คณะแพทย์ฯจุฬา ประกาศผลสำเร็จก้าวแรกวิจัยใช้เซลล์นักฆ่า รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวไม่กลับมาเป็นซ้ำ


เพิ่มเพื่อน    

 

23 เม.ย.62- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย  เผยความสำเร็จก้าวแรกของงานวิจัยการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ด้วยเซลล์นักฆ่า ผู้ป่วยรายแรกเข้ารักษาไม่พบอาการแสดงของโรคกลับเป็นซ้ำ

 

 อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า  ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูง สามารถรักษาได้ด้วยเซลล์นักฆ่า หรือ Natural Killer Cell ซึ่งก็คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีอยู่ประมาณ 5-10% ของเซลล์เม็ดเลือดขาวทั้งหมด ที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย มีหน้าที่หลัก คือ ลาดตระเวนและตรวจหาเซลล์แปลกปลอม ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือเซลล์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง  จนอาจก่อให้เกิดอันตรายภายในร่างกาย และยังสามารถทำลายเซลล์แปลกปลอมและเซลล์ที่ผิดปกติได้  จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความสนใจและพยายามศึกษาวิจัยในการนำเซลล์นักฆ่ามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งก็ค้นพบว่าสามารถกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าภายนอกร่างกายได้ และมีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในมะเร็งหลายๆ ชนิด ทั้งมะเร็งก้อนและมะเร็งทางโลหิตวิทยา ทั้งในการศึกษาระดับหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง


 อ.นพ.กรมิษฐ์ กล่าวต่อว่า โดยปกติเซลล์นักฆ่ามีจำนวนน้อยมากในเลือด การจะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยจะต้องนำออกมากระตุ้น และเพิ่มจำนวนก่อน โดยมีขั้นตอนก็คือ ทำการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วย หรือผู้บริจาค แล้วก็เอามาปั่นแยกเซลล์เม็ดเลือดขาวออกจากเลือด คัดแยกเซลล์นักฆ่า ออกจากเม็ดเลือดขาว จากนั้นทำการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่า ด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ชนิดพิเศษและโปรตีนไซโตคายเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ แล้วค่อยตรวจสอบคุณภาพของเซลล์นักฆ่าที่ได้ในเชิงปริมาณคุณภาพว่า ปลอดจากการปนเปื้อนและปลอดจากเชื้อโรค จึงนำเซลล์นักฆ่าประสิทธิภาพสูงที่ได้  กลับไปให้แก่ผู้ป่วยได้ โดยกระบวนการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนทั้งหมดนี้ จะทำอยู่ในภายในห้องปฏิบัติการสะอาดปลอดเชื้อพิเศษในแบบที่คล้ายกับการผลิตยา จึงนำมาสู่การเตรียมดำเนินก่อสร้างศูนย์บูรณาการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาฯ ทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้ให้คำแนะนำในด้านการปรับปรุงห้องปฏิบัติการสะอาดพิเศษสำหรับการผลิตเซลล์ เพื่อใช้กับผู้ป่วยรวมถึงกระบวนการควบคุมการผลิตเซลล์เพื่อใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งเบื้องต้นทาง อย.ได้อนุมัติแบบแปลนสำหรับการปรับปรุงห้องปฏิบัติการ เรียบร้อยแล้ว ก็กำลังดำเนินการปรับปรุงห้องให้ได้มาตรฐานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนการรักษากับอย.ต่อไป


หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง  กล่าวถึงประสิทธิภาพ ของเซลล์นักฆ่าอีกว่า มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรค และป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์  โดยเฉพาะการใช้เซลล์นักฆ่าจากพ่อแม่พี่น้อง หรือลูกที่มีสารพันธุกรรมตรงกันเพียงครึ่งเดียว  ทางโครงการได้ร่วมวิจัยและพัฒนาการรักษาเซลล์บำบัดมะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่า  ตั้งแต่การทดสอบประสิทธิภาพในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง และปี 2561 นำร่องกับผู้ป่วยจริง 5 ราย  ซึ่งเป็นผู้ป่วยชาวไทย เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ที่มีความเสี่ยงสูง  โดยผู้ป่วยทั้ง 5 ราย ได้รับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคทั้งหมด ซึ่งส่วนนี้ นักวิจัยประสบความสำเร็จ ในการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคให้มีปริมาณและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน 

สำหรับการใช้เซลล์จริงในผู้ป่วย สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าขึ้นมาได้ในระดับที่เพียงพอสำหรับการใช้ในผู้ป่วยแล้ว เซลล์นักฆ่าที่ได้ไม่มีเซลล์อื่นๆ ปนเปื้อนเกินมาตรฐาน และในปี 2562 นี้ทางโครงการก็มีความตั้งใจจะเริ่มดำเนินโครงการต่อเนื่อง เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่มีความเสี่ยงสูงต่อไป นำไปสู่การใช้รักษาจริงในอนาคต


ด้านผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์  หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวเสริมว่า การใช้เซลล์นักฆ่าจากตัวผู้ป่วยเอง มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคค่อนข้างต่ำ ตรงข้ามกับการใช้เซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาค ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรค  โดยมีโอกาสควบคุมโรคได้ถึง 40-80% และยังช่วยลดโอกาสการเป็นซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้   ยกตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ รายแรกที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 52 ปี  ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในปี 2560 ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาเคมีบำบัดถึง 3 สูตรยาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ดีเท่าที่ควร คือ ในไขกระดูกของผู้ป่วยยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ และได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่ามีโรคมะเร็งกลับเป็นซ้ำ ทีมแพทย์ผู้รักษาก็เลยประเมินจากลักษณะการกลับเป็นซ้ำ  แล้วผู้ป่วยมีโอกาสการตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานต่ำมาก จึงเสนอให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการนำร่อง  โดยใช้เซลล์นักฆ่าจากพี่สาว ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวรายนี้ได้รับเซลล์นักฆ่าและหยุดรักษามาเป็นเวลา 1 ปี โดยที่ไม่มีอาการของโรคกลับเป็นซ้ำเลย  แต่ก็ยังได้รับผลข้างเคียง มีอาการเซลล์ต่อต้านแบบเรื้อรังในระดับที่ไม่รุนแรง   ในบริเวณเยื่อบุช่องปาก เป็นแผล ซึ่งสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยากดภูมิชนิดบ้วนปาก  ส่วนอีก 4 รายที่อยู่ในโครงการ ทั้งหมดมีระยะปลอดจากโรค หลังจากหยุดรักษาไปแล้วตั้งแต่ 2 เดือนถึง 7 เดือน ซึ่งจากการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้น เห็นได้ว่าการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่า ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความปลอดภัย แต่ต้องอยู่ในการดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไปอย่างน้อยก็ 1-2 ปีเป็นต้นไป


 ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีกไม่นานไทยเราก็จะมีพระราชบัญญัติเซลล์บำบัดเพื่อมาควบคุมมาตรฐานการรักษาด้วยเซลล์บำบัด และกำกับมาตรฐานห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตเซลล์เพื่อมาใช้ในผู้ป่วย รวมถึงข้อบ่งชี้ในการใช้เซลล์บำบัดเฉพาะในโรค ที่มีการรับรองประสิทธิภาพของการรักษา แต่ในขณะที่ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมประชาชนก็ควรรับทราบข้อพึงระวังเอาไว้ด้วยว่า การรักษาด้วยเซลล์บำบัด อาจเกิดผลข้างเคียงจากเซลล์ที่ใส่กลับเข้าไปได้ โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการปนเปื้อนจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน  ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการแพ้อย่างรุนแรงหรือการติดเชื้ออย่างรุนแรง แต่ในปัจจุบันยังมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในการใช้เซลล์นักฆ่าในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน  ใช้ในการป้องกันการเกิดมะเร็ง ช่วยชะลอวัย  ใช้ในการรักษาโรคเอดส์ หรือแม้แต่การใช้ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ  ซึ่งการอวดอ้างดังกล่าวไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ รองรับ  การรักษาด้วยเซลล์นักฆ่านั้น ยังไม่ใช่การรักษามาตรฐานของโรคมะเร็งชนิดใดๆทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตามมาตรฐานของโรคนั้นๆ ก่อนที่จะพิจารณาการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าผู้ป่วยควรที่จะได้รับการรักษาภายใต้โครงการ การศึกษาหรือการวิจัยทางคลินิกในโรงเรียนแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยเอง.
...


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"