พท.เป็นฝ่ายค้าน! จ่อเลือกหัวหน้าใหม่/'สมศักดิ์'ลั่นพปชร.ตั้งรัฐบาล'บิ๊กตู่'นอนมา 


เพิ่มเพื่อน    


    อย่ากังวล! "สมศักดิ์" มั่นใจ พปชร.ตั้งรัฐบาลได้แน่ การันตี "บิ๊กตู่" กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ทุกคนอย่าเป็นห่วง หายเจ็บหายจนแน่นอน "ธนกร" เย้ยเพื่อไทยกับพันธมิตรไม่มีทางรวมเสียงได้ 375 เสียงแน่นอน ขณะที่ พท.เตรียมตัวเป็นฝ่ายค้าน หาหัวหน้าพรรคใหม่ที่เป็น ส.ส. ขณะที่ "หมอระวี" ชี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติ แม้ไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
    เมื่อวันที่ 20 เมษายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า ไม่ต้องเป็นห่วงและกังวลใจ ดูสถานการณ์ล่าสุดแล้วเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าในช่วงนี้จะมีข่าวหลายกระแสเผยแพร่ออกไป เช่น เรื่องข้อเสนอการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แต่วันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้รับรอง ส.ส.เลย และยังต้องมีการเลือกตั้งในบางเขตอีกหรือไม่ เพราะมีเรื่องร้องเรียน กกต.อยู่เยอะพอสมควร 
    เขากล่าวว่า วันรับรอง ส.ส.ที่ กกต.ประกาศไว้คือ วันที่ 9 พ.ค. ซึ่งยังเหลือเวลาอีกประมาณ 20 วัน และยังมีขั้นตอนตามกฎหมายในการตั้งรัฐบาล ดังนั้นเราอย่าไปสนใจและกังวล ซึ่งจะเหมือนกระแสข่าวช่วง 2-3 วันหลังเลือกตั้ง ดังนั้นอย่าได้เป็นห่วง
    นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า เรื่องช่วยชาวบ้านนั้น เมื่อท่านเลือกพรรคพลังประชารัฐ จะได้รัฐบาล และได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เป็นนายกฯ อีกครั้งแน่นอน ซึ่งพรรคพลังประชารัฐจะสานต่อนโยบายต่างๆ ที่ดีของรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือคนจนอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และนโยบายหลักที่พรรคพลังประชารัฐได้วางไว้ เช่น โครงการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วเราจะรีบทำโครงการนี้ทันที เพราะใกล้ถึงฤดูกาลการทำนาแล้ว 
    นอกจากนี้ยังมีโครงการยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอีกหลายโครงการ เช่น มารดาประชารัฐ พักหนี้กองทุนหมู่บ้านและการศึกษา ที่ต้องทำทันทีเมื่อเราจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งโครงการเหล่านี้เราสามารถทำต่อเนื่องได้ทันที ไม่ต้องรอนานเหมือนพรรคอื่นๆ ที่อาจจะต้องไปออกเป็นกฎหมายหมาย ทั้งนี้ตนยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐจะทำให้พี่น้องประชาชนจะได้ประโยชน์ ทุกคนอย่าเป็นห่วง หายเจ็บหายจนแน่นอน 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การจับขั้วทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหลังวันที่ 9 พ.ค. ก็จะดำเนินการได้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน และ พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย 
    ขณะที่การรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยนั้นก็สามารถทำได้ หากพรรคเพื่อไทยกับพรรคพันธมิตรได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.และ ส.ว.ครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ 375 เสียงขึ้นไป ซึ่งในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นยอมรับความจริงได้แล้ว และไม่ต้องโทษกติกา เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทุกคนเข้าสู่สนามการเลือกตั้งภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกัน 
    "เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ จะสานงานต่อในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ การดูแลภาคเกษตรโดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยว และการคมนาคมให้ดียิ่งขึ้น วันนี้บ้านเมืองสงบ ทุกอย่างกำลังเป็นไปตามทิศทางที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุด" นายธนกรกล่าว
พท.เตรียมเป็นฝ่ายค้าน
     รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ขณะนี้สมาชิกพรรคได้พูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่ต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ เนื่องจาก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง ไม่ได้เป็น ส.ส. ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ประเด็นนี้จะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล พรรคจำเป็นต้องเปิดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่เป็นส.ส. เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้นำฝ่ายค้าน ต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส.มากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีหัวหน้าพรรคที่เป็น ส.ส. 
    แต่ความชัดเจนในเรื่องนี้จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 9 พ.ค. ที่ กกต.จะประกาศรับรองผล เพราะตอนนั้นจะรู้แน่ชัดว่าพรรคได้เป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล และหากเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ ยังต้องเป็นที่ยอมรับของ ส.ส.ส่วนมาก และต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาได้ด้วย เพราะต้องอาศัยความสามารถในการทำหน้าที่ และสมาชิกบางส่วนมองว่า นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ ถือเป็นคนหนึ่งที่มีความเหมาะสม
    ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ และว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีข้อเสนอตั้งรัฐบาลปรองดองว่า จากคำถามและข้อสงสัยของหลายฝ่ายเรื่องการเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลปรองดองขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง การตั้งรัฐบาลปรองดองคือการตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถูกต้องตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญเพียงแต่ชื่อที่เรียกไม่มีในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง 
    "การที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลปรองดอง ที่มีคนกลางเป็นนายกฯ จะต้องดำเนินการหาตัวนายกฯ ตาม มาตรา 159 ล้มเหลว จึงต้องใช้มาตรา 272 หาตัวนายกฯ จากคนนอกต่อไป ถ้าทุกฝ่ายพร้อมใจกัน การได้ซึ่งนายกฯ คนนอกไม่ใช่เรื่องยาก"
    นายเทพไทกล่าวว่า การเสนอตั้งรัฐบาลปรองดองไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพียงแต่เป็นข้อเสนอที่ต้องการให้เป็นทางเลือกของ 2 ขั้วการเมืองที่กำลังห้ำหั่นเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล ได้พิจารณาข้อเสนอนี้เมื่อการเมืองเดินสู่ทางตัน เชื่อว่าความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลจะปรากฏชัดหลัง 9 พ.ค.นี้ ถ้า กกต.รับรองผล ส.ส.แล้ว ยังไม่สามารถหารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ เชื่อว่าสังคมจะกดดันทุกฝ่าย เพื่อถามหาความรับผิดชอบในการจัดตั้งรัฐบาล ประชาชนเจ้าของประเทศจะรอคอยการเล่นเกมช่วงชิงอำนาจของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ได้อีกแล้ว
    "ในอดีตที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งเพียง 1 วัน ก็สามารถฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่ในครั้งเวลาล่วงเลยมาเกือบ 1 เดือน แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ยังชิงไหวชิงพริบ เกทับบลัฟแหลกเป็นรายวัน ปั้นตัวเลขจำนวน ส.ส.ที่สนับสนุนฝ่ายตน เพื่อหวังผลด้านจิตวิทยากัน มีการปล่อยข่าวเรื่องยุบพรรค การให้ใบแดง ใบส้ม ใบเหลือง และงูเห่า นับว่าไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการเมืองของประเทศ มีแต่การบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศลงไปเรื่อยๆ" นายเทพไทกล่าว
รัฐบาลปรองดอง
    นายเทพไทกล่าวด้วยว่า ขอให้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายทำการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ยอมรับกติกาและผลการเลือกตั้งของประชาชน ข้อเสนอรัฐบาลปรองดอง ไม่ใช่การช่วงชิงความได้เปรียบของฝ่ายใดๆ เป็นเพียงข้อเสนอหาทางออกให้ประเทศ หากการเมืองถึงทางตัน แต่ถ้าหากขั้วการเมืองใดสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ และจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง 
    "ผมขอเรียกร้อง อย่าเพิ่งมองว่ารัฐบาลปรองดอง ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ขอให้มองว่า การใช้มาตรา 272 เพื่อแก้วิกฤติการเมืองของประเทศ เป็นการแก้ปัญหาบ้านเมืองตามกระบวนการในรัฐธรรมนูญที่ควรจะรับฟังและพิจารณาให้ถ่องแท้ มากกว่าการผลักไส ต่อต้านอย่างมีอคติ และขอยืนยันว่า การเสนอแนวรัฐบาลปรองดองเป็นความเห็นส่วนตัวที่บริสุทธิ์ใจ ในฐานะนักการเมืองหนึ่ง ที่มีส่วนร่วมในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ถ้าหากผมนิ่งเฉยดูดายไม่มีข้อเสนอใดๆ ในวันที่บ้านเมืองมีวิกฤติ ก็ไม่ใช่วิสัยที่ดีของนักการเมืองอย่างผม" นายเทพไทกล่าว
    ขณะที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุมีความเป็นไปได้จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เพราะในการเลือกตั้งของประชาชนได้แบ่งข้างเป็นฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งชัดเจน และเป็นประเด็นหลักที่ทุกพรรคใช้ในการหาเสียง เรื่องนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว นักการเมืองทั้งหมดจะฝืนมติประชาชนจึงเป็นไปได้ยาก 
    ส่วนกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เสนอให้ใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ที่ให้ ส.ว.มีส่วนในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ให้ ส.ว.มีส่วนในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป เป็นทางออกกรณีกฎหมายไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรนั้น ต้องแยกแยะระหว่างกฎหมายทั่วไปกับกฎหมายปฏิรูป นักกฎหมายทุกคนเขาเข้าใจกัน การออกมาให้ความเห็นแบบนี้ เหมือนกำลังหลงป่า อยากให้คนใกล้ชิดไปเอาออกจากป่าดีกว่าปล่อยให้ตายคาป่า และที่สำคัญ นายไพบูลย์ต้องไปอ่านกฎหมายอีกหลายๆ รอบ เพื่อได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง จะได้ไม่ออกมาให้ความเห็นจนทำให้คนอื่นสับสน 
    นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายยุทธพรเป็นนักวิชาการที่ไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง ความเห็นจึงถือว่าออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทุกฝ่ายควรรับฟัง แต่ส่วนตัวคิดว่าขณะนี้การตั้งรัฐบาลตามวิถีทางระบบรัฐสภายังทำได้อยู่ ส่วนความชัดเจนคงต้องรอ กกต.ประกาศรับรองจำนวน ส.ส.เสียก่อน อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้กังวลใจต่อประเด็นรัฐบาลแห่งชาติ แต่มีความกังวลเรื่องวาระแห่งชาติ อาทิ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง การเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่นักการเมืองทุกฝ่ายทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องร่วมกันแก้ปัญหาให้ได้
อภินิหารไพบูลย์
    ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ในหลายๆ เหตุการณ์ นายไพบูลย์มักออกมาแสดงความคิดเห็นอันเป็นทางออกของกฎหมายแบบคาดไม่ถึง หรือจะเรียกได้ว่าสามารถคิดอภินิหารทางกฎหมายได้เสมอๆ แบบที่คนทั่วไปไม่สามารถคิดได้ ดังนั้น เมื่อนายไพบูลย์ออกมาพูดอะไร เราก็ควรจะเก็บเอาคำพูดของนายไพบูลย์ไปคิดให้ดี ยกตัวอย่างกรณีล่าสุด เรื่องวิธีแก้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ หากพรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้จริง นายไพบูลย์เป็นคนแรกที่ออกมากล่าวถึงทางออกในเรื่องนี้ โดยมองเห็นช่องของกฎหมายที่เขียนไว้โดยคนที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นมา 
    "แสดงว่าความพยายามในการสืบทอดอำนาจนั้นอาจจะมีอยู่จริง และอาจจะมีการวางแผนกันมานานแล้ว โดยใส่ช่องว่างอภินิหารเข้าไปในรัฐธรรมนูญ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จะทำอะไรก็ควรนึกถึงประเทศชาติประชาชนบ้าง หากยังได้ชื่อว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่"
    เขากล่าวว่า การนำเอาสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.มาร่วมออกเสียงและพิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญกับสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นการผิดหลักการประชาธิปไตย ประเพณีการปกครอง และเจตจำนงของรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ผิดหน้าที่ ผิดวัตถุประสงค์ของการมี ส.ว. ซึ่งยังไม่รวมถึงกรณีบันลือโลกอย่างการตั้ง ส.ว. 250 คน มาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ก็นับว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์แล้ว เช่นนี้เท่ากับว่าเป็นการวางกับดัก เตรียมสร้างอภินิหาร โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ก็จะหาทางสืบทอดอำนาจจนได้ แม้จะผิดวิธีการ ผิดหลักการ และผิดเจตนารมณ์ของประชาชน ผมรู้สึกสงสารประเทศ และไม่รู้ว่าบ้านนี้เมืองนี้ต่อไปเราจะสั่งสอนลูกหลานของเราอย่างไรเมื่อเขาเติบใหญ่ขึ้นมา
     ดร.รยุศด์กล่าวอีกว่า วิธีหนึ่งอันเป็นกระบวนการสำคัญที่จะเป็นหนทางแห่งการตั้งรัฐบาลคือ การรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับสอง และประกาศจัดตั้งรัฐบาลหลังพรรคเพื่อไทย ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า เสียงของพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศออกมานั้น บางเสียงซ้ำซ้อนกับการรวมเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศแล้ว ดังนั้นเสียงที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ก็คืองูเห่าหรือไม่ เมื่อรัฐบาลชุดใหม่จะเกิดจากกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม แล้วจะเป็นที่ยอมรับได้อย่างไร ทั้งการซื้อตัว ส.ส.งูเห่า หรือถ้ามีการใช้มาตรา 270 ให้ ส.ว.ร่วมยกมือผ่านร่างฯ ล้วนแล้วแต่สร้างรอยด่างพร้อยให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ให้ไม่เป็นที่ยอมรับกับชาวโลก ไม่เป็นที่เชื่อมั่น แล้วจะติดต่อค้าขาย ทำการค้ากับต่างบ้านต่างเมือง พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปได้อย่างไร
เป็นงูเห่าต้องสงสารญาติ
    "ผมอยากจะขอเตือน ส.ส.ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ ไปเป็นงูเห่ายกมือสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐด้วยว่า แม้พวกท่านจะไม่สนใจอนาคตทางการเมืองแล้ว เพราะคงไม่คิดว่าจะมีอนาคตทางการเมืองอีก แต่ขอให้สงสารพ่อแม่ญาติพี่น้องของพวกท่านบ้าง ถ้าไปเป็นงูเห่า นอกจากตัวพวกท่านที่ชาวบ้านจะสาปแช่งก่นด่าแล้ว พ่อแม่ญาติพี่น้องก็คงรู้สึกละอายใจไปกับพวกท่านด้วย" รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ 
    นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ว่า ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา คะแนนเสียงของทั้งสองพรรคใหญ่ที่ใกล้เคียงกัน ทำให้จะเกิดรัฐบาลปริ่มน้ำขึ้นได้ ก็ทำให้มีข้อวิตกกังวลว่ารัฐบาลจะอยู่ในรูปแบบใด ซึ่งตนมองว่าจะสามารถเกิดรัฐบาลได้ 4-5 รูปแบบ คือ 1.รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ซึ่งได้มีการประกาศร่วมกัน 6 พรรค คะแนนทั้งหมดประมาณ 240 เสียง แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำให้ปลอดภัย ต้องหาคะแนนให้ได้มากกว่า 376 เสียง ส.ส. ซึ่งจะเป็นไปได้ยากพอสมควร
    นพ.ระวีกล่าวต่อว่า ในแบบที่ 2 พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมกับพรรคอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด รวมถึงพรรคเศรษฐกิจใหม่ด้วย ยกเว้นพรรคที่ไปร่วมลงสัตยาบันกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้มีคะแนนทั้งหมด 259 คะแนน โดยมีฝ่ายค้าน 6 พรรค ในฝั่งของพรรคเพื่อไทย 240 เสียง โดยถ้าประผลความสำเร็จ ก็จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเพียง 19 เสียงเท่านั้น น่าจะเป็นรูปแบบของรัฐบาลที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด
    “การที่มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเพียง 19 เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพพอ ถ้าสมมุติว่าพรรคพลังประชารัฐดำเนินการตามรูปแบบนี้ได้ พรรคพลังประชารัฐอาจจะก้าวสู่การสร้างเสถียรภาพมากขึ้น โดยอาจจะเป็นรัฐบาลแบบที่ 2 พลัส ก็คือรวมพรรคประชาชาติด้วย พรรคพลังประชารัฐต้องพยายามหาเสียง ส.ส.ให้ได้มากขึ้น ถ้าชวนพรรคประชาชาติที่มีทั้งหมด 7 เสียงเข้ามาร่วมได้ ก็จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงทั้งหมด 266 เสียง ฝ่ายค้านเหลือ 233 เสียง แบบนี้ก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น” นพ.ระวีกล่าว
    เมื่อถามถึงกรณีงูเห่าที่เคยเกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลหลายๆ สมัย นพ.ระวีกล่าวว่า ตนมองว่าอาจจะมีการดึงงูเห่าเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ ลักษณะแบบนี้แล้วไม่ค่อยเป็นผลดี นั่นหมายความว่าพรรคพลังประชารัฐ อาจจะต้องดึงงูเห่ามาจาก 5 พรรคที่เหลือ อาจจะมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ หรือมีส่วนหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีงูเห่าซึ่งสมมุติว่าดึงมาได้ 10 เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลงูเห่ามีเสียงทั้งหมด 276 เสียง ฝ่ายค้านมีทั้งหมด 223 เสียง
จับตาศาลรัฐธรรมนูญ
    นพ.ระวีกล่าวต่อว่า ในวันนี้สถานการณ์การเมืองไทยคงต้องจับตาไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยเรื่อง ส.ส.สัดส่วน ถ้าสมมุติการวินิจฉัยออกมาในรูปแบบที่ กกต.เห็นชอบ ก็จะทำให้มีเสียงของพรรคเล็กทั้งหมด 13 พรรค ซึ่งจะทำให้เสียงของพรรคพลังประชารัฐมีมากขึ้น แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้อีกแบบหนึ่ง เสียงของฝ่ายนี้ก็จะลดน้อยลง และถ้าสมมุติว่าพรรคพลังประชารัฐทำไม่สำเร็จ เช่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ไม่มาร่วม พรรคประชาชาติไม่มาร่วม พรรคประชาธิปัตย์มีมติออกมาอยู่เป็นกลางๆ ฝ่ายค้านอิสระ หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ทำให้พลังประชารัฐไม่สามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง หน้าตารัฐบาลก็จะออกไปในอีกรูปแบบหนึ่ง
    เขาคาดว่าหากพลังประชารัฐล้มเหลวในการรวบรวมเสียง ซึ่งหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีโอกาสเป็นนายกฯ นั่นอาจจะเกิดรัฐบาลคนกลาง หมายถึงพรรคอันดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย และพรรคอันดับที่ 2 พรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคลำดับถัดไป ก็มีพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เท่าที่ดูสถานการณ์ตอนนี้ น่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าสองพรรคนี้ที่จับมือเป็นแกนนำรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่ารัฐบาลคนกลาง ซึ่งจะต้องเอาทั้งสองกลุ่ม หมายถึงว่าเอาทั้งกลุ่มเพื่อไทยและกลุ่มพลังประชารัฐมาร่วมกัน ประกอบด้วย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 
    ส่วนทางด้านพลังประชารัฐ จะมีพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักผืนป่าประเทศไทย และพรรคเล็กอีก 12 เสียง ต้องรวมทั้งหมด 282 เสียง เหลือพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ เป็นฝ่ายค้าน 211 เสียง ด้วยกระบวนการนี้ จะเกิดรัฐบาลแบบที่ 3 รัฐบาลคนกลาง มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือ คนของประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี
    นพ.ระวียังกล่าวต่อว่า ซึ่งถ้าพลังประชารัฐไม่ยอมก็อาจเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ อาจจะขาดพรรคเศรษฐกิจใหม่ ขาดพรรคใหญ่ไป แต่มีเสียง ส.ส.เกิน 126 เสียง รวมกับ ส.ว.เกิน 376 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามว่า นี้จะมีการชุมนุมประท้วงหรือไม่ ตนไม่มั่นใจ รัฐบาลอาจอยู่ได้ 6-8 เดือน ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือมีการผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ รัฐบาลอาจจะต้องยุบสภา
ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
    “และแบบสุดท้ายที่มีโอกาสเป็นไปได้คือ การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ รวมทุกพรรคเข้ามาเป็นรัฐบาลร่วมกัน ซึ่งมีหลายพรรคออกข่าวไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลปรองดองขึ้น แม้จะมีการแถลงในรูปแบบนั้น ถ้าผลสุดท้ายทางออกที่ 1-4 เกิดขึ้นไม่ได้ ก็อาจเห็นรัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นมาได้ แม้หลายพรรคจะไม่เห็นด้วย แต่เป็นรัฐบาลที่มีภารกิจเฉพาะ ซึ่งต้องมีการตกลงทุกๆ พรรค เช่น จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แก้ตรงหมวดใดบ้าง แก้ พ.ร.ป.เลือกตั้งในหมวดใดบ้าง ซึ่งอาจจะมีอายุ 1-2 ปี เพื่อให้ภารกิจเสร็จสิ้น จากนั้นให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือว่าไม่เป็นประตูปิดตาย แม้มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก”
    นพ.ระวีระบุว่า ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย สำหรับพรรคพลังธรรม โดยหลักการ หากมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย พลังพรรคธรรมก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีรัฐบาลแห่งชาติ แต่เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งสองค่ายมีจำนวนเสียงที่ใกล้เคียงกัน เป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ ตามที่ได้มีการนำเสนอไปแล้วว่าจะเป็นรัฐบาลแบบที่ 1 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ หรือรัฐบาลแบบที่ 2 พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ
    นพ.ระวีกล่าวว่า ถ้าทั้งสองพรรคไม่ประสบผลสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่สามารถได้เสียงข้างมากที่มีเสถียรภาพได้ อาจเกิดรัฐบาลแบบที่ 3 รัฐบาลคนกลางคือ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำในการรวบรวมทั้งสองฝ่ายมารวมตัวกัน เป็นรัฐบาลคนกลาง มีเพื่อไทย และอนาคตใหม่เป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้าแบบที่ 3 เกิดไม่ได้ มันก็อาจเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย พรรคพลังประชารัฐรวมกับ ส.ว. ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ 1.มีการยุบสภาในเร็ววันประมาณ 6 เดือน ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือมีการอภิปรายพ.ร.บ.งบประมาณ
    2.ไม่มั่นใจในความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง มีการปลุกม็อบเพื่อคัดค้าน ส.ว. มาร่วมโหวตทำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่ ทำให้รัฐบาล ประเทศไม่มีเสถียรภาพโอกาสแบบที่ 5 การเกิดรัฐบาลแห่งชาติ อาจเกิดขึ้นได้ในภาวะการเมืองที่วิกฤติ ซึ่งรัฐบาลปรองดองจะรวมทุกฝ่ายเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล มีภารกิจเฉพาะร่วมกัน แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แก้ตรงหมวดใดบ้าง แก้ พ.ร.ป.เลือกตั้งในหมวดใดบ้าง รัฐบาลแห่งชาติจะมีอายุ 1-2 ปี จากนั้นให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่หลังเสร็จสิ้นภารกิจ เสร็จสิ้นตามข้อตกลง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบการดำเนินการตามครรลองประชาธิปไตย ไม่สามารถเกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ทางเลือกเหลือรัฐบาลเสียงข้างน้อย กับรัฐบาลแห่งชาติ เปรียบเทียบท่านจะเห็นว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยอาจมีปัญหาแบบที่ผมพูดมา แล้วถ้ายุบสภา ต้องเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม ภายใต้กฎระเบียบเดิม ซึ่งไม่มั่นใจว่าเลือกใหม่ คะแนนที่ออกมาจะเหมือนเดิมอีกหรือไม่ กับยอมให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งใหม่ อาจเป็นทางออกใหม่ของสังคมไทยที่ทำให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพตามมาได้
    "ดังนั้นในส่วนตัว แม้จะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแห่งชาติ แต่ถ้าถึงความจำเป็นของบ้านเมือง ผมคิดว่า โอกาสที่เกิดรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสักช่วงหนึ่งก็เป็นได้" นพ.ระวีกล่าวทิ้งท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"