ผวา!ม็อบต้านจุดติด มั่นคงรับสถานการณ์ไม่ดี หงอย!จ่านิวปลุกคนอีสาน


เพิ่มเพื่อน    

    กลุ่มเรียกร้องเลือกตั้งเคลื่อนดาวกระจายออกต่างจังหวัด นำร่องโคราช วงในฝ่ายความมั่นคง-ทหารเผยหลังบิ๊กป้อมเรียกประชุมสถานการณ์พบมีความเชื่อมโยงทักษิณโผล่ช่วงตรุษจีน-อดีต ส.ส.แกนนำเพื่อไทยแห่ตบเท้าบินไปปักกิ่ง  ฮ่องกง และกลุ่มต้าน คสช.รุกหนัก สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ สั่งให้จับตาทุกฝีก้าว ตรวจสอบใครส่งท่อน้ำเลี้ยง "นิกร" บอกจุดติดแล้ว ขบวนการนักศึกษา ถกนัดแรก กมธ.3 ฝ่ายแก้ กม.ลูก แกนนำ สนช.ยันไม่มีลงมติคว่ำ 
    ความเคลื่อนไหวของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่เริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นในการต่อต้านการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้ง รวมถึงชูประเด็นคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. เริ่มเคลื่อนไหวตามจุดต่างๆ ในต่างจังหวัดมากขึ้น หลังก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ทำกิจกรรมในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายคือจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในช่วงวันที่ 22 พ.ค.2561 ที่จะเป็นวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร คสช. 
    โดยที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 ตั้งแต่ช่วงเย็น ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มเรียกร้องต้องการการเลือกตั้ง ที่บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์  หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยศึกษา (NDM) พร้อมด้วยกลุ่มนักศึกษา เรียกร้องต้องการการเลือกตั้งประมาณ 10 คน ได้เดินทางมาถึงบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อที่จะประกาศเชิญชวนประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้ออกมาแสดงพลังกดดันรัฐบาล คสช.ให้คืนอำนาจให้กับประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีการแจกโปสเตอร์ข้อเรียกร้องและแนวทางโรดแมปของกลุ่ม ที่จะมีการเดินทางไปเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกที่ออกมาเรียกร้องในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยมีประชาชนมายืนฟังประมาณ 50 คน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.เมืองนครราชสีมาทั้งในและนอกเครื่องแบบ ที่ยืนอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยอยู่ทั่วบริเวณลานอนุสาวรีย์ฯ จำนวนกว่า 150 นาย
     โดยนายสิรวิชญ์เปิดเผยว่า ในการเดินทางมาครั้งนี้ เป็นการออกมาจัดกิจกรรมต่างจังหวัดครั้งแรกของกลุ่ม โดยเลือกเดินทางมาที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคอีสาน เพื่อที่จะเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาให้ออกมาแสดงพลังเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.คืนอำนาจให้กับประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ ทางกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อให้ประชาชนออกมาแสดงพลังทวงคืนอำนาจของประชาชนจากรัฐบาล คสช. และให้มีการจัดเลือกตั้งภายในปี 2561 นี้ 
    "ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ไม่มีกลุ่มคนเสื้อสีใดมาหนุนหลัง ยินดีรับคนทุกสีเสื้อเข้ามาเป็นกลุ่มเดียวกัน วันนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล คสช.จะต้องออกไปจากอำนาจ โดยหลังจากวันนี้ กลุ่มเรียกร้องต้องการการเลือกตั้ง ก็จะออกเดินทางไปจัดกิจกรรมในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป" นายสิรวิชญ์กล่าว 
     ทั้งนี้ กลุ่มของจ่านิวใช้เวลาในการชุมนุมปราศรัยประมาณ 40 นาที โดยมีประชาชนมาร่วมกิจกรรมบางตา บรรยากาศไม่คึกคักแต่อย่างใด
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกลุ่มแกนนำคนอยากเลือกตั้งเดินทางไปชุมนุมที่ลานย่าโม จังหวัดนครราชสีมา ทาง พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องดำเนินการ หากผู้ชุมนุมอยู่ในกรอบกฎหมาย คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร และคงใช้เวลาไม่นาน หากกลุ่มผู้ชุมนุมมีเจตนาชุมนุมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เชื่อว่าประชาชนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 2 ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในภาคอีสานเกี่ยวกับโรดแมป คสช.ที่นำไปสู่การเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง และย้ำให้ประชาชนได้เข้าใจว่า ทุกอย่างเดินตามโรดแมปที่รัฐบาลได้ยืนยันไว้ ส่วนมีการเลื่อนการเลือกตั้งจากเดือน พ.ย.2561 ไป มี.ค.2562 เป็นเรื่องฝ่ายกฎหมายในการพิจารณา ยืนยันว่ากองทัพภาคที่ 2 จะดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นหลัก
    "จากการลงพื้นที่ คนอีสานเข้าใจถึงความจำเป็นเลื่อนการเลือกตั้ง จาก พ.ย.ปี 61 ไป มี.ค.62 ว่าเป็นเรื่องของกฎหมาย รัฐบาล และ คสช.ไม่ได้มีเจตนาในการสืบทอดอำนาจหรือยื้อการเลือกตั้งออกไป เพียงแต่เราต้องเพิ่มการชี้แจงหลายๆ ด้าน ยืนยันว่า รัฐบาลและ คสช.ยังคงมุ่งมั่นเดินตามโรดแมป ในส่วนแกนนำทางการเมืองในพื้นที่ภาคอีสาน เราติดตามความเคลื่อนไหวเป็นระยะอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เพ่งเล็งอะไรเป็นพิเศษ" แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าว  
    มีรายงานข่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม เรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคง ประเมินสถานการณ์การเมืองในห้วงที่ผ่านมา
     โดยที่ประชุมมองว่า สถานการณ์น่าเป็นห่วง มีความเคลื่อนไหวของ 3 กลุ่มในห้วงเวลาเดียวกัน ทั้ง การปรากฏตัวของนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองอดีตนายกรัฐมนตรี ความเคลื่อนไหวกลุ่ม อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำมวลชน รวมถึงการชุมนุมแกนนำคนอยากเลือกตั้ง โดยให้จับตาอย่างใกล้ชิดและตรวจสอบว่าทั้ง 3 กลุ่มนี้เชื่อมโยงกันหรือไม่ หลังพบข้อมูลมีกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวล้อมรัฐบาล และ คสช.มาก่อนหน้านี้
    แหล่งข่าวระบุว่า หน่วยงานความมั่นคงประเมินว่าการปรากฏตัวของนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์
เพื่อหวังผลทางการเมือง หลังเริ่มมีกระแสข่าวอดีต ส.ส. แกนนำมวลชนของพรรคเพื่อไทยอาจเปลี่ยนขั้วไปอยู่กับกลุ่มอำนาจใหม่ ในขณะกลุ่มอดีต ส.ส.ที่เดินทางไปพบนายทักษิณที่ต่างประเทศ เชื่อว่าเป็นการวางแผนเตรียมการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้  
    "ในขณะเดียวกันก็ให้จับตาความเคลื่อนไหวแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ตรวจสอบท่อน้ำเลี้ยงว่าการชุมนุมดังกล่าวมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และให้ใช้มาตรการกฎหมายตามปกติมาบังคับใช้ หากแกนนำละเมิดกฎหมาย นอกจากนี้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่อย่าสร้างเงื่อนไขทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย" แหล่งข่าวระบุ
    ด้านความเห็นจากฝ่ายการเมือง นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่นักศึกษาภายใต้กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เรียกร้องให้ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกสี และทุกพรรคการเมือง ออกมาร่วมกันแสดงจุดยืนและแนวทางการเคลื่อนไหวในอนาคตที่นำไปสู่การเลือกตั้งว่า มองว่าการเคลื่อนไหวนั้นเป็นการเคลื่อนไหวภายใต้กลุ่มนักศึกษาที่มีจุดยืนและเจตนารมณ์ที่จะให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว ก็ต้องขอขอบใจกลุ่มนักศึกษาที่ให้เกียรติกับฝ่ายการเมือง ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายมาตลอด แต่หากฝ่ายพรรคการเมืองจะเข้าร่วม ก็อาจจะส่งผลสุ่มเสี่ยงแก่กลุ่มนักศึกษาได้ เพราะจะทำให้อีกฝ่ายคิดว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ ทั้งที่ตามความจริงแล้วตลอดระยะเวลาที่ติดตามการเคลื่อนไหวนั้น เห็นว่ากลุ่มนักศึกษาเหล่านี้เคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ และเป็นการเรียกร้องภายใต้จิตใต้สำนึกมาโดยตลอด ไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงอยากให้ทุกฝ่ายกลับไปทบทวนและพิจารณาให้รอบคอบก่อนจะทำอะไร
    “ผมชื่นชมในสิ่งที่เขาทำ เราไม่เห็นเหตุการณ์แบบนี้มานานแล้ว ที่นักศึกษาจะรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ หากย้อนในอดีตเราก็จะเห็นการเรียกร้องที่บริสุทธิ์ผ่านกลุ่มเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษา ซึ่งถือว่าวันนี้เป็นการจุดติดแล้ว จุดติดในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นการดึงคนออกมาเรียงร้อง แต่เป็นการจุดติดในด้านความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ทำให้คนรุ่นเก่ามีความอุ่นใจว่าจะส่งไม้ต่อให้กับใครไปในอนาคต ” นายนิกรกล่าว
จับตา15วันชี้ขาด กม.ลูก2ฉบับ 
    ขณะเดียวกัน ในช่วง 15 วันต่อจากนี้ ต้องจับตา การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพ.ร.บ.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ที่ตั้งขึ้นหลังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำความเห็นแย้งร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายจับตาว่าอาจเกิดกรณี สนช.ลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกเรื่อยๆ 
    เรื่องนี้ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ร่วมนัดแรกวันที่ 19 ก.พ.นี้ จะมีเลือกประธาน กมธ.ร่วมฯ และตำแหน่งต่างๆ การกำหนดวันประชุมและการกำหนดแนวทางหารือ ซึ่งประเด็นหลักๆ ที่ กมธ.ร่วมฯ จะพิจารณาทบทวนคือการลดจำนวนกลุ่มอาชีพ ส.ว.จาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม การเปลี่ยนวิธีเลือก ส.ว. จากการเลือกไขว้เป็นเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ ที่มา ส.ว. จากการสมัครโดยอิสระและหน่วยงานเสนอชื่อมา แต่ กมธ.ร่วมฯ คงต้องมาหารือกันก่อนว่าจะแก้ประเด็นใดบ้าง กรณีที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเรื่องเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีการโต้แย้งกันอย่างหนัก เป็นแค่ท่าทีการเป็นห่วงผ่านทางสื่อ แต่ถ้า กมธ.ร่วมฯ ได้คุยกันจริงๆ แล้ว อาจไม่มีอะไรเลยก็ได้ เชื่อว่าจะหาทางออกร่วมกันได้ในชั้นนี้  
    เมื่อถามว่า หากตอนโหวตใน กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ถ้า เสมอกัน 5 ต่อ 5 ต้องใช้เสียง กกต.ชี้ขาด นายทวีศักดิ์ตอบว่า อย่าเพิ่งไปมองถึงขั้นนั้น มั่นใจว่า กมธ.ทุกคนมีความรับผิดชอบและเป็นผู้ใหญ่ รู้ดีว่าถ้าทำเช่นนั้นจะเกิดผลอะไรตามมาต่อบ้านเมือง ยืนยันว่า กมธ.ร่วมฯ ทำหน้าที่โดยยึดหลักเหตุผล ไม่ได้เข้ามาแบบมีธง เพื่อทำให้เกิดปัญหาให้มีการคว่ำกฎหมายลูกตามมา
     นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในส่วนร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.คงมีปัญหาไม่มาก น่าจะตกลงกันได้ เพราะมีปมที่ถกเถียงแค่เรื่องการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียงและช่วงเวลาจัดการเลือกตั้ง เชื่อว่าในส่วนมหรสพนั้น ทาง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายคงไม่ให้มีการจัดมหรสพระหว่างหาเสียงได้ เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง ดูแล้วมีผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนช่วงเวลาเลือกตั้งตั้งแต่ 07.00-17.00 น.นั้น คงต้องไปฟังเหตุผลในชั้น กมธ.ร่วมฯ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาหรือไม่ 
    "แต่ส่วนที่จะมีปัญหามากคือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่มีการลดจำนวนกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่ม เหลือ 10กลุ่ม และเปลี่ยนระบบการเลือก ส.ว.จากระบบเลือกไขว้เป็นเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ ซึ่ง กรธ.คัดค้านอย่างหนัก อาจมีปัญหาในตอนโหวตชั้น กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ทำให้คะแนนเสียงมี 5 ต่อ 5 เท่ากัน อาจต้องใช้เสียง กกต.ชี้ขาด ดังนั้นจะต้องทำความเข้าใจกันให้ดีในชั้น กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เพื่อให้มีทางออกที่ดีที่สุดที่ทุกฝ่ายพอรับได้" นายวัลลภกล่าว 
    นายวัลลภกล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าทางออกเรื่องการพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. น่าจะเป็นไปในทางที่มีการเพิ่มจำนวนกลุ่มอาชีพผู้สมัครกลับไปที่ 20 กลุ่มตามที่ กรธ.เสนอมา ขณะที่วิธีการเลือก ส.ว. อาจจะเป็นวิธีเลือกไขว้หรือเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน แต่จะให้คงที่มา ส.ว.ให้มาจากการสมัครอิสระ และหน่วยงานเสนอชื่อมาตามที่ สนช.เห็นชอบให้แก้ไขไป ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และ สนช.น่าจะรับได้ อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าไม่ว่า กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายจะแก้ไขร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับออกมาในรูปแบบใด ที่ประชุม สนช.พร้อมรับฟังข้อเท็จจริงและเหตุผล ไม่ใช่ว่าหาก กมธ.ร่วม 3ฝ่ายแก้ไขร่างกฎหมายลูกออกในแนวทางที่ไม่ตรงกับที่ สนช.เคยลงมติเห็นชอบไปแล้ว สนช.จะคว่ำกฎหมายลูก 
    "ขณะนี้ยังเชื่อมั่นว่า สนช.จะไม่คว่ำกฎหมายลูก  สนช. ไม่มีใครตื่นเต้นเรื่องคว่ำกฎหมายตามที่มีการปล่อยข่าว ไม่มีใครกังวล" นายวัลลภกล่าวย้ำ
    เช่นเดียวกับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า การคว่ำกฎหมายลูกเป็นสิ่งที่นักการเมืองทั่วไปมองว่าเหตุที่จะเลื่อนการเลือกตั้งได้อีกแนวทางหนึ่งคือการคว่ำกฎหมายลูก ทั้งนี้ การคว่ำกฎหมายลูกมีเหตุผลความจำเป็นที่แท้จริง จะต้องชี้ให้สังคมเห็นว่ามีเหตุผลอะไรถึงคว่ำกฎหมายลูก เพราะผลของการคว่ำจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนไป
    “ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่ากฎหมายลูกจะคว่ำ แต่ที่ผ่านมากระบวนการความเห็นไม่ตรงกันจนเป็นเหตุให้ตั้งกรรมการร่วม เป็นขั้นตอนบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าในที่สุดจะมีการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม จึงไม่เชื่อว่า สนช.จะคว่ำกฎหมายลูก ขอบคุณนักการเมืองที่เป็นห่วง แต่ไม่ต้องเป็นห่วง ขอให้นักการเมืองเตรียมตัวลงเลือกตั้ง ไปหานักการเมืองที่ดีๆ มาให้ประชาชนเลือก อย่าไปเลือกนักการเมืองที่ไม่ดีมาทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นอีก” พล.อ.สมเจตน์กล่าว
    ส่วนที่มองกันว่าอาจจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปถึง ก.พ.62 นั้น พล.อ.สมเจตน์กล่าวว่า เดิมตามโรดแมประบุไว้ว่าเป็นเดือน พ.ย.61 แต่เมื่อสภาได้ผ่านเรื่องการให้ กม.สนช.มีผลบังคับใช้ 90 วัน อาจจะมีผลให้การเลือกตั้งเลื่อนไป แต่อย่างไรก็ตาม หากทาง คณะกรรมการการเลือกตั้งและนักการเมืองพร้อม สามารถจัดการเลือกตั้งได้ก่อน 150 วัน ก่อนที่กฎหมายพรรคการเมืองการเลือก ส.ส. มีผลบังคับใช้ ให้ กกต.จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน แม้จะเลื่อนออกไป ก็ไม่ใช่ว่าจะต้อง 150 วันจะต้องจัดการเลือกตั้ง ถ้าภายใน 30 วันถึง 150 วันก็ทำได้ ถ้า กกต.และ พรรคการเมืองพร้อม การเลือกตั้งอาจไม่จำเป็นต้องไปถึงเดือน ก.พ.62
    ความเห็นจากฝ่ายการเมืองต่อกรณีดังกล่าว นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้าพิจารณาประเด็นที่นำไปสู่การพิจารณาของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายแล้ว น่าจะหาข้อยุติได้ ถ้าทุกฝ่ายคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองเป็นหลัก เว้นเสียแต่ว่ามีการรับใบสั่งมาทำให้เกิดปัญหา เพื่อไปคว่ำรัฐธรรมนูญในชั้น สนช. ถ้าไม่มีใบสั่งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
    "กฎหมายลูกทั้งสองฉบับจะถูกคว่ำหรือไม่ น่าจะอยู่ที่ คสช. เพราะ คสช.ตั้ง สนช.มากับมือ สนช.จะตัดสินใจอย่างไร ก็คงหลีกเลี่ยงยากที่จะไม่ดูธงจาก  คสช. ขณะนี้จึงขึ้นอยู่กับ คสช.จะกำหนดอนาคตการเดินหน้าประเทศไทยอย่างไรผ่านการพิจารณากฎหมายลูกทั้งสองฉบับ" นายองอาจกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"