'ถ่านหิน'รุกคืบ '20ก.พ.'เคลื่อน ชุมนุมทำเนียบฯ


เพิ่มเพื่อน    

สัมมนาสิ่งแวดล้อมรุมอัด คสช.เละ  “อังคณา” ชี้สวมหัวโขน กสม. 2 ปี มีแต่เรื่องร้องเรียนชุมชน-ผลกระทบเมกะโปรเจ็กต์ “ม็อบถ่านหิน” เตรียมขยับ 20 ก.พ.ย้ายจากยูเอ็นไปทำเนียบฯ ทวงคำตอบรัฐบาล
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 ก.พ. ที่อาคารวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “อนาคตสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชนไทยใต้เงา คสช.” โดยนายปกรณ์ อารีกุล นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิชุมชนระบุว่า  ขณะนี้มีโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นจำนวนมาก โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 17/2558 และคำสั่ง คสช.ที่ 74/2559 ระบุให้นำที่ดินสาธารณสมบัติ เช่น ป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวร มาพัฒนาเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ อาทิ ป่าสงวนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นที่ดินราชพัสดุ ส่งผลให้พื้นที่ป่าจำนวน 4,000 ไร่ ต้องเปลี่ยนสภาพชุมชนที่เคยอยู่ในป่าต้องย้ายออก หากโครงการลักษณะดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป เชื่อว่าจะมีคนรุ่นใหม่ที่จะออกมาเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น เพราะหากต้องเลือกตั้งแล้วดีกว่านี้ พวกเขาต่างอยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้น
“เราไม่ได้ต้องการเป็นปฏิปักษ์กับท่าน แต่หากท่านทำสิ่งที่ไม่ถูก เราก็คงต้องเดินหน้ากันต่อไป เพราะผมมองว่าเรื่องการเมืองและเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน” นายปกรณ์กล่าว
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยอมรับว่า ในการทำหน้าที่ กสม.กว่า 2 ปี พบว่าเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือเรื่องสิทธิชุมชน ผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งบางกรณีชาวบ้านไม่ได้รู้จักคำว่าอีไอเอหรืออีเอชไอเอแต่อย่างใด โดยพวกเขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อชุมชนจนต้องลุกมาคัดค้านด้วยตนเองเท่านั้น 
“กสม.ได้เสนอแนะไปยังรัฐบาล คือขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและรับรู้ในการดำเนินการแผนงานภาครัฐ และอนุญาตให้ประชาชนโต้แย้งและคัดค้านกระบวนการจัดการของรัฐ พร้อมร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ แต่ข้อกังวลอีกส่วนหนึ่งคือ ในบางกรณีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งเป็นทหาร วิธีการที่ใช้ทำให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัว คล้ายเป็นการข่มขู่ คุกคาม และที่สำคัญคือจับก่อนแล้วค่อยพิสูจน์ความผิดทีหลัง ซึ่งตามหลักแล้วควรต้องคุ้มครองก่อนมีการฟ้องร้องดำเนินคดี” นางอังคณาระบุ
นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน การที่ประชาชนออกมาต่อต้านไม่ได้เกิดจากปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดอำนาจโครงสร้างของกลุ่มทุน และรัฐบาลในยุค คสช.ที่กลายเป็นพลังอำนาจชนิดหนึ่งที่เข้ามาจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นประเด็นขับเคลื่อน 
“กระบวนการรับฟังความเห็น ทั้งที่กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา พบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจำนวนมากเข้าร่วม มีการตั้งจุดตรวจอาวุธพี่น้องประชาชน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ที่จัดทำกระบวนการดังกล่าวได้ ทำให้มีแต่การรับฟังความเห็นของผู้เห็นชอบ โดยไม่มีผู้เห็นต่างมีส่วนร่วม แสดงให้เห็นว่าการรับฟังความเห็นชาวบ้านไม่มีอยู่จริง และเป็นการเร่งให้เกิดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกทางหนึ่ง” นายประสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ ในงานเสวนายังมีการระดมรายชื่อประชาชนเพื่อใช้สิทธิตามมาตรา 133 (3) เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศ, คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ.… ภายใต้ชื่อการณรงค์ "ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนอนาคตของเรา" โดยมีตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ดำเนินการ
โดยเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมี 6 มาตรา โดยนอกจากให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.แล้ว ยังให้จำหน่วยคดีตามความผิดจากประกาศและคำสั่ง คสช. โดยถือว่าจำเลยไม่มีความผิด และให้ปล่อยจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่จำเลยที่ถูกคุมขังตามกฎหมายอื่น รวมทั้งให้คืนเงินค่าปรับภายใน 30 วัน และให้คนที่ถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหารสามารถร้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาคดีใหม่ได้ ส่วนบุคคลที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร ให้โอนย้ายคดีมาอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
         สำหรับความเคลื่อนไหวบริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เครือข่ายคนสงขลา- ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยังคงปักหลักชุมนุมอย่างสงบอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงมีคนอดอาหาร 69 คน ส่วนผู้ที่อดอาหารมาตั้งแต่วันแรกๆ เป็นเวลา 147 ชั่วโมง ก็ล้มลงเป็นรายที่ 9 แล้ว คือ น.ส.ขวัญฤดี ลูกเล็ก อายุ 43 ปี เป็นชาวบ้าน จ.กระบี่ ซึ่งทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระได้นำส่งโรงพยาบาลแล้ว
    นายมัธยม ชายเต็ม ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 7 แล้วที่เครือข่ายฯ มานั่งอดอาหารเพื่อให้รัฐบาลประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบจากทางรัฐบาล โดยเราขอยืนยันว่าเราจะนั่งอยู่ต่อจนกว่าจะมีประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลยุติการสร้างแบบไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งหรือไม่ ซึ่งในวันอังคารที่ 20 ก.พ.นี้ ที่มีการประชุม ครม. พวกเราจะไปนั่งอยู่หน้าทำเนียบฯ เพื่อให้รัฐบาลมีคำตอบให้กับพวกเรา
          ด้านนายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า การที่พี่น้องประชาชนออกมาอดอาหารเพื่อไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น ไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะชาวเทพา แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย และโลกของเรา ถ้าย้อนกลับไปในการประชุมของยูเอ็น นายกฯ ได้เซ็นสัญญาในกรุงปารีส 2 เรื่อง คือ เรื่องของการลดโลกร้อน และการเชิญชวนให้มาใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าพลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันกับแรงงานถ่านหินได้ในมิติที่ยูเอ็นพูดคุย
         “ผมขอตั้งคำถามว่า วันนี้นายกฯ ได้รักษาหน้าที่ของท่านในการออกมาปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติหรือไม่ ท่านกำลังให้คนไทยทำหน้าที่แทนท่านหรือเปล่า มิติในวันนี้คนกระบี่-เทพา กำลังออกมาทำหน้าที่แทนคนไทย ที่เราชวนท่านลุกขึ้นมาดูทรัพยากรฯ มลพิษที่ปกคลุมกรุงเทพมหานครเมื่อหลายวันก่อน เป็นตัวสะท้อนกลับต่อโครงการพัฒนาในแนวทางของรัฐบาล” นายธีรพจน์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"