อย่าเลือกตั้งเพราะอยาก


เพิ่มเพื่อน    

    มวลชนบริสุทธิ์?
    ถามจริงเชื่อกันหรือเปล่าว่ากลุ่มนักศึกษาที่ออกมาตะโกน อยากเลือกตั้ง คือมวลชนบริสุทธิ์ ไม่มีใครชักใยอยู่เบื้องหลัง
    โดยเนื้อหาของการเลือกตั้ง ถือเป็นเรื่องสากล ค่ายยุโรปอเมริกา ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ  เพราะนั่นคือกระบวนการได้มาซึ่ง 
    รัฐบาล มีหน้าที่บริหารประเทศ 
    มีรัฐสภาทำหน้าที่แทนประชาชน
    ฉะนั้นโดยหลักการ ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และไทยก็เช่นกัน
    มีประเด็นเกี่ยวเนื่องอยู่สองสามประเด็น นั่นคือ กระบวนการเลือกตั้ง คุณภาพนักการเมือง และจิตสำนึกของประชาชน 
    ฝั่งยุโรป อเมริกา ปัจจัยเหล่านี้ค่อนข้างไหลลื่น  
    แต่มีสะดุดบ้าง เช่นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จนถึงวันนี้ ชาวอเมริกันยังตั้งคำถามกันเองว่าเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีได้อย่างไร 
    ชาวอเมริกันเริ่มกลับมาคิดว่า การเลือกตั้ง ตอบสนองความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่
    หรือแค่พิธีกรรมการเข้าสู่อำนาจ
    วันนี้ไม่ต้องเหนียมกันอีก กลุ่มนักศึกษา ที่เคลื่อนไหวอยู่ ก็แนวร่วมเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย และระบอบทักษิณ นั่นแหละ 
    ไม่ใช่กรณีนี้ที่มีการเคลื่อนไหวสอดรับกัน มีการผลัดกันรับไม้ ให้กำลังใจกันและกัน 
    ถ้าจะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพียงแค่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ก็ลองมองย้อนกลับไป การเคลื่อนไหวของมวลชนขนาดใหญ่ก่อนเกิดการรัฐประหาร นักศึกษากลุ่มนี้ไม่ได้เข้าร่วม 
    แถมยังมองเป็นขั้วตรงข้าม
    ก็เอาง่ายๆ นับญาติกับเพื่อไทย แต่ไม่สุงสิงกับประชาธิปัตย์ ความหมายมันชัดเจนในตัว
    ทำให้คำว่า "อยากเลือกตั้ง" กับ "อยากกลับเข้าสู่อำนาจ" มีเส้นแบ่งที่ไม่ขมุกขมัว และกลายเป็นเรื่องเดียวกันได้ไม่ยาก
    มีคนอยากเลือกตั้งเยอะ  ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาโข่งกลุ่มนี้ 
    แต่.....ความอยากคนละระดับ 
    และสิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างหลังก็คนละแบบ
    ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องขบคิดร่วมกันว่าจะเอาแบบไหน 
    รีบเขียนกฎหมายให้เสร็จเร็วๆ แล้วเลือกตั้งแบบไปตายเอาดาบหน้า หรือเถียงกันให้ตกผลึก แบบไหนดี ไม่ดี คุยให้สะเด็ดน้ำ แล้วไปเลือกตั้ง เผื่อสามารถล้างบางนักการเมืองชั่วๆ ออกไปได้บ้าง
    ขณะนี้จึงอยู่ในขั้นของกระบวนการ ที่จะได้มาซึ่งกฎหมายที่ดี หรือกฎหมายเก่าคร่ำครึ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ได้การเมืองใหม่ หรือย่ำอยู่กับที่
    แน่นอนว่ามันสามารถตีความไปเป็นเรื่องการเยื้อเพื่อสืบทอดอำนาจได้ 
    แต่.....ก็น่าแปลกบรรดาลิ่วล้อเพื่อไทยบินไปหานักโทษหนีคุกที่เมืองจีน ยันฮ่องกง บรรดานักศึกษาโข่งพากันเงียบกริบ 
    ไม่แสดงทัศนะความเป็นนักประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าออกมาให้เห็นเลยแม้กระผีกเดียว นอกจากเป็นไงเป็นกันเลือกตั้งต้องปีนี้เท่านั้น เลื่อนไปเดือนสองเดือนไม่ได้
    ทั้งๆ ที่นักการเมืองพวกนี้เกือบทั้งหมดจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งที่กระสันอยากให้มีกันเร็วๆ นี้นี่แหละ 
    แถมนักโทษหนีคุกคดีโกง บงการอยู่เบื้องหลัง 
    นั่นคือการเลือกตั้งที่อยากให้มีใช่หรือไม่?
    ไม่ต้องตอบ 
    ไปดู สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องการ วานนี้กันก่อน 
    เขาสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น ๑,๑๑๓ ตัวอย่าง 
    เมื่อถามถึง ความรู้ประชาชนต่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิดให้คนตอบตอบเอง พบว่า     ประชาชนจำนวนมากกว่า ๑ ใน ๓ หรือ ๓๖.๖% ระบุ ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่ตอบ 
    รองลงมาคือ ๑๙.๕% ระบุ ประชาธิปไตยคือ ความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ 
    ๑๘.๘% ระบุประชาธิปไตยคือ อิสระในการคิดการพูด  
    ๑๓.๕% ระบุประชาธิปไตยคือ ฟังเสียงคนข้างมาก  
    ๖.๙% ระบุประชาธิปไตยคือ ประชาชนรักสามัคคีกัน มีส่วนร่วม 
    มีเพียง ๓.๓% ระบุประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง 
    และ ๑.๔% ระบุประชาธิปไตยเป็นเรื่องผลประโยชน์ ตามลำดับ
    เมื่อถามถึงความชอบต่อประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้หรือเป็นแบบใด 
    พบว่า จำนวนมากหรือ ๔๑.๓% ชอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ตอนนี้ 
    แต่ ๕๘.๗% ต้องการประชาธิปไตยแบบสงบสุข แบบพอเพียง ไม่มีคอร์รัปชัน และบางส่วนระบุแบบไหนไม่รู้แต่ขอให้ดีขึ้นกว่านี้
    น่าตกใจ.....!!!
    มีคนไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร บางทีอาจไม่อยากตอบ หรือตอบส่งเดช แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นมันสะท้อนถึงความเบื่อหน่ายคำว่า "ประชาธิปไตย" เต็มทน 
    เพราะไม่รู้ว่า "ประชาธิปไตยไทย" หมายความว่าอะไรกันแน่ มันไม่เหมือนที่อื่นในโลก
    ขณะที่มีคน ๓.๓% เชื่อว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ก็คุ้นๆ ว่ากลุ่มนี้สร้างข่าวบ่อย อ้างว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย 
    ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย
    รากเหง้าความคิดแบบนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นาน มันเกิดจากการสร้างชุดความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยกินได้ จากการนำนโยบายประชานิยมสุดขั้วมาใช้ในการเลือกตั้ง
    เฟซบุ๊ก Somkiat Osotsapa ของ ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำบทคัดย่อในรายงานของ Executive Summary สรุปสาเหตุของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเวเนซุเอลา แปลเป็นภาษาไทยให้อ่านเข้าใจง่ายๆ
    ....ข่าวความล่มสลายทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา มีต่อเนื่องมาเกือบ 4 ปีแล้ว ประเทศที่เราได้ยินกันมาตลอดว่ามีน้ำมันใต้พื้นดินที่มากที่สุดในโลกและมีนางงามจักรวาลหลายคน วันนี้ประเทศแทบจะล่มสลาย ค่าเงินเฟ้อเป็นหลักพันเปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นได้อย่างไร
    จุดกำเนิดปัญหาจากนโยบายประชานิยม
    เรื่องราวเริ่มขึ้นก่อนปี 1998 ที่การปกครองของเวเนซุเอลามีแต่การคอร์รัปชันของรัฐบาล ประเทศมีแต่คนยากจน แม้จะเป็นประเทศที่มีการส่งออกน้ำมันมากประเทศนึงของโลก นาย Hugo Chavez ผู้ที่เข้ามาเป็นประธานาธิบดีในปี 1999 จับกระแสนี้ ด้วยการสร้างฐานคะแนนเสียงกับคนจนที่มีมากมายถึง 80-90% ของประเทศ
    เค้าจับประเด็นได้ว่า คนจนรู้สึกไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล เพราะรายได้ของประเทศจากการขายน้ำมันไม่ตกมาถึงคนจนเลย นาย Hugo Chavez จึงใช้นโยบายหาเสียงเอาใจคนจน และเมื่อได้รับตำแหน่งก็บริหารประเทศด้วยการเอาใจคนจนด้วยการนำรายได้จากการขายน้ำมันมาสร้างประโยชน์โดยตรงให้คนจน
    ความฟุ้งเฟ้อจากประชานิยม
    เป็นโชคดีของนาย Hugo Chavez ที่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบราคาแพงมาก รายได้ของประเทศราว 95% มาจากการส่งออกน้ำมันที่ทั่วโลกกำลังต้องการ นาย Hugo Chavez นำรายได้จากราคาน้ำมันที่แพงมาทำนโยบายประชานิยม
    รัฐบาลมีการสนับสนุนราคาอาหารให้ สนับสนุนการเรียนค่าใช้จ่ายต่ำหรือฟรี ไปจนถึงการรักษาพยาบาล รัฐบาลออกเงินให้หมด เพราะประเทศกำลังร่ำรวย การร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันทำให้เงินสกุล bolivar มีค่าแข็งขึ้น
    การส่งออกสินค้าอื่นขาดความสามารถในการแข่งขัน และผู้คนก็ไปกู้เงินมาจากต่างประเทศเพราะค่าเงินแข็งมาก
    นโยบายที่วางระเบิดเวลา
    นาย Hugo Chavez นำนโยบาย Socialist Economic & Policies มาใช้ ออกกฎหมายยึดเอากิจการน้ำมัน สถาบันการเงิน การเกษตร และอุตสาหกรรมทั้งหมดมาเป็นของรัฐบาลทั้งหมด เพื่อจะได้เอาผลผลิตไปเอาใจประชาชนชาวรากหญ้า ด้วยเงินที่แข็ง สินค้าจำเป็นหลายอย่าง เช่น อาหาร สินค้าเกษตร ยาและการแพทย์ก็นำเข้าหมด แต่การทำเช่นนี้กลับกลายเป็นระเบิดเวลาที่วางเอาไว้โดยไม่รู้ตัว
    ระเบิดเวลาเศรษฐกิจเริ่มเดิน
    นาย Hugo Chavez เสียชีวิต และประเทศเวเนซุเอลาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อนาย Nicholas  Maduro ในปี 2014 ราคาน้ำมันที่เคยสูงและเป็นรายได้หลักของประเทศเริ่มอ่อนราคาลง รายได้ 95%  ของประเทศค่อยๆ หดตัวลง และไม่สามารถมีรายได้จากภาษีของกิจการจากประชาชนเพราะรัฐบาลไปยึดเค้ามาหมดแล้ว
    อีกทั้งกิจการที่จะนำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกก็ไม่มี เพราะมัวแต่หลงละเลิงกับรายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว และค่าเงินที่เคยแข็งทำให้ส่งออกยากและไม่มีการพัฒนาธุรกิจอะไรส่งออกได้เลย
    ประเทศเริ่มเสียรายได้ ค่าเงินตกต่ำ สิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันก็ต้องนำเข้าด้วยราคาที่แพงขึ้น เพราะค่าเงิน bolivar ต่ำเตี้ยติดดิน ค่าเงินอ่อนตัวลงไปถึง 99.8% ในเวลาไม่กี่เดือน ถ้าเทียบกับธนบัตรก็เหมือนกับว่า แบงก์พันบาทมีค่าเหลือเพียง 2 บาทเท่านั้น
    จากวิกฤติเศรษฐกิจกลายเป็นวิกฤตการณ์สังคม
    เมื่อค่าเงินต่ำ เกิดเงินเฟ้อคือธนบัตรเสมือนกับไม่มีค่า สินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตที่เคยได้มาจากการนำเข้าเพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถนำเข้ามาได้เพราะค่าเงินตกต่ำจนไม่มีปัญญาจะซื้อของจากต่างประเทศ
    เกิดอาชญากรรมแย่งชิงอาหาร เงิน เด็กและผู้ป่วยเสียชีวิตกันมาก เพราะขาดยาและอุปกรณ์จำเป็นทางการแพทย์ อาหารที่ต้องนำเข้าก็ขาดแคลน
    นาย Nicholas Maduro ประกาศให้ค่าเงินผูกกับเงินดอลลาร์ไว้ที่ 10:1 คือ 10 bolivar แลกได้ 1  US dollar แต่ปัญหากลับทวีความรุนแรงขึ้น เพราะทหารที่ทำหน้าที่จัดสรรการนำเข้าเรื่องอาหาร ซื้ออาหารจากต่างประเทศในอัตราส่วน 1:10 ด้วยเงินดอลลาร์ แต่แอบเอาอาหารออกมาขายประชาชนด้วยอัตรา 1:12,163 สร้างความร่ำรวยให้กับพวกคอร์รัปชันในระหว่างที่ประเทศลำบาก
    มีการคำนวณกันว่าประชากรมีน้ำหนักลดลงไปถึง 8.7 KG ในเวลาเพียงหนึ่งปี แล้วเด็กๆ จะมีอาหารขนาดไหน
    จากวิกฤตการณ์สังคมกลายเป็นวิกฤติการเมือง
    นาย Nicholas Maduro โดนประชาชนลุกฮือกันขับไล่ แต่ไม่มีใครทำอะไรเค้าได้ เพราะเค้าเอาทหารมาเป็นพวกด้วยการประเคนผลประโยชน์ให้ทหาร ทั้งอาหาร ยารักษาโรค ในขณะที่ประชาชนกำลังลำบากแสนสาหัส และนาย Nicholas Maduro พยายามจะรักษาตำแหน่งเอาไว้อย่างสุดฤทธิ์ ด้วยการแก้กฎหมายของประเทศเพื่อรักษาตำแหน่งของตนไว้ไม่ให้โดนใครโค่นล้มลงไป
    บทความนี้เพื่อให้ท่านผู้บริหารได้ทราบถึงปัญหาและที่มาของปัญหาของประเทศเวเนซุเอลา หวังว่าท่านจะได้ประโยชน์..........
    ครับ....การเมืองเวเนซุเอลา ไม่เหมือนการเมืองไทยเสียทีเดียว แต่หากมองย้อนกลับไปก่อนรัฐบาลทักษิณ จะถูกรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ พบว่ามีความคล้ายกันอยู่หลายประเด็น
    ประชานิยมสุดขั้ว ลดแลกแจกแถมราวกับรัฐสวัสดิการ แต่การจัดเก็บภาษีมีฐานที่แคบแบบหาความสมดุลไม่ได้
    เอาทหารเป็นพวก ตั้งญาติผู้พี่เป็นผู้บัญชาการทหารบก เพื่อค้ำบัลลังก์
    เป็นสูตรสำเร็จแห่งความหายนะ
    วันข้างหน้าจะกลับไปย่ำรอยเดิมหรือไม่ ฝากไปถึงนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตย อยากไปเลือกตั้ง  สิ่งแรกที่ต้องทำคือ 
    แยกการเมืองเลวออกจากการเลือกตั้งให้ได้ก่อน.
                        ผักกาดหอม 
    
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"