วันก่อนผมขึ้นเวทีตั้งวงเสวนาเรื่อง "ธุรกิจเอกชนกับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน" เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการที่ธุรกิจของไทยต้องมีทั้งนโยบายและภาคปฏิบัติในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษร้ายแรงทำลายอนาคตของประเทศชาติ
ทั้งสามท่านเป็นซีอีโอระดับชาติและสากล คือ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ แห่งซีพีกรุ๊ป, คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มไทยเบฟ และคุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ แห่งกลุ่มบ้านปู
เอกชนไทยรับทราบการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ทั้งสามท่านยอมรับว่าบริษัททั้งหลายยังอยู่ในจุดที่ "ต่างคนต่างทำ" ไม่มีการประสานกันเพื่อสร้างพลังของธุรกิจให้ "ความยั่งยืน" หรือ corporate sustainability กลายเป็นหลักปฏิบัติอย่างจริงจัง
แม้ว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องทำตามกติกาใหม่ๆ ที่โยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และดำเนินนโยบายให้เอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังเป็นเพียงการทำเพื่อได้ชื่อว่ามีความตระหนักด้านนี้เท่านั้น มิได้เป็นความมุ่งมั่นในทุกระดับขององค์กรเอกชนที่นำไปสู่การสร้างความสำนึกอย่างแท้จริง
ความตระหนักเช่นว่านี้ย่อมแตกต่างกันระหว่างธุรกิจใหญ่ที่มีการติดต่อกับต่างประเทศ ซึ่งทำให้ได้รับทราบถึงความสำคัญของการทำธุรกิจที่ยอมลงทุนเพื่อความยั่งยืน กับธุรกิจระดับกลางและเล็กที่มองเห็นแนวทางนี้เป็น "เป้าหมายระยะไกล" เพราะจะต้องลงทุนเพิ่ม กลายเป็นภาระต้นทุนที่สูงขึ้น
อีกทั้งการสร้างความตื่นตัวในบรรดาพนักงานทุกระดับทุกบริษัทยังเป็นเรื่องที่ยากเย็นไม่น้อย
หลายบริษัทของไทยได้รับรู้ถึงการประกาศของสหประชาชาติ ที่ให้มีเป้าหมาย 17 ข้อว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ SDG 17 ซึ่งย่อมาจาก 17 Sustainable Development Goals ซึ่งเป็นมติของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี 2015 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ในปี 2030 หรือเรียกง่ายๆ ว่า 2030 Agenda
คำประกาศนี้เป็นเป้าหมายรวม 17 ข้อ โดยย่อยลงมาเป็น 169 เป้าย่อยซึ่งประเมินผ่านดัชนี 232 ตัว โดยมีหัวข้อใหญ่ๆ ที่ครอบคลุมทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เช่น
ความยากจน
ความหิวโหย
การศึกษา
สุขอนามัย
ความเท่าเทียมทางเพศ
พลังงานราคาเป็นธรรม
น้ำสะอาด
ความเท่าเทียม
การพัฒนาเมือง
โลกร้อน
สิ่งแวดล้อม
ความเป็นธรรมของสังคม
สันติภาพ
ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
เพียงแค่อ่านหัวข้อมากมายหลากหลายอย่างนี้ ก็คงทำให้ทั้งรัฐบาลและเอกชนทั้งโลกตั้งคำถามว่าจะทำให้สำเร็จอย่างไรได้ เพราะทั้งกว้างทั้งลึกทั้งต้องมีงบประมาณมหาศาล
แต่เมื่อแปรเป้าหมายใหญ่เหล่านี้มาเป็นวาระของแต่ละประเทศ และซอยย่อยลงมาเป็นนโยบายของบริษัทแล้ว ก็ทำให้เห็นว่าแนวทางเช่นว่านี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ที่สำคัญที่สุดคือ เป้าหมายเหล่านี้เป็นการทำให้มนุษย์อยู่ได้อย่าง "ยั่งยืน" เพราะธุรกิจจะไม่คิดทำกำไรอย่างบ้าเลือดโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่กระทำต่อสิ่งแวดล้อมและอนาคตของคนรุ่นต่อไป
จึงเป็นที่มาของการรวมตัวของเอกชนในระดับสากลและภูมิภาค เพื่อหาทางทำให้เป้าหมายเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงในภาคปฏิบัติ มิใช่เป็นเพียงตัวหนังสือที่อ่านดูไพเราะเพราะพริ้ง แต่ลงท้ายกลายเป็นข้อความบนกระดาษเท่านั้น
การที่เอกชนไทยนำโดยธุรกิจยักษ์ตื่นตัวในเรื่องนี้ และประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อให้สามารถร่วมเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน ช่วยเหลือกันและกันให้ประสบความสำเร็จในระดับต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามและส่งเสริม
ผมถือโอกาสบนเวทีแห่งนั้นตั้งประเด็นในเรื่องของมลพิษฝุ่นละอองจิ๋วหรือ PM2.5 ที่กำลังคุกคามสุขภาพและวิถีชีวิตคนไทยอย่างหนักหน่วงและรุนแรงนั้น ควรจะเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมพิสูจน์ว่าเอกชนไทยพร้อมร่วมจับมือกันทำอะไรเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาอันหนักหน่วงนี้ได้หรือไม่
เพราะหากยึดเอา SDG 17 ข้อของสหประชาชาติ แต่ไม่อาจแก้ปัญหาใกล้ตัวที่กระทบต่อ "ความยั่งยืน" ของการพัฒนาประเทศอย่างเช่น PM2.5 ได้ นั่นเท่ากับเป็นการตบหน้าตัวเองฉาดใหญ่
ผมได้รับคำยืนยันอย่างน้อยจากซีอีโอทั้งสามท่านวันนั้นว่า "ควันพิษทางอากาศ" ที่ว่านี้เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ และฐานะเป็น "พี่ใหญ่" ของวงการเอกชนจะเร่งรีบประสานพลังเพื่อลงมือแก้ปัญหานี้ให้ได้ในเร็ววัน
ผมจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |