ผู้ตรวจการแผ่นดินขีดเส้น 60 วัน ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนการใช้สาร "พาราควอต" ย้ำต้องประกาศยกเลิกให้ชัดเจนตั้งแต่ 1 ม.ค.63 ขู่หากยังเพิกเฉยเตรียมรายงานนายกฯ พร้อมส่ง ป.ป.ช.เอาผิดฐานจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลร้ายแรง
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 25 เมษายน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดินประชุมร่วมกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีพบว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจฯ ที่ให้เดินหน้ายกเลิกสารเคมีพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.61 ผู้ตรวจฯ ได้เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 3 ประเด็น คือ 1.ให้มีการประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอตตั้งแต่ 1 ม.ค.63 2.สร้างความรู้ความเข้าใจและควบคุมการใช้สารพาราควอต และ 3.พิจารณาใช้สารอื่นทดแทน ซึ่งพบว่าจนถึงปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเน้นในเรื่องของการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารพาราควอต
"แต่ประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีการพูดถึงคือการยกเลิกสารอันตรายดังกล่าว ทางผู้ตรวจฯ จึงเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนในการปฏิบัติ จึงได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ และยืนยันมติของผู้ตรวจฯ ว่าอย่างไรก็ตามคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องยกเลิกการใช้สารพาราควอตตั้งแต่ 1 ม.ค.63 โดยผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมได้ชี้แจงเหตุผลที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่มีการประกาศยกเลิก เป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชนยังคุ้นเคยกับการใช้สารดังกล่าว และยังไม่มีสารอื่นทดแทน รวมทั้งคิดว่าสามารถควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงยืนยันข้อมูลว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และผู้แทนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็อ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจ จึงขอนำความเห็นและข้อห่วงใยของผู้ตรวจฯ ครั้งนี้ไปเสนอให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณา"
นายรักษเกชากล่าวอีกว่า ทางผู้ตรวจฯ จึงให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายไปพิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าวภายใน 60 วัน โดยมีเป้าหมายคือ ต้องประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอต ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 แต่ถ้ามีเหตุขัดข้อง ก็พร้อมที่จะรับฟัง แต่ต้องเป็นเหตุผลอันสมควรว่าเพราะเหตุใดยังคงต้องใช้สารดังกล่าวในการเกษตร ถ้าเหตุผลที่ชี้แจงมาทางผู้ตรวจฯ เห็นว่าไม่เพียงพอ ก็จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน
"หรือหากเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ทางประธานผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้แจ้งในที่ประชุมร่วมแล้วว่าเข้าข่ายหัวหน้าหน่วยงานเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจฯ โดยไม่มีเหตุสมควร ทางผู้ตรวจฯ ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องเสนอเรื่องดังกล่าวไปให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา โดยถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลร้ายแรง ซึ่งทาง ป.ป.ช.ก็จะใช้สำนวนของผู้ตรวจการฯ เป็นหลักในการพิจารณาไต่สวนชี้มูล" นายรักษเกชา กล่าว
สำหรับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกอบด้วย 29 คน มาจากตัวแทนหน่วยงานรัฐ 19 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน คือ 1.ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 2.อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 3.เลขาธิการ สนง.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 4.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 5.ผู้แทนกระทรวงกลาโหม 6.เลขาธิการ สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ 7.ผู้แทนกระทรวงคมนาคม 8.อธิบดีกรมขนส่งทางบก 9.อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน 10.อธิบดีกรมการค้าภายใน 11.อธิบดีกรมประมง 12.อธิบดีกรมปศุสัตว์ 13.อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 14.ผู้แทน สนง.มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 15.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชากฎหมาย 16.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาเคมี 17.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ 18.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 19.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิทยาศาสตร์ 20.ผู้แทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 21.ผู้แทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายท้องถิ่น 22.ผู้แทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม 23.ผู้แทนองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค (คนที่ 1) 24.ผู้แทนองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค (คนที่ 2) 25.อธิบดีกรมการแพทย์ 26.อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 27.เลขาธิการคณะ กก.อาหารและยา 28.อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 29.อธิบดีกรมวิชาการการเกษตร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |