“นิยายคือชีวิต”หมั่นลับสมองด้วยงานเขียน เทคนิคสูงวัยมีคุณภาพ"กฤษณา อโศกสิน"


เพิ่มเพื่อน    

(สุกัญญา ชลศึกษ์)

    ถ้าพูดถึงเจ้าของนามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” แล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จัก สำหรับผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “สวรรค์เบี่ยง” “ข้ามศรีทันดร” และ “จำหลักไว้ในแผ่นดิน” รวมถึงอีกหลายๆ เรื่องที่สร้างชื่อให้กับนักเขียนนวนิยายดีเด่นที่ได้รับรางวัลซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ที่มีชื่อจริงว่า “สุกัญญา ชลศึกษ์” ที่ปัจจุบันแม้เจ้าตัวอายุเข้าวัย 87 ปี 4 เดือน แต่ก็ยังดูแข็งแรงสดใสและดูอ่อนกว่าวัย 
    แม้ปัจจุบันวงการหนังสือและนิตยสารได้ปิดตัวลง ทว่านักเขียนปากกาทองยังคงทำงานด้านการเป็นผู้ประพันธ์นวนิยายอยู่ใน 2 ช่องทางออนไลน์ ที่ใช้ชื่อเว็บไซต์ว่า “fiction log” กับนิยายแนวไสยศาสตร์เรื่อง “วังอาชาไนย” ที่นำเสนอเป็นภาค และปัจจุบันกำลังเขียนต่อภาคที่ 2 
    เว็บไซต์ “อ่านเอา” กับนิยายที่กำลังเผยแพร่ในชื่อว่า “ขอบน้ำจรดขอบฟ้า” ให้กับนักอ่านที่สนใจได้ติดตาม บนเว็บไซต์ที่ก่อตั้งโดย 3 เพื่อนรักนักประพันธ์ ทั้งนี้ เจ้าของนามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” ย้ำชัดเจนว่าการเขียนนิยายคือชีวิต และทุกวันนี้ก็ยังนั่งเขียนหนังสืออยู่ และจะสร้างผลงานออกมาให้หนอนหนังสือได้อ่านอยู่เรื่อยๆ ผ่านทางโซเชียลตามยุคสมัย เห็นได้ชัดว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข หากว่าทุกคนรักในงานที่ตัวเองทำ ไม่รอช้า รีบไปขอเคล็ดลับวัยเก๋าอย่างมีคุณภาพมาบอกกล่าวให้ทราบกัน เพื่อเป็นตัวอย่างการใช้ชีวิต และการทำงานด้านการประพันธ์ที่รักให้เป็นที่ประจักษ์
    อ.สุกัญญา เล่าถึงเคล็ดลับที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผลิตนวนิยายออกมาสู่ผู้อ่าน ที่ปรับตามกระแสคือการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่นักประพันธ์รุ่นใหญ่ออกตัวว่าไม่มีเคล็ดลับอะไรมาก โดยหลังจากตื่นนอนตอนเช้า เจ้าตัวก็มักจะชอบแกว่งแขนวันละ 200 ครั้ง ตามด้วยการดื่มน้ำอุ่น 2 แก้ว ก่อนไปรับประทานอาหารเช้า ซึ่งเน้นไปอาหารที่ไม่เน้นแป้งและไขมัน แต่เน้นอาหารที่มีโปรตีนและผักผลไม้เป็นหลัก
    “อาหารเช้าที่รับประทานทุกวันนั้นจะต้องมีเมนูผักต้ม เช่น ผักโขมแนมมาด้วยกันทุกครั้ง ตามด้วยอาหารว่าง 1 อย่าง ก็จะสลับกันไป เช่น แตงโม และมะละกอ หรือบางวันก็รับประทานโยเกิร์ตเสริมเข้าไป ซึ่งจะผสมกล้วยน้ำว้าหั่นบางๆ และปั่นให้ละเอียดใส่ลงไป ส่วนเมนูโปรตีนนั้นก็จะรับประทานปลาทอดบ้าง แต่ก็จะกินในปริมาณที่น้อยลง ส่วนการดื่มกาแฟนั้นจะเน้นเป็นกาแฟดำ ไม่ใส่น้ำตาลและไม่ใส่ครีมเทียม และเมื่อรับประทานเข้าเช้าแล้ว ก็จะมีกินยารักษาเข่า 1 เม็ดระหว่างมื้ออาหาร หลังจากนั้นเวลา 10 โมงเช้าไปจนถึงประมาณ 4 โมงเย็น ก็จะนั่งเขียนนิยายทุกวัน ยกเว้นว่าจะมีบางวันที่ออกไปกินเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนๆ บ้าง เนื่องจากมีเพื่อนหลายกลุ่มค่ะ”
    อ.สุกัญญา เล่าต่อว่า เจ้าตัวเริ่มต้นอาชีพนักเขียนนวนิยาย เมื่ออายุราว 38 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ทำงานรับราชการที่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นเวลา 17 ปี โดยเริ่มทำตั้งแต่อายุ 20 ปี ส่วนหนึ่งที่ทำให้หันเหมาสู่งานนักประพันธ์นิยายนั้น เนื่องจากเจ้าตัวเป็นคนที่ชอบเขียนหนังสือ และก็เป็นคนที่ช่างสังเกต กระทั่งขยายความเรื่องที่สนใจไปสู่งานเขียนโดยการหาข้อมูลเชิงลึก เพื่อทำให้ตัวละครมีความน่าสนใจ แม้ว่าจะไม่ได้จบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์แต่อย่างใด
    “ทุกวันนี้ดิฉันอายุ 87 ปี 4 เดือน และตั้งแต่ลาออกจากกรมประมง กระทั่งมาทำงานเป็นนักเขียนตั้งแต่อายุ 37 อย่าง 38 ปีนั้น มีนิยายที่เขียนไปทั้งหมดประมาณ 150 เรื่อง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังนั่งเขียนหนังสืออยู่ทุกวัน ตั้งแต่ 10 ปี ถึงราว 4 โมงเย็น ก็หยุดเขียน และเปิดทีวีดูข่าวสารบ้านเมือง ซึ่งทำอย่างนี้มาตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี บอกได้เลยว่าชีวิตก่อนและหลังวัย 60 นั้น ไม่ได้แตกต่างกันมากค่ะ ทำทุกอย่างเหมือนเดิมค่ะ ส่วนทริกในการเขียนนิยายของตัวเอง คือการสังเกตสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทั้งจากคนใกล้ตัวและไกลตัว ข่าวสาร จากนั้นจะนำเรื่องราวที่ได้มาจำแนกแยกแยะ 
    ซึ่งถ้าหากว่าเรื่องราวที่มีค่อนข้างมากพอและครบถ้วนแล้ว ก็จะนำมาจัดสัดส่วนการเขียนให้ลงตัว แต่ถ้ามีข้อมูลไม่มากพอ ก็จะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมกระทั่งได้ข้อมูลครบ เราก็จะวางตัวบุคคลในท้องเรื่อง โดยเริ่มจากการปูเนื้อหา ซึ่งแรกเริ่มเราจะต้องเป็นคนพาตัวละครไป แต่เมื่อเขียนไปสักพัก ตัวละครจะเป็นคนพาเราไป ที่สำคัญวิธีการเล่าเรื่องก็จะใส่จิตวิญาณของตัวละครลงไปให้แน่น เพื่อสร้างความน่าติดตามให้กับเนื้อเรื่อง พูดง่ายๆ ว่าเวลาได้เราได้เห็นข่าว และพบเห็นเรื่องคนใกล้ตัว ไกลตัว แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีอยู่เพียงน้อยนิด แต่เราต้องหาข้อมูลเพิ่ม และผูกให้เป็นเรื่องให้ได้ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน และเป้าหมายที่เราตั้งเป้าที่จะเขียนตั้งแต่แรก สำหรับเรื่องที่ชอบและเขียนยากมากที่สุดคือ เรื่อง “จำหลักไว้ในแผ่นดิน” และ “ข้ามศรีทันดร” ที่ใช้เวลาในการศึกษาหาข้อมูลร่วม 20 ปี และลงไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในศูนย์ที่เกี่ยวกับการติดยา และบำบัดผู้ที่เลิกยาเสพติด อย่าง “บ้านพิชิตใจ” แต่เมื่อเขียนออกมาแล้วประสบความสำเร็จนิยายได้รับรางวัล กระทั่งมีคนสนใจซื้อไปทำละครทีวีทั้งช่อง 7 และช่อง 3 ก็รู้สึกภูมิใจและดีใจมากค่ะ”
    แม้จะประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียนมาร่วม 50 ปี และนิยายที่โด่งดังอยู่หลายสิบเรื่องที่ตราตรึงใจนักอ่าน ในส่วนเรื่องครอบครัวนั้น อ.สุกัญญาเผยว่า ได้สมรสและมีบุตรธิดารวม 4 คน เป็นชาย 3 คน และผู้หญิง 1 คน ซึ่งแต่ละคนนั้นประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานซึ่งมั่นคง ตลอดจนได้รับการศึกษาจากต่างประเทศทุกคน ซึ่งในฐานะคนเป็นแม่ทุกคนย่อมเป็นห่วงลูกหลาน งานนี้ อ.สุกัญญาเผยว่า 
    “ส่วนตัวไม่ได้เป็นห่วงและไม่เป็นกังวลเกี่ยวกับลูกๆ เลยค่ะ เพราะแต่ละคนก็ได้รับการศึกษาที่ดีในต่างประเทศ และมีหน้าที่การงานที่มั่นคงทุกคน ซึ่งดำรงตำแหน่งหน้าที่ด้านการบริหาร และเกี่ยวกับแวดวงเคมิคอลและระบบไอที และเป็นอาร์ทิสต์ และนอกจากจะไม่เป็นห่วงไม่กังวลกับเขาแล้ว เพราะลูกๆ ไม่ได้ทำให้ต้องเป็นกังวลแล้ว แต่เราในฐานะแม่ก็จะคุยกับเขาแบบเพื่อนค่ะ และก็จะไม่บังคับให้เขาทำตามในสิ่งที่เราคิด ลูกอยากทำอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นเรื่องที่ดี ไม่ผิดศีลธรรม และสิ่งที่ลูกทำเป็นเรื่องที่ถูกต้องก็เพียงพอแล้วค่ะ” 
    อ.สุกัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในฐานะของนักประพันธ์รุ่นใหญ่นั้น นอกจากการแต่งนิยายจะสามารถเป็นอาชีพได้แล้ว แต่สิ่งหนึ่งได้จากการเขียนหนังสือ คือการได้ทำในสิ่งที่รัก และใช้ความเป็นคนที่ชอบสังเกตเรื่องราวต่างๆ กระทั่งหาข้อมูลเพิ่มเติม และผูกให้เป็นเรื่องราว หรือปรุงเป็นนิยายให้มีอรรถรสคนอ่านได้ติดตาม ที่สำคัญชอบงานเขียนหนังสือมาก ชนิดที่สามารถอยู่กับมันได้ตลอดทั้งชีวิตและไม่เบื่อเลย ให้นั่งเขียนหนังสือทั้งวันก็ยังทำได้”.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"