ประมงน้ำโขงปรับตัว นำ'วิถีหาปลา'หนุนเที่ยวเชียงคาน


เพิ่มเพื่อน    

ชาวประมงเชียงคานโชว์ปลาไนและปลาเอินที่หาได้จากน้ำโขง

 

     เมืองเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นเมืองเล็กๆ แต่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากจะโดดเด่นด้วยสภาพบ้านเรือนที่คงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม มีอาคารเรือนไม้เก่าริมชายโขงที่ทอดยาว ที่ดึงดูดผู้มาเยือนแล้ว ยังมีอีกมิติหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องราวประมงแม่น้ำโขง อาชีพหลักตั้งแต่บรรพกาลที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเชียงคานและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน 

      ภูมิปัญญาในการดำรงชีพของประมงริมโขง ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งการรู้จักภูมินิเวศของแม่น้ำสายนี้ และระบบภูมินิเวศย่อยๆ อย่าง แก่งหาด คก วังน้ำและดอนทรายเกาะกลางน้ำ ซึ่งแต่ละพื้นที่ลักษณะการใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป ที่น่าสนใจการหาปลาของประมงเชียงคาน มีความรู้และภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ เห็นได้ชัดจากเครื่องมือหาปลาแต่ละชนิด ที่ยังใช้สอยจนถึงทุกวันนี้ ความเข้าใจการขึ้นลงน้ำ และการมาของปลาตามฤดูกาล ลักษณะแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา รวมถึงการปลูกพืชผักริมน้ำโขงแบบไม่ง้อปุ๋ยอันแสนชาญฉลาด นับเป็นวิถีคนริมโขงที่สืบทอดมานาน

 

เกษตรริมโขง อีกวิถีชุมชนที่กระทบจากระดับน้ำโขงผันผวน

 

      จากวิถีชีวิตของคนเชียงคานที่มีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขง ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งสะสมถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศแม่น้ำโขง รวมทั้งวิธีการทำประมงและการเกษตรริมฝั่งโขง  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นทั้งการกั้นฝายแม่น้ำเลย ได้ส่งผลสัตว์น้ำลดลง หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของจีน ทำให้ระดับน้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ กระทบต่อการอพยพของปลา ซึ่งประมงที่นี่เรียกว่า ‘ปลาหลงน้ำ’   ทำให้ชาวประมงส่วนหนึ่งหันหลังวางอวน เลิกอาชีพจับปลา ปัจจุบันจึงเหลือชาวประมงริมโขงไม่ถึงครึ่งร้อยจากเดิมที่มีมากกว่า 400 คน

      จากวิกฤติดังกล่าว มีผลพวงด้านลบตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นก็คือ ทำให้ความรู้ด้านการประมงพื้นบ้านค่อยๆ เลือนหายไปจากชุมชน ผนวกกับการท่องเที่ยวอำเภอเชียงคานที่บูมถึงขีดสุด ยิ่งซ้ำเติมให้คนเลิกทำอาชีพประมงพื้นบ้านมากขึ้น สถานการณ์ล่อแหลมนี้ ผลักดันให้ชาวประมงปากแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขงตำบลเชียงคาน จำเป็นต้องผนึกกำลังกันทำวิจัยท้องถิ่น หวังใช้เป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการสูญหายของประมงพื้นบ้าน ก่อนที่จะสายเกินไป ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

ยุทธนา วงศ์โสภา ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดเลย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว.

      ยุทธนา วงศ์โสภา ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดเลย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. กล่าวถึงโครงการศึกษาวิถีชีวิตชาวประมงในปากแม่น้ำเลยและแม่น้ำโขงเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชนกรณีตำบลเชียงคานว่า มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง  ทำให้พบว่าเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงผันผวนแค่ชั่วข้ามคืน และการขนส่งของเรือสินค้าขนาดใหญ่และจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การจับปลาถูกรบกวนจากคลื่นและยังทำให้เครื่องมือประมงเสียหาย ปัญหาเหล่านี้มีผลต่ออาชีพประมง งานวิจัยยังพบภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับวิถีประมงแยกเป็นความรู้เรื่องสัตว์น้ำ, เครื่องมือหาปลา, เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการหาปลา, ความรู้วิถีชีวิตชาวประมงและพิธีกรรมหาปลาก็นำไปสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ อีกทั้งปรับปรุงแพเก่าของชาวประมงสร้างศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวประมง

      จากงานวิจัยวิถีประมงไม่หยุดเท่านี้ แต่เหล่านักวิจัยท้องถิ่นนำมาสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์เชียงคาน เดสติเนชั่น เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรม ยุทธนาบอกว่า มีโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนเแปลงของแม่น้ำโขงเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของชาวประมงในแม่น้ำโขง นำมาสู่การตั้งศูนย์เรียนรู้ประมงพื้นบ้านเชียงคาน ดัดแปลงแพชาวประมงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมโชว์ภาพวิถีชีวิตแม่น้ำโขง โมเดลปลานานาชนิดแล้ว ยังมีอุปกรณ์หาปลาทั้งมองเบ็ดซ้อน เป็นอีกสถานที่ใหม่ห้ามพลาดถ้ามาเที่ยวเชียงคาน มีผู้เข้าชมทุกวัน

 

พิพิธภัณฑ์ชาวประมงเชียงคานริมน้ำโขง แหล่งเรียนรู้ใหม่น่าสนใจ

 

      ประยูน แสนแอ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขงประมงพื้นบ้านเชียงคานกล่าวว่า ขณะนี้ชาวประมงทดลองจัดท่องเที่ยวทางเรือ 3 รูปแบบ ได้แก่ ระยะสั้นชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ค่าบริการ 400 บาท นั่งเรือได้ 3 คน ระยะกลางล่องเรือชมธรรมชาติแม่น้ำโขงถึงปากแม่น้ำเลย ชมพื้นที่ระบบนิเวศที่สำคัญ เล่าตำนานความเชื่อ ดูเกษตรริมโขง ไม่เกิน 5 ชม.  ค่าบริการ 800 บาท และระยะยาวตลอดทั้งวัน เรียนรู้วิถีชีวิตการหาปลา ชมพระอาทิตย์ตกกลางแม่น้ำโขง  สนนราคา 1,000 บาท โดยมีเครือข่ายที่พักโรงแรมแนะนำให้ลูกค้ามาเที่ยวทางเรือ

 

ลุงประยูร แสนแอ ร่วมทำงานวิจัยท้องถิ่น ต่อลมหายใจประมงเชียงคาน

 

   ลุงประยูนบอกปัจจุบันมีเรือชาวประมง 13 ลำ พานักท่องเที่ยวล่องเรือชมวิถีชาวประมง อีกงานวิจัยที่ตนร่วมเป็นโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายด้านการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือของชาวประมง พบว่าปี 60 มีนักท่องเที่ยว 4.5 แสนคน มาอำเภอเชียงคานส่วนใหญ่เป็นคนไทย ส่วนที่มาเที่ยวทางเรือมีมากกว่า 700 คน สร้างรายได้เข้าท้องถิ่นกว่า 3 แสนบาท

      “ เราจะพัฒนาการเที่ยวทางเรือต่อไป เวลานี้ส่งเสริมให้ชาวประมงฝึกภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารบริการการท่องเที่ยวด้วย ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นเพราะชาวประมงชุมชนริมโขงปรับตัวนำงานวิจัยท้องถิ่นมาต่อลมหายใจประมงเชียงคาน" ลุงประยูนประมงเชียงคานกล่าวในท้ายก่อนออกเรือพานักท่องเที่ยวไปชมความงดงามของพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"