กกต.สรุปผลคะแนนเลือกตั้งใหม่ 6 หน่วย 5 จังหวัด ไม่มีผลเปลี่ยนลำดับว่าที่ ส.ส. "ลูกป๋าเหนาะ" หอบหลักฐานร้อง กกต.ขอจัดเลือกตั้งใหม่เขต 9 กทม.ยกเขต ระบุบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าไปโผล่เขต 1 พร้อมร้องคู่แข่งแจกทรัพย์สินโจ่งแจ้ง 19 ครั้ง มั่นใจผลคะแนนเปลี่ยนแปลงแน่ "เรืองไกร" เข้ายื่นศาล รธน.ไม่ให้รับคำร้อง กกต.วินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยันไม่เข้าหลักเกณฑ์
เมื่อวันจันทร์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ ใน 6 หน่วยเลือกตั้ง 5 จังหวัด ดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 13 หน่วยเลือกตั้งที่ 32 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 802 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 370 คน คิดเป็นร้อยละ 46.13 ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดมีจำนวน 2 คน ซึ่งมีคะแนนเท่ากัน 96 คะแนน ได้แก่ นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
2.จังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 2 หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 6 ต.มะตูม อ.พรหมพิราม มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 366 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 230 คน คิดเป็นร้อยละ 62.84 ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ นายนัทธิ จันทร์ประเสริฐ พรรคภราดรภาพ ได้ 48 คะแนน
3.จังหวัดเพชรบูรณ์ เขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 12 หมู่ที่ 12 ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 1,371 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 639 คน คิดเป็นร้อยละ 46.61 ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ นายดะ ทรงสวัสดิ์วงศ์ พรรคพลังท้องถิ่นไท ได้ 159 คะแนน 4.จังหวัดยโสธร เขตเลือกตั้งที่ 2 หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 6 ต.หัวเมือง อ.มหาชนะชัย มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 436 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 251 คน คิดเป็นร้อยละ 57.57 ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ นายบุญแก้ว สมวงศ์ พรรคเพื่อไทย ได้ 64 คะแนน
5.จังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 จำนวน 2 หน่วยเลือกตั้ง โดยหน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 5 ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 824 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 506 คน คิดเป็นร้อยละ 61.41 ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ พรรคเสรีรวมไทย ได้ 109 คะแนน และหน่วยเลือกตั้งที่ 3 หมู่ที่ 2 ต.ศาลา อ.เกาะคา มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 714 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 448 คน คิดเป็นร้อยละ 62.75 ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ 120 คะแนน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการเลือกตั้งใหม่ทั้ง 6 หน่วยไม่มีผลเปลี่ยนแปลงลำดับว่าที่ ส.ส. เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งใหม่ในบางหน่วย ซึ่งผลคะแนนมีแค่หลักสิบถึงหลักร้อย ไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงผลคะแนนในระดับเขต จากที่มีผลคะแนนรวมแต่ละเขตกว่าหมื่นคะแนน
ขณะที่นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 9 พรรคเพื่อไทย และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง กกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดการเลือกตั้งในเขต 9 เนื่องจากตรวจสอบพบว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดและนอกราชอาณาจักร ของเขต 9 ไปปรากฏอยู่ที่เขต 1 โดยกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เปิดนับแล้วบอกว่าเป็นบัตรเสีย ทั้งนี้คะแนนดังกล่าวอาจมีผลเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบข้อพิรุธจากผลการรวมคะแนน ซึ่งจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ประกอบด้วยบัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกผู้ใด ซึ่งมีบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักรรวมอยู่ด้วย มีจำนวนตรงกันพอดีกับจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มาจำนวน 127,650 คน ทั้งที่ในความเป็นจริงปรากฏหลักฐานว่ามีบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักรของเขต 9 ไปอยู่ที่เขต 1 เป็นจำนวนมาก
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงเข้ายื่นหลักฐานขอให้ กกต.ตรวจสอบ หากพบการผิดพลาดขอให้สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขต 9 ทั้งเขต นอกจากนี้พรรคจะได้รวบรวมหลักฐานมายื่นให้ กกต.จัดเลือกตั้งใหม่อีกหลายเขต เช่น เขต 1-2 ที่ปรากฏหลักฐานบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าถูกส่งไปนับสลับเขต
โดยนายวรวัจน์กล่าวว่า ตนได้รวบรวมหลักฐานกรณีผู้สมัครพรรคการเมืองหนึ่งมีการแจกทรัพย์สินและสิ่งของให้ชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนจะมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งรวม 19 ครั้ง โดยอ้างว่าเป็นการทำบุญให้กับแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ภาพการแจกสิ่งของยังเผยแพร่อยู่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้สมัครรายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการลบภาพและข้อความดังกล่าว จึงเข้าข่ายจูงใจโดยสัญญาว่าจะให้หรือให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินให้แก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ม.73 (1)
"หาก กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลคะแนนจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน เพราะไม่มีการเลือกตั้งในยุคใดมีการแจกของอย่างโจ่งแจ้ง แม้จะแจกโดยอ้างว่าทำดีทำบุญให้แม่ แต่แม่ก็ตายไปนานแล้ว ระหว่างที่แจกก็รู้ดีว่าจะลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. และยังมีการปราศรัยในลักษณะหาเสียงด้วย" นายวรวัจน์กล่าว
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เข้ายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ไม่รับพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของ กกต.ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า กกต.จะสามารถดำเนินการคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 ที่การคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคนได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคนได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่ากรณีดังกล่าวอาจเข้า ลักษณะเป็นการขอคำปรึกษา ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งที่ 1/2561 ลงวันที่ 26 ม.ค.61 เรื่อง กกต.ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ กรณี กกต.แต่ละคนจะใช้อำนาจในการสั่งยกเลิกหรือระงับการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งที่พบการกระทำความผิด
โดยในคำสั่งดังกล่าวศาลเห็นว่า ตามคำร้องของ กกต.ยังเป็นเพียงข้อสงสัย ข้อหารือ หรือการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. คำร้องของ กกต.จึงไม่เข้าด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย
นายเรืองไกรกล่าวว่า เรื่องนี้วินิจฉัยได้ไม่ยากและทำให้สภาวะการเมืองไม่ต้องมาฝันหวานกัน ที่ฝันว่าข้างนั้นข้างนี้จะตั้งรัฐบาล ซึ่งคำร้องของตนนี้อาจจะทำให้ฝันสลายก็ได้ เพราะถ้ายื่นไปแล้วศาลเห็นด้วย การที่ กกต.จะรับรอง ส.ส.เขตให้ได้ร้อยละ 95 ก่อนแล้วค่อยมารับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อคงจะไม่ทันวันที่ 9 พ.ค. ฉะนั้นถ้าจะยืดอายุต่อเวลาก็ต้องไปเอาความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มาดู ตนค่อนข้างจะเห็นด้วยว่า กกต.ยังมีเวลา แต่ถ้า กกต.ไม่มั่นใจและประกาศผลไม่ทัน เลือกตั้งครั้งนี้ก็อาจจะทำให้บรรดาพรรคการเมืองฝันไม่ใกล้ความจริงมากนัก ก็ต้องขออภัยที่คำร้องของตนจะไปกระตุ้นอารมณ์ของใคร
"เรื่องนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญถือตามเหตุเดิมนั้นก็ไม่น่าจะรับคำร้องของ กกต. ซึ่งในวันที่ 24 เม.ย.นี้ องค์คณะชุดเล็กจะส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหญ่พิจารณานั้น ต้องบอกว่าท่านคงรับเรื่องนี้ไม่ได้ ถ้าดูตามมาตรฐานของศาล เว้นแต่จะมีเหตุผลอย่างอื่น ซึ่งถ้าองค์คณะศาลทั้ง 9 ท่านรับ ท่านก็ต้องแสดงความเห็นส่วนตัวทั้ง 9 คน" นายเรืองไกรกล่าว
วันเดียวกัน กลุ่มรวมพลังพรรคการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคภาคีเครือข่ายไทย, พรรคแผ่นดินธรรม, พรรคพลังไทยดี, พรรคพลังแผ่นดินทอง, พรรคภราดรภาพ, พรรคกรีน และพรรคประชาไทยได้เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต.เพื่อเสนอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยให้การเมืองพ้นจากการติดล็อก เนื่องจากสูตรวิธีการคำนวณที่ออกมาก่อนหน้านี้ได้ ส.ส.ไม่ครบ และการคำนวณที่ไม่ลงตัว เนื่องจากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 137 คน ซึ่งมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีถึง 26 คน ดังนั้นการใช้สูตรในปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้เพราะไม่เป็นธรรม กลุ่มจึงขอเสนอสูตรการคำนวณ โดยตัดคะแนนของพรรคเพื่อไทยที่มีจำนวนกว่า 7.9 ล้านคะแนนออกไปก็จะเหลือคะแนน 27 ล้าน และไม่นำ ส.ส.เขตจำนวน 137 มาร่วมคำนวณ
"ดังนั้นตัวเลขที่จะต้องนำมาใช้คำนวณจริง คือคะแนน 27,612,017 หารด้วย 363 จะเท่ากับคะแนนเฉลี่ย 76,066 คะแนน จากนั้นนำคะแนนของแต่ละพรรคมาหารด้วยค่าเฉลี่ยใหม่ 76,066 ก็ได้จำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ซึ่งจะมีพรรคที่ได้ ส.ส.พึงมีตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป 15 พรรค ได้ ส.ส. 478 คน จะเหลือเศษ 22 คน จึงให้ไปจัดสรรแก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.พึงมีน้อยกว่า 1 คน นับตั้งแต่พรรคในลำดับที่ 16 ถึง 37 ซึ่งจะเป็นการรับรองว่าทุกคะแนนเสียงจะไม่ตกน้ำและจะได้ ส.ส.ครบ 500 คน จำนวน 37 พรรค และสูตรนี้ก็ยังเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |