วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม ผ่านมาเกือบเดือน กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะหน่วยงานดูแลการเลือกตั้ง กลายเป็นตำบลกระสุนตก 7 เสือ กกต.ถูกสังคม นักการเมือง ประชาชน พิพากษา ตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ ตั้งแต่การควบคุมดูแล ระบบนับคะแนนประมวลผล วิธีคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซัง พรรคการเมืองกับ กกต.มองต่างมุม วิธีคิดคำนวณคนละแบบ ในที่สุด กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยวินิจฉัย ภาคประชาชน กลุ่มนิสิตนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยข้องใจการทำหน้าที่ กกต.เข้าชื่อถอดถอน กกต. ยังมีกรณีหลายเขตเลือกตั้ง ที่ผู้สมัคร ส.ส.ร้องเรียนถึงความผิดปกติ ระบบการนับคะแนน สิ่งผิดสังเกตที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม
พรรคการเมืองเร่งเร้าให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ไม่ต้องรอถึงวันสุดท้าย 9 พ.ค. ตามมาด้วยกระแสข่าวแพร่สะพัดกว่าจะถึงวันดังกล่าว จะมีว่าที่ ส.ส.กี่คน กี่พรรคการเมือง ได้รับใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง จาก กกต. หากเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน ทำให้ตอนนี้ซีกเพื่อไทยที่เป็นแกนหลัก ผนึกกำลังพรรคเครือข่ายประชาธิปไตย ไม่กล้าออกตัวแรง รวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม ยื่นหนังสือถึง กกต.ขอให้ถอดถอนสมาชิกพรรคการเมือง 6 พรรค เนื่องจากยังถือครองหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน แม้บางแห่งปัจจุบันเป็นบริษัทร้าง แต่ก็ยังเป็นความผิด เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ม.98 (3) ที่ระบุ ห้ามไม่ให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือกิจการใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเหมือนการหลอกลวงประชาชน แสดงถึงความเจตนาไม่บริสุทธิ์ งานนี้มีผู้สมัคร ส.ส.ทั้งจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคประชาชาติ อยู่ในข่ายทั้งสิ้น 32 คน โดยงานนี้หากเป็นเรื่องเป็นราว อาจทำให้คะแนนของทั้ง 6 พรรคหายไป 286,805 คะแนน ซึ่งจะทำให้จำนวน ส.ส.พึงมีหายไป 9 คน และส่งผลให้คะแนนของทั้ง 6 พรรค ไม่ใช่เสียงข้างมากที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้
นอกจากนี้ พรรคเพื่อชาติ เรื่องราวปัญหาภายใน ผู้สมัครทวงเงินงบสนับสนุนการเลือกตั้ง ยังไม่จบ ปมประเด็นที่สมาชิกพรรคพร้อมขุดเรื่องร้อนๆ ภายในออกมา พรรคเศรษฐกิจใหม่เกิดปัญหาสมาชิกพรรคยื่นยุบพรรคตัวเอง ออกมาแฉ ปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามายุ่มย่ามบริหารจัดการเรื่องในพรรค กลายเป็นอีกหนึ่งปมปัญหา
เช่นเดียวกับซีกพรรคพลังประชารัฐ แม้จะมั่นใจรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่กล้าออกตัวแรงเช่นกัน เพราะยังมีความคลุมเครือจากซีกพรรคประชาธิปัตย์ ตกลงจะหันหัวไปทางไหน ว่าที่ ส.ส.มีทั้งในส่วนที่เห็นด้วยกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชวน หลีกภัย แกนนำพรรค ที่ไม่อยากเสียจุดยืนพรรค พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ ขณะที่อีกซีกนำโดย ถาวร เสนเนียม ว่าที่ ส.ส.สงขลา ที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ เอนเอียงอยากเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ
กลายเป็นปมเงื่อนไข ทำให้ การจัดตั้งรัฐบาลไม่ราบรื่น ยังไม่สามารถดำเนินต่อไป ด้านหนึ่งติดขัดจากหน่วยงานควบคุมดูแลการเลือกตั้งอย่าง กกต. อีกด้านหนึ่ง พรรคการเมืองต่างๆ ประสบปัญหาทั้งจากเรื่องราวภายใน ปัจจัยภายนอก และถึงแม้ไม่ว่าจะเป็น พรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ จากการลองคิดคำนวณจำนวน ส.ส.เสียงข้างมากอยู่ในสถานะปริ่มน้ำ ย่อมส่งผลให้การบริหารงานของรัฐบาลไร้เสถียรภาพ ขาดเอกภาพทางการเมือง ไม่มีความมั่นคง อย่างไรก็ดี ผลจากความไม่ชัดเจนทางตัวเลข รัฐบาลปริ่มน้ำ มีการตั้งวงวิเคราะห์ ตั้งวงถกถึงทางออกการเมืองไว้ 3 ทางด้วยกัน
ประเด็นแรก ให้เป็นไปตามระบบปกติ ไม่ว่าซีกเพื่อไทย หรือพลังประชารัฐ ขั้วใดรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ แม้หน้าตารัฐบาลใหม่ที่ออกมาจะไม่สวย มี เสียงปริ่มน้ำ ก็ตาม ปล่อยให้บริหารประเทศไปสักระยะ เป็นเหมือนรัฐบาลเฉพาะกิจ เหตุจากรัฐบาลปริ่มน้ำถูกสั่นคลอน เอนเอียงได้ตลอดเวลา ยังไม่นับรวมกลุ่มงูเห่า ที่พร้อมเกิดได้ทุกเวลากับทุกพรรคการเมือง ทุกขั้วการเมือง แต่ก็ต้องปล่อยให้ดำเนินไปตามครรลอง กฎกติกา เมื่อถึงท้ายสุดไปรอด ยุบสภาฯ จัดเลือกตั้งใหม่
ประเด็นที่สอง หากการเมืองเกิด dead lock อันเนื่องจากขั้วพรรคพลังประชารัฐ ที่หากจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องอาศัยเสียงจากพรรคขนาดใหญ่ ขนาดกลางอีก 2 พรรคไปร่วมรัฐบาลด้วย โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรสำคัญ เวลานี้ก็อย่างที่ทราบกัน ว่าที่ ส.ส.มีทั้งกลุ่มเห็นด้วยกับแนวทาง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชวน หลีกภัย แกนนำในพรรค ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ เพื่อรักษาจุดยืนแนวทางพรรค กับเห็นด้วยกับแนวทาง ถาวร เสนเนียม ว่าที่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีทิศทางอยากจะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ
ซึ่งดูแล้วหากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะออกมาในทิศทางไหน ก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายในพรรคอย่างแน่นอน จนมีคนวิเคราะห์คาดการณ์กันไปถึงแนวทาง หากติดล็อกเกิดปัญหาจริง อันเนื่องจากนักการเมืองหาทางออกกันไม่ได้ อาจเป็นมูลเหตุให้ทหารเข้ามาจัดระบบ แก้ระเบียบปัญหาที่ติดล็อกทางการเมือง และการเข้ามาในครั้งนี้จะมีกรอบระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีครึ่ง จากนั้นถอยกลับเข้ากรมกอง ปล่อยให้พรรคการเมือง นักการเมือง ร่วมกำหนดทิศทางประเทศผ่านการเลือกตั้ง
ประเด็นที่สาม การจัด ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ตามข้อเสนอ ‘เทพไท เสนพงศ์’ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า รัฐบาลแห่งชาติจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและแก้รัฐธรรมนูญ มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลนี้มีวาระเพียงแค่ 2 ปี จากนั้นให้คืนอำนาจแก่ประชาชนและจัดการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่แนวคิด อ้ายยุทธ-ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติภาคประชาชน โดยให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งร่วมกันหาทางออกและปลดล็อก 250 ส.ว.ให้ไปอยู่วงนอก แล้วหาประธานสภาผู้แทนราษฎรและคัดเลือกนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส.ที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป ซึ่งจะเป็นการ หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ตัดวงจรการยึดอำนาจ และวิธีนี้เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ
ในมุมมองนักเลือกตั้งอาชีพที่จุดพลุแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ ในรายละเอียดอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่จุดหมายปลายทางเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นักการเมืองร่วมหาทางออกของประเทศร่วมกัน และไม่ปล่อยให้วงจรเดิมที่นักการเมืองขยาดหวาดกลัว รัฐประหาร หรือปล่อยให้ขั้วพลังประชารัฐหรือเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลก็หลีกหนีปัญหาการเมืองไม่พ้น
การเลือกตั้งผ่านพ้นไปเกือบ 1 เดือน แต่กลับไม่มีพรรคการเมืองไหนประกาศชัด รวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ ติดทั้งเงื่อนไข กกต.ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการรับรอง ส.ส. เรื่องใบเหลือง ใบแดง วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้แต่ละพรรคตัวเลขที่มีอยู่ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันได้เลย ท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อการตั้งรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่าทีทหารยังเป็นอะไรที่สังคมโลก รวมถึงนักเลือกตั้งอาชีพตั้งวงวิเคราะห์ ไม่มีสิ่งใดการันตีรัฐประหารจะเกิดอีกหรือไม่ บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บอกเอาไว้เมื่อเดือน ต.ค.2561 ไม่สามารถให้คำยืนยันเรื่องปฏิวัติว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจล ก็ไม่มีอะไร ช่วงต้นเดือน เม.ย.62 ก็ออกมาพูดถึงพวกที่ไปเรียนเมืองนอก นำแนวคิดมาหวังเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง
ส่งสัญญาณแรงๆ ทำให้นักการเมือง พรรคการเมือง เสียวสันหลัง อนาคตไม่มีอะไรการันตี
สูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่ว่าด้วยสูตรคณิตศาสตร์ จำนวนตัวเลขยังไม่เดินไปสู่ทางตันเสียทีเดียว นักการเมืองในฐานะผู้เล่นตามครรลองกติกาเป็นผู้กำหนด เลือกระหว่างเส้นทาง ประคับประคองประเทศให้มีทางออก หรือลากจูงกลับเข้าสู่มุมวิกฤติอย่างเดิม.
ทีมข่าวการเมือง
"ในมุมมองนักเลือกตั้งอาชีพที่จุดพลุแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ ในรายละเอียดอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่จุดหมายปลายทางเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นักการเมืองร่วมหาทางออกของประเทศร่วมกัน และไม่ปล่อยให้วงจรเดิมที่นักการเมืองขยาดหวาดกลัว"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |