กกต.สั่งนับคะแนนใหม่ยกเขต 1 จังหวัดนครปฐม “ปชป.-อนค.” ได้เสียวใครจะยึดเก้าอี้ พร้อมสั่งเลือกตั้งใหม่ 2 หน่วยใน จ.ชุมพร ขอนแก่นประเดิมนับใหม่พบนับผิดแค่หน่วยละใบ อึ้ง! ลูกพรรคเฮียมิ่งชงยุบพรรคตัวเอง อ้างนายทุนจุ้น วิษณุให้ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญรับ-ไม่รับตีความสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ “พรเพชร” เชื่อยึดหลักกฎหมายไม่มีทางตัน พาเหรดอัดแนวคิด “ไพบูลย์” เลอะเทอะอ้างมาตรา 270 ปชป.ดีเดย์ 15 พ.ค. ได้ชื่อหัวหน้าพรรคคนใหม่
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 เม.ย. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่าที่ประชุม กกต.มีมตินับคะแนนใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครปฐม ทุกหน่วยเลือกตั้ง หลังปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการนับคะแนนเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามมาตรา 124 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดนอาจมีผลทำให้เปลี่ยนแปลงลำดับผู้ได้รับการเลือกตั้ง
สำหรับผลคะแนนของเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.นครปฐมนั้น มีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 236 หน่วย รวมกับอีก 9 หน่วยของบัตรนอกเขตและนอกราชอาณาจักร โดยผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่ผ่านมา ผู้ได้คะแนนลำดับ 1 คือ พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้คะแนน 35,762 คะแนน ส่วนอันดับสองคือ น.ส.สาวิกา ลิมปะสุวัณณะ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้คะแนน 35,615 คะแนน
“ที่ประชุมยังมีมติสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ 1 หน่วยเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดชุมพร หน่วยเลือกตั้งที่ 9 ในหมู่ที่ 7 บ้านดวงดี ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ โดยกำหนดให้ลงคะแนนในวันที่ 28 เม.ย. เนื่องจากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผลการนับคะแนนมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน” นายแสวงกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่หอประชุมอำเภอน้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่ที่ กกต.เขตเลือกตั้งที่ 3 จ.ขอนแก่น ได้กำหนดให้เป็นสถานที่นับคะแนนใหม่ตามคำสั่ง กกต.ที่ 181/2562 ในการนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่ 1 ต.บัวใหญ่ จำนวน 324 ใบ และหน่วยเลือกตั้งที่ 5 ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพองจำนวน 624 ใบนั้น นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กกต.ได้ลงพื้นติดตามการนับคะแนนใหม่ทั้ง 2 หน่วย ท่ามกลางการเฝ้าสังเกตการณ์จากผู้สมัคร ผู้แทนพรรคการเมืองและประชาชนอย่างพร้อมเพรียง
และเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. การนับคะแนนใหม่ก็เสร็จสิ้น โดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือการร้องเรียนในการนับคะแนนใหม่ นายฉัตรไชยจึงให้ กกต.เขต 3 ทำการรับรองผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการทันที โดยการนับใหม่ครั้งนี้พบว่ามีคะแนนเกินมาหน่วยละ 1 คะแนน โดยในกรณี ต.บัวใหญ่ เป็นกรณีบัตรเสีย ส่วนที่ ต.ม่วงหวาน เป็นกรณีนับคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เกิน 1 คะแนน ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 กรณีเกิดจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งกาคะแนนผิด
ลูกพรรคเฮียมิ่งชงยุบพรรค
ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สำนักงาน กกต. ผู้สมัครพรรคเศรษฐกิจใหม่ นำโดย น.ส.อุลัยพร ไตรวงค์ย้อย, นายประยงค์ สร้างศรีหา และนายคมกฤษ สุภักดี ยื่นหนังสือถึงประธาน กกต. ขอให้ยุบพรรคเศรษฐกิจใหม่ และระงับการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรค เนื่องจากถูกครอบงำจากบุคคลภายนอกที่สั่งการชี้นำไม่ให้พรรคสามารถดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ
โดยในเอกสารระบุว่า การส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้ง 350 เขต นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรค ได้ให้เงินค่าสมัคร ส.ส.คนละ 15,000 บาท โดยนัดกับว่าที่ผู้สมัครว่าหลังการประกาศรับรองผู้สมัครนายมิ่งขวัญจะนัดประชุมผู้สมัครเพื่อแนะแนวทางกับผู้สมัครอีกครั้ง แต่ปรากฏว่านายมิ่งขวัญไม่ได้นัดประชุมแต่อย่างใด จนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครสืบทราบมาว่าการที่ไม่ได้นัดประชุมผู้สมัคร เป็นเพราะมีนายทุนพรรคที่มีชื่อย่อ ส.ได้บงการควบคุม ครอบงำชี้นำพรรคไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นอิสระ
“การกระทำดังกล่าวถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงขอให้ กกต.ไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมสั่งระงับการประกาศคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และการประกาศผลการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ จนกว่าวินิจฉัยแล้วเสร็จ และขอให้มีคำสั่งยุบพรรคเศรษฐกิจใหม่ด้วย” คำร้องระบุ
สำหรับกรณีที่ กกต.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าศาลไม่รับเรื่อง กกต.ต้องชี้แจงรายละเอียดเอง ถ้าชี้แจงแล้วมีใครไม่เห็นด้วยก็ต้องไปร้องต่อศาล เรื่องนี้ต้องรอดูว่าศาลจะว่าอย่างไร ถ้ารับเรื่องเอาไว้ก็หมดเรื่อง เมื่อรับแล้วจะพิจารณาช้าหรือเร็วก็ว่ากันไป แต่คิดว่าศาลต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนวันที่ 9 พ.ค.นี้ ตามที่ กกต.ระบุว่าต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ ส่วนการพิจารณาใบเหลือง ใบส้ม และใบแดง เป็นเรื่อง ส.ส.เขต ไม่เกี่ยวกับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่ง กกต.สามารถทำควบคู่ไปได้ แต่ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยแล้วยังมาติดเรื่องใบเหลืองใบแดง อย่างนั้นถือเป็นความบกพร่องของ กกต.
เมื่อถามว่า ถ้า กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.ไม่ทันในวันที่ 9 พ.ค.นี้ จะทำให้เกิดเดดล็อกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่รู้ ไว้ถึงเวลาค่อยบอกค่อยคิดกันต่อ
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และผู้สมัคร ส.ส.พรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า กกต.ต้องมีแผนสำรอง เพราะที่ประชุมใหญ่ของศาลจะพิจารณาว่ารับหรือไม่รับก็ย่างเข้าไป 24 เม.ย. และหากรับ ศาลอาจต้องใช้เวลาพิจารณาอีก 2 สัปดาห์ ก็เข้าใกล้เส้นตายที่ต้องประกาศคือ 9 พ.ค.เข้าทุกที และหากมีคำพิพากษาแบบกว้างๆ แบบให้ไปดำเนินการเองโดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญ นั่นแปลว่าบทเล่นทั้งหมดจะกลับไปอยู่ที่ กกต.
“ส่วนใหญ่แผนหนึ่งจะเป็นแผนรุก และแผนสองคือแผนถอย แต่ต้องถอยที่ตนเองไม่บาดเจ็บ ไพร่พลไม่ล้มตาย เรียกว่าถอยอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่ใช่ถอยกรูดแบบหมดรูป คงต้องรอดูและให้กำลังใจ กกต.ว่าจะมีแผนสองอย่างไร” นายสมชัยกล่าว
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า 9 พ.ค. คือเส้นตายที่ต้องประกาศรับรองผลเลือกตั้งทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ก่อนวันที่ 9 พ.ค. หรือศาลยังพิจารณาไม่เสร็จ กกต.ต้องตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ คือไม่ต้องรอศาลพิจารณา เพราะหากเลยเวลาไปจะเกิดผลเสียหาย กกต.ต้องรับรองผลภายในกำหนดเวลา
พรเพชรเชื่อไม่มีถึงทางตัน
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายื่นหนังสือ โดยขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 128 วรรคหนึ่ง (5) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ขัดมาตรา 83 วรรค 1 (2) หรือไม่ และหาก กกต.จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ครบ 150 คน จะถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่ และเป็นการกระทำที่ใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 หรือไม่ ขณะเดียวกันการประกาศของ กกต.เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมี เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 86 ประกอบมาตรา 95 หรือไม่ เนื่องจากตามประกาศ กกต.เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี กกต.ใช้ตัวเลขประกาศจากสำนักทะเบียนกลางของวันที่ 31 ธ.ค.2560 จำนวน 66,188,543 คน ได้รวมราษฎรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยจำนวน 875,814 คนไว้ด้วย
ขณะเดียวกัน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตรวจดูความพร้อมของห้องประชุมทีโอที อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อรองรับการประชุมรัฐสภาในการประชุมเพื่อเลือกนายกฯ โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง 7 พรรคเข้าร่วมด้วย
นายพรเพชรยังปฏิเสธถึงกระแสข่าวการเมืองอาจเกิดทางตัน ว่ายังไม่ถึงทางตัน หากทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย และอย่าไปต่อว่าคนที่เขาเดินตามกฎหมายด้วย อย่างที่ กกต.ยื่นศาลสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ให้เป็นอำนาจของศาลจะรับหรือไม่ ขอให้เดินหน้าไปตามกฎหมาย ก็ไม่มีทางตัน แต่หากคุณเก่งกว่านั้น แสดงความรู้ ภูมิของคุณทำให้สังคมสับสนและไปโหวตกันโซเชียลมีเดีย มันก็เกิดความวุ่นวาย ดังนั้นอะไรที่ไม่ได้ผิดกฎหมายก็ควรปล่อยให้เขาเดินหน้า แต่อะไรที่ผิดกฎหมายก็ไปฟ้องร้องกันตามขั้นตอนของกฎหมาย
นายพรเพชรยังกล่าวถึงข้อเสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า รัฐธรรมนูญเปิดทาง แต่การพูดถึงในขณะนี้ก็เหมือนข้ามขั้นตอนไป เราต้องเคารพในทุกความเห็น หากเดินหน้าได้ตามข้อเสนอก็เดินไป แต่หากไม่ได้ก็ไม่ได้ และส่วนตัวยังไม่ได้วิเคราะห์ว่าการมีรัฐบาลแห่งชาติจะแก้ไขปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำได้หรือไม่
ส่วนนายชูศักดิ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลแห่งชาติ กับรัฐบาลปรองดองมันต่างกันอย่างไร ทางที่ดีควรให้การเลือกตั้งเป็นไปตามวิถีทางของมัน พรรคใดรวมเสียงพรรคข้างมากตั้งรัฐบาล และสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ก็ว่าไปตามนั้น ไม่ควรคิดอะไรนอกกรอบที่กฎหมายวางไว้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ต่อไปประเทศไทยจะคิดทำอะไร ก็จะนึกถึงข้อยกเว้นทำนอกเหนือรัฐธรรมนูญตลอด ซึ่งไม่เป็นผลดีโดยภาพรวม
นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า เวลานี้มีความจำเป็นอย่างไรที่จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ขณะนี้เพิ่งผ่านพ้นวันเลือกตั้งมาใหม่ๆ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะมาเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และเชื่อว่ากลไกของรัฐธรรมนูญเรื่องการให้มี ส.ว.มีส่วนร่วมเลือกนายกฯ ได้ จะเป็นช่องทางไม่ให้เกิดวิกฤติทางตัน ส่วนที่วิจารณ์ว่า ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.จะไม่เป็นกลางนั้น ก็วิจารณ์กันไป แต่เชื่อว่าคนที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.จะใช้ดุลพินิจและเหตุผลเลือกนายกฯ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงหาทางออกแก้ปัญหาให้บ้านเมืองได้
รุมจวกข้อเสนอมาตรา 270
ส่วนข้อเสนอให้ช่องมาตรา 270 ให้ ส.ว.โหวตกฎหมายปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำของนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปนั้น นายวิษณุกล่าวว่า สามารถแก้ได้บางส่วน แต่ไม่ได้ทั้งหมด จะใช้ได้กับกฎหมายบางฉบับเท่านั้น และแก้ไม่ได้ตลอดไป ซึ่งกฎหมายใดที่รัฐบาลบอกไปยังสภาว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป ต้องประชุมร่วมกันอยู่แล้ว แต่มีบางฉบับที่ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูป เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ ดังนั้นไม่ใช่ว่าต้องไปดึง ส.ว.มาร่วม หรืออันธพาลเสียงมากลากไป เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าถ้าเป็นกฎหมายปฏิรูปต้องประชุมร่วม ไม่เช่นนั้นการประชุมเป็นโมฆะอยู่แล้ว แต่คงไปทำแบบนี้กับกฎหมายทุกฉบับไม่ได้ มาตราดังกล่าวไม่ใช่ทางออกที่หมดจด แต่การมีเสียงข้างมากจึงเป็นทางออกที่หมดจด
นายพรเพชรมองว่า หากเข้าองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญกำหนดก็ทำได้ แต่การจะเดินหน้าตามมาตรา 270 จะทำได้ต่อเมื่อมีรัฐบาลแล้ว
ส่วนนายชูศักดิ์กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศอยู่ในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดเจน มีปฏิรูปด้านใดบ้าง ซึ่งอ่านแล้วอ่านอีก ไม่คิดว่าจะมีใครไปตีความว่าให้ ส.ว.พิจารณากฎหมายงบประมาณ มันเป็นไปไม่ได้เลย จะตีความว่าเรื่องงบประมาณเป็นการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่เลย ตีความอย่างนั้นไม่ได้ เพราะกฎหมายงบประมาณเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำทุกปี ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระก่อนแล้วถึงเข้าวุฒิสภาพิจารณาเท่านี้จบ
“ผมมองว่าเขาอาจมีเจตนาทำให้รัฐบาลปริ่มน้ำสามารถบริหารต่อไปได้ ด้วยความมั่นคง เพราะถือว่ามี ส.ว.มาช่วย เพราะในอดีตหากกฎหมายงบประมาณแผ่นดินไม่ผ่าน ทางจารีตประเพณีการปกครองรัฐบาลต้องลาออก เขาก็อาจมีเจตนาที่ต้องการช่วยๆ กัน” นายชูศักดิ์กล่าว และว่า ตัวรัฐธรรมนูญเองก็มีปัญหามากพออยู่แล้ว อย่าไปตีความให้มันเลยเถิดไปใหญ่ ตีความแบบเข้ารกเข้าพง ประเทศชาติมันจะไปกันใหญ่
นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายไพบูลย์ การอ้างถึงมาตรา 270 เป็นการคิดแผลงๆ ที่ไม่เป็นไปตามระบบรัฐสภา ซึ่งจะสร้างปัญหามากขึ้น
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.กล่าวเช่นกันว่า มาตราที่นายไพบูลย์ยกขึ้นมาอยู่ในบทเฉพาะกาล ซึ่งไม่ควรมีตั้งแต่แรกแล้ว ถ้าเช่นนี้ก็เอายางลบไปลบมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยกระบวนการทางนิติบัญญัติออก ลบสภาผู้แทนราษฎรทิ้งไปเลยก็ได้ ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.อย่างเดียวจบ มีอำนาจทั้งเลือกนายกฯ และออกกฎหมายเอง สุดท้ายก็เหมือน สนช.
“การตีความรัฐธรรมนูญต้องเริ่มจากหลักก่อน ไม่ใช่เอาข้อยกเว้นมาใช้ตลอด ประเทศไทยอยากปกครองด้วยอำนาจการยกเว้น ที่ผ่านมาก็ใช้กันอยู่ตลอดคือ อำนาจพิเศษ การยกเว้น ทหารต้องเข้ามา พอยกเว้นกันไปมา ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติแล้วก็อยู่จนชิน นี่คือพิษร้ายที่สุดที่มีการนำสิ่งแปลกๆ เข้ามาในรัฐธรรมนูญ จนคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา” นายปิยบุตรกล่าว
ขณะที่นายพันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ เลขาธิการพรรคภราดรภาพ กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตรออกมากล่าวย้ำว่าศาลสามารถวิจารณ์ได้ ว่าการเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้นั้น ต้องคิดและวิจารณ์อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง การวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าวของนายปิยบุตรถือว่าไม่เหมาะสม และอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในบ้านเมืองได้ เพราะทุกคนต้องเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลสถิตยุติธรรม
“สิ่งที่นายปิยบุตรรวมทั้งเเกนนำพรรคอนาคตใหม่หลายคนออกมาเคลื่อนไหวช่วงที่ผ่านมาเเละช่วงนี้นั้น ผมมองว่าไม่เหมาะสมเท่าใดนัก เเละในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานการเมืองด้วยกัน ขอให้พรรคอนาคตใหม่ไตร่ตรองสิ่งที่จะสื่อสารกับสังคมด้วย เพื่อไม่สร้างชนวนขัดเเย้งใหม่ทางการเมืองขึ้นมาเพิ่ม”นายพันธ์ยศระบุ
ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนค. และนายปิยบุตรที่ถูกดำเนินคดีหลายๆ คดี แต่กระแสความนิยมยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและวิกฤติศรัทธาต่อระบบและกระบวนการยุติธรรมของไทยภายใต้รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร หรือ คสช.
15 พ.ค.เคาะหัวหน้า ปชป.
ยังคงมีความเคลื่อนไหวของพรรค ปชป.ในการเลือกตั้งหัวหน้าและกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคชุดใหม่ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค แถลงว่า ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง กก.บห.ชุดใหม่ 7 คน โดยมีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯ จะมีหน้าที่กำหนดวันเวลาและหลักเกณฑ์ในการเลือกตั้ง กก.บห.ชุดใหม่ และหากมีกรณีใดจำเป็นต้องยกเว้นข้อบังคับหรือปรับปรุงข้อบังคับพรรคให้นำความเห็นนั้นเสนอต่อที่ประชุม กก.บห.พรรคเพื่อพิจารณาอีกขั้นหนึ่ง ในวันที่ 23 เม.ย. เวลา 14.00 น. ส่วนจะเปิดให้หยั่งเสียงสมาชิกพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวจะพิจารณา ซึ่งในที่ประชุมก็มีผู้ให้ความเห็นส่วนหนึ่งให้ยกเลิกกระบวนการหยั่งเสียง แต่จะยุติอย่างไร เป็นหน้าที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณา
“กรอบเวลาในการเลือก กก.บห.ชุดใหม่สามารถดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งจะครบกำหนด 60 วันหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคลาออก” นายจุรินทร์กล่าว
นายเทอดพงษ์กล่าวว่า จะยึดการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 95% ของ กกต.ในวันที่ 9 พ.ค.เป็นหลัก ซึ่งตามข้อบังคับพรรคต้องบวกไปอีก 5 วัน จึงกำหนดนัดประชุมใหญ่ในวันที่ 15 พ.ค. เพื่อเลือกหัวหน้าและ กก.บห.พรรค โดยจะให้ผู้เสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรคแสดงวิสัยทัศน์คนละ 15 นาที โดยไม่เปิดให้ที่ประชุมอภิปราย และควรงดเว้นไม่ต้องทำการหยั่งเสียง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา และจะได้ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งจะนำข้อสรุปทั้งหมดเสนอต่อ กก.บห.ในวันที่ 23 เม.ย.
นายอลงกรณ์กล่าวว่า จะไม่ลงสมัครหัวหน้าพรรค เพราะที่ผ่านมาได้คะแนนเสียงเพียงกว่า 2,000 คะแนนเท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |