แก้ตัวบัตรเขย่ง 'ต่างจังหวัด'คึก กทม.หงอยเหงา


เพิ่มเพื่อน    

    เลือกตั้งใหม่ 5 จังหวัด 6 หน่วยคึกคัก!  ประชาชนแห่ใช้สิทธิตั้งแต่เปิดหีบ กกต.พอใจราบรื่นเรียบร้อย แย้มอาจมีเลือกตั้งซ่อมอีก เผยยอดร้องเรียนพุ่งกว่า 300 เรื่อง ชี้ปมคำนวณปาร์ตี้ลิสต์รอฟังศาลรธน. ยันมีทางออกตามกฎหมาย 
    เมื่อวันที่ 21 เมษายน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จำนวน 6 หน่วยเลือกตั้ง 5 จังหวัด ประกอบไปด้วย จ.ยโสธร เขตเลือกตั้งที่ 2 หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 6 ต.หัวเมือง อ.มหาชนะชัย, จ.เพชรบูรณ์ เขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 12 หมู่ที่ 12 ต.เข็กน้อย ต.เขาค้อ, จ.ลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 จำนวน 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 5 ต.ปางหลวง อ.เกาะคา และหน่วยเลือกตั้งที่ 3 หมู่ที่ 2 ต.ศาลา อ.เกาะคา, จ.พิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 2 หน่วยเลือกตั้งที่ 6 หมู่ที่ 6 ต.มะตูม อ.พรหมพิราม และกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 13 หน่วยเลือกตั้งที่ 32 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ เนื่องจากในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา หน่วยเลือกตั้งดังกล่าวมีจำนวนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งและจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกัน
    ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 6 (ศาลาประชาคมบ้านหนองตุ) หมู่ที่ 6 ต.หัวเมือง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร เวลา 07.30 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.  และนายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการ กกต. ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการเปิดหน่วยลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ยโสธร เขตเลือกตั้งที่ 2 โดยมีผู้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยนี้ จำนวน 436 คน
     นายอิทธิพรกล่าวว่า การเลือกตั้งใหม่ทั้ง 6 หน่วยได้เตรียมการและหาทางแก้ไขรับมือกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งได้นำบทเรียนครั้งก่อนๆ มาเตรียมแผนรองรับ เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อย โดยไม่ได้หนักใจกับการจัดการเลือกตั้งใน 6 หน่วยเลือกตั้ง
    ด้านนายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง พร้อมด้วย นายไมตรี มีหล้า ผู้อำนวยการสำนักงานกกต.จ.เพชรบูรณ์ เดินทางลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เพชรบูรณ์ เขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 12 ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยนี้ จำนวน 1,371 คน ทั้งนี้ราษฎรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าม้ง ต่างตื่นตัวและมารอใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 07.00 น. 
    นายปกรณ์กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์อาจจะน้อยลงกว่าครั้งแรก เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าม้ง ได้เดินทางออกจากพื้นที่เพื่อไปทำไร่ขิงที่ภาคเหนือ จำนวนกว่า 200-300 คน และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นวัยรุ่นหรือนักศึกษา ได้พากันเดินทางไปทำงานและเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ยังอยู่ในพื้นที่ต่างตื่นตัวให้ความสนใจเดินทางมารอใช้สิทธิ์กันตั้งแต่เช้า และจากปัญหาข้อผิดพลาดในการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งบัตรไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ 1 ใบ ครั้งนี้ได้เร่งให้ความรู้และกำชับวิธีการปฏิบัติให้แน่ชัดมากยิ่งขึ้น คาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะผ่านไปได้ด้วยดี
    ส่วนนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการ กกต. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 4 จ.ลำปาง ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 3 ศาลาอเนกประสงค์เทศบาลศาลาไชย ต.ศาลา อ.เกาะคา มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 714 คน โดยเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยทำงานอย่างรัดกุม ซึ่งปรากฏว่าได้มีประชาชนเดินทางมารอคิวเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างคึกคัก ตั้งแต่เวลา 08.00 น. 
    เช่นเดียวกับหน่วยเลือกตั้งที่ 6 (ศาลาอเนกประสงค์ วัดบ้านจู๊ด) ม.5 บ้านจู๊ด ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งที่ 2 มีประชาชนมารอใช้สิทธิ์กันจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องจัดเตรียมเก้าอี้ไว้ให้ประชาชนมานั่งรอคิวเพื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง โดยหน่วยเลือกตั้งนี้มีประชาชนผู้มีสิทธิ์รวม 1,538 คน ทั้งนี้ จากการสอบถามประชาชนที่รอลงคะแนนบอกว่า แม้ว่ามีชาวบ้านบางส่วนจะไม่มาเพราะทราบผลการเลือกตั้งแล้ว แต่ตนเองคิดว่าต้องมาเพราะอยากเลือกตั้ง และอยากได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา 
    ที่หอประชุมอเนกประสงค์ หมู่ที่ 6 ต.มะตูม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งมีการจัดเลือกตั้งใหม่ ในหน่วยเลือกตั้งที่ 6 เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.พิษณุโลก ที่มีประชาชนเดินทางมาใช้สิทธิจำนวนมาก โดยมีนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการ กกต. พร้อมด้วยนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อย และมีการเปลี่ยนคณะกรรมการประจำหน่วยเกือบทั้งหมด พร้อมกำชับไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิใกล้เคียงกับครั้งที่แล้ว แม้จะไม่มีผลต่อผู้ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตก็ตาม
    ที่โรงเรียนลำสาลีราษฎร์บำรุง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ เวลา 08.00 น. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการ กกต. พร้อมด้วย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. และ น.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผอ.กกต.กทม. ร่วมตรวจเยี่ยมการเปิดหน่วยลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 13 กรุงเทพมหานคร ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 32 โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 802 คน ซึ่งเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 555 คน
    นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบผู้นำชุมชน เพื่ออธิบายถึงสาเหตุการจัดเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ 6หน่วยเมื่อเทียบกับหน่วยเลือกตั้งกว่า 92,320 หน่วย ถือเป็นตัวเลขความผิดพลาดที่เรารับได้
    ส่วนการจัดเลือกตั้งใหม่เพิ่มเติมนั้น นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ หากตรวจสอบพบกรณีผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งในเขตนั้น ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบข้อร้องเรียนผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งนั้น มีเข้ามาเรื่อยๆ โดยขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนกว่า 300 เรื่อง แต่จากการพิจารณาในเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีการทำความผิดถึงขั้นที่จะต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันผลการเลือกตั้งใหม่ของ 6 หน่วยเลือกตั้งจะนับคะแนนแล้วเสร็จในช่วงเย็น สามารถนำไปรวมกับผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้เลย และจะทันกับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.นี้ หากไม่มีปัญหาข้อร้องเรียน
    เมื่อถามถึงกรณีที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า กกต.ยืนยันว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีสูตรเดียว ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณตั้งแต่ชั้นการร่างกฎหมายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน แต่สาเหตุที่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้อง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจ กกต.จึงยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย ก็ต้องกลับมาดูอย่างรอบคอบ โดยคำนวณตามวิธีการที่เรามีตามกฎหมาย
    ต่อมาเวลา 13.00 น. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) กล่าวระหว่างเดินทางมาดูแลความเรียบร้อยที่หน่วยเลือกตั้งที่ 32 ว่าเบื้องต้นพบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุเกี่ยวกับความมั่นคง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังปิดหีบเลือกตั้งและมีการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ 32 อย่างไม่เป็นทางการ 4 อันดับแรก พบว่า น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 96 คะแนน, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 96 คะแนน, นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ได้ 57 คะแนน และ น.ส.ณิชชา บุญลือ ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ ได้ 44 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน 370 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 802 คน 
    ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งเขตบางกะปิ ก่อนการเลือกตั้งใหม่ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มี.ค.) น.ส.ฐิติภัสร์ 27,489 คะแนน, นายตรีรัตน์  23,912 คะแนน, น.ส.ณิชชา 23,707 คะแนน และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ (ประชาธิปัตย์) 17,958 คะแนน
    ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเลือกตั้งใหม่ในบางเขตว่า คงไม่ตอบโจทย์อะไรมาก นอกจากแสดงให้เห็นว่ามีข้อบกพร่องเกิดขึ้น และยังไม่ไปถึงรากเลยว่าบกพร่องตรงไหนอย่างไร หากมีการยืนยันว่าข้อบกพร่องไปถึงรากแล้วจะมีปัญหาต้องยึดความถูกต้อง เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ และสร้างความเชื่อมั่นทั้งระบบ หากปล่อยให้อึมครึมประเทศจะเดินต่อไปไม่ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"