ก่อนเทศกาลสงกรานต์ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้ยาแรงเพื่อหวังลดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่แต่ละปีมีผู้บาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก สาเหตุหลักมาจากการ “เมาสุรา” ขณะขับรถ จึงต้องมีมาตรการป้องกันเมาแล้วขับ “ใครทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตด้วยความเมา ถือว่าเป็นเจตนาฆ่า” ขณะที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีคำสั่งให้ตำรวจทั่วประเทศเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย
ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อหวังลดอุบัติเหตุการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย แต่ยังมีหลายฝ่ายถกเถียงถึงข้อกฎหมายเมาขับรถชนคนตายถือว่า “เจตนาฆ่า” จะทำได้จริงหรือไม่ ในเมื่อยังไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นเพียงข้อเสนอของรัฐบาล โครม ...!!แรก กลางดึกวันที่ 11 เม.ย. นายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ อายุ 57 ปี เจ้าของบริษัท ไทยคาร์บอนแอนด์กราไฟต์ เมาควบรถเบนซ์ รุ่นอี 250 สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ษฮ 789 กรุงเทพมหานคร ชนกับรถเก๋งยี่ห้อซูซูกิ รุ่นสวิฟท์ สีขาว ทะเบียน 2 กก 3653 กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล รอง ผกก.(สอบสวน) กก.2 กองบังคับการกองปราบปราม และนางนุชนาถ งาม สุวิชชากุล อายุ 44 ปี ภรรยาเสียชีวิต ลูกสาวได้รับาดเจ็บสาหัส นำตัวตรวจเลือดวัดแอลกอฮอล์พบสูงถึง 206 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เจ้าตัวรับสารภาพดื่มสังสรรค์จนเมาก่อนขับรถ
สนองนโยบายรัฐบาล ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ดูแลงานกฎหมายและคดี ลงไปกำกับดูแลสอบสวนด้วยตัวเอง พร้อมแจ้ง 5 ข้อหาหนัก 1.ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนา 2.พยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา 3.ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 4.ขับรถในขณะมึนเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และ 5.ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้มีทรัพย์สินได้รับความเสียหาย เจ้าตัวรับสารภาพ 3 ข้อหา ขับรถขณะมึนเมาสุรา ส่วนข้อหา “ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนา-พยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” เสี่ยเบนซ์ให้การปฏิเสธ โดยกำชับตำรวจทั่วประเทศให้แจ้งข้อหาหนักเอาไว้ก่อน แล้วเร่งรวบรวมพยานหลักฐานส่งฟ้อง
พล.ต.อ.วิระชัยให้เหตุผลว่า การที่ผู้ต้องหาสมัครใจดื่มสุราโดยรู้ว่าเป็นของมึนเมา แล้วจะทำให้ตนเองนั้นมึนเมา และดื่มเป็นจำนวนมาก มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 260 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องที่ย่อมรู้ได้อย่างแน่นอนว่า จะเกิดผลขึ้นคือความมึนเมาจนถึงขั้นหมดสติ หรือจำเหตุการณ์ไม่ได้หรือสูญเสียความสามารถในการควบคุมร่างกายหรือควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ ทั้งที่ตนเองจะต้องขับรถเดินทางกลับบ้าน ยังฝืนขับรถออกมาในถนนสาธารณะที่มีประชาชนใช้ร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมากในเวลากลางคืน ผู้ต้องหาย่อมรู้แล้วว่าจะต้องเกิดอุบัติเหตุ รถเฉี่ยวชนกับรถของคนอื่นอย่างแน่นอนในสภาวะที่ผู้ต้องหาไม่สามารถควบคุมร่างกายหรือกล้ามเนื้อได้เหมือนคนปกติ และไม่สามารถตัดสินใจได้เหมือนคนปกติ ไม่สามารถมองเห็นและตอบสนองได้เหมือนคนปกติ ประกอบทั้งมีอาการง่วงซึม และปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายช้าลง การตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ช้าลง และสมองสั่งการมายังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ช้าลง แต่ผู้ต้องหาก็ยังฝ่าฝืนขับรถออกมาในถนนสาธารณะ โดยขับมาได้เพียง 400 เมตรก็เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนโดยขับรถเข้าไปในช่องทางของรถที่สวนทางมา จนทำให้รถที่สวนทางมาไม่อาจหลบหลีกไปทางอื่นได้ เพราะมีเพียงแค่สองช่องทางการจราจรเท่านั้น เป็นเหตุให้ผู้ที่ขับรถสวนทางมาถึงแก่ความตายทั้งสองคน
“พฤติการณ์ที่เกิดเหตุดังกล่าว และมีผู้ถึงแก่ความตาย เป็นพฤติเหตุและพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาได้ยอมรับผลที่เกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่เริ่มขับรถออกมาบนถนนสาธารณะ นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังขับรถด้วยความเร็วสูง โดยพิจารณาได้จากร่องรอยการเฉี่ยวชน ซึ่งรถทั้งสองคันได้รับความเสียหายอย่างมากประกอบกับในที่เกิดเหตุไม่มีร่องรอยที่ผู้ต้องหาได้ทำการเบรกรถที่ตนเองขับมาด้วยความเร็วสูง ทั้งที่จุดเกิดเหตุอยู่บนกลางสะพานสูง เมื่อพิจารณาถึงพฤติเหตุ พฤติการณ์ และลักษณะแห่งการกระทำ รวมถึงผลของการกระทำที่เกิดขึ้นผู้ต้องหาย่อมไม่อาจเอาความมึนเมานั้นขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ว่า ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 66 จึงถือว่าผู้ต้องหามีเจตนาฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนา อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 มีอัตราโทษ จำคุกตั้งแต่ 15 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต”
“โป๊ะแตก” พนักงานสอบสวนควบคุมตัวยื่นคำร้องฝากขังที่ศาลจังหวัดตลิ่งชัน ศาลตีกลับไม่รับคำร้องข้อหา “ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนา และ พยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” ชี้ยังไม่เข้าข่ายหรือมีข้อกฎหมายรองรับ พนักงานสอบสวนต้องนำตัวกลับไปสอบสวนแก้สำนวนใหม่ และรับคำร้องฝากขังเพียง 3 ข้อหาคือ ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ขับรถในขณะมึนเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส, ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้มีทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4) ก่อนที่ญาติได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เงินสด จำนวน 200,000 บาท ประกันตัวออกไป
“เมาขับเจตนาฆ่า” เสียงแตกเป็นหลายฝ่าย ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝั่งอัยการ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี อัยการสูงสุด ให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายเรื่องการเมาแล้วขับให้ลงโทษฐานเจตนาฆ่าเป็นสิ่งที่ผิดหลักกฎหมาย เพราะสุดท้ายหากดำเนินการฟ้องจริง เชื่อว่าศาลจะยกฟ้องในที่สุด แต่การแก้ที่ไม่ขัดต่อหลักนิติศาสตร์ สามารถทำได้โดยการเพิ่มโทษในกฎหมาย เช่นเดียวกัน นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า หากมีการแจ้งข้อหาเกินกว่าความผิดที่ควรจะได้รับ เจ้าพนักงานคนนั้นอาจเสี่ยงที่จะเข้าข่ายทำผิดกฎหมายร้ายแรง และยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา 157 การตีกลับคำร้องขอฝากขังของศาลจังหวัดตลิ่งชัน เป็นกระบวนการตรวจสอบภายใต้เจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่สามารถเอาอารมณ์ความรู้มาเปลี่ยนแปลงหลักการได้ หากตัดสินไปแล้วจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่สังคมต้องยอมรับ
“เจตนาฆ่า นักกฎหมายจะมองภายใต้เหตุผลว่าผู้กระทำผิดต้องมีความชั่ว ผ่านกระบวนการ 3 ขั้นตอน คิดจะฆ่า ตัดสินใจฆ่า และลงมือฆ่า นั่นคือคนที่มีจิตใจชั่วร้าย ต้องลงโทษสถานหนัก หากต้องประหาร หรือจำคุกตลอดชีวิตก็ต้องดำเนินการ เพื่อกันคนกลุ่มนี้ออกจากสังคม และไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง โดยหลักการเมาแล้วขับรถไปชนคนอื่นเสียชีวิต อยู่ในข่ายของความประมาท หากเปลี่ยนไปจากนี้ถือเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎหมายและไม่เป็นไปตามหลักสากล”
ด้านฝั่งที่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลออกนโยบายเมาแล้วขับรถชนคนตายมีเจตนาฆ่า เชื่อว่าจะทำให้คนที่เมาและคิดจะขับรถเกิดความกลัว ถ้าฟ้องข้อหาเบาข้อหาประมาท เขารู้ว่าโทษจำคุกรอลงอาญา แต่เมื่อฟ้องเจตนาฆ่าศาลอาจจะลงโทษโดยไม่รอลงอาญา โทษจะหนัก คนก็จะไม่กล้าขับรถและสามารถลดอุบัติเหตุได้อย่างแน่นอน ยิ่งกรณีที่เกิดขึ้นรู้ว่าตัวเองเมายังฝืนมีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายชัดเจน
ในเมื่อตัวบทกฎหมายยังไม่รองรับกับนโยบายรัฐบาล นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด จึงเสนอแก้กฎหมายชงโทษประหาร เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ยังไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในสังคมที่เปลี่ยนไป สมควรยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา มาตรา 291 เดิม กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้เพิ่มเติมอีกวรรค เป็นวรรคเหตุฉกรรจ์ไว้เพิ่มโทษ บัญญัติเพิ่มเติมว่า หากการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เกิดจากผู้กระทำอยู่ในภาวะมึนเมาเพราะเสพสุราหรือเสพวัตถุมึนเมาอย่างอื่น และควบคุมยานพาหนะเดินด้วยเครื่องจักรกล ให้ระวางโทษประหารชีวิตหรือให้เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง เมื่อเพิ่มโทษในกฎหมายแล้วจะไม่เป็นอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายอีกต่อไป
ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตำรวจตีความเข้มข้นไปถึงเจตนาฆ่าผู้อื่น ซึ่งนักกฎหมายหลายท่านให้ข้อคิดเห็นว่าสามารถกระทำได้ สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลยพินิจของศาลจะเห็นพ้องด้วยหรือไม่ นโยบายของรัฐบาลก็เพื่อหวังปรามลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและนโยบายเมาแล้วขับรถชนคนตายถือว่ามีเจตนาฆ่า ยังไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย ที่ทาง พล.ต.อ.วิระชัย รอง ผบ.ตร. กำชับตำรวจทั่วประเทศให้แจ้งข้อหาหนักเอาไว้ก่อน ถ้าเมาขับรถเฉี่ยวชนมีผู้เสียเสียชีวิตให้แจ้งข้อหา “ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนา” ถ้าได้รับบาดเจ็บให้แจ้งข้อหา “พยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” จะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยิ่งตัวเลขสรุป 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้เสียชีวิตแล้ว 386 ราย ส่วนใหญ่เหตุมาจากเมาแล้วทั้งสิ้น หรือจะเป็นแค่การ “เขียนเสือให้วัวกลัว” เท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |