แผนแม่บทรักษา "เมืองเก่า" ต้องจัดการสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

ภราเดช พยัฆวิเชียร     

 

     เมืองเก่า ตามนิยามหมายถึงเมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษสืบต่อมาและมีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือคุณค่าในทางศิลปะโบราณคดีหรือทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลักฐานทางกายภาพและเป็นเมืองที่ยังมีชีวิตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ควรค่าแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าภาคภูมิใจของชุมชนรวมถึงการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่โดดเด่นของประเทศ

      สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเป็นพิเศษเฉพาะพื้นที่  โดยมีคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า และ สผ.เป็นสำนักงานเลขานุการซึ่งปัจจุบันคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าและได้แต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า

      พุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์ รองเลขาธิการ สผ. กล่าวว่า เมืองเก่าเป็นเมืองที่ยังมีการใช้สอยและยังมีชีวิตต่างจากเมืองโบราณพื้นที่ไม่มีคนอยู่อาศัย ปัจจุบันมีเมืองเก่าที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้วจำนวน 31 เมืองทั่วประเทศ  และเมืองเป้าหมายอยู่ระหว่างดำเนินการประกาศ 5 เมือง   ได้แก่ เมืองพิษณุโลก, เมืองร้อยเอ็ด, เมืองอุทัยธานี, เมืองตรังและเมืองฉะเชิงเทรา เมืองเก่าจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนต้องดูแลด้านมลพิษการจัดการน้ำเสียขยะและพื้นที่สีเขียว ซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต แล้วยังมีมิติด้านวัฒนธรรม การพัฒนาเมืองเก่าไม่ใช่ห้ามทำกิจกรรมทุกอย่าง แต่ควรมีกรอบการทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเนื่อง

      “ จาก 31 เมือง ขณะนี้มี 24 เมืองที่อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ถือเป็นครั้งแรกที่แต่ละเมืองจะมีแผนแม่บทฯ ซึ่งท้องถิ่นมีสิทธิ์ใช้ผู้ทรงคุณวุฒิท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชน ผู้นำชุมชนได้ร่วมกำหนดขอบเขตและรายละเอียดของการจัดทำทีโออาร์ที่ตอบโจทย์เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำแผน หัวใจของแผนต้องนำไปสู่การเดินหน้า ไม่มองแค่มิติบังคับหรือควบคุมอาคารสิ่งก่อสร้างอย่างเดียว แต่ควรมีการส่งเสริมมาตรการจูงใจหรือสร้างความร่วมมือบริหารจัดการเมืองเก่า ดึงท้องถิ่น ผู้นำศาสนา สถาบันการศึกษาในพื้นที่เมืองเก่าทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง" พุฒิพงศ์กล่าว

พุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์

      ด้าน ภราเดช พยัฆวิเชียร ประธานอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในพื้นที่เมืองเก่ากล่าวว่า แนวทางอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสู่ความยั่งยืนมีอุปสรรค เพราะคนหรือชุมชนในพื้นที่ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นภาระหรือเสียโอกาส ถ้าทุบตึกเก่า 2 ชั้นสร้างอาคารหลังใหม่ 5 ชั้นมีประโยชน์กว่า แต่จริงแล้วเมืองเก่ามีคุณค่าและความสำคัญด้านประวัติศาสตร์อายุ หรือเป็นอาคารที่มีลักษณะพิเศษ แปลก หายาก หากอนุรักษ์จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดกิจกรรมหรือโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลต้องสนับสนุนและจัดหางบประมาณดูแลพื้นที่เมืองเก่า

      ภราเดชกล่าวว่า เมืองแต่ละเมืองมีบริบทต่างกัน เช่นเมืองเก่าน่านกับเมืองเก่าสงขลาอาคารมีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างกัน แต่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาเปรียบเทียบจุดแข็งและจุดอ่อนโอกาสในพัฒนาเมืองมีการเชื่อมโยงหรือผนึกกำลังเพื่อสร้างเรื่องราวให้กับพื้นที่ได้มากขึ้น แม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านเราไม่สามารถพัฒนาเมืองโดดๆ ได้ แต่ต้องสร้างความสัมพันธ์เป็นชุมชนเล็กๆ ชุมชนระดับอาเซียน งานอนุรักษ์เมืองเก่าต้องสร้างคนให้มีความรู้ นี่คือทรัพยากรต้นทุนสำคัญของประเทศที่จะก้าวสู่ยุค 4.0 จะพัฒนาออกแบบเมืองและมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยต้องมีรากเหง้าถึงจะมีตัวตน

      “วิกฤติตอนนี้คือคนไม่เห็นค่า มองเป็นการเสียโอกาสเพราะรัฐไม่ช่วยไม่แนะนำทางออกและขาดความร่วมมือ ถ้าจะเก็บแค่อาคารให้สวยงามอย่างเดียวก็เป็นแค่โบราณสถาน เมืองต้องมีความเก่าและความใหม่เกื้อกูลกันเป็นบริบทสังคมร่วมสมัย ต้องเปลี่ยนทัศนคติจากภาระเป็นโอกาส เพราะถ้าทุบตึกเก่าสร้างอาคารใหม่ก็เหมือนเริ่มจากศูนย์ เพราะเป็นการทำลายต้นทุนทางวัฒนธรรม ทั้งยังเสียเงินก่อสร้างด้วย" ภราเดชเน้นย้ำ

      ด้าน รศ.โรจน์ คุณเอนก ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า บอกถึงคุณประโยชน์ของเมืองเก่าในสังคมร่วมสมัยว่า เมืองเก่าเป็นรากฐานเมืองใหม่ในวิถีชีวิตร่วมสมัยที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องพยายามเก็บรักษาของเก่าให้มากที่สุดเพื่อส่งต่อลูกหลานปัจจุบัน บ้านเก่าหายาก ไม่รวมย่านเก่าอีกมากกว่า 500 แห่ง การดูแลรักษาไว้เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนเรื่องความยั่งยืนมีหลายด้าน

      “ด้านสิ่งแวดล้อม เมืองเก่าช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ มีต้นไม้ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์พื้นถิ่น แม่น้ำใสสะอาดและไร้มลพิษ ด้านเศรษฐกิจยุคที่การท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญของประเทศ เมืองเก่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรมสำคัญดึงดูดนักท่องเที่ยวด้านสังคม เมืองเก่าเป็นจิตวิญญาณของเมือง ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นเก็บรักษาเมืองเก่าที่ยังคงเอกลักษณ์ของเกียวโตและโอซากา เด็กญี่ปุ่นเติบโตเป็นพลเมืองที่รักชาติบ้านเมืองซึ่งเมืองเก่า ในไทยถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนเพื่อซึมซับจิตวิญญาณความเป็นไทยโดยไม่รู้ตัว" รศ.โรจน์กล่าว

      ผู้ทรงคุณวุฒิเมืองเก่าเน้นย้ำว่า เมืองเก่าถ้าไม่ทำอะไรเลยจะสายเกินไป เพราะมีบริบทความเจริญแทรก หลายเมืองเติบโตแบบทำลาย ขณะที่หลายเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก งานบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าไม่ได้จบแค่คนรุ่นเรา แต่คนรุ่นต่อไปมีหน้าที่สืบสานเมืองเก่า นอกจากเป็นมรดกชาติแล้ว ยังเป็นต้นทุนทางสังคมเศรษฐกิจที่สำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

      “ส่วนแผนแม่บทที่แต่ละเมืองกำลังจัดทำ จะเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาควบคู่กัน อาคารก็รักษารูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกไว้ ด้านในพัฒนาให้เป็นกิจกรรมร่วมสมัย เป็นร้านอาหาร ที่พัก สปา หรือ Co-Working Space ให้คนไปนั่งคิดงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หากขับเคลื่อนแนวทางนี้จะทำให้เมืองเก่าเดินต่อไปได้และเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำหรับชุมชน" รศ.โรจน์บอกอนุรักษ์สำคัญต้องไม่ขัดการพัฒนา

      ความพยายามในการเก็บคุณค่าของเมืองเก่ามีต่อเนื่อง โดยชุมชนท้องถิ่นในเมืองเก่าที่ได้รับการประกาศเขต 31 เมืองและเมืองเป้าหมาย 5 เมือง ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิด้านเมืองเก่ากว่า 300 คน จะร่วมประชุมสัมมนาวิชาการคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าครั้งที่ 2

ในวันที่ 26 เมษายน เวลา 08.30-16.00 น. ณ ห้องฟินิกซ์ 5-6  อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์อนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ตลอดจนรายงานผลการจัดทำแผนแม่บทในพื้นที่เมืองเก่าของตนเอง ในงานนี้ยังมีการมอบประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณให้กับเมืองเก่าที่ประกาศในปี 2561 จำนวน 4 เมือง ได้แก่ เมืองเก่าแม่ฮ่องสอน, เมืองเก่ากาญจนบุรี, เมืองเก่ายะลา และเมืองเก่านราธิวาส นอกจากนี้ยังมีการบรรยายและเสวนาเรื่องความท้าทายในการบริหารจัดการเมืองเก่าอย่างเข้มข้น สนใจร่วมกิจกรรมได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"