สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ถูกพูดถึงอย่างมาก ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และแม้จะผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมมาแล้ว แวดวงการเมืองและสื่อสารมวลชนก็ยังวิเคราะห์วิจารณ์ในทำนองว่า ส.ว.ทั้งหมดจะโหวตสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าเป็นคนเลือก ส.ว.
วันเวลาที่ผ่านมา ทำให้เงาของผู้จะเป็น ส.ว.ค่อยๆ ปรากฏภาพกระจ่างชัดขึ้นตามลำดับ มิต้องพูดถึง ส.ว.ประเภทที่ลงสมัครและเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ เรื่อยมาถึงระดับจังหวัด และจบลงที่การเลือกกันเองในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2521 จำนวน 200 คน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งจัดให้มีการสมัครและดำเนินการให้มีการเลือกกันเองได้ส่งรายชื่อทั้ง 200 คน ให้ คสช.ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562
ทั้งๆ ที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ส่งรายชื่อได้อย่างช้าที่สุด วันที่ 9 มีนาคม (ก่อนเลือกตั้งไม่น้อยน้อยกว่า 15 วัน) 200 คนที่ถูกเสนอชื่อนั้น แบ่งเป็น 10 กลุ่มอาชีพ/ประสบการณ์ กลุ่มละ 20 คน ใน 20 คนนี้ แบ่งเป็นสมัครอิสระ 10 คน กับสมัครแบบนิติบุคคลเสนอชื่อ 10 คน
รอเพียง คสช.จะเคาะให้ใครเป็น 50 ส.ว.ตัวจริง กับ 50 ส.ว.ตัวสำรอง
ส.ว.อีกประเภทหนึ่ง ไม่ได้มีการเปิดรับสมัคร แต่ใช้วิธีการสรรหา โดยมีผู้สรรหาคือคณะกรรมการจำนวน 9-12 คน ที่ คสช.แต่งตั้ง โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน
คณะกรรมการสรรหาได้ส่งรายชื่อผู้เหมาะสมจะเป็น ส.ว.ให้ คสช.ไปแล้ว 400 ราย ชื่อ เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ คสช.เลือกไว้ 194 คน เพื่อเป็น ส.ว.ตัวจริง และอีก 50 คน เป็นรายชื่อสำรอง
ข่าวแจ้งว่า สำนักเลขาธิการ คสช.ได้ส่งเอกสาร “ใบรับรองประวัติตนเอง” 5 หน้าไปถึงผู้มีรายชื่อทั้ง 400 คนแล้วเพื่อสอบถามว่า ประสงค์จะได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.หรือไม่ พร้อมกับให้กรอกรายละเอียดประวัติและคุณสมบัติต่างๆ สอบถามความถนัด-ความสนใจพิเศษในยุทธศาสตร์ชาติ หรือสาขาการปฏิรูปประเทศ จำนวน 12 ด้าน ซึ่งให้ตอบเพียงด้านเดียว นอกจากนี้ยังมีข้อควรรู้เกี่ยวกับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ส.ว.
ทั้งนี้ ให้ส่งเอกสารกลับมาที่สำนักเลขาธิการ คสช.ในกองบัญชาการกองทัพบก อาคาร 1 (ชั้นใต้ดิน) ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ภายในวันที่ 11 เมษายน
สำหรับผู้บัญชาการทหาร 3 เหล่าทัพ บก-เรือ-อากาศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวม 6 คน ให้เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง
ส.ว.ประเภทสรรหาแบบหลังนี้มีจำนวน 200 คน (194+6) ผสมกับ ส.ว.ที่เลือกกันเองอีก 50 คน รวมเป็น 250 คน (แต่ละประเภทมีรายชื่อสำรอง 50 คน)
รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ คสช.คัดเลือก ส.ว.จาก 2 ประเภท ทั้ง ส.ว.ตัวจริงรายชื่อสำรองให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.
หาก กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งครบ 150 วันพอดี ภายในไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม คสช.ต้องได้ข้อยุติว่าจะเลือกใครเป็น 250 ส.ว. และรายชื่อสำรองอีกประเภทละ 50 รายชื่อ รวมเป็น 100 รายชื่อสำรอง
จากนั้นให้ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. นำรายชื่อ 250 คน ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป
ภารกิจแรกของ ส.ว. 250 คน คือ การเข้าร่วมประชุมกับสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ณ หอประชุมใหญ่ทีโอที สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี
ปฐมบทคณิตศาสตร์การเมืองว่ากันว่า พรรคพลังประชารัฐหา ส.ส.อีกเพียง 126 เสียง ก็จะถึงครึ่งหนึ่งของ ส.ส. 500 คน + ส.ว. 250 คน (ครึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง) ซึ่งหาได้ไม่ยาก เพราะลำพังแค่พลังประชารัฐก็ได้ ส.ส. 116 คน อย่างไม่เป็นทางการ บวกกับพรรครอเสียบอีกนิดหน่อยก็เกิน 126 เสียง
แต่ปัญหาอยู่ที่ ส.ว. 250 เสียง ที่จะเทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์นั้นเป็นคะแนนเสียงแห่งความชอบธรรมหรือไม่ ปัจจัยสำคัญขึ้นกับรูปร่างหน้าตาของ 250 คนนั้นเป็นใครกันบ้าง
ถ้าเต็มไปด้วยคนขี้ริ้วขี้เหร่ มีแต่ "สมัครพรรคพวก คสช." เหมือนกับที่ตั้งเป็น สนช. มีทหารกว่าครึ่งหนึ่ง คอยทำหน้าที่เป็นฝักถั่วอย่างเดียว พล.อ.ประยุทธ์ก็คงจะเหนื่อย
ลำพังรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำในสภาผู้แทนฯ ก็แย่อยู่แล้ว โอกาสจะสำลักและจมน้ำเพราะแพ้มติในสภาผู้แทนฯ มีตลอดเวลา
ยังมาถูก ส.ว.เป็นตุ้มถ่วงให้จมดิ่งเข้าไปอีก จึงเป็นเรื่องที่ คสช.จะต้องตระหนัก.
"แต่ปัญหาอยู่ที่ ส.ว. 250 เสียงที่จะเทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์นั้นเป็นคะแนนเสียงแห่งความชอบธรรมหรือไม่ ปัจจัยสำคัญขึ้นกับรูปร่างหน้าตาของ 250 คนนั้นเป็นใครกันบ้าง"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |