"เทพไท" ไม่ถอยชงรัฐบาลแห่งชาติ อ้างสถานการณ์เดินสู่ทางตัน สองขั้วการเมืองไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ "พปชร." ต้านลั่นประชาชนยังสนับสนุน "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ ขณะที่ "เพื่อแม้ว" ก็ดาหน้าถล่ม อ้างไม่เป็นประชาธิปไตย ด้าน "กกต." ลุ้นศาล รธน.รับวินิจฉัยสูตรคิดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ พร้อมยืนยันเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
นายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติ ยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กว่า หลังจากที่ตนเสนอแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และนายกฯ คนกลางเพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองเสียงปริ่มน้ำในการตั้งรัฐบาลขณะนี้ พบว่ามีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งส่วนตัวตนสนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มีการถ่วงดุล คือ มีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะได้มีการตรวจสอบถ่วงดุลตามอำนาจหน้าที่
"แต่เมื่อดูสถานการณ์การเมืองขณะนี้ เห็นว่าทั้งสองขั้วยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้แน่ ขั้วการเมืองพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ผมก็เคารพความเห็นของท่านและจะเฝ้าดูว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ส่วนขั้วพรรคเพื่อไทยที่เชื่อมั่น ยืนหยัดว่าจะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากเกิน 250 เสียง ซึ่งในความเป็นจริง กลุ่มพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยเสียงเพียง 250 เสียง เพราะถ้าจะตั้งรัฐบาลได้ ต้องใช้เสียงอย่างน้อย 375 เสียงขึ้นไป ถึงจะได้นายกฯ ที่มีเสียงสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาจึงจะอยู่บริหารได้"
นายเทพไทกล่าวต่อว่า แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองที่เป็นเดดล็อกถึงทางตัน จะไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ ดังนั้น จึงเสนอแนวทางรัฐบาลแห่งชาติและนายกฯ คนกลางขึ้นมา หากทุกฝ่ายเห็นว่าสามารถตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ ตนก็ยินดีและจับตารอเฝ้าดู แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหา จะไม่นิ่งดูดายที่จะเสนอความเห็นทางออก
“ส่วนจะผิดจะถูกก็เป็นเรื่องของสถานการณ์ในอนาคต ที่พี่น้องประชาชนจะตัดสิน ว่าสิ่งที่ผมวิเคราะห์จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ผมเคารพในความเห็นของทุกท่าน แต่ต้องดูองค์ประกอบว่าสามารถเกิดขึ้นจริงหรือไม่ด้วย โดยจะให้เวลาจนถึงวันที่ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ 95% ของยอด ส.ส. แต่ถ้าหากว่าขั้วใดขั้วหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เมื่อถึงเวลานั้น ผมขอร้องว่าอย่าดันทุรังเพื่อยื้อสถานการณ์นี้ต่อไป เพราะการไม่มีรัฐบาลจะเป็นผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวม จะเกิดความลักลั่นในการแก้ไขปัญหาและบริหารประเทศ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาคมโลก มีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย แต่คนที่ไม่เสียหายคือ คสช. เพราะรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม มีมาตรา 44 ที่จะทำอะไรก็ได้
ซ้ำยังเป็นรัฐบาลที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะ สนช.ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ตัวอย่างล่าสุดคือการยกเลิกการคืนสัมปทานของ กสทช.ให้สื่อหลายช่อง หรือการใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือกลุ่มทุนโดยลุแก่อำนาจไม่มีการตรวจสอบ จึงขอให้ทุกฝ่ายเคารพเสียงของประชาชน ถ้าเสียงของประชาชนทั้งสภาไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้โดยขั้วใดขั้วหนึ่ง ก็อยากให้พิจารณาเรื่องความปรองดอง ให้ทุกพรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลและหานายกฯ คนกลางขึ้นมาบริหารแก้ไขปัญหาของประเทศชาติต่อไป” นายเทพไทกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติถูกคัดค้านอย่างหนักจากสองขั้วการเมือง ทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษก พปชร. กล่าวว่า แนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้นเป็นไปไม่ได้ มั่นใจว่าทุกอย่างยังไม่ถึงทางตัน สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามปกติอย่างแน่นอน และเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พร้อมทั้งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
"ช่วงสงกรานต์มีข่าวลือข่าวปล่อยเยอะไปหมด ทำให้พี่น้องประชาชนสับสน อยากจะฝากพี่น้องประชาชนได้ไตร่ตรอง อย่าไปเชื่อข่าวลือ เพราะบางเรื่องนำไปสู่ความแตกแยกและความวุ่นวายของบ้านเมือง และไม่ใช่เรื่องจริง เป็นการปล่อยข่าวเพื่อหวังผลทางการเมืองของผู้ไม่หวังดีเท่านั้น" นายธนกรกล่าว
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นในเรื่องเดียวกันว่า หลายฝ่ายส่งสารเกี่ยวกับวาทกรรมรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อหวังว่าจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาของทางตันนี้ ตนอยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะการเดินทางบนเส้นทางประชาธิปไตย แม้จะพบปัญหาอุปสรรคใดๆ ก็ยังมีทางออกเสมอ เชื่อว่าประชาธิปไตยโดยตัวของมันเองมีทางออกและให้ทางเลือกที่ชวนให้เราใช้ความคิด ปัญญาร่วมตัดสินใจเสมอ
"ถ้าเพียงแต่บุคคล คณะบุคคล องค์กรอิสระและหรือองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ ต่างมีความตระหนักและมุ่งมั่นทำทุกขั้นตอน กระบวนการอย่างถูกต้อง โปร่งใส ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้ใด หรือพยายามเอาใจผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ถ้าการกระทำทั้งปวงมุ่งสร้างความชัดเจน ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม มิใช่พยายามตะแบงหรือพยายามหาทางออกที่นอกกฎเกณฑ์และความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ การเบี่ยงเบนประเด็นโดยไม่รับฟังความคิดเห็นยิ่งจะเป็นช่องทางที่นำไปสู่ทางตัน กลับไปเดินถอยหลังในสถานการณ์เช่นในอดีต ประเทศขาดประชาธิปไตยที่แท้จริง เกิดวงจรที่ทุกกลไกย่ำอยู่กับที่ เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว โอกาสใหม่และความก้าวหน้าของประชาชนติดตันอยู่กับหนทางที่ปิดล็อก"
นายภูมิธรรรมกล่าวว่า ตนจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่มีความพยายามจะทำให้เกิดทางตันทั้งปวง และพยายามจะเสนอทางออกเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ โดยคิดว่าจะให้สังคมยอมรับเป็นทางเลือกที่จำเป็นของสังคมไทย ทั้งที่ยังไม่ได้เห็นความพยายามใดๆ ที่จะทำให้ทางออกเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและกลไกประชาธิปไตย
“กกต.และผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งปวงต้องทำงานอย่างโปร่งใส ยึดถือความถูกต้องและผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แล้วประเทศจะมีทางออก รีบประกาศผลการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมาและเที่ยงธรรมโดยเร็ว ประเทศไทยยังมีทางออก และระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นความหวังที่สร้างทางออกร่วมกันอย่างเป็นจริง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว
นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า แม้จะเชื่อได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องหลายฉบับถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อปูทางให้ฝ่ายอำนาจนิยมอยู่ในอำนาจได้ต่อ และมุ่งปิดกั้นโอกาสเติบโตของฝ่ายประชาธิปไตย อันเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่กระนั้นก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังยอมด้วยกล้ำกลืนฝืนใจ แต่เมื่อมีเหตุที่คณะผู้มีอำนาจไม่สามารถเข้าสู่อำนาจได้ จึงบอกว่าประเทศถึงทางตัน ต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ ส่วนตัวจึงเห็นว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ควรยินดีปรีดาในการแสวงหาทางออกเช่นนี้
"เรามีรัฐธรรมนูญ เรามีกฎหมายซึ่งใช้ในระบบลายลักษณ์อักษร หากตีความและบังคับใช้กฎหมายโดยสุจริต ตรงไปตรงมา ไม่มีเหตุใดอันจะทำให้ประเทศถึงทางตันได้เลย เว้นเสียแต่จะมีเจตนาไม่สุจริต หรือมีวาระซ่อนเร้นใดๆ ต้องไม่ลืมว่าประชาชนรอคอยการเลือกตั้งมานานมาก เขาได้ใช้วิจารณญาณและเหตุผลในการตัดสินใจอย่างดีแล้ว จึงต้องเคารพอำนาจและสิทธิของเขา" นายชุมสายกล่าว
นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกระแสที่มีการเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากผิดหลักการประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องมาจากประชาชนและจากการเลือกตั้งเท่านั้น การที่มีผู้เสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ตนไม่แน่ใจว่าท่านเหล่านั้นใช้หลักคิดหรือตรรกะอะไร เพราะนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น คงจะไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนทั้งในและต่างประเทศ เช่นนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาและบริหารประเทศได้อย่างไร
"ที่สำคัญประเด็นที่ผมมีความกังวลคือ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น ใครจะเป็นเจ้าภาพ ใครจะเป็นผู้ริเริ่ม และการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและ ครม.นั้น จะมีหลักเกณฑ์ในการสรรหาอย่างไร เพราะเราก็ไม่ได้มีตัวบทกฎหมายรองรับในเรื่องนี้เอาไว้" รองโฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าว
ด้านนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมือง ภายหลังจากที่พรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ว่า ขณะนี้ที่ตนได้ยินมาว่าบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็พยายามดิ้นรนที่จะขอเข้าร่วมเป็นรัฐบาล โดยมีการพยายามชงสูตรต่างๆ ออกมาให้ประชาชนไขว้เขว ล่าสุด มีสมาชิกบางพรรคการเมือง ได้เสนอสูตรรัฐบาลแห่งชาติ โดยอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มีวาระเพียงแค่ 2 ปี ทำภารกิจหลัก 2 อย่างคือ แก้ปัญหาปากท้องกับแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการโยนชื่อบุคคลสำคัญที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจำนวน 4 ราย เพื่อหยั่งกระแสความต้องการของประชาชน ซึ่งตนเห็นว่าไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้
"เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากประชาชนได้เลือก ส.ส.แล้ว ก็ยังได้เลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมืองอีกด้วย ดังนั้น การที่สมาชิกบางพรรคออกมาโยนชื่อใครต่อใครนั้น ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกับบุคคลที่คนนั้นเอ่ยอ้าง รวมถึงเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชนกว่า 30 ล้านคนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่แสดงเจตนาว่าต้องการที่จะได้นายกฯ จากบัญชีของพรรคการเมืองนั้นๆ" หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์กล่าว
นายมงคลกิตติ์กล่าวอีกว่า การมีรัฐบาลแห่งชาติน่ะดีไหม ในความเห็นส่วนตัว ตนว่าไม่ดีแน่ เพราะจะไม่มีใครตรวจสอบตามระบบรัฐสภา ประชาชนที่เลือก ส.ส.มาจะเสียประโยชน์อย่างมาก ถ้านักการเมืองสมผลประโยชน์กันแบ่งผลประโยชน์กัน จะไม่มีใครตรวจสอบ การทุจริตคอร์รัปชันจะทวีคูณมากขึ้น ดีไม่ดีนักการเมืองจะแอบเจรจานิรโทษกรรมคดีของแต่ละฝ่ายกัน อ้างว่าบ้านเมืองจะขัดแย้งวุ่นวาย จำเป็นต้องฮั้วกัน คราวนี้จะยิ่งกว่านิรโทษกรรมสุดซอย
วันเดียวกัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้ทยอยส่งเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้งเข้ามายังสำนักงาน กกต.แล้ว หากเรื่องใดที่ กกต.เห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอก็สามารถพิจารณาได้เลย แต่หากเรื่องใดยังมีหลักฐานไม่เพียงพอก็อาจให้ทางคณะอนุกรรมการวินิจฉัยไปดำเนินการตรวจสอบและหาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากอนุกรรมการฯ ที่ กกต.ตั้งขึ้นมาเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยในการประชุม กกต.สัปดาห์นี้ ก็จะมีวาระการพิจารณาคำร้องคัดค้านต่างๆ ด้วย
พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นที่ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น เราได้ส่งคำร้องไปแล้ว เบื้องต้นก็ต้องรอดูว่าทางศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอย่างไร
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีตามที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. และเผยแพร่ข้อความจดหมายลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปใจความว่า "วันเลือกตั้ง เป็นวันที่ 61 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ใช้บังคับ" นั้น ว่าตามมาตรา 102 และมาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกรณีที่ใช้ในภาวะปกติ
แต่ในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น จะต้องเป็นไปตามบทเฉพาะกาล ซึ่งเขียนไว้โดยเฉพาะแล้ว ตามมาตรา 268 ซึ่งบัญญัติให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ดังนั้น กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค. 2562 ซึ่งสอดคล้องกับบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 171
ดังนั้นการกำหนดวันเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ทุกประการ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |