สั่งเคาะปาร์ตี้ลิสต์ แบไต๋ยึดสูตรกรธ.


เพิ่มเพื่อน    

    ได้เวลาทำงาน! "แสวง" เผย กกต.มอบหมายให้สำนักงานไปศึกษาวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมือง และนักวิชาการเคยเสนอ หลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง แต่ยืนยันมีสูตร กรธ.และเผยแพร่มา 2 ปีแล้ว ยันทันวันที่ 9 พ.ค.แน่นอน 
    นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการประชุม กกต.วันที่ 25 เมษายน ว่าที่ประชุม กกต.ได้รับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่รับคำร้องของ กกต.เรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กกต.จึงจะต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ภายหลังการประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว โดยจะคำนึงถึงวิธีการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ที่สำนักงาน กกต.เสนอให้ กกต.พิจารณา หรือวิธีการคำนวณอื่นๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
    เขากล่าวว่า ที่ประชุม กกต.มอบหมายให้สำนักงานไปศึกษาวิธีคำนวณที่นักวิชาการ พรรคการเมืองเสนอ และระบุว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ว่าวิธีเหล่านั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ซึ่งบุคคลที่เสนอได้ส่งวิธีคำนวณให้ กกต.แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เสนอก็ล้วนแต่อ้างว่าของตนถูกต้องตามมาตรา 128 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. แต่คิดคำนวณออกมาได้ต่างกัน  
    นายแสวงชี้แจงว่า ในส่วนของสำนักงาน กกต. การคำนวณตามแบบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของ กกต. เพราะวิธีการนี้ได้เสนอมาตลอด 2 ปี ไม่เคยมีการโต้แย้ง รวมทั้งได้มีการเผยแพร่พรรคการเมืองที่ได้ติดตามก็น่าจะทราบสูตรอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีผลคะแนนการเลือกตั้งออกมา แต่เมื่อมีการเลือกตั้งออกมาแล้ว และมีการเอาผลคะแนนไปคิดตามวิธีการดังกล่าว กลับท้วงว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และมีการนำเสนอวิธีการคำนวณของตัวเอง โดยบอกว่าสิ่งนี้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ กกต. ให้ไปดูแล้วนำมาเสนอ กกต.  
    "กรอบเวลาเรื่องนี้คงต้องดำเนินการโดยเร็ว เพราะถึงอย่างไรวันที่ 9 พ.ค.นี้ กกต.ต้องประกาศ ส.ส.ทั้งสองแบบไม่น้อยกว่าร้อยละ 95  
    รองเลขาฯ กกต.เผยว่า ก่อนหน้านี้ กกต.ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 128 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ขัดกับมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจ กกต. เราจะพยายามหาสูตรที่ไม่ขัดกฎหมาย หากหาได้ก็ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องกฎหมายลูกขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนเมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว มีผู้ที่เห็นว่าการคำนวณจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ถูกต้องก็มีสิทธิไปร้องต่อศาลได้
สัญญาว่าจะให้เงิน
    เมื่อถามกรณีที่ กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่, สั่งนับคะแนนใหม่ และสั่งระงับสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ชั่วคราว กกต.ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการหาเสียงให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ทำให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่มีแนวทางในการปฏิบัติกับเรื่องดังกล่าวนั้น นายแสวงแจงว่า กรณีนี้ กกต.ได้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ออกตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 71 กรณีการให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ผู้ใด ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันใด รวมถึงมาตรา 73 กำหนดไว้ว่า การช่วยเหลือเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดตามประเพณีต่างๆ กระทำมิได้ โดย กกต.ได้มีหนังสือตอบข้อหารือของพรรคการเมือง ที่ได้มีหนังสือหารือเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามข้อดังกล่าว และแจ้งให้พรรคการเมืองทราบ พร้อมทั้งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานเป็นการทั่วไปก่อนการเลือกตั้งแล้วด้วย
    นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กกต.ควรยึดสูตรคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้การคำนวณดังกล่าวได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ไม่เกินจำนวนที่พึงมี และยึดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้สังคมครหาหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องของ กกต. 
    ถ้า กกต.ปฏิบัติตามกฎหมาย จะไม่มีความสับสน คลุมเครือ และจะไม่มีคำท้วงติง แต่การกระทำที่ผ่านมายังไม่ใช่ การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อเติมเต็มให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์พึงมีได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง เป็นการคำนวณที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ หาก กกต.ยืนยันใช้สูตรที่คำนวณส.ส.ให้พรรคเล็ก ถือเป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ กกต.ต้องรับผิดชอบกระทำของตัวเอง การกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องใหญ่
    ถามว่าหาก กกต.ยังยืนยันการคำนวณสูตรเดิม ซึ่งต่างจากวิธีคำนวณของพรรคเพื่อไทย จะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ นางลดาวัลลิ์กล่าวว่า การที่พรรคจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องรอให้ กกต.ประกาศผลก่อน การทำงานของ กกต.ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะเป็นประโยชน์ของประเทศและประชาชน
    นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ กกต.มีมติให้ใบส้มนายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ว่า ช่วงเช้าวันที่ 26 เม.ย. นายสุรพลจะเดินทางมาที่พรรคเพื่อไทย มาหารือกับฝ่ายกฎหมายถึงกระบวนการที่อาจใช้สิทธิ์โต้แย้ง กกต. ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวมองว่าช่องทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือใช้สิทธิโต้แย้งไปยังศาลปกครอง เพราะ กกต.ก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยฝ่ายกฎหมายจะพิจารณารายละเอียดร่วมกับนายสุรพลอีกครั้ง
กกต.เร่งรัดเกินไป
     “เท่าที่ทราบว่ากระบวนการตัดสินเร่งรัดเกินไปหรือไม่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหาให้นายสุรพล วันที่ 18 เมษายน นายสุรพลได้ชี้แจงรายละเอียดวันที่ 19 เมษายน จากนั้นอีก 5 วัน คือ 23 เมษายน กกต.ชี้มูลเรื่องดังกล่าวเลย ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาว่าพอจะมีทางที่รักษาสิทธิ์อย่างไรได้หรือไม่" 
    นายชุมสายกล่าวว่า จากประเด็นแจกใบส้ม ตามที่มีคนสังเกตจะทำให้พรรคถูกยุบ ตนมองว่าจะไม่ถึงขั้นยุบพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะตามกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคระบุชัดเจนว่า หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคต้องรู้เห็นและรับรู้กับการกระทำดังกล่าว แต่ทางแกนนำพรรคไม่ทราบเรื่องมาก่อน มารู้ภายหลังจากที่ กกต.มีมติให้ใบส้มไปแล้ว อีกทั้งจากที่ฟังนายสุรพลชี้แจงเบื้องต้น ที่นำเงินใส่ซองทำบุญถวายพระภิกษุนั้นไม่ได้เจตนาซื้อเสียง หรือจูงใจให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ เนื่องจากพระถือเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ยอมรับว่า กกต.แจกใบส้มต่อนายสุรพล คงจะมีผลกระทบต่อการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลสำหรับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน
    ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า คิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาค่อนข้างชัดเจน แปลออกมาง่ายๆ เป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า นี่มันหน้าที่ กกต. จะมาถามศาลทำไม ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่ตนคิดและสงสัยมาตั้งแต่ทราบว่า กกต.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทุกอย่างที่ กกต.ต้องทำ ถูกกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญไว้หมดแล้ว ก็แค่เพียงทำตามเท่านั้น  มิจำเป็นต้องตีความใดๆ อีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ กกต.ควรจะทราบตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งแล้ว การประวิงเวลาเช่นนี้ ทำให้ประชาชนคิดได้ว่า กกต.ตั้งใจหาทางตีความกฎหมาย เพื่อเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ 
    "อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะซ้ำรอย การเลือกตั้งปี 2549 และ 2557 ที่เกิดการโมฆะ และทำให้ กกต.ต้องติดคุก หนึ่งเดือนที่ผ่านมา กกต.ก็ตกเป็นจำเลยสังคมมามากแล้ว แต่หลังจากนี้ ผมเกรงว่า กกต.จะยิ่งตกเป็นจำเลยสังคมหนักกว่าที่ผ่านมา หากยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเห็นถึงความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรมได้ ขอแค่เพียง กกต.อดทนให้มาก อย่าถอดใจไปก่อน เพราะผมมีความกังวลและหวั่นใจว่า กกต.อาจชิงลาออกไปก่อน หากทนแรงกดดันและรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ไหว ส่งผลทำให้การเลือกตั้งไม่ครบองค์ประกอบ เพราะขาดผู้ที่มาจัดการเลือกตั้ง และอาจจะทำให้การเลือกตั้งเกิดปัญหากลายเป็นโมฆะได้ในที่สุด ซึ่งกรณีนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้" รองโฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าว
แปลกพิลึกดี
    ด้าน น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ลำดับความสำคัญและตรรกะของการเลือกตั้งไทยครั้งนี้แปลกดีพิลึก แถมสังคมไทยยอมจำนนกับตรรกะและลำดับความสำคัญที่บิดเบี้ยวนี้อีก เราเลือกตั้งผ่านมา 1 เดือน แต่ไม่รู้ผลการเลือกตั้ง ไม่มีการเปิดเผยคะแนนดิบ อีกทั้ง กกต. ผู้จัดการเลือกตั้งบอกไม่ทราบว่าจะคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อเช่นไร มีการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ศาลบอกเป็นหน้าที่ กกต. ไม่ใช่ศาล ข่าวสารและสิ่งที่สังคมไทยรับรู้ตลอด 1 เดือน คือมีพรรคที่ได้ ส.ส. เป็นลำดับที่ 2 แย่งชิงประกาศจะตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจแข่งพรรคที่ได้คะแนนนิยมอันดับหนึ่ง และมีคะแนนรวมน้อยกว่าคะแนนรวมทั้งหมดของพรรคที่ประกาศไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจในการหาเสียง แต่สังคมกลับปล่อยให้พฤติกรรมกลับหัวนี้คงอยู่ เราจะยอมให้ตรรกะบิดเบี้ยวครอบงำสังคมไทยเพราะความกลัวหรือ
    นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ว่าทาง กกต.ได้ส่งคำชี้แจงมายังผู้ตรวจฯ แล้ว ตามที่ผู้ตรวจฯ ได้ให้ชี้แจงข้อกล่าวหาของผู้ร้องเข้ามาภายใน 7 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการประมวลข้อมูลเอามาเทียบเคียงกับคำร้อง 
    ขณะเดียวกัน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ ซึ่งผู้ตรวจฯ ตระหนักว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับเงื่อนเวลาที่ต้องประกาศรับรองผล จึงได้นัดประชุมผู้ตรวจฯ นัดพิเศษในวันที่ 26 เม.ย. เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาดูพยานหลักฐานต่างๆ และคาดว่าจะสามารถมีมติได้เลยว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
     ที่สำนักงาน กกต. นายสันติพล ไชยกิจ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อนไทย ได้รับมอบอำนาจจากนายอนุวัฒน์ วิกัยพัฒน์ อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อนไทย เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. แจ้งหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคเพื่อนไทย 
    โดยนายสันติพลเปิดเผยว่า เนื่องจากทางกรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่จำนวน 8 คน และสมาชิกพรรคเห็นว่าทางหัวหน้าพรรคเพื่อนไทยไม่ได้มีการดำเนินการกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนอุดมการณ์ของหัวหน้าพรรคเองก็ไม่มีความชัดเจน จึงขอลาออกไปทำตามอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเอง ซึ่งขณะนี้พรรคเพื่อนไทยเหลือเพียงนายสิระ พิมพ์กลาง รักษาการเป็นหัวหน้าพรรคเพียงเท่านั้น ส่วนตนจะย้ายพรรคหรือตั้งพรรคใหม่นั้น อยู่ระหว่างการหารือกัน แต่แนวโน้มจะมีการตั้งพรรคใหม่มากกว่าที่จะย้ายไปสังกัดพรรคอื่น
    น.ส.พัสวี ภัทรพุทธา ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 กทม.พรรคอนาคตใหม่ และนายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมจากที่ยื่นไปเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้นับคะแนนใหม่ในเขต 2 กทม.ทั้งเขตเลือกตั้ง 
    นายชัยธวัชกล่าวว่า ขณะนี้ผ่านมา 1 เดือน กกต.ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ โดยที่ผ่านมา น.ส.พัสวีได้ไปขอผลคะแนนรายหน่วยทุกหน่วยของเขต มาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายที่ประชาชนใบรายงานผลที่ติดไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง พบว่ามีความผิดปกติในหลายหน่วย แยกได้เป็น 4 กรณี 1.การนับคะแนนในวันเลือกตั้งที่ 24 มี.ค. เมื่อประชาชนพบความผิดปกติและได้มีการทักท้วงกรรมการนับคะแนน จึงได้มีการแก้ไข 2.ใบรายงานผล ส.ส.5/18 มีบางหน่วยไม่ตรงกับใบขีดคะแนน (ส.ส. 5/11) 3.พบว่าใบรายงานผล ส.ส.5/18 ที่ติดอยู่หน้าหน่วยเลือกตั้งไม่ตรงกับใบ ส.ส.5/18 ที่ กกต.เขตมอบให้กับผู้สมัครภายหลังที่ไปขอคัด 4.พบว่าใบ ส.ส.5/18 ที่ กกต.เขต มอบให้กับผู้สมัครภายหลังที่ไปขอคัดพบว่ามีการขีดฆ่าแก้ไข ไม่มีการเซ็นชื่อรับรองโดยกรรมการนับคะแนน และน่าสงสัยว่าในบางจุดอาจมีการเขียนเพิ่มเติมในภายหลัง 
    ดังนั้น จึงขอให้นับคะแนนใหม่ทั้งเขต เพราะการเลือกตั้งผ่านไปเดือนกว่าแล้ว ยังมีหลายกรณีที่ประชาชนสงสัย ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าไม่สุจริต อยากให้ กกต.เร่งดำเนินการตรวจสอบและสั่งนับคะแนนใหม่ทั้งเขตเลือกตั้ง
ร้องตรวจสอบการใช้เงิน
    นายพรวิชัย มิ่งวงษ์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 อุบลราชธานี พรรคประชาธิปไตยใหม่ พร้อมด้วยนายพยุงศักดิ์ ชอบชื่น ผู้สมัครเขต 2 แพร่, นายส่ง ใจเครือ ผู้สมัครเขต 3 ศรีสะเกษ และนายอนุรักษ์ อยู่สายชล ผู้สมัครเขต 1 สุพรรณบุรี เดินทางมายื่นร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบกรรมการบริหารพรรคประชาธิปไตยใหม่ กับการใช้จ่ายเงินของนางแพงศรี พิจารณ์ เหรัญญิกพรรค และภรรยาของนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรค
    โดยนายพรวิชัยเผยเหตุที่มาร้องเป็นกรณีการประชุมสามัญของพรรคเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2562 เมื่อมีสมาชิกต้องการทวงถามเรื่องเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ลงสมัคร ส.ส.เขต จำนวน 204 คน นายสุรทิน หัวหน้าพรรคไม่ตอบ และเลิกการประชุมทันที ทั้งที่ยังมีวาระการประชุม 2-5 ไม่ได้ดำเนินการ ต่อมามีคำสั่งพรรคให้พวกตนทั้ง 4 คน พ้นจากสมาชิกภาพ จึงถือว่าการประชุมสามัญของพรรคประชาธิปไตยใหม่ไม่เป็นไปตามระเบียบวาระการประชุม นอกจากนี้ นางแพงศรี เหรัญญิกพรรค ได้แจกเงินใส่ซองขาวให้ผู้ประชุม 300-400 บาท โดยไม่ได้รับทุกคนที่มาประชุมครั้งนี้ จึงขอให้ กกต.เข้ามาตรวจสอบ
    นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้สมัคร ส.ส. เขต 13 กทม. พรรคเพื่อไทย ยื่นเอกสารหลักฐานต่อ กกต. เพิ่มเติม กรณีก่อนหน้านี้ที่ได้ร้องว่าบัตรเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ 13 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ เขตเลือกตั้งที่ 13 กทม. หายไป 180 ใบ แล้วได้รับการชี้แจงจากสำนักงาน กกต. เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่มีเอกสารรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส.5/18 ระบุว่าหน่วยดังกล่าวมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 968 คนนั้น
    นายตรีรัตน์เปิดเผยว่า ขอขอบคุณ กกต. ที่เร่งชี้แจงกรณีคำร้องของตน แต่จากการตรวจสอบเอกสารการเลือกตั้งหน้าหน่วย (ส.ส.5/5) พบว่าในเอกสารระบุจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยดังกล่าว 841 คน ซึ่งถ่ายมาในช่วงเช้า แตกต่างจากเอกสารรายงานผลการเลือกตั้งของ กกต. (ส.ส.5/18) ที่ระบุว่าหน่วยดังกล่าวมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 968 คน ไม่ตรงกับที่ระบุไว้หน้าหน่วย ทั้งที่เป็นหน่วยเดียวกัน จำนวนผู้มีสิทธิกลับไม่เท่ากัน เป็นไปได้อย่างไร รวมถึงลายเซ็นและชื่อของประธานกรรมการประจำหน่วยก็ไม่ตรงกันในเอกสารทั้งสอง ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีประธาน 2 คน แล้วจะให้ยึดตามเอกสารใด หลังจากนี้ก็ไปยื่นเรื่องนี้ต่อ กกต.กทม.ด้วยต่อไป
    นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า หลังวันที่ 9 พ.ค. มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะสามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะอายุสั้น และให้ ส.ส.เร่งลงพื้นที่นั้น เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ส่วนตัวตนมองว่ารัฐบาลจะอยู่นานก็ได้ โดยมีเหตุผลประกอบคือ ภาวะผู้นำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่มีความกล้าในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด มีทีมรัฐมนตรีที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี เศรษฐกิจฐานรากของประเทศดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น รัฐบาลก็จะอยู่ยาวได้ 
    นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าจะถอนตัวจากการเสนอชื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ว่า ขอปฏิเสธกระแสดังกล่าว เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยแสดงท่าทีหรือประกาศว่าต้องการจะลงแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด มีแต่สื่อนำชื่อตนไปเอ่ยถึงในเชิงรายงานข่าวเท่านั้น 
    “ที่ผ่านมาผมยอมรับว่ามีคนมาทาบทามจริง โดยบอกว่าอยากให้มาช่วยกันทำงานให้พรรค แต่ก็รับฟังเท่านั้นไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ เพราะตอนนี้ยังมองไม่เห็นเหตุผลว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคทำไม เพราะอยู่อย่างนี้ก็ทำงานได้อยู่แล้ว แม้ที่ผ่านมาจะไม่ค่อยแสดงบทบาทอะไรมาก ดังนั้นจะบอกว่าขอถอนตัวมันก็ไม่ใช่ เพราะผมไม่เคยบอกว่าจะลงชิงอะไร” นายพีระพันธุ์กล่าว
    เมื่อถามว่า หากถึงวันที่มีการคัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 15 พ.ค. และมีคนเสนอชื่อเข้าชิงจะมีท่าทีอย่างไร นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ขอดูท่าทีจากหลายๆ อย่างก่อนจึงจะตัดสินใจอีกครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"