ต้องยอมรับว่ามุมมองในด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อะไรจากการลงทุนในอีอีซีเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงนัก และยังขาดการสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ จนกลายเป็นคำถามตามมาว่า ทำไมต้องดันแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่? คำตอบคือ อยากได้ยอด แต่กฎหมายก็ไม่ได้มีการกีดกันการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แล้วทำไมผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการ
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้กลายมาเป็นภาพรวมการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค Thailand 4.0 และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอีกด้วย โดยที่ผ่านมาพบว่าโครงการอีอีซีได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ไทยเองก็ได้ออกมาตรการเพื่อมาสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอย่างแท้จริง ทั้งการปลดล็อกข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สามารถลงทุนได้ง่ายขึ้น หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจดังกล่าว
ขณะที่ กระทรวงการคลัง เองก็ได้ลงมือสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือน ก.พ.2562 ซึ่งเป็นการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ ซึ่งคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคเหนือ และที่ขาดไม่ได้คือ “ภาคตะวันออก” โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรเป็นสำคัญ
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีทิศทางการขยายตัวดี อยู่ที่ระดับ 71.2 โดยในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร เนื่องจากมีโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ประกอบกับเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้การคมนาคมสะดวก และส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นในด้านราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรแบบปฏิรูปภาคการเกษตรที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการจ้างงานและการลงทุนภาคเกษตรดีขึ้นด้วย
นี่เป็นอีกหนึ่ง “จุดแข็ง” ของโครงการอีอีซี ที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น แต่การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งผลดีที่สร้างสังคมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้กับพื้นที่ดังกล่าวด้วย
ตัดภาพมาที่ภาคเอกชน ที่ต่างก็มองว่าภาพรวมการลงทุนของประเทศไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดรับกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่าง “อีอีซี” โดยหากเทียบเป็นมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) จะพบว่า ในปี 2561 มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาถึง 5 แสนล้านบาท มากกว่าปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ตัวเลขการลงทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 60% มาจากการลงทุนในอีอีซี ซึ่งนั่นเป็นเครื่องสะท้อนได้ชัดเจนว่า เริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนที่ต่างชาติทยอยเอาเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว
(นริศ สถาผลเดชา)
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ฉายภาพ “อีอีซี” ในมุมมองให้ฟังว่าอีอีซี เปรียบเสมือนประตูสู่คาบสมุทรอินโดจีน เป็นทำเลยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ไทยยังมีโอกาสพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นแนวหน้า ดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุน และใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตต หากเร่งรัดให้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่กลางปีนี้ไป จะส่งผลให้เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตได้อีก 1.7% ต่อปี
มองลงไปในรายละเอียด จะพบว่า “อีอีซี” ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือต่างๆ โครงการท่าอากาศยาน เป็นต้น และ ส่วนที่เป็นการลงทุน ใน 10 อุตสาหกรรมหลักที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ และหากแยกเป็นเม็ดเงินลงทุนแล้ว จะพบว่าเงินลงทุนในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน อยู่สูงถึง 1 ล้านล้านบาท และเม็ดเงินลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมหลักอีก 6 แสนล้านบาท รวมกันแล้วกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินลงทุนก้อนมหาศาล เป็นการเดินหน้าการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย
จากภาพการลงทุนดังกล่าว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อุตสาหกรรมหลักที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในโครงการอีอีซีนั้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เม็ดเงินลงทุนสูง อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เม็ดเงินลงทุนกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท อุตสาหกกรรมรถยนต์ ยานยนต์ เม็ดเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เหล่านี้มีแผนการลงทุนที่ชัดเจนแล้วทั้งสิ้น นั่นหมายความว่ารายได้ที่เกิดจากการลงทุนในส่วนนี้ ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับ “ผู้ประกอบการรายใหญ่” ก่อนจะมีการส่งต่อไปยังผู้ประกอบการรายย่อย แต่ก็ยังไม่ย่อยขนาดที่จะเรียกว่าเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ด้วยความที่โครงการอีอีซีประกอบไปด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งรัฐได้ทยอยอัดฉีดเม็ดเงินพัฒนาถนน รถไฟ ท่าเรือและสนามบิน นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะผลักดันตัวเองให้เข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหารแห่งการผลิตและการเติบโต ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนได้สำเร็จ ซึ่งจะดันรายได้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่คาดว่าปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 1.02 ล้านล้านบาทต่อปี เติบโตขึ้นเป็น 1.08 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา หรือหมายถึงการเติบโตกว่า 6 หมื่นล้านบาทนั่นเอง
เหตุผลหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อน คือ “อีอีซี” ส่วนใหญ่พุ่งเป้าหมายไปที่นักลงทุนรายใหญ่เป็นหลัก สะท้อนได้จากภาพที่รัฐบาลพยายามสื่อออกมา และที่เอกชนตอบกลับ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจรัฐ และธุรกิจรายใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะไม่มีโอกาสในจุดนี้ เพราะถ้ารายใหญ่ไม่จูง รายเล็กก็ไม่โตเหมือนกัน
ลองมาดูข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่อีอีซี พบว่ามีผู้ประกอบการทั้งสิ้นราว 5.5 พันราย และเมื่อจำแนกผู้ประกอบการรายใหญ่ออก เพื่อมาดูโอกาสและช่องทางทางธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจำนวน 4.5 พันราย พบว่า “เรายังมีศักยภาพ” โดยเฉพาะในธุรกิจยานยนต์ขนาดเล็ก ชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะส่วนใหญ่ผู้ประกอการเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้เป็นผู้รับจ้างผลิตให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเรามีมาตรฐานที่ดีเพียงพอ จนกลายเป็นโอกาสในการสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้
โดยมีการประเมินว่าธุรกิจนี้จะมีรายได้ส่วนเพิ่มถึง 11% ตามมาด้วยธุรกิจค้าปลีกเครื่องอุปโภค บริษัทได้ส่วนแบ่ง 9% และธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเหล็ก ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและติดตั้งงานระบบ รวมถึงธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกล มีส่วนแบ่งรายได้ 8% ขณะที่ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างได้ส่วนแบ่ง 7% ธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีส่วนแบ่ง 6% งานบริการที่เกี่ยวกับธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์มีส่วนแบ่ง 4% โดยธุรกิจเหล่านี้มีส่วนแบ่งรวมกันกว่า 70% ของรายได้ส่วนเพิ่มที่จะส่งถึงมือเอสเอ็มอี
"มองว่ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในจำนวนดังกล่าว ควรตื่นตัว และได้รับความสนใจมากกว่านี้ โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือการเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าใจในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิทธิต่างๆ ที่พึงจะได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)" นายนริศกล่าว
ดังนั้น การที่เอสเอ็มอีจะลงทุนอยู่ในอีอีซี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะดูว่าได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่เข้าใจ คือ ระบบ ไม่เข้าใจสิทธิประโยชน์หลายๆ ด้าน ความไม่สมมาตรกันระหว่างสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็ก เป็นเรื่องที่ภาครัฐควรให้ความสนใจมากกว่านี้
และสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรทำคือ พยายามสร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่อีอีซีว่า เมื่อลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้อะไรบ้าง เชื่อว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่หลายพันรายได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอไม่ถึง 1.5 พันราย ส่วนที่เหลือยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ และเหล่านี้อาจจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ เลย เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
ต้องยอมรับว่ามุมมองในด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อะไรจากการลงทุนในอีอีซีเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงนัก และยังขาดการสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ จนกลายเป็นคำถามตามมาว่า ทำไมต้องดันแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่? คำตอบคือ อยากได้ยอด แต่กฎหมายก็ไม่ได้มีการกีดกันการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แล้วทำไมผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการ
ในส่วนของสถาบันการเงินก็มีหน้าที่ที่จะไปบอกลูกค้าว่า คุณยังมีโอกาสที่ดี แต่ยังไม่ได้ทำ ถ้าไม่ทำคือคุณพลาด! และถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปดูที่จุดนี้ อีอีซีจะเกิดแค่กับบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก ส่วนรายเล็กจะเติบโตแบบกระท่อนกระแท่น
โดยต้องยอมรับว่า โครงการอีอีซีเป็นนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่ดีของรัฐบาล ไม่เพียงแต่มีประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายอย่างนักลงทุนรายใหญ่แล้ว แต่ยังมีประโยชน์กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย เพียงแต่ยังไม่มีใครดึงกลุ่มนี้เข้ามา และถ้าสามารถดึงกลุ่มนี้เข้ามาได้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในเชิงนโยบาย ถือว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว เพราะไม่เพียงแต่ได้เม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่เท่านั้น แต่ยังได้กำลังเสริมอย่าง “ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” ที่ถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ดี การรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในพื้นที่ลงทุนอย่างอีอีซีได้ เพราะทัศนคติเชิงบวก ความไม่ยอมแพ้ ความไม่นิ่งนอนใจ และความพยายามในการปรับตัวให้สินค้าตอบโจทย์ความต้องการ และพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงใจอย่างรวดเร็วนั้นจะมีผลสัมฤทธิ์กว่า และเป็นเครื่องมือที่ดียิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยรอดพ้นวิกฤติอย่างถาวร และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |