโคกพลับ

ลาวเวียงราชบุรี ที่มีความเข้มแข็งทางภาษาและวัฒนธรรม คือลาวเวียงบ้านเลือกและวัดโบสถ์ อำเภอโพธาราม เนื่องจากคนในชุมชนให้ความสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรม โดยเฉพาะพระครูโพธารามพิทักษ์และคุณรังสรรค์ เสลาหลัก และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรมและแหล่งเรียนรู้ TK Park มาร่วมกันสร้างหอวัฒนธรรมลาวเวียงและห้องสมุดชุมชน

ชาวจีนราชบุรี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ทั้งทางภาษาและวัฒนธรรม นักภาษาศาสตร์จัดกลุ่มภาษาจีนให้อยู่ในตระกูลภาษาไซโนทิเบตัน ซึ่งชาวจีนในจังหวัดราชบุรีมีจำนวนมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ อีกทั้งมีสมาคมและมูลนิธิจีนที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการจัดการศพและการบริจาคในรูปแบบองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือสังคม 

ด้วยเหตุนี้เทศบาลราชบุรีจึงให้ความสำคัญในการจัดงานเทศกาลปีใหม่ (ตรุษจีน) ของชาวจีน สำหรับการสืบสานอัตลักษณ์ของชาวจีนที่ยังดำเนินอยู่คือ การเรียนภาษาจีน มีโรงเรียนสอนภาษาจีนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา-ระดับอุดมศึกษา และมีการสืบสานศิลปะการแสดง "เอ็งกอ พะบู๊ นักสู้แห่งเขาเหลียงซาน", การแสดงสิงโตโชว์ต่อตัวบนหอโชว์ปลายไม้ไผ่, การแสดงเชิดสิงโตเสาดอกเหมย กลางลำน้ำแม่กลอง และการแสดงวัฒนธรรมจีน "รำพัด" ในงานราชบุรี ไชน่าทาวน์.
-------------
อ้างอิง: งานวิจัยสงคราม 9 ทัพ และประวัติศาสตร์เมืองราชบุรี  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"