จุกคนไทยแบกหนี้ครัวเรือนอื้อ


เพิ่มเพื่อน    


    “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ยังเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพราะการเพิ่มขึ้นของปัญหาหนี้ครัวเรือน จะเชื่อมโยงไปถึงการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรายย่อยในหลายๆ ประเภทอีกด้วย โดยล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกมาเปิดเผยว่า ในไตรมาส 4/2561 ยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้ครัวเรือนของไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 12.82 ล้านล้านบาท มีการปรับเพิ่มขึ้น 2.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ต่อเนื่องจากที่ขยับขึ้น 1.5% ในไตรมาสที่ 3/2561 โดยแม้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ หรืออาจจะมีการใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อรองรับการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของแต่ละปีตามผลของปัจจัยด้านฤดูกาล มากกว่าช่วงอื่นๆ
    แต่คงต้องยอมรับว่า ในไตรมาส 4/2561 มีปัจจัยเฉพาะ ซึ่งก็คือการปรับเกณฑ์การกำหนดการวางเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้าน (มาตรการ LTV) ที่มีผลทำให้ครัวเรือนบางกลุ่มเร่งตัดสินใจก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ก่อนมาตรการ LTV ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.2562
    สำหรับภาพรวมหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2561 กลับมาเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับขึ้นไปเป็น 78.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 78.3% โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตขึ้น 6% สูงกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ (Nominal GDP) ซึ่งอยู่ที่ 5.6%
    คงต้องยอมรับว่า กว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ที่ครัวเรือนรับภาระเพิ่มขึ้นนั้น ก่อให้เกิดสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ และขยายธุรกิจ
    ขณะที่สัดส่วนการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค (ที่ไม่มีหลักประกัน) ทั้งในส่วนหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับภาพรวมของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
    นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2562 ว่า ยังทรงตัวใกล้เคียงระดับปลายปีที่ผ่านมา ที่ระดับ 77.5-79.5% ต่อจีดีพี จากการที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบการอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินยังคงมุ่งเป้าการปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง เมื่อรวมกับภาระหนี้ครัวเรือนที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากผลของการก่อหนี้ก้อนใหญ่ อาจทำให้ครัวเรือนหลายส่วนต้องใช้ความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่มขึ้น
    ด้าน “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยระบุว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยมีหลากหลายมิติที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะการดูแลหนี้ครัวเรือนจะต้องดูทั้งระดับจุลภาค ระดับมหภาค โดยในระดับจุลภาค คือการดูแลเป็นรายผลิตภัณฑ์ หากพบว่าสถาบันการเงินมีพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อที่ไม่เหมาะสม ก็จะมีมาตรการที่ใช้กำกับดูแลเป็นรายผลิตภัณฑ์
    ขณะที่ “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ชี้ว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญของไทย โดยเมื่อพิจารณาโครงสร้างหนี้ครัวเรือนของไทย พบว่า เกิดจากสินเชื่อเพื่อการบริโภค และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งระยะเวลาการชำระหนี้สั้น ทำให้ภาระหนี้ค่อนข้างสูง ส่วนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาวนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เพราะหลายประเทศมีมาตรการอื่นๆ มาดูแลเพิ่มเติม
    ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายกังวลว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ แต่อาจจะต้องลงไปดูในรายละเอียดว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเพิ่มมาจากสาเหตุอะไร หากเป็นการก่อหนี้เพื่อไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การซื้อที่อยู่อาศัย ก็ถือเป็นหนี้ที่มีคุณภาพดี ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก หากมีวิธีการบริหารจัดการที่ดี แต่ในทางกลับกันหากเป็นการก่อหนี้เพื่อไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ก็ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีคุณภาพ เป็นการกู้เงินที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าไปบริหารจัดการ
    ดังนั้น “การเพิ่มความรู้ทางวินัยการเงิน” จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าถึงแหล่งเงินในระบบอย่างถูกต้องและมีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันมาตลอด ไม่เพียงแต่จะไม่ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว ยังเป็นผลดีกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"