15 เม.ย.62- นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala เรื่อง “ถ้า ม.44 กลายเป็นเช็คเด้ง ใครต้องรับผิดชอบ?” ระบุว่า สมมุติ กสทช. อยากจะเอื้อประโยชน์แก่นายทุนทีวีดิจิทัล และแก่นายทุนโทรคมนาคม และเห็นว่าเสี่ยงจะมีความผิด จะติดคุก ถามว่าจะทำอย่างไร?
ทางออกประตูหนึ่ง คือให้นายทุนไปล้อบบี้ให้ คสช. สั่งการตาม ม.44 วิธีนี้ทาง กสทช. ก็จะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่ถ้าใครคิดว่า ม.44 เป็นยาวิเศษรักษาได้ทุกโรค หรือเป็นเช็คเปล่า blank cheque ที่หัวหน้า คสช. จะกรอกตัวเลขเท่าไหร่ก็ได้ ท่านอาจจะคิดผิดนะครับ เพราะ ม.44 ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2557 (ดูรูป) มีเงื่อนไขกำกับไว้
‘มาตรา ๔๔ ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อ ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติทที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว’
ถ้าดูคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 จะพบว่าอ้างเหตุจำเป็นว่า ‘โดยที่ในปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สภาพปัญหาจากการแข่งขันทางธุรกิจสําหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปัญหาด้านความพร้อมทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผลกระทบจากรายได้ของผู้ประกอบการที่สุจริต อันส่งผลถึงความสามารถในการชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ทันภายในระยะเวลาที่กําหนดนั้นยังคงอยู่ จึงจําเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและ กําหนดระยะเวลาในการชําระค่าธรรมเนียม เพื่อให้การประกอบกิจการดังกล่าวสามารถดํารงอยู่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน ๗๐๐ MHz และ ๒๖๐๐ MHz ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี ๕G อันทําให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความมั่นคงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด’
เนื่องจากเป็นการอ้างเหตุผลแบบเหมารวมทั้งทีวีดิจิทัล และโทรคมนาคม จึงต้องวิเคราะห์แยกส่วน
ปัญหาทีวีดิจิทัล ปัญหาทีวีดิจิทัลนั้น น่าจะเกิดจาก กสทช. นำจำนวนคลื่นออกประมูลเหมาเข่งมากเกินไป ซึ่งกติกาในขณะนั้น ที่อนุญาตให้ กสทช. เป็นผู้รับเงินแทนรัฐ อาจจะเป็นสาเหตุจูงใจในประเด็นนี้ เพราะยิ่งประมูลมาก กสทช. ก็ยิ่งร่ำรวย!
ปัจจัยที่สอง คือ กสทช. อาจจะชี้นำตัวเลขตลาดผู้บริโภคทีวีดิจิทัล ในช่วงแรก ที่สูงเกินกว่าที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งอาจดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ล่าช้า ปัจจัยที่สาม คือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป บริโภคทีวีทุกประเภทน้อยลง รวมไปถึงสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ใช้เวลากับมือถือมากขึ้น
แต่คำบรรยายถึง ‘สภาพปัญหาจากการแข่งขันทางธุรกิจ’ ‘ปัญหาด้านความพร้อมในภาคเอกชน’ ‘ผลกระทบจากรายได้ของผู้ประกอบการที่สุจริต’ และ ‘ความสามารถในการชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต’ ...
ถ้าจะอ้างว่า จำเป็นต้องใช้ ม.44 ‘เพื่อ ป้องกัน ระงับ การกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายเศรษฐกิจของประเทศ’ นั้น น่าจะไร้เหตุผล เพราะปัญหา 4 ประการที่บรรยาย เกิดขึ้นแก่ธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งธุรกิจสื่อ และธุรกิจอื่น
ส่วนคำบรรยายว่า ‘เพื่อให้การประกอบกิจการดังกล่าวสามารถดํารงอยู่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน’ ก็ไร้เหตุผลอีกเช่นกัน เพราะประชาชนยังมีช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านโครงข่ายมือถือ และผ่านสื่อรูปแบบอื่นอีกมากมาย ประเด็นที่น่าสนใจ คือคำบรรยายสาเหตุแห่งปัญหาว่า ‘ปัญหาด้านความพร้อมในภาครัฐ’ เพราะอาจจะบ่งชี้จุดอ่อนในการทำงานของ กสทช. ซึ่งถ้ามีจริง หัวหน้า คสช. จะต้องมีหลักฐานการสอบสวนและลงโทษ หรือเหตุผลที่ยกโทษ ก่อนการออกคำสั่ง
สรุปแล้ว ผมเห็นว่าคำบรรยายมิได้เข้าลักษณะเงื่อนไขตาม ม.44 ส่วนคลื่น 700 MHz นั้น เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับทีวีมือถือ ซึ่งจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ จะเป็นตลาดใหญ่ เพราะมือถือที่ติดตัวเราตลอด จะใช้ดูทีวีได้ โดยสัญญาณมีเสถียรภาพ ผมได้ข้อมูลว่า เดิมคลื่น 700 MHz อยู่ที่ อสมท. แต่ กสทช. ไม่ต้องการปล่อยให้ อสมท. เป็นผู้เปิดประมูลให้เอกชน ต้องการรวบเอาเข้ามาเปิดประมูลเอง ตามข้อมูลที่ผมได้รับ เรื่องนี้จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิทัล หรือเกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องใช้อำนาจ ม.44 เสมือนดาบซามูไร เอาไปหั่นพริก ปัญหาโทรคมนาคม คลื่นที่เกี่ยวข้องกับ 5G นั้น คือ 2600 MHz ซึ่งไม่ได้มีการเรียกคืนจากใคร จึงต้องตั้งคำถามว่า ทำไมต้องใช้ ม.44? คำบรรยายว่าสถานการณ์ขณะนี้ ‘ส่งผลถึงความสามารถในการชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต’ นั้น สามารถใช้กับนายทุนโทรคมนาคมได้จริงหรือ? นายทุนสามรายใหญ่ในกลุ่มนี้ ยังมีฐานะอูฟู ยังมีกำไร ยังมีเงินหมุนเวียนตรึม หรือไม่?และบางรายยังฐานะมั่นคง ถึงขั้นจะขยายกิจการ แตกหน่อออกไปทำรถไฟความเร็วสูง มิใช่หรือ?
คำบรรยายที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม จึงมีแต่ ‘เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน ๒๖๐๐ MHz ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี ๕G อันทําให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความมั่นคงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด’ ผมขอให้ข้อคิดว่า เนื่องจาก 5G จะเพิ่มความเร็วของสัญญาณอย่างไม่เคยมีมาก่อน และจะเป็นแกนหลักของ AI เช่น อุปกรณ์สมองกลของรถไร้คนขับ และการติดต่อระหว่างอุปกรณ์ Internet of things ดังนั้น 5G จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของขีวิตประจำวันของคนไทย รัฐจึงควรจะกระจาย 5G ให้แผ่ซ่าน ให้ราคาต่ำ เพื่อกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้ และพัฒนากิจกรรมด้านนี้ ตัวอย่างสวีเด็น ที่เคยกระจายการเข้าถึงอินเทอร์เนต ภายในเวลาไม่กี่ปี ความชำนาญด้านนี้พุ่งขึ้นหลายเท่า ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก และแม้แต่พวก hacker และเว็บไซต์ที่เปิดให้ประชาชนเลี่ยงลิขสิทธิ์แชร์เพลงกันได้ รัฐจึงควรจะเปลี่ยนโหมด จากเดิมที่ให้ กสทช. เน้นบีบให้เอกชนควักกระเป๋าแข่งกันประมูลให้เงินรัฐสูงสุด เป็นระดับแสนๆ ล้านบาท ...
ควรเปลี่ยนเป็นกำหนดเพดานอัตราค่าบริการเพียงต่ำๆ เพื่อเอกชนผู้ประมูลจะไม่ต้องใช้เงินมากเกินไป
อย่างไรก็ดี ถามว่า การอ้าง ถ้าไม่เลื่อนกำหนดชำระเงินให้แก่นายทุนโทรคมนาคม เขาจะไม่มาร่วมประมูล 5G นั้น จะพิสูจน์ได้อย่างไร? และ คสช. มั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีเอกชนจากต่างประเทศที่เข้ามาร่วมประมูล ไม่ว่าจากจีน รัสเซีย อิสราเอล ยุโรป หรือสหรัฐ? กล่าวโดยสรุป ถ้าหากการใช้ ม.44 ผิดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ 2557 หัวหน้า คสช. ก็ต้องรับผิดชอบ สรุปแล้ว ถ้า ม.44 เปลี่ยนจากเช็คเปล่า ไปเป็นเช็คเด้ง หรือจากยาวิเศษ ไปเป็นยาหมดอายุ หัวหน้า คสช. ก็ต้องรับผิดชอบ แต่ คสช. จะต้องรับผิดชอบทั้งคณะด้วย
วันที่ 15 เมษายน 2562 ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala (เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ) หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |