นับจากเริ่มสงครามกลางเมืองซีเรียหรือที่นิยมเรียกว่าอาหรับสปริงซีเรียเมื่อมีนาคม 2011 บัดนี้ครบ 8 ปีเต็มก้าวสู่ปีที่ 9 สถานการณ์สู้รบเบาบางลงแต่ยังไม่สงบ และไม่อาจตอบว่าจะจบอย่างไร
อาหรับสปริงซีเรียอาจอธิบายเริ่มจากสมัยประธานาธิบดี ฮาเฟซ อัลอัสซาด (Hafez al-Assad) บิดาของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ผู้นำคนปัจจุบัน ปกครองประเทศแบบอำนาจนิยมที่ชนชั้นปกครอง นักธุรกิจใกล้ชิดได้รับประโยชน์จากการปกครอง เป็นพวกที่สามารถกอบโกยความมั่งคั่ง เกิดชนชั้นกลาง นายทุนจากอำนาจนิยม ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกจากความมั่งคั่งของประเทศ เป็นผู้มีรายน้อย ถ้าไม่มีสายสัมพันธ์ก็ยากจะได้งานทำ
รัฐบาลใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องตอบแทนแก่ผู้ยินยอมอยู่ใต้อำนาจ สร้างรัฐที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารัฐบาล
สมัยประธานาธิบดีฮาเฟซพยายามแบ่งสันปันส่วนให้ทุกกลุ่มได้ประโยชน์ตามสมควร เหลือบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังขัดขืนรัฐบาล ระบบนี้ทำท่าไปได้ดี ข้อเสียคือนานวันเข้าฝ่ายต่อต้านเกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อน
ช่วงปี 2006-2010 เป็นปีที่แห้งแล้งมาก เกษตรกรได้รับผลกระทบถ้วนหน้า การเพิ่มพื้นที่เกษตรอย่างไร้ควบคุมเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำรุนแรง ปัญหาเหล่านี้ซ้ำเติมด้วยการที่รัฐบาลยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน ปุ๋ย การจัดการภาครัฐที่หย่อนยาน มีข้อมูลว่าประชาชนกว่าล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่นหนีภัยแล้ง
ภัยแล้งต่อเนื่องหลายปี ความทุกข์ยากที่สะสมทำให้ประชาชนขมขื่น เปิดโอกาสให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนไหว ในที่สุดการประท้วงเล็กๆ บานปลายเป็นการประท้วงใหญ่ และเริ่มใช้อาวุธห้ำหั่นกัน
การแทรกแซงจากต่างชาติ :
สิงหาคม 2011 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เรียกร้องให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนโดยสันติ เปลี่ยนจากอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตย ต้นปีต่อมาสันนิบาตอาหรับ (Arab League) เรียกร้องเช่นเดียวกัน
นับจากต้นปี 2012 ต่างชาติเริ่มส่งอาวุธสงครามแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนกลุ่มที่เรียกว่าฝ่ายต่อต้านสายกลาง มีข่าวว่าช่วยฝึกกองกำลังติดอาวุธ ส่วนซาอุดีอาระเบียสนับสนุนทุกกลุ่ม รวมทั้งพวกสุดโต่ง อย่าง al-Nusra Front กับ Islamic State of Iraq and al-Sham (ISIS) ที่รับรู้กันทั่วไปว่าคือผู้ก่อการร้าย แต่รัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธ
การแสดงออกซึ่งความไม่พอใจของประชาชนต่อผู้ปกครองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ นำมาซึ่งการชุมนุม อาจถึงขั้นปฏิวัติรัฐประหาร เป็นเรื่องของพัฒนาการทางการเมืองของแต่ละประเทศ กรณีของซีเรียแตกต่างเนื่องจากต่างชาติเข้าแทรกแซงหนัก จุดยืนของรัฐบาลสหรัฐกับสันนิบาตอาหรับที่ต้องการล้มระบอบอัสซาดทำให้สงครามกลางเมืองขยายตัว
เรื่องราวซับซ้อนขึ้นอีก เมื่อผู้ก่อการร้าย ISIL/ISIS ปรากฏตัว (และกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่ม ประกอบด้วยมุสลิมกว่าร้อยสัญชาติ) ในช่วงแรกเป็นฝ่ายได้ชัยจนสถาปนารัฐอิสลาม (Islamic State) ความโหดเหี้ยมของ ISIS สร้างความตกตะลึงแก่คนทั้งโลก เพิ่งถูกปราบปรามจนอ่อนแรงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังทำลายประเทศจนยับเยิน ผู้ก่อการร้ายที่เป็นชาวซีเรียถูกปลดอาวุธ สามารถอาศัยในประเทศต่อไป กลายเป็นปัญหาทิ้งค้าง
ซีเรียที่ไม่ใช่ของชาวซีเรียอีกต่อไป :
เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองกลายเป็นอาหรับสปริงอีกประเทศ ต่างชาติแสดงตัวเข้าแทรกแซง ทั้งแบบเปิดเผยกับปิดลับ ให้ทั้งเงิน อาวุธ แม้กระทั่งส่งกำลังพลเข้าร่วมสมรภูมิ มีทั้งฝ่ายที่ช่วยรัฐบาลอัสซาดกับพวกที่หวังโค่นรัฐบาล ที่ต้องตระหนักคือประเทศเหล่านี้ที่ทุ่มงบประมาณนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ ของเหล่านี้ไม่ฟรี ต่างหวังได้ผลประโยชน์จากสงครามกลางเมืองซีเรียด้วยกันทั้งสิ้น
ถ้าเปรียบซีเรียเป็นเค้กก้อนหนึ่ง หลายประเทศทั้งอยู่ใกล้และอยู่ไกลต่างมองว่าเป็นโอกาส หวังได้ส่วนแบ่งไม่ชิ้นใหญ่ก็ชิ้นเล็ก
ความขัดแย้งของคนซีเรียด้วยกันคือโอกาสของต่างชาติ ตั้งแต่แรกเริ่มชาติตะวันตกที่นำโดยรัฐบาลสหรัฐกับอาหรับสนับสนุนการตั้งรัฐบาลใหม่ มีการวางตัวบุคคลในรัฐบาลใหม่ แม้มีเชื้อสายซีเรีย แต่หลายคนเป็นผู้อยู่อาศัยต่างแดนมานานเป็นสิบปี ไม่แน่ใจว่าเป็นการวางตัวเพื่อตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดหรือไม่ หากอัสซาดถูกโค่นจะได้รัฐบาลใหม่ที่มุ่งบริหารประเทศเพื่อคนซีเรียหรือไม่
อีกรูปแบบหนึ่งคือความพยายามแบ่งแยกดินแดน ตัวอย่างที่เด่นชัดในตอนนี้คือรัฐบาลตุรกีกับบางประเทศกำลังสร้างเขตปลอดภัย (safe zone) ทางตอนเหนือของซีเรีย พร้อมกับเหตุผลหลายข้อ มีคำถามว่าทำไมไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัสซาดเข้าดูแล รัฐบาลตุรกียังเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอธิปไตยของซีเรียหรือไม่
จนถึงวันนี้การแบ่งแยกดินแดนซีเรียยังไม่จบ เป็นประเด็นที่น่าจับตามองว่าซีเรียในอนาคตจะกลายเป็น “ซีเรียเหนือ” กับ “ซีเรียใต้” หรือไม่ หรือจะแบ่งออกมากกว่านั้นเป็น 3-4 ส่วน นี่คืออีกสถานการณ์ที่รัฐบาลซีเรีย คนซีเรียควบคุมไม่ได้ อนาคตของประเทศซีเรียจึงไม่อยู่ในมือของคนซีเรียอีกต่อไป
ผลจากวันเริ่มจนบัดนี้ :
นับจากเริ่มสงครามกลางเมืองมีผู้เสียชีวิตกว่า 511,000 รายแล้ว (ข้อมูลมีนาคม 2018) คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน เสียชีวิตจากหลายสาเหตุ ทั้งจากทหารอัสซาด ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ การโจมตีจากฝ่ายสหรัฐ รัสเซีย ตุรกี กองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน และอื่นๆ
ที่ควรตระหนักการเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากการปะทะระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น (ไม่ใช่การสู้กันของคนซีเรียด้วยกันเท่านั้น) การปล้นสะดม ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลาจากหลายกลุ่ม คนนับหมื่นหายตัวลึกลับไม่ทราบชะตากรรม
รัฐบาลอัสซาด รัฐบาลสหรัฐ ฯลฯ ยอมรับว่ามีส่วนทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตาย แต่ยังคงทำสงครามต่อไป
นับจากเริ่มสงครามกลางเมืองชาวซีเรีย 5.6 ล้านคนอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศ (ข้อมูลเมษายน 2018) และอีก 6.6 ล้านที่ถูกบีบบังคับให้อพยพจากที่หนึ่งไปยังอีกที่โดยยังคงอยู่ในประเทศ (IDPs) ชีวิตในค่ายผู้อพยพย่อมไม่เหมือนอยู่บ้านตัวเอง มีแต่ความขัดสน ไร้อนาคต ไม่อาจตอบว่าชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไร พวกที่อยู่นอกค่ายฯ จะยิ่งย่ำแย่กว่านั้น หลายคนดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอดต่อไป
สงครามกลางเมือง 8 ปี การรบพุ่งจากหลายกลุ่มหลายระลอก ทำให้หลายเมืองกลายเป็นซากปรักหักพัง แม้รัฐบาลอัสซาดได้พื้นที่กลับมาส่วนหนึ่ง แต่ต้องบูรณะใหม่หมด ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี ใช้งบประมาณอีกเท่าใด ประเทศสูญเสียโอกาสมากเพียงไร
สงครามที่ไม่มีวันรู้จบ :
ตามประวัติศาสตร์การทำลายข้าศึก มีทั้งการยึดดินแดนและการเผาเมือง กรณีซีเรียมีทั้ง 2 ลักษณะคือทำลายประเทศให้ยับเยินพร้อมกับยึดครองพื้นที่บางส่วน การที่รัฐบาลสหรัฐ ชาติตะวันตกบางประเทศและสันนิบาตอาหรับตั้งเป้าต้องล้มระบอบอัสซาด อาจทำให้ซีเรียต้องอยู่ในสงครามที่ไม่มีวันรู้จบ (หรือต้องกินเวลาอีกหลายปี)
จนถึงวันนี้ประเทศซีเรียเป็นศูนย์รวมของกองกำลังหลายชาติ เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย อิหร่าน และกองกำลังติดอาวุธอีกหลายสัญชาติ ต่างมีเป้าหมายของตนเอง บ้างรบกัน บ้างเป็นพวกเดียวกัน
สถานการณ์ล่าสุดคือการเผชิญหน้าระหว่างการโจมตีทางอากาศจากอิสราเอลต่อกองกำลังที่รัฐบาลอิหร่านสนับสนุนในซีเรีย ฝ่ายอิหร่านให้เหตุผลว่าเข้ามาช่วยรัฐบาลซีเรียปราบปรามผู้ก่อการร้าย ในขณะที่อิสราเอลเห็นว่าการเข้ามาของอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อตน เป็นแนวรบใหม่ล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ (การรบของกลุ่มเก่าอื่นๆ ยังคงอยู่แต่เบาบางลง) ความคืบหน้าล่าสุดอีกเรื่องเพิ่งเกิดเมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ประกาศให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guards Corps) เป็นองค์กรก่อการร้าย ที่ผ่านมาสหรัฐถือว่าอิหร่านเป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย น่าจะติดตามว่าจะมีผลต่อกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนในซีเรียหรือไม่
สรุป ทบทวนย้อนหลังตั้งแต่เริ่ม :
กลุ่มการเมืองบางกลุ่มสร้างวาทกรรมความเกลียดชังแก่ประชาชนให้ทำลายฝ่ายตรงข้าม ให้เหตุผลว่าต้องสู้จึงจะชนะ แต่เรื่องราวของบ้านเมืองซับซ้อน ยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยิ่งซับซ้อน กรณีซีเรียเป็นอุทาหรณ์ว่าเมื่อบ้านเมืองลุกเป็นไฟ ไร้ขื่อแป เมื่อนั้นไม่มีใครควบคุมได้
พวกที่ต่อต้านรัฐบาลอัสซาดคงไม่คิดว่าสถานการณ์จะกลายเป็นเช่นนี้ คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งอาจตายไปแล้ว อีกส่วนอาจกลายเป็นผู้อพยพในต่างแดน ฯลฯ รัฐบาลอัสซาดยังอยู่ แต่ประเทศเปลี่ยนไปไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว
8 ปีหลังเริ่มสงครามกลางเมือง อนาคตของประเทศซีเรียยังไม่รู้ว่าจะสงบเมื่อใด จะลงเอยแบบไหน เช่นเดียวกับอนาคตของคนซีเรียนับสิบล้านคน ต้นเหตุจากความไม่พอใจรัฐบาลที่บานปลาย.
-------------------------
ภาพ : สภาพค่ายผู้อพยพชาวซีเรียแห่งหนึ่ง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |