"ศิลปิน-จิตอาสา" จัดระดมทุนช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร "ศศิน" ขอผู้รู้กฎหมายช่วยตามคดี "เปรมชัย" ล่าสัตว์ป่า ลั่นคนผิดต้องรับโทษ "กรมอุทยานฯ" เตรียมจัดโซนนิ่งป่าทั่วประเทศ โพลชี้ ปชช.ห่วงกระบวนการยุติธรรมเอาผิด "เจ้าสัว" ไม่ได้ เหตุมีช่องโหว่ให้หลุดพ้นเยอะ "ตำรวจ" เรียกบิ๊กอิตาเลียนไทยรับข้อหาติดสินบน 22 ก.พ.นี้
เมื่อวันอาทิตย์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกองทุนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดกิจกรรม "สืบสานตำนานบริบาลผู้พิทักษ์ป่า" เพื่อระดมทุนหารายได้สนับสนุนกองทุนสวัสดิการเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี และรับบริจาคเสบียงเพื่อสนับสนุนการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีการออกร้านขายของโดยประชาชนจิตอาสาและการแสดงนิทรรศการภาพถ่าย จิตรกรรม รวมถึงจัดประมูลภาพถ่ายสัตว์ป่าจากศิลปิน อีกทั้งเชิญชวนเขียนข้อความร่วมเป็นกำลังใจให้ผู้พิทักษ์ป่า โดยมีประชาชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ นางรตยา จันทรเทียร นักอนุรักษ์อาวุโสและประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร, นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นต้น
นอกจากนี้ มีการเสวนาหัวข้อ "ว่าด้วยการอนุรักษ์สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม และความสำคัญของกองทุนพิทักษ์ป่า" โดยนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เป็นความอึดอัดขัดข้องของสังคมเมื่อเกิดกรณีล่าเสือดำ มีหลายหน่วยงานและประชาชนจิตอาสาระดมทุนเพื่อสนับสนุนผู้พิทักษ์ป่า สำหรับกองทุนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป้าหมายใหญ่ของกองทุนซึ่งทำมา 27 ปีแล้ว ช่วยในเรื่องที่ราชการสนับสนุนไม่ได้ เพราะเป็นลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว แต่ความรับผิดชอบและความเสี่ยงอันตรายมีไม่น้อยกว่ากัน จำเป็นต้องมีกองทุน ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดตั้งกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานแห่งชาติเป็นปีแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี หากกองทุนของรัฐบริหารจัดการดี กองทุนสวัสดิการที่มูลนิธิสืบฯ ตั้งขึ้นก็อาจยุบไปได้ ทุกปีมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติงาน 1-2 คน บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว
นายศศินกล่าวว่า เงินบริจาคในกิจกรรมนี้ กองทุนมูลนิธิสืบฯ จะนำไปขยายผลสนับสนุนงานลาดตระเวนคุณภาพระหว่างกรมอุทยานฯ และมูลนิธิสืบฯ ใน 25 เส้นทาง และจะขยายงานสู่กลุ่มป่าเชื่อมโยงทุ่งใหญ่นเรศวร รวมถึงสนับสนุนหัวหน้าวิเชียรในสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้จะขอแบ่งส่วนหนึ่งไว้ใช้ติดตามคดีเปรมชัยให้ถึงที่สุด คาดว่ากว่าจะตัดสินใช้เวลากว่า 3 ปี
"วันนี้ผมสวมเสื้อลายเสือดำ เขียนข้อความ พี่สืบครับ ฝากเสือดำไว้กับพี่ด้วย คนผิดต้องรับโทษ เพราะเป็นงานที่มูลนิธิสืบฯ บ่ายเบี่ยงความผิดชอบไม่ได้ งานใหญ่ต้องติดตามคดี และอยากให้ผู้รู้ด้านกฎหมายมาช่วยติดตามตั้งแต่ศาลชั้นต้น ในฐานะประธานมูลนิธิสืบฯ จะกดดันให้ถึงที่สุด มองไปข้างหน้ามีแต่เรื่องหนักใจ เปรมชัยมีสิทธิ์หนี สารภาพ และปฏิเสธไม่ได้ยิง ทั้งหมดนี้ศาลตัดสิน ถ้าหลุดไปแบบชิลๆ ไม่มีใครยอม" ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าว
ด้านนายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.) กล่าวว่า เดิมการเข้าพื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์ฯ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจแบบความมั่นคง แต่จากบทเรียนคดีเสือดำ ต่อไปนี้จะตรวจเข้มข้นมากขึ้น รวมถึงเรื่องการลาดตระเวน จะขยายผลให้ทั่วประเทศ ส่วนเรื่องสวัสดิการเจ้าหน้าที่ 5 ปีหลังดีขึ้นกว่าอดีต
"กรณีเสือดำถูกล่าไม่ควรเกิด เพราะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หลายพื้นที่ป่าห่วงโซ่อาหารไม่สมบูรณ์ สัตว์ออกนอกพื้นที่ เพราะขาดสัตว์ผู้ล่า กรมอุทยานฯ ทำคดีนี้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพยานหลักฐานทำให้ดีที่สุด ซึ่งเสือดำถูกล่ากลายเป็นบทเรียนต้องโซนนิ่งใหม่ทั้งประเทศ หลายที่อาจเข้าไม่ได้อย่างที่เคย ส่วนจุดบริการการท่องเที่ยวจะปรับปรุงให้มีมาตรฐานมากขึ้น" โฆษก อช.กล่าว
ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า กล่าวว่า เสือดำเป็นสัตว์อนุรักษ์ เสืออยู่ได้ถ้ามีเหยื่อให้ล่า การรักษาเหยื่อคือการรักษาเสือ เสือมีหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กินพืช สัตว์กินพืชมีหน้าที่ควบคุมพืช แม้แต่ตัวเหี้ยก็มีบทบาทในระบบนิเวศ เสือดำตายหนึ่งตัวทำให้ระบบเสีย ป่าขาดสัตว์ผู้ล่า แต่คนละโมบไม่รู้จักพอ รุกราน รุกล้ำ ทำลายป่าและสัตว์ป่า
วันเดียวกัน กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความเห็นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผิดผู้กระทำความผิด” เก็บข้อมูลจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,202 คน พบประชาชนร้อยละ 64.2 เห็นว่าคดีเปรมชัยล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจะไม่สามารถเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ รองลงมาคือ คดีทายาทกระทิงแดงชนตำรวจตาย ร้อยละ 53.3 และคดีวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย ร้อยละ 50.4
ต่อคำถามจากเหตุการณ์หรือคดีที่ผ่านมา คิดว่าคนกลุ่มใดเมื่อทำความผิดแล้วกระบวนการยุติธรรมยากที่จะเอาผิด พบส่วนใหญ่ร้อยละ 69.2 เห็นว่าเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล รองลงมาคือนักการเมือง ร้อยละ 63.6, คนรวย ไฮโซ ร้อยละ 61.5, ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ร้อยละ 45.2 และพระ ร้อยละ 21.1
สำหรับความเห็นต่อการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรม พบส่วนใหญ่ร้อยละ 37.6 เห็นว่ามีช่องโหว่ให้ผู้กระทำผิดพ้นผิด รองลงร้อยละ 28.6 เห็นว่าดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานเลือกปฏิบัติ และร้อยละ 23.6 เห็นว่าการลงโทษผู้กระทำผิดยังเบาไป ไม่รุนแรง ทำให้ไม่เกรงกลัว กลับมาทำผิดอีก
อย่างไรก็ดี เมื่อถามว่าเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.7 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 28.3 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
เมื่อถามความเห็นต่อกระแสโซเชียลฯ และสื่อมวลชนที่มาช่วยตรวจสอบและตีแผ่เหตุการณ์หรือคดีต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.3 เห็นว่าจะช่วยตรวจสอบอีกด้าน ทำให้สังคมรู้โดยละเอียด รองลงมาร้อยละ 57.4 เห็นว่าจะทำให้คดีคืบหน้าเร็ว จับตัวคนผิดได้เร็ว และร้อยละ 54.8 เห็นว่าจะมีส่วนทำให้ตำรวจต้องจริงจังในการทำงานหาหลักฐานเพื่อปิดคดีให้ได้เร็ว
ขณะที่ พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบงาช้าง 2 คู่ที่ยึดจากบ้านพักของนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตกว่า อยู่ระหว่างรอผลตรวจสอบจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คาดทราบผลใน 3 สัปดาห์ หากพบเป็นงาช้างเลี้ยง ก็ต้องตรวจสอบต่อว่ามีใบขออนุญาตหรือไม่ แต่ถ้าเป็นงาช้างป่า จะงาช้างไทยหรืองานำเข้าจากต่างประเทศ ก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน
ส่วน พ.ต.อ.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ รองผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) กล่าวถึงคดีที่นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก แจ้งความดำเนินคดีกับนายเปรมชัยข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงานว่า ปปป.ได้ออกหมายเรียกให้นายวิเชียรและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาพบเพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 ก.พ.นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |