26เม.ย.62- ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เขียนบทความเผยแพร่เรื่อง “ม.44 อุ้มค่ายมือถือ สุดท้ายใครโดนหลอก” มีเนื้อหาดังนี้
หลายฝ่ายเชื่อว่าแนวทางช่วยผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือตาม ม. 44 โดย กสทช. เป็นการ “เอาใจ ธุรกิจใหญ่” มากเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดังเสียงสะท้อนจากสื่อมวลชน นักวิชาการและภาคประชาสังคมตลอดช่วงที่ผ่านมา เพราะมีประเด็นเกี่ยวกับ “ธรรมาภิบาล” และ “ความโปร่งใส” ที่ “รัฐบาล” หรือ “คสช.” ควรพิจารณาทบทวนก่อนที่จะเกิด “วิกฤติศรัทธา” จากประชาชน..อีกกรณีหนึ่งก็ได้ !!
1. ประเทศเสียประโยชน์ – อุตฯ โทรคมนาคมเสียโอกาส!
เรื่องนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญเพราะประชาชนต่างหวังว่าทั้งรัฐบาล คสช. และ กสทช. จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์และรับผิดชอบ ไม่ยอมถูกครอบงำหรือเป็นเครื่องมือให้กับใคร แต่การใช้ ม. 44 ที่อ้างว่าต้องการช่วยค่ายมือถือทั้งสามด้วยท่าที “ทั้งอุ้ม ทั้งแจก” ทำให้เอกชนได้ประโยชน์หลายต่อแต่รัฐต้องเสียโอกาสหลายเท่าที่จะได้เงินในวันนี้เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ซึ่งดูไม่เป็นธรรมเลยเมื่อเทียบกับการที่ประชาชนต้องเสียค่าปรับเมื่อค้างชำระภาษี ต้องเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก เมื่อกู้ยืมธนาคารไปซื้อบ้าน ซื้อรถหรือเป็นทุนทำมาหากิน
ต่อประเด็นที่ กสทช.ระบุว่า จำเป็นต้องช่วยเอกชนหรือผู้ประกอบการมือถือที่ “สุจริต” และ “ไม่มีความสามารถชำระเงิน” ก็มีข้อสงสัยว่า
ก. “ค่ายมือถือ” เหล่านี้ จะถือว่าเป็นผู้ไม่มีความสามารถชำระเงินได้อย่างไร เพราะเห็นกันอยู่ว่าทุกรายล้วนมีกำไรดีต่อเนื่อง (ดูเอกสารประกอบ) มีเงินปันผลและไม่เคยแจ้งผู้ถือหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์เลยว่ามีปัญหาด้านการเงิน เช่นนี้แล้วทำไมรัฐยังต้องอุ้ม อุ้มแล้วประชาชนได้อะไร
ข. “ค่ายมือถือ” เหล่านี้ จะเป็น “เจ้าเก่า” ที่ประเทศไทยต้องฝากอนาคตการสื่อสารโทรคมนาคมของชาติไว้อย่างไม่มีทางเลือกอื่นเลยใช่หรือไม่ เพราะการที่ กสทช. จัดสรรคลื่น 5 จี “ทั้งหมด” ให้เป็นแพคเกจพ่วงกับการยืดชำระหนี้ 4 จี เท่ากับไปปิดโอกาสไม่ให้มี “เจ้าใหม่” เข้าแข่งด้วย แถมยังกำหนดไว้ราคาต่ำเกินคาด ซึ่งมองได้ว่ารัฐเป็นผู้กำหนดเกมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้
คงต้องจับตาดูว่า สุดท้ายแล้วเอกชนเหล่านี้จะแสดงความซื่อสัตย์ให้สังคมเห็นหรือฉวยเอาผลประโยชน์ทุกทางเมื่อมีโอกาส
2. ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย - สั่นคลอนระบบราชการ!
การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาจนทำให้รัฐเสียประโยชน์ เท่ากับเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและกติกาที่รัฐได้ทำไว้กับเอกชน ซึ่งจะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของระบบราชการ จนอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่สร้างปัญหาไม่รู้จบ
กรณีแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว เช่น การลดค่าสัมปทานและยอมให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขผังรายการให้กับไอทีวี (ไทยพีบีเอสในปัจจุบัน) การต่อสัมปทานศูนย์ประชุมสิริกิติ์ 50 ปีให้ผู้ประกอบการเดิมโดยไม่มีการประมูล และที่โด่งดังมาก คือ การแก้สัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิต จนอดีต ผอ.องค์การโทรศัพท์และอดีตรัฐมนตรีต้องติดคุก
เรื่องน่าแปลกใจอีกประการคือ ในตอนต้นของคำสั่ง คสช. ระบุว่าจำเป็นต้องออกมาตรการนี้เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วม “การประมูล” คลื่นความถี่ 5 จี แต่สุดท้ายกลับให้เป็นการ “จัดสรร” คลื่น ด้วยอำนาจของเลขาธิการ กสทช. โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ในการจัดตั้งสำนักงานนี้ขึ้นมา
3. สัมปทานใหม่ขายถูกโดยไม่ต้องประมูล!
ประเด็นนี้ กสทช. ควรชี้แจงให้ชัดว่า ค่าใบอนุญาต 5 จี ใบละ 25,000 – 27,000 ล้านบาทตามที่ประกาศออกมา กำหนดจากอะไร มีที่มาหรือแหล่งอ้างอิงอย่างไร เพราะเมื่อเทียบเคียงกับราคาเมื่อครั้งประมูล 4 จีแล้วต่ำกว่ามาก พิสูจน์ได้ไหมว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับเทคโนโลยีที่มีศักยภาพทางการตลาดสูงและเป็นสมบัติชาติที่คนไทยทุกคนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของ เพียงแต่ไม่มีอำนาจไปจัดการเองโดยตรง ดังนั้นเสียงสะท้อนของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจต้องฟัง
สุดท้ายแล้วเกมแห่งผลประโยชน์นี้ ใครจะได้ ใครจะโดนหลอก
ขอให้คนไทยมาร่วมกันติดตามดูว่า “นายกรัฐมนตรี” จะแก้ไขเรื่องนี้ให้ถูกต้องอย่างไร หรืออีกทางเลือกที่ดีคือรอให้เป็นหน้าที่ของ “รัฐบาลใหม่” ที่มาจากการเลือกตั้งและมีกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |