ทรงห่วงใยผู้สูญเสียสงกรานต์


เพิ่มเพื่อน    

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยเรื่องการสูญเสียของประชาชนจากอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทรงเน้นทุกจังหวัดเริ่งดำเนินการแก้ปัญหาทุกมิติ สรุปตัวเลขสะสม 3 วัน เกิดอุบัติเหตุ 1,665 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 174 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,728 คน พบการกระทำความผิด 32,772 ครั้ง ยึดรถจักรยานยนต์ไว้ 973 คัน รถยนต์ 330 คัน 
    พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ทรงห่วงใยเรื่องการสูญเสียของประชาชนจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยรับสั่งผ่านมายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร และจิตอาสา ร่วมกันอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และรณรงค์ลดอุบัติเหตุให้ได้เช่นเดียวกับในหลายจังหวัดที่มีสถิติการสูญเสียเป็นศูนย์ พระองค์ท่านทรงเน้นว่าให้ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการในทุกมิติ เพื่อลดอุบัติเหตุและการสูญเสียให้ได้โดยเร็ว และหากต้องการขอรับการสนับสนุนสิ่งใดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้แจ้งไปยังรัฐบาลได้ทันที 
    รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ำว่านับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยได้กำชับให้ทุกภาคส่วนน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม 
    พล.ท.วีรชนเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นห่วง โดยเพียง 2 วันของการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 100 ราย และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 1,000 ราย ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับและขับรถเร็ว
    "นายกฯ เสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย และฝากเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนใช้ความระมัดระวังมากกว่านี้ โดยในวันนี้เป็นวันครอบครัว ซึ่งมีจุดประสงค์สำคัญคือการส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จึงอยากให้ทุกคนดูแลกันและกัน ตักเตือนคนในบ้านและญาติมิตรไม่ให้ขับรถหลังดื่มสุราหรือมีอาการมึนเมา รวมทั้งปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด"
    พล.ท.วีรชนกล่าวด้วยว่า นายกฯ เน้นย้ำทุกคนต้องรักตัวเอง ผู้ใหญ่ต้องดูแลเด็ก โดยให้คำแนะนำเรื่องความปลอดภัย และควรฉลองสงกรานต์อย่างเหมาะสม คำนึงถึงการรักษาประเพณีที่งดงาม เล่นน้ำอย่างรู้คุณค่า พร้อมทั้งเตือนสติเรื่องการให้เกียรติกัน โดยเฉพาะฝ่ายชายที่ต้องให้เกียรติฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายหญิงก็ควรระมัดระวังเรื่องการแต่งกายและแสดงออกในที่สาธารณะด้วยความสุภาพ
ยึดใบขับขี่แล้วร่วม 2 พันคน
    ด้าน พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า จากมาตรการ ดื่มไม่ขับ จับยึดรถเมื่อวันที่ 13 เมษายน พบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับขี่ แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ พบการกระทำความผิด 32,772 ครั้ง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยึดรถจักรยานยนต์ไว้ 973 คัน และส่งผู้กระทำผิดดำเนินคดี 24,866 คนสำหรับรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล พบการกระทำความผิด 25,446 ครั้ง เจ้าหน้าที่ได้ยึดใบขับขี่ไว้ 1,972 คน ยึดรถยนต์ 330 คัน ส่งผู้กระทำความผิดดำเนินคดี 15,049 คน
    โดยตลอด 3 วันที่ผ่านมา (11-13 เม.ย.62) ตรวจพบผู้กระทำผิด 98,808 คน เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับไว้แล้ว 2,294 คัน (รถจักรยานยนต์ 1,685คัน และรถยนต์ 609 คัน) และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ในส่วนรถจักรยานยนต์ 44,024 คน รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคล 27,283 คน
    อย่างไรก็ตาม ถนนหลายสายในเมืองใหญ่ถูกจัดให้มีงานเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ท่ามกลางประชาชนที่มาร่วมงานจำนวนมาก โดยตลอดการจัดงานเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายปกครอง จิตอาสา ได้ร่วมกันรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกประชาชนอย่างเต็มที่ ภาพรวมผู้มาร่วมงานให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำในมาตรการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการเล่นน้ำอย่างสุภาพ ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม 
    นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยสถิติการดำเนินคดีช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันหยุดยาวสงกรานต์นี้ ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย.นี้ว่า นับตั้งแต่วันที่ 11-13 เม.ย.2562 คดีความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เข้าสู่ศาลต่างๆ ทั่วประเทศ 9,836 คดี พิพากษาเสร็จทั้งสิ้น 9,672 คดี คิดเป็น 98.33%
    โดยจำนวนดังกล่าว คดีเข้าสู่พิจารณาของศาลในวันที่ 11 เม.ย. จำนวน 1,609 คดี, วันที่ 12 เม.ย. จำนวน 1 คดี ซึ่งเป็นคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา ในข้อหาขับรถขณะเมาสุราและขับรถขณะเสพยาเสพติด และวันที่ 13 เม.ย. จำนวน 8,226 คดี 
    นายสุริยัณห์กล่าวอีกว่า โดยศาลที่มีปริมาณคดีเข้าสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ศาลแขวงเชียงใหม่ จำนวน 507 คดี 2.ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 44 คดี 3.ศาลแขวงชลบุรี จำนวน 320 คดี 4.ศาลแขวงอุบลราชธานี จำนวน 295 คดี 5.ศาลจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 291 คดี
    ซึ่งข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 9,761 ข้อหา 2.ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จำนวน 1,366 ข้อหา 3.ขับรถขณะเสพยาเสพติดจำนวน 316 ข้อหา ขณะที่จำเลยที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลก็ยังคงเป็นจำเลยสัญชาติไทยที่มีจำนวนมากที่สุดคือ 10,922 คน และจำเลยสัญชาติอื่น จำนวน 489 คน
คดีเมาขับพุ่ง
    นายสุริยัณห์กล่าวตอนท้ายด้วยว่า การเคารพกฎหมาย กับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดถือว่ามีความสำคัญพอๆ กันที่จะช่วยให้สังคมสงบสุขและเรียบร้อย ซึ่งในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ก็ฝากถึงผู้ใช้เส้นทางต่างๆ สัญจร ขับขี่โดยคำนึงถึงปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่นด้วย เพื่อไม่ให้ต้องเกิดความเสียหายหรือเป็นคดี
    ขณะที่นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า สถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติทั่วประเทศในวันสงกรานต์ (13 เม.ย.) พุ่งสูงกว่า 3,455 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 3,454 คดี คิดเป็นร้อยละ 99.97 และคดีขับเสพ จำนวน 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 นอกจากนี้ ศาลยังสั่งใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา จำนวนกว่า 165 ราย โดยส่วนใหญ่กำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัย ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 7-15 วัน คุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวจำนวน 4 ครั้ง พร้อมทั้งทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง เป็นต้น
    สำหรับยอดสะสมสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติในช่วง 3 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด (11-13 เม.ย. 2562) มีจำนวนทั้งสิ้น 4,057 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 3,899 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.11 คดีขับเสพ จำนวน 149 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.67 คดีขับรถประมาท จำนวน  9 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.22 จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 337 คดี,  กรุงเทพมหานคร จำนวน 245 คดี และจังหวัดนครพนม จำนวน 211 คดี 
    อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าวย้ำมาตรการเข้มสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราที่กระทำผิดซ้ำ หรือผู้ถูกคุมความประพฤติฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ผู้อื่นเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิต ที่ศาลมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจว่า กรมคุมประพฤติจะตรวจสอบประวัติการกระทำผิดและทำการประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามแบบประเมินของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ต่ำ ปานกลาง และสูง ในกลุ่มที่มีผลการประเมินสูง จะส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเพื่อดำเนินการบำบัดรักษาต่อไป ตามโครงการบำบัดฟื้นฟูสภาพ ผู้ดื่มแล้วขับถูกจับ ผิดซ้ำ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข 
    เขากล่าวว่า สำหรับระยะเวลาการบำบัดรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และความรุนแรงของอาการ ในตามปกติระยะเวลาการบำบัด คือ 3 เดือน โดย 1 เดือนแรกจะเป็นการบำบัดรักษา 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ในเดือนที่ 2-3 เป็นการติดตามพฤติกรรมการดื่มสุรา แต่หากมีปัญหาสุขภาพจิตควบคู่ด้วยจะมีการรักษาที่ใช้ระยะเวลา 4 เดือน ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และหากเป็นระยะติดสุราเรื้อรัง การบำบัดจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
3 วันตายแล้ว 174 ศพ
    นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 700 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 67 ราย ผู้บาดเจ็บ 733 คน     สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับร้อยละ 42.71, ขับรถเร็ว ร้อยละ 26.14 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.08 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.43, บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.29, ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.00 
    ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 32.43 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 21.75 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,042 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,444 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,023,123 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 226,655 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 63,196 ราย ไม่มีใบขับขี่ 57,520 ราย 
    โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (28 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ น่าน และอุดรธานี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (33 คน) 
    สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 3 วัน (11-13 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 1,665 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 174 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,728 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 17 จังหวัด 
    จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (69 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (69 คน)
    นายชายกล่าวต่อไปว่า หลายพื้นที่ยังคงเล่นน้ำสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ถนนสายรองที่เชื่อมต่อเส้นทางสายหลักและระหว่างอำเภอมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง ศปถ. ได้กำชับจังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เน้นการดูแลบริเวณสถานที่จัดงาน แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และเส้นทางโดยรอบพื้นที่โซนนิ่งเป็นพิเศษ รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของด่านชุมชน จุดตรวจ และจุดสกัด เพื่อเฝ้าระวังผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำที่ไม่สวมหมวกนิรภัย และรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำที่ใช้ความเร็ว 
ขับเร็ว=ตาย
    พร้อมทั้งให้เข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในพื้นที่ท่องเที่ยวทุกแห่งทั่วประเทศ อีกทั้งรณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีวิถีไทย “เล่นน้ำแบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” ไม่เล่นน้ำในลักษณะรุนแรง ตลอดจนรณรงค์การแต่งกายที่สุภาพและเหมาะสม เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย
     ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่า ผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 54.60 เป็นคนในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ร้อยละ 63.79 ผู้โดยสารร้อยละ 25.86 โดยสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเกิดจากการขับรถเร็ว ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุสูงถึงร้อยละ 49.43 กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการเน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่เข้มข้นการปฏิบัติงานของด่านชุมชน และจุดสกัดในพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เน้นกวดขันผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วและดื่มแล้วขับเป็นพิเศษ 
    สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวและจัดงานสงกรานต์ ได้กำชับให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์และเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ รวมถึงดูแลการเปิด-ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง โดยเข้มงวดกวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลักษณะเร่ขายในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนและการเล่นน้ำไม่ปลอดภัย
    ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศปถ.ได้ประสานจังหวัดดำเนินมาตรการทางสังคมและมาตรการชุมชนอย่างเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ โดยให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร อาสาสมัคร และชุดสายตรวจเคลื่อนที่คุมเข้มมิให้นำรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำในพื้นที่โซนนิ่งและบริเวณที่จัดงานสงกรานต์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน 
    อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงวันที่ 14-16 เมษายน 2562 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนในลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ซึ่งสภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางและปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อให้การเดินทางและการเล่นน้ำสงกรานต์เป็นไปด้วยความปลอดภัย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"