การเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ผ่านพ้นไปแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ก็ได้ปฏิบัติงานเสร็จสิ้นก่อนวันเลือกตั้งดังกล่าว ในส่วนที่เป็นการพิจารณาคดีร้องขอให้วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยคดีประเภทนี้นั้น จะมีลักษณะเช่น กรณีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้รับสมัครหรือเพิ่มชื่อเป็นผู้สมัคร, กรณีผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้รับสมัครหรือเพิ่มชื่อเป็นผู้สมัคร, กรณีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ กกต. ที่ให้ถอนการรับสมัครตามคำร้องของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือผู้สมัครอื่น และกรณีผู้อำนวยการเขตการเลือกตั้งขอให้ถอนชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นต้น
โดยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง (ซึ่งย้ายไปเปิดทำการยังอาคารศาลฎีกาแห่งใหม่ที่สนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.2562) ได้รายงานผลสรุปคดีวินิจฉัยสิทธิสมัครและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. ระหว่างวันที่ 4 ก.พ.2562 ถึงวันที่ 23 มี.ค.2562 ทั้งหมดจำนวน 576 คดี โดยศาลฎีกามีคำสั่งก่อนวันเลือกตั้งทั้งหมดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
วันที่ 4 ก.พ. - 8 มี.ค.2562 รวมคดีเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 366 เรื่อง แบ่งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 62 เรื่อง, ส.ส.แบบแบ่งเขต 290 เรื่อง และขอถอนชื่อ 14 เรื่อง โดยมีคดีเสร็จไป 366 เรื่อง แบ่งเป็น ยกคำร้อง 277 เรื่อง, รับสมัคร/ประกาศรายชื่อ 50 เรื่อง, อนุญาตให้ถอนคำร้องและให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ 25 เรื่อง, ให้ถอนชื่อ 10 เรื่อง และให้เพิ่มชื่อ 4 เรื่อง ส่วนคดีระหว่างวันที่ 9 มี.ค. - 23 มี.ค.2562 รวมคดีถอนชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง 210 เรื่อง แล้วเสร็จทั้งหมด
เท่ากับว่าคดีที่เกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ศาลฎีกาพิจารณาเสร็จตามกรอบเวลาทั้งหมดก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 วัน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา 49 ซึ่งหากมีกรณีที่ไม่แล้วเสร็จตามกรอบเวลานั้น คดีก็จะยุติไปตามมาตรา 51, 52 จากนี้ศาลฎีกาจึงต้องรอคดีที่จะเกิดขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ต่อไป
สำหรับคดีเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นได้ภายหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว คือ คดีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในส่วนที่อาจพบผู้ได้รับเลือกตั้งขาดคุณสมบัติภายหลัง ซึ่งส่วนนี้ กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา 53, 54 ต่อไป ไม่เกี่ยวข้องกับศาลฎีกาอีก ส่วนคดีที่จะเกี่ยวข้องกับศาลฎีกาได้ก็คือ กรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเรียกง่ายๆ ว่า “คดีทุจริตการเลือกตั้ง” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ด่านแรกที่จะต้องพิจารณาคดีเหล่านี้ก่อนคือ กกต. ที่หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต ให้ กกต.ระงับสิทธิผู้สมัครไว้ชั่วคราว หากผู้นั้นเป็นผู้จะได้รับการเลือกตั้ง ให้ยกเลิกและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามมาตรา 132 ส่วนคดีจะเข้าสู่ศาลฎีกาได้นั้น ต้องเป็นภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ตามที่ กกต.ปักหมุดนัดประกาศไว้วันที่ 9 พ.ค.2562 นี้ ซึ่งคดีทุจริตการเลือกตั้งที่เข้าสู่ศาลฎีกาจะเป็นไปตามมาตรา 133 ที่ว่า
“เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ในกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย และให้คณะกรรมการดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว และให้นำความในมาตรา 138 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม”
ส่วนกรณีมีหลักฐานของผู้กระทำทุจริต จะเป็นไปตามมาตรา 138 ที่ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น การพิจารณาของศาลฎีกาให้นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของ กกต.เป็นหลักในการพิจารณา และให้ศาลมีอำนาจสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ เมื่อศาลฎีกาสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็น ส.ส. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่ามิได้กระทำความผิด ในกรณีพิพากษาว่ากระทำผิด ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น ถ้าเป็น ส.ส. ให้สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลง และ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง
นอกจากนี้ มาตรา 139 ยังกำหนดให้ศาลฎีกาสั่งผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้รับผิดในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งซ่อมด้วย ที่สำคัญคือ ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น จะถูกเพิกถอนตลอดชีวิตตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235 วรรคสี่ ว่า “ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ”
ทั้งหมดนี้คือเส้นทางคดีเลือกตั้งสู่ศาลฎีกา จากนี้ต้องรอหลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 9 พ.ค.2562 ถึงจะลุ้นกันได้ว่า คดีทุจริตการเลือกตั้งที่ กกต.จะส่งเข้าศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้เชือดกี่ราย ยิ่งถ้ามีหลักฐานว่าคณะกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวข้อง สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ตามมาตรา 132 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ได้อีกด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |