เครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสารวมใจเป็นหนึ่งบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของชาติ
งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ถือเป็นห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะได้แสดงความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
ในวโรกาสมหามงคลนี้ ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่บันทึกและรวบรวมภาพไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงประวัติศาสตร์ของชาติ และให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นหลังแล้ว ยังมีกองทัพช่างภาพสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศร่วมเก็บภาพประวัติศาสตร์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อเผยแพร่พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่อันสืบทอดมาแต่โบราณของไทยไปทั่วโลก
ภารกิจแรกบันทึกภาพพิธีพลีกรรมตักน้ำสรงพระมุรธาภิเษกที่สระแก้ว จ.สุพรรณบุรี
ขณะเดียวกัน ยังมีเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา เป็นกลุ่มช่างภาพเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-ปีที่ 6 จากทุกภาคของประเทศไทย ทุกคนมีใจรักเคารพ เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญเป็นเยาวชนจิตอาสาผู้มีใจเสียสละ พร้อมอุทิศตนเพื่อส่วนรวม รวมตัวกันจับกล้องคู่ใจของตนเองเพื่อบันทึกภาพชุดประวัติศาสตร์บ้านเมืองของเราในห้วงเวลาพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดยครูสุรกานต์ ดะห์ลัน เป็นครูที่ปรึกษาเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ภาพจากเครือข่ายฯ จะมอบแก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นมรดกความทรงจำของชาติต่อไป
ครูสุรกานต์ ดะห์ลัน ครูที่ปรึกษาเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา เผยถึงที่มาของเครือข่ายฯ ว่า เดิมชื่อ "กลุ่มช่างภาพเยาวชนจิตอาสากรมศิลปากร" เคยบันทึกภาพงานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “เครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา” มีสมาชิกทั้งหมด 90 คน โดยเป็นสมาชิกใหม่กว่า 70 คน ซึ่งประกาศรับสมัครผ่าน Facebook เครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ปิดรับสมัครเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาชิกมาจากทั่วประเทศ เช่น จ.อุดรธานี, สมุทรสาคร, ราชบุรี และจากกรุงเทพฯ เยาวชนทุกคนมีทัศนคติที่ดีเห็นคุณค่าของการถ่ายภาพเพื่อมอบให้เป็นสมบัติชาติ โดยเริ่มบันทึกภาพประวัติศาสตร์ครั้งแรกในพระราชพิธีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา เป็นภารกิจบันทึกภาพเหตุการณ์พิธีพลีกรรมตักน้ำสรงพระมุรธาภิเษกที่สระแก้ว เป็น 1 ใน 4 สระศักดิ์สิทธิ์ ที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ครูสุรกานต์ ดะห์ลัน ครูที่ปรึกษาเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา
แนวทางปฏิบัติสำหรับช่างภาพเยาวชนจิตอาสาในการถ่ายภาพ ครูสุรกานต์กล่าวว่า ช่างภาพเยาวชนจะอยู่ในแนวของประชาชน ประชาชนนั่ง ช่างภาพเยาวชนก็นั่ง ไม่ลงไปบนผิวจราจร อีกทั้งเราไม่ใช่ช่างภาพสื่อมวลชนที่ประจำจุดถ่ายภาพตามที่กรมประชาสัมพันธ์กำหนดไว้ ซึ่งมุมภาพจากเครือข่ายฯ จะแตกต่างออกไป ทั้งภาพริ้วขบวนนับพันที่รวมใจเป็นหนึ่งเดียว ภาพประชาชนมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก้มกราบด้วยความปลื้มปีติและชื่นชมพระบารมี
“ ช่างภาพเยาวชนจิตอาสาได้บันทึกภาพการซ้อมและพิธีจริงของขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษกจากกระทรวงมหาดไทยไปวัดสุทัศน์, ขบวนเชิญน้ำอภิเษกจากวัดสุทัศน์ไปเก็บรักษาวัดพระแก้ว รวมถึงการซ้อมริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารค ริ้วขบวนที่ 3 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ จากพระบรมมหาราชวัง ไปทรงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธฯ และวัดพระเชตุพนฯ ระยะทางเกือบ 7 กิโลเมตร ก็จัดช่างภาพกระจายตามจุดต่างๆ ทำให้ได้มุมภาพที่น่าพอใจ ส่วนในวันจริง ให้แนวปฏิบัติช่างภาพเยาวชนจิตอาสาไม่บันทึกภาพพระมหากษัตริย์ แต่ให้โฟกัสริ้วขบวนที่สง่างาม สมพระเกียรติ ตลอดจนเน้นประชาชนเป็นหลัก เนื่องจากเยาวชนมาจากหลากหลาย การปรับทัศนคติในการทำงานจึงสำคัญยิ่ง ส่วนภาพจะมอบให้กับหอจดหมายเหตุเป็นหลัก ตลอดจนหน่วยงานราชการที่ได้รับมอบหมายในงานพระราชพิธีครั้งนี้ เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่รับผิดชอบการจัดทำน้ำอภิเษกและจัดทำหนังสือที่ระลึกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เรื่องแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จะมอบภาพเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป “ครูสุรกานต์ กล่าว และชวนติดตามการทำงานและผลงานบางส่วนของเหล่าตากล้องเยาวชนจิตอาสาผ่าน Facebook
ภาพริ้วขบวนเชิญน้ำอภิเษกจากมุมมองช่างภาพเยาวชนจิตอาสา
พระราชพิธีใกล้เข้ามา ขณะนี้ทางเครือข่ายฯ มีการแบ่งงานเพื่อร่วมเก็บภาพประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองช่างภาพเยาวชนจิตอาสา โดยที่ปรึกษาเครือข่ายฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ทุกคนมีข้อจำกัดเรื่องความยาวโฟกัส และความสามารถของเลนส์ จึงบริหารจัดการตามประเภทของเลนส์ สำหรับช่างภาพที่มีเลนส์เทเลโฟโต้ถ่ายไกล จะอยู่คู่กับช่างภาพที่มีเลนส์มุมกว้าง เพื่อให้ได้ทั้งมุมไกลมุมแคบคมชัดและมุมกว้างสวยงาม ส่วนช่างภาพที่มีเลนส์ปกติ ระยะความใกล้ไกลพอกับตาของคน ให้แทรกอยู่กับจุดที่มีเลนส์เทเล อย่างไรก็ตาม น้องๆ เยาวชนชุดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นช่างภาพโรงเรียนหรืออยู่ฝ่ายโสตฯ โรงเรียน ตลอดจนรับถ่ายชัตเตอร์สต๊อก บางคนมีแฟนเพจของตนเอง มียอดติดตามผลงานภาพถ่ายมาก เพราะมุมมองดี มั่นใจว่า ภาพชุดนี้จากเครือข่ายจะเกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองอย่างแน่นอน จะมีทั้งภาพเบื้องหลังการซ้อมและภาพในช่วงพระราชพิธีวันที่ 4-6 พฤษภาคมนี้ ทางเครือข่ายฯ ตั้งใจจะทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือภาพด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |