เที่ยวเกาะลิบง ปลูกหญ้าทะเลให้พะยูน


เพิ่มเพื่อน    

(ประทับใจรอยยิ้มและมิตรไมตรีสาวน้อยเกาะลิบง)

    เกาะลิบง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง และเป็นเกาะที่ใครๆ ก็หลงรัก แม้ไม่มีหาดทรายขาวละมุนน้ำทะเลใสกิ๊ก แต่ก็อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้งวิถีชุมชนชาวมุสลิมและธรรมชาติสวยงาม เช่น สะพานหิน ประติมากรรมธรรมชาติน่าอัศจรรย์ ป่าโกงกาง ปะการังใต้ทะเล

(เดินเล่นสะพานหิน อีกไฮไลต์ห้ามพลาดบนเกาะลิบง)

    รอบเกาะลิบงยังเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุด เป็นอาหารที่สำคัญของพะยูน สัตว์ทะเลหายากในไทย ใครอยากดูพะยูนต้องห้ามพลาดมาเกาะลิบง เดินขึ้นไปยังจุดชมวิวเขาบาตูปูเต๊ะ ดูพะยูนมุมสูงขึ้น ส่วนที่พักพร้อมรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมีทั้งรีสอร์ตหรูหรา และโฮมสเตย์ให้พักผ่อนกายใจ
    ไปลิบงครั้งนี้ร่วมกิจกรรมโครงการ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” จ.ตรัง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้น จัดโดยเอสซีจี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนชุมชน และเครือข่ายจิตอาสา จ.ตรัง มีการฟื้นคืนระบบนิเวศทางทะเลเพื่อเป็นพื้นที่นำร่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มีความสุขและพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

(เรียนรู้การตกหมึก โดยมีชาวประมงลิบงสอนและพาเที่ยว)

    จากกรุงเทพฯ เมื่อถึงสนามบินตรังเรามุ่งหน้าไปท่าเรือหาดยาว ต.เกาะลิบง ก่อนจะลงเรือประมงหัวโทงล่องทะเลใต้  ไปเรียนรู้การตกหมึก โดยมีชาวประมงเจ้าบ้านสอนวิธีตกหมึกพร้อมสาธิตบนเรือบรรยากาศชิลๆ แม้หมึกจะไม่ยอมกินเหยื่อ แต่เป็นประสบการณ์กลางทะเลที่น่าประทับใจ จากนั้นพาไปบุกกระชังเลี้ยงกุ้งมังกร ปลานานาชนิด ซึ่งไม่ต้องเลี้ยงมากแต่รับเงินได้ง่ายๆ ก็เป็นบรรยากาศวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านที่คนกรุงสนใจ แล้วยังมีป่าโกงกางเขียวขจีให้ชมสบายตา

(แวะชมสะพานหินที่หาดทุ่งหญ้าคา ประติมากรรมธรรมชาติงดงาม)

    เมื่อขึ้นบนเกาะลิบง คณะเอสซีจีเปลี่ยนมาใช้พาหนะรถกระบะพาเที่ยวสถานที่สำคัญที่มีเสน่ห์ซุกซ่อนบนเกาะใหญ่แห่งนี้ เราเดินทางไปที่หาดทุ่งหญ้าคา ซึ่งเป็นชายหาดที่มีแนวหินวางตัวเรียงรายกันตลอดหาด และเป็นที่ตั้งของสะพานหินไฮไลต์ของหาด ภาพตรงหน้าประติมากรรมหินชายหาดขนาดใหญ่ต่อกันและมีช่องว่างด้านล่าง มองดูเหมือนสะพานทอดยาวที่ทำจากหิน สามารถเดินลอดช่องด้านล่าง หรือปีนขึ้นไปถ่ายภาพบนสะพานหินเก๋ๆ ได้ ก่อนจะเดินทางกลับที่พัก ณ ลิบงบีชรีสอร์ท ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านหลังเขาชื่อว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุด โชคดียังไม่ตกไปก่อน ทันได้เห็นสีสันอาทิตย์อัสดงดวงกลมโต รู้สึกอยากอยู่ต่อบนเกาะสัก 2-3 คืนก่อนกลับไปลุยงานอีกครั้ง

(ปลูกหญ้าทะเลให้พะยูนในกิจกรรมเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ เกาะลิบง)

    เช้าวันถัดมา เราออกจากที่พักขึ้นรถลงเรือไปยังชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลคลองบ้านมดตะนอยและคลองลัดเจ้าไหมอันเป็นพื้นที่จัดงาน “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” ชาวบ้านส่วนใหญ่ผูกพันกับทะเล บรรยากาศคึกคักไปด้วยผู้คนที่มีหัวใจสีเขียว และเหล่าจิตอาสารักษ์น้ำชาวเกาะลิบงต้อนรับผู้มาเยือนด้วยมิตรไมตรี
    เยี่ยมชมสถานีเรียนรู้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลและป่าและป่าชายเลน รู้จักธนาคารปูม้า ซึ่งชาวประมงนำแม่ปูม้าที่มีไข่แก่ติดหน้าท้องมาฝากไว้ที่ธนาคารแห่งนี้ ไข่ที่ฟักเป็นตัวอ่อนจะปล่อยออกสู่ธรรมชาติวันนั้น ศาณิต เกษสุวรรณ ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างร่วมปล่อยตัวอ่อนปูม้า เพิ่มความสมบูรณ์ให้ทะเลตรังด้วย

(ลงเรือ ชมเสน่ห์ทางธรรมชาติที่เกาะลิบง)

    สถานีเรียนรู้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลและป่าชายเลนพลังแสงอาทิตย์ เป็นสถานที่ต่อไปที่เราปักหมุด จุดนี้น่าสนใจ ชุมชนอยากสร้างแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล เพราะหญ้าทะเลอาหารโอชะของพะยูนรอบบ้านมดตะนอยลดลงไป ปัจจุบันเพาะหญ้าทะเลไว้กว่า 1,000 ต้น มีอัตรารอดตายระหว่างเพาะพันธุ์ถึง 80%
    ปรีชา ชายทุย ผู้ประสานงานสถานีฯ บอกว่า หญ้าทะเลเป็นพืชสำคัญในระบบนิเวศทางทะเล เป็นอาหารพะยูน ทั้งยังช่วยดักจับตะกอนดินที่ไหลมา ช่วยกักเก็บคาร์บอนไว้ ตลอดจนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ กุ้งหอยปูปลามาวางไข่ ชาวประมงได้ทำมาหากินอย่างยั่งยืน ต.เกาะลิบงพบพะยูนมากที่สุดในไทย ชุมชนอยากฟื้นฟูพื้นที่หญ้าทะเลจึงเพาะหญ้าคาทะเลชนิดใบยาว ซึ่งถือเป็นพืชเบิกนำที่จะทำให้หญ้าทะเลใบมะกรูดอาหารของพะยูนขึ้นตามมา จากเมล็ดถึงกล้าพันธุ์ต้นอ่อนใช้เวลา 45 วัน สามารถปลูกในพื้นที่ได้กิจกรรมเฉลิมราชย์ราชาฯ นี้จะเป็นครั้งแรกที่ปลูกหญ้าทะเลที่ชุมชนเพาะพันธุ์ขึ้นเองลงทะเลตรัง

(วางบ้านปลาด้วยนวัตกรรมปูนคนใต้ คืนความสมบูรณ์ทะเลตรัง)

    ทริปนี้เรามีโอกาสลงเรือที่ท่าเรือชุมชนมดตะนอยอีกครั้ง เพื่อร่วมปลูกหญ้าทะเลให้พะยูนกว่า 2,000 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ รวมถึงปลูกต้นโกงกางอีก 200 ต้น และมีการวางบ้านปลาโดยใช้นวัตกรรมปูนคนใต้ในคลองลัดเจ้าไหมปีนี้เอสซีจีจะวางให้ครบ 400 หลัง ระหว่างกิจกรรมก็อิ่มเอมกับท้องฟ้าท้องทะเลและหญ้าทะเลเบื้องล่าง สูดอากาศบริสุทธิ์ แต่ด้วยระดับน้ำที่ขึ้นสูงทำให้ตลอดสองวันของทริปเราไม่ได้เห็นพะยูนว่ายมากินหญ้าทะเล บวกกับเวลาจำกัดทำให้อดขึ้นจุดชมวิวเขาบาตูปูเต๊ะดูพะยูนแหวกว่าย

(แวะชมสถานีเรียนรู้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลที่ชุมชนบ้านมดตะนอย)

    ถึงจะไม่พบพะยูนแต่ก็คุ้มค่าที่ได้มารู้จักเกาะลิบง บ้านพะยูนหลังใหญ่ ซึ่งชาวลิบงช่วยกันอนุรักษ์ด้วยหัวใจ กล่าวได้ว่าการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะลิบงมาถูกทาง อนาคตจะเห็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยืนยันจากปากชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ซึ่งร่วมกิจกรรมเอสซีจี และบอกว่า ปัจจุบันพบพะยูนมากกว่า 210 ตัว ตายเฉลี่ยไม่เกิน 5 ตัวต่อปี ซึ่งอัตรานี้ไม่เสี่ยงสูญพันธุ์ ส่วนหญ้าทะเลในทะเลตรังมีหมื่นกว่าไร่ เป็นผลจากการอนุรักษ์ร่วมกันของรัฐและชุมชนรอบพื้นที่ มีกติกาห้ามวางเครื่องมือประมงทุกชนิดในแนวหญ้าทะเล แหล่งอาหารพะยูน ล่าสุดจะผลักดันพื้นที่อนุรักษ์หลัก 1 จุด บริเวณหน้าแหลมจุโหย เกาะลิบง 20-30 ไร่ เป็นแหล่งศึกษาวิจัย ห้ามเครื่องมือประมงทุกชนิด เพราะพบพะยูนเป็นกลุ่ม 20-25 ตัว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อนุรักษ์รองอีก 2 จุด
    “บนเกาะลิบงมีโครงการสร้างหอชมพะยูนบริเวณเนินเขาบาตูปูเต๊ะให้ได้มาตรฐาน หากแล้วเสร็จจะยกเลิกการท่องเที่ยวทางเรือชมพะยูน เพราะรบกวนสัตว์ทะเลหายาก อีกทั้งเดือนพฤษภาคมนี้จะวางทุ่นแนวเขตแหล่งหญ้าทะเล เรือต้องจอดนอกทุ่นเท่านั้น นี่คือการจัดการที่ยั่งยืน การชมพะยูนจากมุมสูงบนยอดเขาเหมาะสมที่สุด “ชัยพฤกษ์เล่า พร้อมยืนยันเกาะลิบงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีคุณค่าและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา สักครั้งหนึ่งในชีวิตควรมาพิชิตเกาะลิบง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"