'ธีระชัย'ยังข้องใจวันเลือกตั้ง เตรียมยื่นให้ศาลปกครองวินิจฉัย


เพิ่มเพื่อน    

16 เม.ย.62 - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรวม.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งอีกครั้งโดยระบุว่า “ถ้ามาตรา 268 เป็นการยกเว้นมาตรา 103 เหตุใดมาตรา 268 จึงมิได้ระบุเช่นนั้น?”

ตามที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า วันเลือกตั้งที่เกินกว่า 60 วันนับแต่ พรฎ. เลือกตั้งมีผลบังคับ อาจจะฝ่าฝืน ม.103 ซึ่งให้กำหนดไม่เร็วกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน หรือไม่ นั้น

กกต. ได้ชี้แจงคำถามของผม

“ขอชี้แจงกรณีวันเลือกตั้งเกินมาหนึ่งวันเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

ตามที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. และเผยแพร่ข้อความ ของจดหมาย ลงใน Facebook ส่วนตัว สรุปใจความว่า "วันเลือกตั้ง เป็นวันที่ หกสิบเอ็ด นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ. ศ. 2562 ใช้บังคับ" นั้น

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอชี้แจงว่า ตามมาตรา 102 และมาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีที่ใช้ในภาวะปกติ

แต่ในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น จะต้องเป็นไปตามบทเฉพาะกาล ซึ่งเขียนไว้โดยเฉพาะแล้ว ตามมาตรา 268 ซึ่งบัญญัติให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ดังนั้น กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งสอดคล้องกับ บทเฉพาะกาล แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 171

ดังนั้น การกำหนดวันเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ทุกประการ”

ผมขอขอบคุณที่ กกต. ชี้แจง

อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่าการตีความโดย กกต. นั้นอาจจะไม่ถูกต้อง

เพราะ รธน. กำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นหลักการทั่วไปหลายเรื่อง เช่น เกี่ยวกับ สส. เขต /เกี่ยวกับ สส. บัญชีรายชื่อ /เกี่ยวกับการกำหนดเขต ฯลฯ ซึ่งต้องปฏิบัติในการเลือกตั้งทุกครั้ง รวมถึงครั้งแรกหลังปฏิวัติ เว้นแต่มีบทเฉพาะกาลยกเว้น

ในเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งนั้น หลักการทั่วไป ต้องไม่เร็วเกินไป เพื่อให้เวลาเตรียมผู้สมัคร และให้เวลาหาเสียง และต้องไม่ช้าเกินไป เพื่อมิให้ถ่วงเวลาเอื้อพรรคหนึ่งพรรคใดที่ยังขาดความพร้อม

กรณี ม.103 (ยุบสภา)จึงกำหนด 45-60 วัน แต่กรณี ม.102 (อายุสภาสิ้นสุด)จึงกำหนด 45 วันพอดี เพราะกำหนดวันหมดอายุนั้น เป็นรู้กันทั่วไปอยู่แล้ว ทุกพรรคมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าอยู่แล้ว

ปัญหาจึงมีว่า สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรก ม.268 ถือเป็นการยกเว้นไม่ต่องปฏิบัติตาม ม.103 หรือไม่? กกต. เห็นว่าเป็นการยกเว้น

แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ม.268 ก็ย่อมจะต้องมีข้อบัญญัติ ที่ระบุว่าให้ยกเว้นการปฏิบัติตาม ม.103 โดยอนุโลม

แต่ในข้อเท็จจริง ไม่มีข้อความเช่นนี้

นอกจากนี้ กำหนดวันเริ่มต้นของ ม.103 ก็ให้นับแต่วันที่ พรฎ. มีผลใช้บังคับ กล่าวคือ นับแต่วันที่ประชาชนและพรรคการเมืองรับรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเป็นที่แน่นอนแล้ว

วันเลือกตั้งต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันที่ประชาชนและพรรคการเมืองรับรู้ พรฎ.

แต่กำหนดวันเริ่มต้นของ ม.268 นั้น นับแต่วันที่ พรป. ทุกฉบับตามที่ระบุมีผลใช้บังคับ

วันเลือกตั้งต้องไม่ช้ากว่า 150 วันนับแต่วันที่ พรป. ทุกฉบับมีผลใช้บังคับ คือวันที่ 11 ธ.ค. 2561 บวก 150 วัน เป็น 9 พ.ค. 2562

ผมจึงมีความเห็นว่าวันเลือกตั้งตาม ม.268 เป็นข้อกำหนดเพิ่มเติม (additional) ต่างหาก และนอกเหนือจาก ม.103 กล่าวคือ เมื่อใดที่ประเทศมีความพร้อมเลือกตั้ง คือมีการตรากติกาเลือกตั้ง(พรป.)เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ให้ถ่วงเวลาการเลือกตั้งยืดยาวออกไปเกินสมควร

นอกจากนี้ กำหนด 150 วันใน ม.268 ก็มิใช่กำหนดเวลาสูงสุดสำหรับวันเลือกตั้ง แต่เป็นกำหนดเวลาให้ทำแล้วเสร็จ ทั้งวันเลือกตั้งและวันประกาศผล

ดังนั้น ผมจึงมีความเห็นว่า กกต. น่าจะต้องคำนึงถึงทั้งสองมาตรา กล่าวคือ น่าจะได้ขยับมาเป็นวันเสาร์ที่ 23 มี.ค. หรือวันอาทิตย์ก่อนหน้ามากกว่า เพื่อปลอดภัย 100%

เนื่องจากผมยังมีข้อข้องใจ จึงจะยื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยต่อไป เพราะต้องการทำให้ประเด็นนี้ชัดเจนทางใดทางหนึ่ง เพื่อปิดช่องมิให้มีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกในอนาคตเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ และพยายามจะหันมาที่ประเด็นนี้

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"