'เรืองไกร'ยื่นล้มพ.ร.ป.เลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    


    ศาล รธน.ชุดเล็กเสียงแตก ส่งชุดใหญ่วินิจฉัยคำร้อง กกต. กรณีสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์   24 เม.ย. ด้าน "เรืองไกร" เห็นด้วยกับ กกต. สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ถึงทางตัน ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป.เลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ เพราะบัญญัติคำว่า ส.ส.พึงมีได้ในเบื้องต้น หาก กกต.คำนวณครบ 150 คนอาจขัดรัฐธรรมนูญ
    เมื่อวันที่ 17 เมษายน การประชุมศาลรัฐธรรมนูญคณะเล็ก 4 คน จาก 9 คน ประชุมพิจารณากรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งเรื่องมาให้พิจารณาวินิจฉัยว่า กกต.จะสามารถคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่
    ในการประชุม ตุลาการ 4 คนเสียงแตกว่าจะรับหรือไม่รับเรื่อง กกต.ไว้วินิจฉัย โดยมีความเห็นต่างกัน จึงต้องส่งเรื่องนี้ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง ในวันพุธที่ 24 เมษายนนี้
    ทั้งนี้ ตุลาการที่เห็นว่าไม่ควรรับวินิจฉัยมองว่า กกต.จะต้องเลือกแนวทางปฏิบัติเอง หากมีผู้ร้องว่าแนวทางนั้นไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ จึงจะเป็นหน้าที่ของศาลไปวินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้ยังถือว่าไม่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
    ขณะที่ตุลาการที่เห็นว่าควรรับวินิจฉัยมองว่า การเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีข้อความไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ หากศาลรับวินิจฉัยก็จะทำให้ กกต.ไม่ต้องเสียเวลาในการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย
    นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 เม.ย.62 เวลา 10.30 น. ตนจะไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในกรณีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 เนื่องจากข้อความในกฎหมายดังกล่าว วรรคหนึ่ง (2) ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) กรณีกำหนดการคำนวณ ส.ส.พึงมีได้ แต่ในกฎหมายลูกกลับปรากฏคำว่า ส.ส.พึงมีได้ในเบื้องต้น
    นอกจากนี้ยังเห็นว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก็ขัดกันเอง คือวรรค 3 กับวรรค 1 (4) และมาตรา 91 วรรค 1 (4) ของรัฐธรรมนูญกับ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (5) ขัดกับมาตรา 83 วรรค 1(2) ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    “เพราะถ้า กกต.จะคำนวณให้ครบ 150 คน ก็อาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรค 1(4) จึงเห็นด้วยกับสิ่งที่ กกต.ออกมาระบุว่าถึงทางตันแล้ว จนต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย"
    นายเรืองไกรกล่าวว่า ประเด็นทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรองผลเลือกตั้งร้อยละ 95 ไม่ทันวันที่ 9 พ.ค. และถึงแม้จะประกาศผลได้แต่จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อก็อาจจะมีจำนวนไม่ถึง 150 ทำให้ ส.ส.โดยรวมมีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 95 จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ซึ่งอาจทำให้เปิดประชุมสภาครั้งแรกไม่ได้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบางส่วนมาจากการร่างรัฐธรรมนูญไม่รอบคอบ และนำความไม่รอบคอบนั้นมาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เมื่อมีการเลือกตั้งจริงทำให้เกิดการตีความจากหลายฝ่ายจนเกิดความสับสนวุ่นวาย
    เขากล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.ป.กกต.ในการออกประกาศ กกต.เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมี โดยเห็นว่าการที่ กกต.ใช้จำนวนราษฎรซึ่งไม่ได้มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีนั้น อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 86 ประกอบมาตรา 85 หรือไม่ และอาจเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นคุณเป็นโทษกับผู้สมัครพรรคการเมืองใด
เร่งดูใบเหลืองส้มแดง
    นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของ กกต.ในช่วงนี้ว่า กกต.คงพะวงกับการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากเกินไปจนไม่ได้พูดถึงบางเขตการเลือกตั้งที่มีการร้องเรียน ไม่ทราบว่าในเขตใดบ้างที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ขณะนี้เวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว ดูวันเวลาที่พอมีอยู่คือวันที่ 28 เม.ย. คือวันที่เหมาะสมในการเลือกตั้งใหม่ กรณีที่มีการแจกใบเหลืองหรือใบส้ม ขณะนี้ กกต.ควรต้องประกาศแล้วว่ามีเขตใดบ้างที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ 
    เขาบอกว่า อยากให้ กกต.ประกาศให้ประชาชนรับทราบโดยเร็ว เพราะวันที่ 21 เม.ย. จะมีการเลือกตั้งใหม่ในบางหน่วยแล้ว หากจะมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งเขต วันที่เหมาะสมคือ 28 เม.ย. จากนั้น กกต.จะมีเวลาคิดคำนวณ ส.ส.จนถึงวันที่ 9 พ.ค. 10 กว่าวันเท่านั้น
    “กกต.ควรเร่งการดูเรื่องร้องเรียนในแต่ละเขตว่ามีเขตใดจะถูกใบเหลือง ใบส้มหรือใบแดงหรือไม่ ถ้าหากเลยวันที่ 28 เม.ย. จะเข้าสู่ช่วงพระราชพิธีมหามงคลอันยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่ควรเอาเรื่องการเมืองเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไปทำในเวลานั้น และหากล่าช้าไปอีก จะเลยกำหนดการประกาศรับรองผลในวันที่ 9 พ.ค. ผมจึงอยากให้ กกต.รีบประกาศและดำเนินการให้เสร็จก่อน พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับเวลาที่มีอยู่” นายสมศักดิ์กล่าว
    ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Somchai Srisutthiyakorn แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเนื้อหาดังนี้
    หลายอย่างที่เมื่อเปลี่ยน กกต.ชุดใหม่แล้วไม่มีการสานต่อ การที่ คสช.มีคำสั่ง ม.44 ปลดผม และการที่ กรธ.ออก พ.ร.ป.กกต.ให้มีการเซตซีโร กกต.ชุดเดิมออกทั้งชุด เป็นผลทำให้การเตรียมการหลายอย่างที่ได้ดำเนินการใน กกต.ชุดที่แล้วไม่มีการสานต่อ
         1.การเตรียมการให้มีตัวแทนองค์การเอกชนเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งครบ 100% ในทุกหน่วยเลือกตั้ง ได้ถูกยกเลิก
         2.Application ดาวเหนือ เพื่อแจ้งที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ไปใช้สิทธิ์ ได้ถูกยกเลิก
          3.Application ตาสับปะรด เพื่อให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริตเลือกตั้งผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่มีการบำรุงรักษา ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ในช่วงการเลือกตั้ง
แออัดในการใช้สิทธิ์
          4.โครงการให้คนไทยในต่างประเทศ สำหรับประเทศที่มีความพร้อมและมีการทดสอบการใช้แล้วใน 3 ประเทศ คือ นอร์เวย์ จอร์แดน และญี่ปุ่น (โอซากา) สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ตได้ ถูกยกเลิกไป
          5.ข้อเสนอให้มีการนับคะแนนที่สถานทูต แทนที่จะต้องส่งบัตรกลับประเทศให้ทันเวลาปิดหีบ ไม่มีการเจรจากับกระทรวงต่างประเทศต่อ จึงยังคงใช้วิธีการเดิม คือ ต้องส่งบัตรกลับประเทศไทยแล้วมีปัญหากรณีบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์
          6.ระบบการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นการ ที่เรียก rapid report ที่ทำขึ้นใน กกต.ชุดที่แล้วในช่วงออกเสียงประชามติ แม้มีการสานต่อ แต่ขาดระบบการกำกับดูแลที่ดี ทำให้กลายเป็นปัญหาการรายงานที่คลาดเคลื่อน และสร้างความสงสัยแก่ประชาชนทั่วไป
          7.แนวคิดเกี่ยวกับขยายวันและเวลาในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า เป็น 2 วัน ถูกลดลงเหลือวันเดียว ทำให้เกิดการแออัดในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
         8.ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง จนถึงปัจจุบันยังไม่อยู่ในสถานะที่สมบูรณ์ 100% ยังเป็นระบบที่เขย่งกันระหว่างข้อมูลที่พรรคการเมืองมี และ ข้อมูลที่ กกต.มี
          9.การริเริ่มให้มีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ แบบ touch screen เพื่อใช้ในการเลือกตั้งในบางพื้นที่ที่มีความพร้อม ได้ถูกยกเลิกไป
        การให้ข้อมูลทั้งหมดนี้ เพื่อให้ กกต.ได้ทราบว่ามีสิ่งใดที่เคยริเริ่มทำในชุดที่แล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการต่อ แต่หากเป็นสิ่งที่ กกต.ชุดปัจจุบันได้ทราบแล้ว และตัดสินใจไม่ดำเนินการต่อ ก็เป็นสิทธิ์และอำนาจที่ชอบธรรมในการตัดสินใจ
เก่งใช้เงินอย่างเดียว
    นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระหว่างที่สังคมให้ความสนใจเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและบทสรุปของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตีความการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามที่ กกต.ยื่นเรื่องมาอย่างไรนั้น ประเด็นที่น่าสนใจและควรมีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม นั่นคือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการลงนามเอกชนรับงาน 20 สัญญา รวมมูลค่า 1.3 แสนล้านบาทว่ามีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน
    การตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ แม้จะมีข้อแก้ตัวว่าสามารถทำได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่ในสายตาของสังคมกลับมองไปในทิศทางตรงกันข้ามว่าไม่สมควร เนื่องจากไม่มีสภาของประชาชนตรวจสอบ จนถึงกับมีการพูดกันว่ารัฐบาลชุดนี้บริหารงานไม่เป็น เก่งอย่างเดียวคือเรื่องใช้เงิน
    นางลดาวัลลิ์กล่าวอีกว่า เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือกรณีที่ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วม ครม.-พวก ลงมติเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงินบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เหตุข้อกล่าวหาไม่มีมูล สะท้อนให้เห็นว่าข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย และมุ่งหวังผลทางการเมืองมากกว่า ซึ่งไม่ควรนำองค์กรตรวจสอบมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะทำให้นโยบายดีๆ ต้องหยุดชะงัก ฉุดประเทศล้าหลังประชาชนเป็นผู้รับความเสียหาย
    “แม้การคืนความยุติธรรมให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะจะล่าช้าไป แต่ก็ได้พิสูจน์ให้สังคมได้เห็นอย่างชัดเจน การทำหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ก็ตีตกข้อกล่าวต่างๆ ไปแล้วถึง 4 คดี และยังเหลือคดีที่อยู่ในการพิจารณาอีก 7 กรณี ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาด้วยความยุติธรรมเหมือนในกรณีดังกล่าว” นางลดาวัลลิ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"