ผู้ประท้วงและรัฐบาลตะวันตกร่วมกันกดดันคณะผู้นำทหารของซูดานถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน หลังจากกองทัพรัฐประหารยึดอำนาจจากประธานาธิบดีโอมาร์ อัลบาชีร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาชนมารวมตัวประท้วงเพิ่มขึ้นท่ามกลางข่าวลืออาจมีการสลายม็อบ
ผู้ประท้วงโอบล้อมทหารขณะชุมนุมใกล้กับกองบัญชาการทหารในกรุงคาร์ทูม เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2562 / AFP
ชาวซูดานเริ่มชุมนุมประท้วงด้านนอกกองบัญชาการของกองทัพในกรุงคาร์ทูมติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน แม้ประธานาธิบดีเผด็จการที่ครองอำนาจยาวนาน 30 ปี จะโดนโค่นอำนาจลงแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน แต่ผู้ประท้วงนับหมื่นคนยังคงปักหลักชุมนุมเพื่อกดดันคณะปกครองทหารต่อไป หลังจากแกนนำของผู้ชุมนุมได้เข้าพบพวกนายทหารในสภาถ่ายโอนอำนาจเมื่อคืนวันเสาร์ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
ในวันอาทิตย์ สมาคมวิชาชีพแห่งซูดาน (เอสพีเอ) ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงนำการประท้วงยาวนาน 4 เดือน ออกแถลงการณ์เรียกร้องผู้สนับสนุนของพวกเขามาร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้น โดยระบุเหตุผลว่า มีความพยายามสลายการชุมนุมที่กองบัญชาการทหารแห่งนี้ คนพวกนั้นกำลังพยายามรื้อสิ่งกีดขวางออก
"เราเรียกร้องคนของเรามายังสถานที่ชุมนุมแห่งนี้ทันที เพื่อปกป้องการปฏิวัติของพวกเรา" คำแถลงกล่าว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มใด
ผู้ที่เห็นเหตุการณ์หลายคนกล่าวว่า มียานของกองทัพหลายคันล้อมรอบพื้นที่นั้น และเห็นทหารกำลังเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางที่ผู้ประท้วงจัดวางไว้เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัย
สภาของกองทัพพบกับตัวแทน 10 คนของผู้ประท้วง เพื่อรับฟังข้อเรียกร้องของพวกเขา แล้ววันต่อมา คณะทหารก็ได้ประชุมกับพรรคการเมืองหลายพรรค เอเอฟพีรายงานว่า คณะทหารต้องการพรรคการเมืองเหล่านี้เห็นด้วยกับการตั้ง "บุคคลที่เป็นอิสระ" มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ภาพจากทีวีซูดาน วันที่ 13 เมษายน 2562 พลโทอับเดล ฟัตตาห์ อัล บูร์ฮัน แถลงหลังจากเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานสภาถ่ายโอนอำนาจของทหารเมื่อ 1 วันก่อน / AFP
พลโทยัสเซอร์ อัลอาตา กล่าวกับสมาชิกพรรคการเมืองเหล่านี้ว่า สภาถ่ายโอนอำนาจของกองทัพต้องการจัดตั้งรัฐพลเรือนที่ตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานแห่งเสรีภาพ, ยุติธรรม และประชาธิปไตย
คณะทหารกำลังถูกกดดันอย่างหนักให้ถ่ายโอนอำนาจแก่รัฐบาลพลเรือนทันที เอสพีเอยังเรียกร้องให้กองทัพนำตัวบาชีร์และเจ้าหน้าที่จากกองกำลังข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นไอเอสเอส) มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
สถานทูตของสหรัฐ, อังกฤษ และนอร์เวย์ ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันอาทิตย์ เรียกร้องให้สภาทหารแห่งนี้และฝ่ายต่างๆ ทั้งการแกนนำประท้วง, พรรคการเมืองฝ่ายค้าน, องค์กรภาคประชาสังคม และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงผู้หญิง จัดการเจรจาอย่างครอบคลุมเรื่องการถ่ายโอนอำนาจแก่รัฐบาลพลเรือน คำแถลงยังปรามการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุม และว่า "การเปลี่ยนแปลงโดยชอบด้วยกฎหมาย" ตามที่ชาวซูดานเรียกร้องนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง
จอร์จ คลูนีย์ นักแสดงอเมริกันที่เคยรณรงค์ให้ทั่วโลกสนใจความขัดแย้งในเขตดาร์ฟูร์ของซูดาน ได้เขียนบทความร่วมกับจอห์น เพรนเดอร์กาสต์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ ลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อวันอาทิตย์ เรียกร้องบรรดาชาติมหาอำนาจของโลกกดดันกองทัพซูดานยอมคืนอำนาจบริหารทั้งหมดแก่รัฐบาลชุดถ่ายโอนอำนาจที่มีพลเรือนเป็นผู้นำ
กระทรวงการต่างประเทศของซูดานยืนกรานว่า พลโทอับเดล ฟัตตาห์ อัล บูร์ฮัน ประธานสภาทหาร ยึดมั่นกับการตั้งรัฐบาลพลเรือนที่สมบูรณ์ และเรียกร้องนานาชาติสนับสนุนสภาชุดนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนถ่ายสู่ระบอบประชาธิปไตย
เมื่อวันเสาร์ บูร์ฮันเพิ่งประกาศกร้าวว่าจะล้างบางระบอบของบาชีร์ และได้สั่งยกเลิกเคอร์ฟิวทันที เขารับปากด้วยว่าจะนำตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าผู้ประท้วงมาดำเนินคดี และปล่อยผู้ประท้วงทุกคนที่โดนจับกุมตามประกาศภาวะฉุกเฉินของบาชีร์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |