(ภาพลายเส้นโดย Louis Delaporte ช่วงปี พ.ศ.2409-2411)
‘พระธาตุพนม’ ปูชนียสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนไทย-ลาวสองฝั่งโขงมาเนิ่นนาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเสนอต่อองค์การยูเนสโกเพื่อให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกันชาวพระธาตุพนมกลุ่มหนึ่งในนาม ‘กลุ่มข้าโอกาสพระธาตุพนม ตุ้มโฮมพัฒนาเมือง’ ได้ร่วมกันพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ เช่น การฟื้นฟูศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี การอนุรักษ์อาคาร บ้านเรือนเก่า ฯลฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่เมืองมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย
ประวัติศาสตร์พระธาตุพนม
‘พระธาตุพนม’ ตั้งอยู่ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 600 เมตร เป็นปูชนีสถานที่คนไทย-ลาวสองฝั่งโขงเคารพสักการะมายาวนานหลายร้อยปี ตำนานอุรังคธาตุบันทึกว่า บริเวณที่ตั้งองค์พระธาตุพนมเคยเป็นที่ตั้งของเมืองศรีโคตรบูร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีโคตรบูร องค์พระธาตุพนมเป็นเจดีย์หรือพระธาตุที่มีรูปทรงระฆังเหลี่ยม มีลวดลายต่างๆ ประดับรอบ สร้างขึ้นมาเพื่อบรรจุพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า โดยเจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูรและเจ้าเมืองต่างๆ รวม 5 เมืองร่วมกันก่อสร้าง
ตามตำนานอุรังคธาตุระบุว่า องค์พระธาตุพนมสร้างขึ้นในปี พ.ศ.8 ขณะที่ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เสนอความเห็นว่า รูปแบบดั้งเดิมของพระธาตุพนมน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจาม ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในราวศตวรรษที่ 15 เมื่อถึงสมัยล้านช้างจึงมีการก่อเจดีย์ทรงระฆังเหลี่ยมทับเรือนธาตุที่มีมาแต่เดิม (ขณะนี้กรมศิลปากรกำลังขุดชั้นดินบริเวณข้างพระธาตุเพื่อศึกษาหาอายุที่แท้จริงของพระธาตุพนม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอต่อองค์การยูเนสโก)
องค์พระธาตุพนมมีการบูรณะซ่อมแซมมาเป็นระยะๆ ครั้งล่าสุดคือในปี พ.ศ.2483-2484 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นหัวหน้าในการบูรณะ โดยกรมศิลปฯ ได้สร้างครอบพระธาตุองค์เดิมด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่ชั้นที่ 3 ขึ้นไป มีรูระบายอากาศบนส่วนยอดรอบด้าน และต่อยอดให้สูงขึ้นไปอีก 10 เมตร รวมความสูงของพระธาตุ 57 เมตร
ในเดือนสิงหาคม 2518 องค์พระธาตุพนมที่มีความเก่าแก่ได้พังทลายลงมา สันนิษฐานว่าในการบูรณะในสมัยจอมพล ป. ไม่ได้สร้างฐานล่างขึ้นมาใหม่ให้มีความแข็งแรง แต่ได้บูรณะโดยการครอบพระธาตุองค์เดิมด้วยคอนกรีตและต่อยอดพระธาตุให้สูงขึ้นอีก 10 เมตร ฐานล่างเดิมจึงรับน้ำหนักมากขึ้น และเมื่อเกิดฝนตก น้ำฝนได้ไหลเข้าสู่รูระบายอากาศ ทำให้เกิดความชื้นสะสมยาวนานหลายสิบปีจนทำให้อิฐที่ก่อเป็นองค์พระธาตุเสื่อมสภาพ
พระธาตุพนมจึงแตกร้าวล้มลงในที่สุด....สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้แก่พี่น้องไทย-ลาวทั่วทั้งสองฝั่งโขง !!
หลังพระธาตุพนมล้ม ชาวไทยทั่วประเทศได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อก่อสร้างพระธาตุพนมขึ้นมาใหม่ทั้งองค์ โดยรักษาโครงสร้าง ขนาด รูปแบบ และลวดลายจำหลักต่าง ๆ ให้เหมือนองค์เดิม สูงเท่าองค์เดิม คือ 57 เมตร แต่ขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย โดยสร้างครอบฐานพระธาตุองค์เดิม ซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณ 6 เมตรเศษ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ข้างในกลวงเป็นโพรง มีคานยึด 5 แห่ง มีกรุสำหรับบรรจุพระอุรังคธาตุ 1 กรุ และมีกรุสำหรับบรรจุสิ่งของที่พบเมื่อพระธาตุพังทลายลงมา 8 กรุ แล้วเสร็จในปี 2522
ในเดือนมีนาคมปีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีเชิญพระอุรังคธาตุขึ้นบรรจุในองค์พระธาตุพนม เพื่อเป็นสถานที่สักการะบูชาของศาสนิกชนสืบต่อไป..!!
เสนอพระธาตุพนมสู่เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม
ในแต่ละวันจะมีประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบสักการะพระธาตุพนมวันละหลายพันคน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และเทศกาลต่างๆ ส่วนประเพณีที่สำคัญเกี่ยวกับพระธาตุพนมก็คือ ‘งานนมัสการพระธาตุพนม’ หรือ ‘งานบุญเดือนสาม’ เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน งานนมัสการพระธาตุพนม จะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 3 ของทุกปี โดยถือเอาวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันแรกของงาน และไปสิ้นสุดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 โดยในตอนเช้าของงานนมัสการพระธาตุพนมวันแรกจะมีพิธีดำน้ำในแม่น้ำโขงเพื่ออัญเชิญรูปหล่อพระอุปคุต (พระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) แห่มายังวัดพระธาตุพนม เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ เชื่อกันว่าผู้ที่สักการะบูชาพระอุปคุตแล้วจะก่อให้เกิดลาภผล ความมั่งมี ขจัดภยันตราย ฯลฯ
(เหล่าศาสนิกชนหลั่งไหลมางานนมัสการพระธาตุพนม)
หลังจากนั้นในช่วงก่อนเที่ยงจะมีพิธีถวายพีชภาค โดย ‘กลุ่มข้าโอกาส’ จะนำผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด กล้วย อ้อย และผลผลิตที่ได้จากที่ดินของวัดมาถวายพระธาตุ เพื่อให้ได้รับอานิสงส์อยู่ดีกินดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีอายุยืนยาว นอกจากนี้ยังมีพิธี ‘เสียค่าหัว’ ให้แก่พระธาตุ หรือการถวายเงินเพื่อบำรุงพระธาตุพนม เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ เป็นสัญลักษณ์การถวายเครื่องบรรณาการแด่ผู้สร้างพระธาตุพนม
ตอนค่ำจะมีการรำบูชาพระธาตุพนม และการแสดงธรรมเทศนาประกอบพิธีเวียนเทียนสักการะพระธาตุพนม โดยในแต่ละปีจะมีประชาชนชาวไทยและลาวหลั่งไหลเข้าร่วมนมัสการพระธาตุพนมวันละนับแสนคน ถือเป็นงานบุญประเพณีที่ใหญ่ที่สุดของชาวอีสาน
จากประเพณี ความเชื่อ ความเคารพศรัทธาในองค์พระธาตุพนมที่มีมาเนิ่นนาน และที่สำคัญคือ องค์พระธาตุที่มีความโดดเด่น สวยงาม มีเอกลักษณ์ ชาวนครพนมจึงมีแนวคิดในการเสนอองค์พระธาตุพนมให้เป็นเมืองมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก (องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ /United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization = UNESCO) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับรองและส่งเสริมการเป็นเมืองมรดกโลก เพื่อสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้แก่ชาวนครพนม รวมทั้งยังมีผลต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวเริ่มมาจากอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นผู้ว่าฯ จ.พระนครศรีอยุธยาที่เป็นเมืองมรดกโลกมาก่อน (ปี 2534 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน ‘นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร’ เป็นเมืองมรดกโลก) จึงนำแนวคิดนี้มาขยายผล และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม (นวน เขมจารี พ.ศ.2533-2544) ได้พยายามสานต่อแนวคิดนี้ผ่านทางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด สถาบันการศึกษา และญาติโยมมาอย่างต่อเนื่อง
เส้นทางสู่มรดกโลก
ในเดือนกรกฎาคม 2559 จังหวัดนครพนมได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลก และต่อมาได้จัดทำข้อมูลเพื่อเสนอพระธาตุพนมเข้าสู่บัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ
วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า พระธาตุพนมเป็นศาสนสถานที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล มีคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก 3 เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ที่ 1 เป็นตัวแทนที่แสดงถึงผลงานชิ้นเอกที่ทำขึ้นด้วยอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เกณฑ์ที่ 2 เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมสถาน ประติมากรรม ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องหรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และ เกณฑ์ที่ 6 มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นในประวัติศาสตร์
วันที่ 24 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรมนำเสนอพระธาตุพนมเข้าสู่บัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ไปที่ยูเนสโก เพื่อนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก
วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 41 ณ เมืองคราคูฟ ประเทศโปแลนด์ มีมติเห็นชอบให้บรรจุพระธาตุพนมในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโก
ส่วนขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้พระธาตุพนมได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกในขณะนี้ก็คือการจัดทำร่างเอกสารนำเสนอ (Nomination Dossier) ไปยังยูเนสโกก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากนั้นคณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาและประกาศผลในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่าพระธาตุพนมจะได้ขึ้นบัญชีเป็นเมืองมรดกโลกหรือไม่..!!
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2559 แต่คณะกรรมการฯ ได้ส่งเรื่องกลับมาเพื่อให้ทางไทยดำเนินการใหม่ในหลายประเด็น เช่น การกำหนดอายุหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังขาดความชัดเจน
“เรานำกรณีภูพระบาทมาศึกษา เพื่อให้การนำเสนอพระธาตุพนมมีความพร้อมสมบูรณ์ข้อมูลทุกด้าน ต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คุณค่าสถาปัตยกรรม เพื่อให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาและคุณค่าของพระธาตุพนม โดยเฉพาะด้านโบราณคดีต้องมีการขุดค้นเพิ่มเติม เพื่อบ่งบอกถึงความเก่าแก่ อายุ ชั้นดิน ที่ต้องศึกษาวิเคราะห์ช่วงเวลาและยุคสมัยที่ชัดเจน รวมทั้งการจัดทำผังกำหนดขอบเขตพื้นที่มรดกโลก และพื้นที่กันชน ตลอดจนจัดทำแผนบริหารจัดการ การพัฒนาปรับปรุงบริเวณที่จะเป็นมรดกโลก เช่น ตั้งศูนย์บริการท่องเที่ยว ศูนย์ข้อมูลหรือพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น” วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรมกล่าว
‘กลุ่มข้าโอกาสธาตุพนม ตุ้มโฮมพัฒนาเมือง’
‘ข้าโอกาส’ คือ ‘กลุ่มคนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาพระธาตุพนม’ ในสมัยก่อน กษัตริย์หรือเจ้าเมืองแถบลุ่มน้ำโขงจะนำข้าทาสและบริวารมาถวายให้เป็นข้าพระธาตุ ทำหน้าที่ดูแลรักษาองค์พระธาตุด้วยการถวายสิ่งของและจัดกิจกรรมบำเพ็ญกุศลตามวันสำคัญทางศาสนา โดยให้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ใกล้พระธาตุ จนมีลูกมีหลานสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ปัจจุบัน ‘ข้าโอกาส’ มีความหมายรวมถึงกลุ่มคนที่มีความศรัทธาต่อพระธาตุและร่วมกันทำนุบำรุงพระธาตุให้มีความยั่งยืนสืบต่อไป
(ธนัตชัย คำป้อง)
ธนัตชัย คำป้อง ประธาน ‘กลุ่มข้าโอกาสพระธาตุพนม ตุ้มโฮมพัฒนาเมือง’ เล่าว่า กลุ่มข้าโอกาสฯ เกิดจากการรวมตัวกันของชาวธาตุพนม มีคณะกรรมการจำนวน 18 คน ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจ ครู ลูกหลานกลุ่มข้าโอกาส อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนครพนม ฯลฯ ที่ต้องการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเจริญ ขณะเดียวกันก็จะอนุรักษ์และฟื้นฟูประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนอาคารบ้านเรือนที่มีความเก่าแก่ก่อสร้างมานานนับร้อยปีให้คงอยู่ และเป็นเอกลักษณ์ของเมืองธาตุพนม จึงรวมตัวกัน (ตุ้มโฮม) จัดตั้งกลุ่มข้าโอกาสฯ ขึ้นมาในปี 2561
“นอกจากนี้เมืองธาตุพนมยังประกอบด้วยกลุ่มคนหลายเผ่าพันธุ์ มีทั้งคนไทยอีสาน ผู้ไท ลาว กะเลิง ญ้อ จีน เวียดนาม มีวัฒนธรรม ประเพณี และอาหารการกินที่หลากหลาย กลุ่มข้าโอกาสฯ จึงอยากให้คนต่างถิ่นหรือนักท่องเที่ยวที่มาสักการะพระธาตุพนมแล้วกลับไป ได้แวะมาศึกษาและเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของท้องถิ่น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอีกด้วย” ประธานกลุ่มข้าโอกาสฯ เล่าถึงความเป็นมา
กิจกรรมที่กลุ่มข้าโอกาสฯ ดำเนินการมี 5 ด้าน คือ 1.การพัฒนาเมืองธาตุพนม โดยการอนุรักษ์อาคารบ้านเรือนเก่า ย่านเมืองเก่า 2.การอนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี อาหาร ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ 3.การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน โดยจัดกิจกรรม ‘ถนนคนเดิน’ ทุกเย็นวันเสาร์ บริเวณตลาดเก่า ตั้งแต่ริมแม่น้ำโขง-ซุ้มประตูโขง มีการออกร้านจำหน่ายอาหาร ผักปลอดสารพิษ สินค้าพื้นบ้าน และการแสดงท้องถิ่น 4.การดูแลสาธารณูปโภคต่างๆ
และ 5. ส่งเสริมให้ประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ของสถาบันพัฒนาองค์กร (องค์การมหาชน) ขณะนี้มีสมาชิกจำนวน 90 คนที่เข้าร่วมโครงการ โดยสมาชิกจะต้องออมเงินเพื่อเป็นทุนในการซื้อที่ดินและสร้างบ้านอย่างน้อยเดือนละ 100 บาท/ราย เริ่มออมเงินเมื่อกลางปี 2561 เมื่อมีสมาชิกครบ 100 รายจะจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อซื้อที่ดินมาจัดทำโครงการบ้านมั่นคง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะให้การสนับสนุนโครงการ
“ส่วนการสนับสนุนให้พระธาตุพนมเป็นเมืองมรดกโลกนั้น กลุ่มข้าโอกาสฯ ได้จัดเวทีประชาคม ลงไปพูดคุยกับหมู่บ้าน โรงเรียนต่างๆ รวมทั้งจัดเวทีพูดคุยเรื่องพระธาตุพนมสู่เมืองมรดกโลกที่ถนนคนเดินเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ชาวธาตุพนมได้รับรู้ข้อมูล ร่วมกันสนับสนุน และเกิดความภาคภูมิใจที่พระธาตุพนมจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเมืองมรดกโลกด้วย” ประธานกลุ่มข้าโอกาสฯ กล่าวในตอนท้าย
‘เฮือนนายฮ้อยอุ่น” พิพิธภัณฑ์มีชีวิต
(เฮือนนายฮ้อยอุ่น ภาพถ่ายปี พ.ศ.2489 นายฮ้อยอุ่นนั่งกลางอุ้มเด็ก)
เมืองธาตุพนมตั้งอยู่ริมน้ำโขง เป็นเมืองเก่าแก่และมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ สมัยฝรั่งเศสยึดครองอินโดจีนเมื่อร้อยปีก่อน มรดกตกทอดที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน นอกจากขนมปังฝรั่งเศสยัดไส้หมูยอแล้ว อาคารหรือสิ่งก่อสร้างสไตล์ ‘โคโลเนียน’ (ศิลปะแบบอาณานิคม) สีเหลืองเข้ม เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่เวียดนามลงมาลาวและเขมร รวมถึงเมืองชายแดนริมน้ำโขงของไทย เช่น นครพนม
ประกาศิต จันทศ กรรมการกลุ่มข้าโอกาสพระธาตุพนม ตุ้มโฮมพัฒนาเมือง เจ้าของมรดก ‘บ้านนายฮ้อยอุ่น’ บอกว่า เดิมในเขตเทศบาลตำบลพระธาตุพนมมีอาคารบ้านเรือนสไตล์โคโลเนียนที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสจำนวนกว่า 20 แห่ง แต่ปัจจุบันถูกทุบทิ้งไปแล้วประมาณ 10 แห่ง เนื่องจากอาคารเดิมมีสภาพทรุดโทรม ลูกหลานไม่เห็นคุณค่า หรือไม่มีเวลาดูแลรักษา จึงทุบทิ้งเพื่อสร้างเป็นบ้านทรงสมัยใหม่
เมื่อมีการตั้งกลุ่มข้าโอกาสฯ ขึ้นมา จึงมีหลายหน่วยงานมาให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูอาคารเก่าเหล่านี้ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฯลฯ กลุ่มข้าโอกาสฯ จึงเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของอาคารต่างๆ เพื่อให้รักษาเอาไว้เป็นมรดกของลูกหลานและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองธาตุพนม จนประสบผลสำเร็จหลายหลัง
เช่น โรงแรมไม้ ‘ชัยวัณย์’ (ชื่อเดิม ‘ไมตรี’) ขนาด 2 ชั้น สร้างตั้งแต่ปี 2460 ปัจจุบันมีอายุกว่า 100 ปี ทายาทรุ่นปัจจุบันจะรื้อทิ้ง แต่เมื่อเห็นคุณค่า ขณะนี้จึงปรับปรุงโดยยึดโครงสร้างเดิม เพื่อเตรียมเปิดเป็นเกสต์เฮ้าส์ขนาด 4 ห้องใหญ่ มีความโดดเด่น เพราะเป็นเรือนไม้เก่า มีลวดลายฉลุ ด้านหน้าชั้นล่างเป็นประตูไม้บานเฟี้ยมทั้งหมด นอกจากนี้ยังมี ‘โรงแรมสีฟอง’ สไตล์โคโลเนียน สร้างตั้งแต่ปี 2484 ปัจจุบันปรับปรุงและเปิดบริการแล้ว ฯลฯ
ส่วน ‘บ้านนายฮ้อยอุ่น จันทศ’ ตั้งอยู่ริมถนนพนมพนารักษ์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาด 5 คูหา (เดิมชั้นล่างเป็นห้องโถงโล่ง) ก่อสร้างในปี 2479 โดยจ้างช่างชาวเวียดนาม ซึ่งในขณะนั้นฝรั่งเศสยังมีอิทธิพลอยู่ในอินโดจีน การสร้างตึกสไตล์โคโลเนียนจึงได้รับความนิยมทั่วไป รวมทั้งในเมืองไทย เพราะแสดงถึงความทันสมัย รูปทรงสวยงาม โดยเฉพาะสถานที่ราชการ เช่น จวนผู้ว่าฯ จ.นครพนม (หลังเก่า) และบ้านของพ่อค้าหรือผู้ดีมีสตางค์
“สมัยก่อนคุณตาอุ่นเป็นพ่อค้า ขายสินค้าต่างๆ รวมทั้งวัวควาย ต้อนลงไปขายที่กรุงเทพฯ และฉะเชิงเทรา เงินที่ใช้ซื้อขายสมัยก่อนจะเป็นเงินเหรียญมีรูตรงกลาง พ่อค้าจะเอาเชือกมาร้อยเหรียญเป็นพวงเพื่อความสะดวก คนทั่วไปจึงเรียกว่า ‘นายร้อย’ หรือ ‘นายฮ้อย’ ในภาษาอีสาน เวลาคุณตากลับมาจากการค้าขายแล้ว จะใช้เวลาเป็นวันๆ เพื่อนับเงิน” ทายาทคุณตาอุ่นบอกถึงที่มาของคำว่านายฮ้อย และจากการค้าขายนี่เอง ทำให้นายฮ้อยอุ่นสะสมเงินทองขยายกิจการต่างๆ ออกไป รวมทั้งสร้างตึกสไตล์โคโลเนียนขึ้นมา
นายฮ้อยอุ่นถือว่าเป็นพ่อค้าที่มีความคิดก้าวหน้าในสมัยนั้น เพราะอาคาร 5 ห้องสไตล์โคโลเนียนที่สร้างขึ้นมาได้เปิดเป็นโรงเรียนมัธยมเอกชนในปี 2481 ใช้ชื่อว่า ‘โรงเรียนพนมราสต์วิทยา’ โดยจ้างครูมาสอน เด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานข้าราชการและพ่อค้าที่มีเงิน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2484-2488 โรงเรียนต้องปิดเพื่อหนีภัยสงคราม หลังจากนั้นจึงเปิดสอนตามปกติ และปิดตัวลงในปี 2493 เนื่องจากในขณะนั้น โรงเรียนมัธยมของทางรัฐบาลขยายมาเปิดที่อำเภอธาตุพนมและได้รับความนิยมมากกว่า
หลังโรงเรียนปิด นายฮ้อยอุ่นได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นที่เก็บสินค้าต่างๆ เช่น เกลือสินเธาว์ ข้าวสาร ของป่า ซื้อมาและขายไปทั่วหัวเมืองอีสานในแถบลุ่มน้ำโขง รวมทั้งลาวและพม่า และยังทำธุรกิจหลายอย่าง เช่น ชักลากไม้แปรรูปไม้ เดินรถโดยสาร ก่อนจะยุติบทบาทเนื่องจากย่างเข้าสู่วัยชรา นายฮ้อยอุ่นมีอายุยืนถึง 100 ปี โดยเสียชีวิตในปี 2533
(สภาพเฮือนนายฮ้อยอุ่นในปัจจุบัน)
ปัจจุบันประกาศิตปรับปรุงอาคารหลังนี้ที่ได้รับมรดกจำนวน 1 ห้อง เพื่อเตรียมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่มีชีวิต บอกเล่าเรื่องราวของเมืองธาตุพนมและนายฮ้อยอุ่น แสดงข้าวของต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น โต๊ะเรียนสมัยสงครามโลก หนังสือเรียน ภาพเก่า ฯลฯ เป็นการชุบชีวิตอาคารบ้านเรือนเก่า เพื่อเติมเสน่ห์ให้แก่เมืองและพระธาตุพนมได้ก้าวสู่เมืองมรดกโลกต่อไป...!!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |