ประชาธิปัตย์ เราจะกลับมา


เพิ่มเพื่อน    

 ปชป.ต้องรีแบรนด์พรรค เราจะพลิกฟื้นขึ้นมา

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นพรรคการเมืองที่ตกอยู่ในความสนใจของผู้คนในเวลานี้ ทั้งเรื่องท่าทีของพรรค ปชป.ต่อการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในพรรค ปชป.ทั้งระดับแกนนำ-ส.ส.และอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ตลอดจนความเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ ที่เริ่มความเคลื่อนไหวกันภายในพรรค ปชป.แล้วกับการหาตัวแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่มาแทนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ตอนนี้มีข่าวว่า 2 แกนนำพรรค ปชป.คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กับกรณ์ จาติกวณิช เป็นแคนดิเดตกันอยู่

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผ่านตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วมากมายทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ได้สงวนท่าทีเรื่องเสียงสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ หลังถูกถามเรื่องนี้

ก็ต้องขอขอบคุณผู้ที่ให้การสนับสนุน แต่จะตัดสินใจอย่างไรเมื่อถึงเวลาผมจะแจ้งให้ทราบ ก็ต้องรอคณะทำงานที่บอกว่าจะตั้งไปพิจารณาดำเนินการก่อน โดยเมื่อมีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ออกมาแล้ว ทางผู้ที่สนใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะไปสมัครตามเงื่อนไขที่คณะทำงาน ซึ่งจะมีการตั้งขึ้นกำหนด คือคำตอบของจุรินทร์ หลังถามข่าวเรื่องการเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่

จุรินทร์-รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. เปิดเผยถึงขั้นตอนการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ว่า ตามข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเลือกภายในไม่เกิน 60 วัน นับจากวันที่อภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม เท่ากับคือต้องดำเนินการภายในไม่เกิน 23 พ.ค.62

...ขั้นตอนการเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคก็มีข้อบังคับพรรคกำหนดไว้อยู่ ซึ่งในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะหารือกับกรรมการบริหารพรรค โดยจะมอบหมายให้คณะทำงานสักชุดหนึ่งไปดำเนินการในเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคในรอบนี้ ก็จะได้รีบหารือและจะมอบหมายให้คณะทำงานชุดดังกล่าวไปดำเนินการ ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไร ผมคงไม่ใช้อำนาจรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไปตั้งคณะใดคณะหนึ่ง

บทบาทของคณะทำงานชุดนี้ เท่าที่คิดรวมๆ ก็คือจะให้ไปบริหารจัดการในการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ซึ่งจะทำอย่างไร ผมคงตอบไม่ได้ เป็นหน้าที่ของคณะทำงานเมื่อมีการมอบหมายไปแล้ว โดยคณะทำงานชุดดังกล่าว การตั้งไม่จำเป็นต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะช่วง 9 พ.ค.2562 ก็หวังกันว่าเราจะได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ที่เป็นทางการ โดยหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค หากดูตามข้อบังคับพรรคครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์จะเข้ามาก็คงไม่เกิน 23 พ.ค.2562

-ยังมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาได้หลังจากนี้?

ผมยังมั่นใจ ผมมั่นใจ เพราะเราก็เคยล้มมาหลายครั้ง แล้วเราก็ลุกขึ้นมายืนได้ ผมเชื่อว่าประชาชนยังรักประชาธิปัตย์และยังพร้อมให้โอกาสเรา ขอแค่เราอย่าท้อและร่วมมือร่วมใจกัน จับมือพาพรรคประชาธิปัตย์เดินไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าเราจะสามารถกลับมานั่งในหัวใจประชาชนได้อีกในเวลาอีกไม่นาน        

ผมคิดว่าเราสามารถทำให้ประชาธิปัตย์พลิกฟื้นขึ้นมา เพื่อเดินหน้าไปสู่การเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนมีความมั่นใจที่จะไว้วางใจเราได้มากขึ้นในอนาคต

พรรคประชาธิปัตย์ต้องเดินหน้าต่อไป อย่างที่ผมบอกไว้วันครบรอบประชาธิปัตย์ 73 ปี เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เม.ย. คือพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีอดีต ปัจจุบันและอนาคต อนาคตของพรรค ปชป. ผมมั่นใจว่ายังคงอยู่คู่กับการเมืองไทย ระบอบประชาธิปไตยไทยชั่วฟ้าดินสลาย

73 ปี ประชาธิปัตย์

ฉากสลับมีทั้งรุ่งโรจน์-ตกต่ำ

-ในฐานะอยู่กับพรรค ปชป.มานาน คนมองว่ายุคนี้พรรคตกต่ำมากที่สุดครั้งหนึ่งทางการเมือง?

เราผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง หลายยุคหลายสมัย ก็มีหลายครั้ง พรรค ชป.ได้คะแนนมาอันดับ 1 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็มีอีกหลายครั้งที่เราก็ได้คะแนนน้อย เช่น หากย้อนไปไม่ไกลมาก ก็ตอนเลือกตั้งปี 2522 ตอนนั้น ปชป.ได้ ส.ส. 33 คน ก็ตกลงมาจากการเลือกตั้งปี 2519 เยอะ ที่เคยได้ 114 คน หรือตอนปี 2531 พรรค ปชป.ก็ได้ ส.ส. 48 คน จากเดิมที่ตอนเลือกตั้งปี 2529 เคยได้ ส.ส.มาอันดับ 1 คือ 100 เสียง เท่ากับหายไปเท่าตัว

ความจริงเราก็เคยผ่านสถานการณ์นี้มาแล้ว ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าจำนวน ส.ส.ของเราก็หายไป แต่ว่าหลังจากนั้น พรรค ปชป.ก็พลิกฟื้นสถานการณ์ขึ้นมาอยู่ในความนิยมของประชาชนได้อีกทุกครั้ง จนเรามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จนสมัยท่านชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกฯ 2 ครั้ง หรือคุณอภิสิทธิ์ก็รวมเสียงมาตั้งรัฐบาลได้ ในปี 2551

ถามถึงคะแนนเสียงที่ ปชป.เคยได้ 11 ล้านเสียงตอนเลือกตั้งปี 2554 แต่รอบนี้เหลือแค่ 3 ล้านกว่าเสียง เท่ากับหายไปถึง 7 ล้านกว่าเสียง จะทำอย่างไร จุรินทร์-รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ที่เป็นรองหัวหน้าพรรคตอนช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา มองว่า ครั้งนี้ทุกพรรคการเมืองต่างได้คะแนนแข่งขันน้อยลง ไม่ใช่แค่เฉพาะกับประชาธิปัตย์ เพียงแต่ว่าน้อยลงมากน้อยแค่ไหน เพราะแม้แต่กับพรรคเพื่อไทยเองเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ก็ได้คะแนนลดลงมาเกือบเท่าตัว จาก 15 ล้าน ก็เหลือ 7 ล้านกว่าคะแนน ของประชาธิปัตย์เราก็เช่นกันก็ลดลงมา

ส่วนหนึ่งมันอาจจะมาจากระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปด้วย ที่การเลือกตั้งก่อนหน้านั้นที่ใช้บัตร 2 ใบ ทำให้คนเลือกคนแยกกับพรรคได้ เมื่อมาครั้งนี้ที่นำคะแนนคนกับคะแนนพรรคมามัดรวมกัน ผลที่ปรากฏออกมา คะแนนของแต่ละพรรคก็ลดน้อยลง

สำหรับในส่วนของประชาธิปัตย์ก็ต้องมาประเมินกันว่า สาเหตุที่แท้จริงมันมีสาเหตุประกอบด้วยอะไรบ้าง ต้องวิเคราะห์ทั้งรายเขตเลือกตั้ง เพราะสถานการณ์การแข่งขันในแต่ละเขตจะมีความแตกต่างกัน เพื่อดูว่าคะแนนของ ปชป.ที่หายไป ไปอยู่กับพรรคการเมืองใด ไปด้วยเหตุผลใด ก็ต้องมาวิเคราะห์กันอีกชั้นหนึ่ง

...การเลือกตั้งที่ผ่านมา หากประเมินผลกันเร็วๆ ก็จะเห็นถึงปัจจัยที่ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจ อาจจะมีความแตกต่างกันกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ประกอบด้วย เช่น 1.ปกติเวลาประชาชนจะตัดสินใจลงคะแนนเสียง จะดูจากตัวบุคคลทั้งผู้สมัครและคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคการเมืองนั้น 2.เรื่องนโยบายพรรค 3.ผลงาน 4.สถานการณ์และจุดยืนทางการเมือง

การเลือกตั้งรอบนี้หากผมประเมินเร็วๆ ผมคิดว่าเรื่องจุดยืนทางการเมืองเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องมาประเมินกันอีกรอบ ซึ่งความเห็นส่วนตัวของผมมองว่าการตัดสินใจของประชาชนในนาทีหลังๆ ดูเหมือนนโยบายจะเป็นประเด็นที่สำคัญน้อยลงในการตัดสินใจ

เช่นที่ภาคใต้ พรรคก็มาวิเคราะห์แต่ละเขต บางเขตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก็กำลังร้องเรียน กกต.อยู่ เช่นที่พัทลุง ทั้งเขตของนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และสุพัชรี ธรรมเพชร หรือนครศรีธรรมราช เขตของวิทยา แก้วภราดัย เราก็ต้องไปดูแต่ละเขตการเลือกตั้งว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนชนะได้คะแนนไป และเป็นไปตามเงื่อนไขตามกฎหมายหรือไม่

ที่ผ่านมาในพรรค ปชป.ก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่ โดยรักษาการรองหัวหน้าพรรคแต่ละภาคของพรรคก็คงสรุปความเห็นออกมา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของพรรค พรรค ปชป.ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพัฒนาพรรคต่อไปในอนาคต

-มีการมองกันว่าคนที่เคยเลือกพรรค ปชป. เพราะเห็นว่าพรรคมีจุดยืนเรื่องการสู้กับระบอบทักษิณ แต่คนที่ออกเสียงเลือกตั้งอาจมองว่าครั้งนี้จุดยืนดังกล่าวของ ปชป.เริ่มหายไป อีกทั้งมีพรรคการเมืองอื่นขึ้นมาที่ประชาชาชนเห็นว่าจะทำหน้าที่ตรงนี้แทน ปชป.ได้ เลยไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ?

ผมไม่สามารถสรุปตรงนี้ได้ แต่ว่าความจริงก่อนที่จะมีพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน คอยตรวจสอบรัฐบาลในเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร มาหลายครั้ง เราก็ทำหน้าที่ของเราอย่างเข้มแข็งและหลายกรณี หลายคดี ที่กระบวนการยุติธรรมเข้ามาตรวจสอบ ตัดสินพิพากษาจนคดีถึงที่สุดก็เป็นไปตามที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบไว้ในสภาฯ ซึ่งแม้จะปรากฏผลช้า เพราะขณะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราก็ต้องยื่นเรื่องถอดถอนผ่านประธานวุฒิสภา เพื่อส่งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ใช้เวลาตรวจสอบ และกว่าจะส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใช้เวลาหลายปี

ทั้งหมดนี้หลายกรณีเริ่มต้นมาจากการทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มแข็งของพรรค ปชป. เพียงแต่การเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.62 ประชาชนอาจจะมีความเข้าใจว่า ประชาธิปัตย์สู้กับระบอบทักษิณได้หรือไม่ได้ อย่างที่ถาม อันนี้ผมยังไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้

-คนมองว่าสาเหตุที่พรรคได้ ส.ส.น้อย คะแนนหายไปหลายล้าน เพราะยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดในการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายที่ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์?

ผมไม่อยากให้ตำหนิใคร ผมว่าอดีตหัวหน้าพรรค (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ก็ได้พิจารณาไปในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับพรรคที่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่พรรคต้องมาประเมิน พูดคุยกันภายในว่าอนาคตพรรคจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ต้องรีแบรนด์พรรคกอบกู้ ปชป.

-ในฐานะแกนนำพรรค ปชป. คิดว่าสิ่งที่พรรคจะต้องทำหลังจากนี้เพื่อให้กลับมามี ส.ส.หลังเลือกตั้งได้เกินร้อยที่นั่งแบบที่ผ่านมา ต้องมียุทธศาสตร์อย่างไร?

เป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารพรรค ปชป.ชุดใหม่จะดำเนินการ แต่ ณ เวลานี้ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. อย่างน้อยในภาพรวม พรรคก็มีการบ้านเพิ่มมากน้อยจากเดิมการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ ปี 2554 เรามีการบ้านข้อใหญ่สุดคือภาคอีสาน แต่หลังการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. ก็ทำให้เห็นอย่างน้อยพรรคก็มีการบ้านเพิ่มขึ้นอีก 4 ข้อ คือในทุกภาค คือทั้งอีสาน-เหนือ-กลาง-ใต้-กรุงเทพมหานคร เป็นสิ่งที่พรรคมองเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

เป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะต้องมาดูว่าเราจะไปพลิกฟื้นสถานการณ์ให้พรรคได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพิ่มเติมมากขึ้นด้วยวิธีไหน อย่างไร

ผมคิดว่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้คือเรื่องที่เราต้องเดินหน้า คือทั้งเรื่องตัวผู้สมัคร ส.ส.รายบุคคล-นโยบายพรรค-การที่ต้องประชาสัมพันธ์ผลงานที่ทำมาและการกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน

จุรินทร์-รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ย้ำว่า ที่สำคัญอีกเรื่องคือต้อง รีแบรนด์พรรค ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนภายใต้อุดมการณ์ของพรรค คือไม่ได้รีแบรนด์เพื่อเปลี่ยนอุดมการณ์พรรค พรรคยังต้องยึดมั่นอุดมการณ์ไว้อย่างมั่นคง คือการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา การมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเรื่องที่พรรคต้องยึดมั่นต่อไป

ที่จริงหากจะพูดภาษาการตลาดก็ต้อง Positioning คือ Rebrand แล้วก็กำหนด Positioning ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เป็นสิ่งที่พรรคก็ต้องคิดและนำมาทำ และผมคิดว่าต้องทำ หนีไม่พ้น ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่ทำไปแล้วมันไม่ดี แต่องค์กรต้องมีพัฒนาการของมัน

-เวลานี้ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ปชป.ต้องปฏิรูปพรรค เช่นปรับโครงสร้างพรรคหรือไม่?

ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องจำเป็น แต่การเปลี่ยนดังกล่าวก็ต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีฐาน มีราก มีที่มาพรรค มีอุดมการณ์ที่เป็นฐานราก และเป็นพรรคการเมืองของคนทุกรุ่น ไม่ได้แค่รุ่นใดรุ่นหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำอย่างที่ผมให้ความเห็น แต่ก็ต้องทำอย่างมีวุฒิภาวะ อะไรที่ดีเราก็จะคงไว้เก็บไว้ แต่อะไรที่คิดว่าต้องปรับปรุงพัฒนา เราก็ต้องปรับปรุง เราต้องเปลี่ยนแปลง

-73 ปี มีจุดแข็งคือเป็นพรรคเก่ามีฐานราก แต่อีกด้านคนก็มองว่าในความอยู่มาหลายปี ก็เป็นพรรคอนุรักษนิยม ปรับตัวช้า ยึดมั่นในระบบอาวุโส?

อันนี้ก็อาจต้องเปลี่ยน เปลี่ยนด้วยระบบบริหารจัดการ ผมคิดว่านอกจากอุดมการณ์แล้ว ความทันสมัยก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยความทันสมัยที่บอก คือทันสมัยทั้งด้วยบุคลากรที่จะเข้ามาร่วมงานกับเราเพิ่มเติมในอนาคต และทั้งในเรื่องของนโยบาย และระบบบริหารจัดการภายในพรรคที่จะต้องเป็นระบบบริหารจัดการที่ใช้ศาสตร์ทางการบริหารเข้ามาดำเนินการควบคู่ไปกับศาสตร์ทางการเมือง

การบริหารจัดการพรรคการเมือง มันไม่เหมือนบริหารธุรกิจ จึงต้องมีทั้งหลักการบริหารและการบริหารจัดการทางการเมืองเข้ามาผสมผสาน บวกกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้ามาทำให้การบริหารจัดการทันสมัย ทั้งในเรื่องคน-นโยบาย-หลักการบริหารจัดการ

ถามถึงกรณีของพรรคอนาคตใหม่ ที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนได้มาร่วมหกล้านกว่าเสียง ขณะที่ประชาธิปัตย์ถูกมองว่ามีจุดอ่อนในการเชื่อมต่อ-สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ จุรินทร์ มองว่า หลักก็ต้องทำอย่างที่บอกข้างต้น แต่ตัวบุคคลเราก็ต้องมีคนรุ่นใหม่เข้ามาในพรรคมากขึ้น ให้มีบทบาทมากขึ้น ผสมผสานกับคนรุ่นกลาง ผสมผสานกับคนที่มีประสบการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอันนี้คือจุดแข็งของพรรค ปชป. ไม่ใช่จุดอ่อน เพราะการที่ประชาธิปัตย์มีคนทุกรุ่น คือจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจุดแข็งของพรรคไม่ได้มีแค่มีคนทุกรุ่น แต่คือเรื่องของอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคการเมืองถ้าไม่มีอุดมการณ์ก็เหมือนต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้ว นอกจากนี้อีกจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ การที่เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลาย เพราะมันคือการสะท้อนของความเป็นประชาธิปไตยในพรรค และเมื่อถึงเวลา พรรคก็มีองค์กรที่จะตัดสิน

ผมคิดว่าสิ่งนี้คือจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหลายพรรคไม่มี มันคือจุดแข็ง พรรคการเมืองที่เขาพัฒนาแล้วทั่วโลก พรรคการเมืองที่เขาเดินหน้าไปสู่ความเป็นสถาบัน เขาก็มีหลักในการดำเนินการอย่างนี้ เขาประกอบด้วยบุคคลที่มีความคิดหลากหลาย แล้วสุดท้ายก็มีองค์กรในการตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจแล้วทุกคนก็ยอมรับ แล้วก็เดินหน้าไปในทิศทางที่เสียงส่วนใหญ่ได้ตัดสินไป

-มีการมองกันว่ากลุ่ม New Dem ในพรรคไม่มีบทบาทเท่าที่ควร ไม่ได้รับการผลักดันให้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าๆ?

ความจริงหลายคนในกลุ่ม New Dem พรรคก็ส่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์มีการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีบทบาท ทั้งการส่งเสริมให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง การส่งเสริมให้ทำกิจกรรมและแสดงบทบาทความคิดอ่านทางการเมือง

...คิดว่าในอนาคตจะเป็นนิวเด็มหรือไม่ก็ตาม ผมมั่นใจว่าพรรคจะส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาททางการเมืองมากขึ้นในระดับต่างๆ ที่มีความเหมาะสม นี่ก็เป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ที่เราไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหม่รุ่นเดียว เราก็ยังมีคนรุ่นกลาง คนที่มีประสบการณ์ ถ้าเป็นเรือเราก็มีทั้งฝีพายและหางเสือ ตัวเรือครบถ้วน ที่จะนำพาพรรคประชาธิปัตย์ นำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามทิศทางอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์

-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ก็จะเป็นผู้ลงมติว่าสุดท้ายแล้วพรรคจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐหรือไม่?

กลไกการตัดสินใจว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จะไปร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน จะเป็นเรื่องที่ทางที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์และ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็เขียนไว้แบบนั้น

ถามย้ำอีกรอบว่าการตัดสินใจของพรรค ปชป.ในเรื่องการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลจะยึดหลักอะไร คำตอบที่ได้รับ จุรินทร์ ก็ยืนยันเช่นเดิมต้องหารือประชุมกันภายในพรรค และแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม โดยเมื่อพรรคมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งก็ถือว่าเป็นข้อยุติ

...เรื่องการตั้งรัฐบาลพรรคยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ แล้วก็ไม่ได้มีการมอบหมายให้ใครไปเจรจาในเรื่องนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น เรื่องนี้ผมตอบคนเดียวไม่ได้ แต่พรรคก็ต้องยึดหลักอุดมการณ์และผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ส่วนมติพรรคประชาธิปัตย์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเมื่อถึงเวลานั้น หากว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีการพิจารณา

-การที่ประชาธิปัตย์จะไปร่วมทำงานการเมืองกับเพื่อไทย ยืนยันไหมว่าเรื่องนี้ประตูถูกล็อกปิดตาย?

ก็อย่างที่ผมบอก พรรคไม่ได้มีการไปเจรจาในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลกับขั้วใดทั้งสิ้น ที่ก็หมายถึงขั้วเพื่อไทยด้วยตามที่ปรากฏข่าวปล่อยออกมา ที่ผมก็ได้ปฏิเสธข่าวไปแล้ว

รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ยังกล่าวถึงกรณีบางกลุ่มในพรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวทางของพรรคว่าไม่ควรไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ให้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ ในฐานะเคยมีบทบาทสมัยเป็นฝ่ายค้านมาก่อน ฝ่ายค้านอิสระคืออะไร โดย จุรินทร์ บอกว่าเรื่องนี้ต้องถามผู้เสนอ แต่สำหรับผมมองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ของความหลากหลายทางความคิดของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอันนี้คือจุดแข็ง ซึ่งผมว่าแต่ละฝ่ายก็พยายามเสนอความคิดที่ว่าดีเหมาะสม แต่สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ก็มีกลไกในการตัดสินใจ

-การตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคหรือไม่?

เป็นแค่ความเห็นแตกต่างทางความคิด หลายครั้งที่เมื่อจะต้องพิจารณาตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  พรรคประชาธิปัตย์ก็มีความหลากหลายทางความคิดเสมอ ไม่ใช่ว่าจะเห็นตรงกันครบถ้วนกันหมดร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไป

พรรคประชาธิปัตย์เราเป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน เรามีกลไก มีระบบระเบียบในการตัดสินใจ  เพราะฉะนั้นผมมั่นใจไม่มีปัญหาใดๆ

-แต่ข่าวที่ปรากฏคนที่เคลื่อนไหวให้ความเห็นเรื่องการร่วมรัฐบาลที่เห็นไม่ตรงกันในพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนที่มีบทบาทภายในพรรคสูง?

เป็นเรื่องธรรมดา มันสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมันคือจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่จุดอ่อน เพราะพรรคเราไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีใครเป็นเจ้าของ ที่สามารถสั่งการ 1 2 3 4 แล้วทุกคนต้องปฏิบัติตาม แต่ประชาธิปัตย์เราคือพรรคการเมือง เราคือที่หลอมรวมของคนที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะความหลากหลายทางความคิด ซึ่งก็แน่นอนว่าก็ต้องมีความเห็นต่างกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา

 

โอกาสเห็นงูเห่าสีฟ้า  ปชป.เสียงแตกโหวตนายกฯ?

                -จะมีโอกาสเกิดปรากฏการณ์งูเห่าหรือ ส.ส.ของพรรคโหวตแย้งมติพรรคในที่ประชุมรัฐสภา หรือไม่ และพรรคจะดำเนินการอย่างไร?

ไม่อยากให้พูดและคิดไปก่อน เพราะผมยังมั่นใจว่าสมาชิกพรรค ปชป.ทุกคนจะเคารพและปฏิบัติตามมติพรรค ไม่ว่าจะเป็นมติที่จะไปทางไหนก็ตาม เพราะมติพรรคเป็นที่รวมของความเห็นที่หลากหลายจนหลอมรวมมาเป็นมติหนึ่งเดียว

...การเมืองเวลานี้ยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยอมรับว่าการเมืองจะเริ่มนับหนึ่งหลังจาก กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อตอนนี้ กกต.ยังไม่รับรองก็เลยทำให้การเมืองยังไม่นิ่ง เลยต้องรอให้นิ่ง อันดับแรกก่อนคือการรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ก็บอกไว้ว่าจะประกาศผลเป็นทางการภายในไม่เกิน 9 พ.ค. ที่ก็ไม่แน่อาจจะก่อนหน้านั้นก็ได้ กกต.จะเป็นผู้ให้คำตอบ

เมื่อผลการเลือกตั้งนิ่งแล้วก็จะทำให้เห็นภาพการจัดตั้งรัฐบาลตามมา หน้าตารัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างไร ตอนนี้เรื่องการตั้งรัฐบาลเลยยังตอบอะไรไม่ได้ ทราบแต่ปรากฏการณ์ข้อเท็จจริงว่ามีสองขั้ว กำลังแข่งขันจัดตั้งรัฐบาลกันอยู่ ซึ่งจำนวน ส.ส.ของสองขั้วดังกล่าว หากยึดตัวเลขที่ไม่เป็นทางการก็ยังก้ำกึ่งกันอยู่

                ...ขั้นตอนต่างๆ เมื่อ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะต้องมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก และหลังจากนั้นก็ประชุมสภาและประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือกประธานวุฒิสภา

...เมื่อมีประธานสภาแล้ว ก็จะมีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยเมื่อได้นายกรัฐมนตรีแล้ว จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็จะฟอร์มคณะรัฐมนตรี โดยเมื่อ ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณก็เข้าปฏิบัติหน้าที่ เมื่อถึงตอนนั้น คสช.ก็จะหมดภารกิจไป

สำหรับการเสนอชื่อคนเป็นประธานสภา จะมีชื่อที่เสนอเพียงคนเดียว หรือมีสองคน หรือมากกว่านั้น ก็ยังไม่สามารถตอบได้ ก็ต้องรอดูข้อเท็จจริงก่อนว่าจะมีผู้เข้าแข่งขันกี่คน อาจจะมีคนเดียวหรือสามคน หรือสี่คนก็ได้

"ก็มีผลแน่นอนต่อขั้วใดขั้วหนึ่ง เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุดคือ กกต.ต้องยืนอยู่ตรงกลางให้ได้  ทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาบริสุทธิ์ยุติธรรมให้ได้ เพื่อให้ผลการเลือกตั้งที่เป็นทางการเป็นที่ยอมรับได้ และทำให้การเลือกตั้งรอบนี้ไม่มีมลทินโดยไม่จำเป็น

ส่วนผลที่ตามมาใครจะตั้งรัฐบาลรวมเสียงกันได้อย่างไร ต้องนับหนึ่งจากการจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และมีผลที่มีความชัดเจนก่อน" รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวหลังถามถึงการให้ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดงของ กกต.ต่อจากนี้จะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

-ในฐานะเคยเป็นทั้งประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นอดีตรัฐมนตรี การที่จะทำให้การทำงานของรัฐบาลมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในด้านงานนิติบัญญัติ พรรคร่วมรัฐบาลควรมีเสียง ส.ส.สักกี่เสียง?

รัฐบาลที่มีเสถียรภาพต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนจะมากขนาดไหน ต้องอยู่ที่การรวมเสียง ส.ส.

ก่อนหน้านี้สมัยรัฐบาลชวน 2 ตอนนั้นผมเป็นประธานวิปรัฐบาล เสียงของ ส.ส.รัฐบาลเวลานั้นก็ก้ำกึ่ง รัฐบาลมี ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้าน 18 เสียง แต่เราก็ประคองมาได้ตลอดรอดฝั่ง จะเรียกได้ว่าครบเทอมก็ได้ เพราะท่านชวน หลีกภัย ไปประกาศไว้ก่อนว่าจะยุบสภาก่อนครบเทอม ก็เลยยุบสภาเสียก่อนตามสัญญา แต่ก็เกือบเรียกได้ว่าครบเทอม เพราะฉะนั้นเสียงปริ่มน้ำ หากรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินจนเป็นที่พอใจของประชาชน ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยอมรับกระบวนการตรวจสอบในสภา ยอมรับกฎเกณฑ์กติกา ก็ประคับประคองรัฐนาวาให้เดินหน้าไปได้ อย่างรัฐบาลชวน 2 ก็พิสูจน์มาแล้ว

-ถ้าตั้งรัฐบาลกันที่ ส.ส.แค่ 260 เสียง ไม่เกิน 270 เสียง จะอยู่ได้ยากไหม?

ผมไม่บอกว่าตัวเลขเท่าใด แต่อย่างน้อยต้องเป็นเสียงข้างมากก่อน แต่จะมากเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและการบริหารจัดการ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล การบริหารจัดการในเรื่องการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรและในรัฐสภา

ย้อนกลับมาถามเรื่องภายในพรรค ปชป.ว่าคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ควรต้องมีลักษณะอย่างไร และงานเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีคือเรื่องอะไร จุรินทร์-รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ให้ความเห็นว่า อย่างน้อยงานของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ก็เพิ่มเป็นห้าเรื่องในเรื่องของการเลือกตั้ง (เหนือ-กลาง-อีสาน-ใต้-กทม.) และภารกิจสำคัญอีกเรื่อง การที่ต้องมาฟื้นฟูพรรคให้กลับไปนั่งในหัวใจประชาชนได้อีกครั้ง ซึ่งผมมั่นใจว่าพรรคทำได้ และหลอมรวมพลังของทุกคนในพรรคเข้าด้วยกัน

เราถามถึงว่าหลังการทำไพรมารีโหวตหัวหน้าพรรค ปชป.รอบที่แล้ว ก็ดูเหมือนยังปรากฏความขัดแย้งภายในพรรคอยู่ คนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ต้องเข้ามาประสานรอยร้าว สร้างความเป็นเอกภาพให้พรรค ปชป.อย่างไร จุรินทร์ มองเรื่องนี้ว่า ผมมั่นใจว่าทุกคนมีวุฒิภาวะ แน่นอนการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีผู้สมัครสองคนขึ้นไปก็ต้องมีการแข่งขัน ที่เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

...เรื่องนี้ก็เป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์อีกจุดหนึ่ง ผลการเลือกออกมาอย่างไร ผมมั่นใจว่าทุกคนในพรรคก็ยอมรับอยู่แล้ว ยกเว้นเรื่องความหลากหลายหรือความแตกต่างทางความคิด ที่อย่าไปมองว่าเป็นความแตกแยก มันแค่ความแตกต่างในทางความคิดซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย คือบางคนนำไปปนกัน มองว่าคิดไม่ตรงกัน แสดงว่าแตกแล้ว มันไม่ใช่.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"