การถกแถลงในสังคมขณะนี้กำลังคึกคักว่าด้วยข้ออ้างของ กกต. ว่ามีความขัดแย้งระหว่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 จริงหรือไม่
ผมถามไถ่ไปยังนักรัฐศาสตร์และนักกฎหมายหลายคน มีความเห็นสอดคล้องกันว่า
ไม่มีความขัดแย้งกันแต่อย่างไร
ผมถาม อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้รับคำยืนยันจากอาจารย์ว่า
“อาจารย์ได้อ่านทวนหลายรอบ ไม่เห็นว่าขัดแย้ง เพียงแต่ 128 ให้รายละเอียดเรื่องขั้นตอน และความแตกต่างสำคัญคือ ลำดับการคิด แนวหนึ่งใช้วิธีคำนวณมาตรา 128 วงเล็บเรียงตามลำดับ 1 2 3 4 5 7 และกลับมา 4 ส่วนอีกแนวหนึ่งใช้ลำดับวงเล็บ 1 2 3 5 7 จึงกลับมา 4 ผลการคำนวณจำนวนพรรคที่ได้ที่นั่งจึงต่างกัน”
อาจารย์สิริพรรณเน้นว่าวลีที่สำคัญ คือ
"ให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (๒) มาตรา 91 และ 128
“เหมือนกันทุกคำค่ะ...” อาจารย์สิริพรรณยืนยัน
ส่วนอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษากฎหมายของพรรคเพื่อไทยออกเป็นแถลงการณ์ว่า
ตามข้ออ้างของ กกต.ที่ว่ามีพรรคหลายพรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงมีได้ต่ำกว่า 1 คน แต่เมื่อคำนวณตามมาตรา 128 (5) แล้วทำให้พรรคเหล่านั้นได้ ส.ส. 1 คน จึงอาจทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (2) และ (4) ที่ห้ามจัดสรรที่มีผลให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.มากกว่าจำนวนที่พึงมีนั้น ประเด็นนี้เห็นว่าหากอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 อย่างเป็นขั้นตอน
จะไม่มีข้อความส่วนใดขัดหรือแย้งกันเลย
อาจารย์ชูศักดิ์บอกว่า ที่ กกต.เห็นว่ามีปัญหานั้นเป็นเพราะ กกต.ไม่ได้ยึดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเป็นหลัก แต่ไปเอาตามวิธีการที่สำนักงาน กกต.เสนอ ซึ่งอ้างว่าเป็นไปตามความเห็นของ กรธ.
“เมื่อ กกต.ตั้งโจทก์แบบนี้ การคำนวณจึงผิดตั้งแต่ต้น แล้วก็ไปโทษว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
อาจารย์บอกต่อว่า
“ตรงนี้อธิบายได้ง่ายๆ ว่า เมื่อกฎหมายให้ยึดจำนวนคะแนนต่อ ส.ส. 1 คนเป็นหลัก แล้วนำไปหารคะแนนรวมของแต่ละพรรคเพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้น ตามมาตรา 128 (2) แล้วเอาจำนวน ส.ส.พึงมีนั้นไปลบ ส.ส.เขตของพรรคนั้น ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา 128 (3) เมื่อถึงตรงนี้ ต้องเข้าใจว่า หากพรรคใดมีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน (ต่ำกว่า 71,065 คะแนน) พรรคนั้นก็ไม่มีจำนวน ส.ส.พึงมีมาตั้งแต่ต้น จึงถูกตัดตอนตั้งแต่ ม.128 (2) แล้ว หลังจากนั้นการคำนวณต่อไปจะคิดเฉพาะพรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงมีเท่านั้น โดย ม.128 (4) ให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามผลลัพธ์ตาม ม.128 (3) หมายถึงจัดสรรให้พรรคที่มีสิทธิ์จะได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น แต่เมื่อพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งไม่มี ส.ส.พึงมี และไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม ม.128 (4) ทั้งนี้ ในการจัดสรรนั้น ถ้าพรรคใดมี ส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่า ส.ส.ที่พึงมี ก็จะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นศูนย์ แล้วเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้กับพรรคที่มี ส.ส.เขตต่ำกว่า ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี เมื่อพรรคเหล่านั้นไม่มีทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.พึงมี ก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร โดยไม่ต้องไปพิจารณาว่าจะทำให้พรรคนั้นมี ส.ส.เกินจำนวนที่พึงมีหรือไม่ เพราะเขาไม่มี ส.ส.พึงมีมาแต่แรก...”
ประเด็นต่อมาอาจารย์ชูศักดิ์อธิบายว่า คือการจัดสรรตาม ม.128 (7) กรณีจัดสรรแล้วมี ส.ส.บัญชีรายชื่อเกิน 150 คน กฎหมายให้คำนวณปรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ตามวิธีการที่กำหนด และในกรณีนี้กฎหมายก็เขียนชัดว่า เมื่อคำนวณตาม (5) แล้วมี ส.ส.เกิน ให้ทำอย่างไร เช่นกันพรรคที่คะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ไม่อยู่ในข่ายได้รับจัดสรรตาม (5) และไม่มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับ จึงไม่อาจนำมาคำนวณตาม (7) ได้เช่นกัน ดังนั้นหากตีความกฎหมายตรงไปตรงมา จึงไม่เห็นว่าจะมีปัญหาตรงไหน
และเมื่อคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคที่มี ส.ส.พึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับตาม ม.128 (7) แล้วผลคำนวณก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน ไม่ได้มีปัญหาเหมือนที่ กกต.อ้างเลย
พรุ่งนี้เรามาฟังนักวิชาการที่เกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาถกแถลงกันต่อครับ เพราะเรื่องนี้สำคัญต่อการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |