13 เม.ย.-ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Kasian Tejapira ตั้งประเด็น ความยากไร้ของสุวินัยในการแกะรอยธนาธร โดยมีรายละเอียกดังนี้
การพยายามแกะรอยความคิดและความจริงในบุคคลคนหนึ่ง ที่สำคัญกรอบอ้างอิงที่ใช้ตีความต้องถูกต้องแม่นยำ ไม่เบี่ยงเบน มิฉะนั้นแทนที่จะแกะรอยเจอตัวจริงของบุคคล อาจแกะรอยไปเจอ "ปีศาจ" ที่ตัวเองปั้นขึ้นมาหลอกตัวเองก็เป็นได้
ดังในกรณีสุวินัยแกะรอยธนาธรนี้
มี ๒ ประเด็นหลักที่เป็นความเข้าใจผิด/มิจฉาทิฐิอย่างยิ่งของสุวินัย ภรณวลัยในข้อเขียนด้านล่างนี้
๑) อะไรคืออุดมการณ์การปฏิวัติ ๒๔๗๕?
-สุวินัยไม่เคยระบุชัดในข้อเขียนข้างล่าง แต่ให้ความรู้สึกว่าเป็นเรื่องรุนแรง เผชิญหน้า นองเลือด พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน บลา ๆ ๆ
-หากสุวินัยได้อ่านเอกสารประวัติศาสตร์จริงจัง รวมทั้งบทบันทึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ก็จะตระหนักว่าเป้าหมายของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ขึ้นมา อันเป็นระบอบที่ดำรงอยู่ในทางหลักการนับแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ไม่ใช่และไม่เคยเป็นการล้มล้างราชาธิปไตย
-อะไรคือความหมายของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) หรือ? หนังสืออ้างอิง 30-Second Politics (2012) อธิบายไว้ว่า:
"ระบอบราชาธิปไตยทั้งหลายในโลกสมัยใหม่ได้พัฒนาไปในทิศทางต่าง ๆ กัน ระบอบราชาธิปไตยในยุโรป (ยกเว้นนครวาติกัน) ได้กลายเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ซึ่งองค์อธิปัตย์คงอำนาจประจำวันไว้เพียงน้อยนิด อำนาจในทางเป็นจริงของกษัตริย์หรือราชินีถูกจำกัดโดยกฎหมายและประเพณี ขณะที่อำนาจแท้จริงอยู่ที่นายกรัฐมนตรีซึ่งถูกเลือกจากรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง"
ในความหมายนี้ การปฏิวัติ ๒๔๗๕ โดยเนื้อแท้แล้วจึงเป็นการปฏิวัติเสรีนิยม (liberal revolution) เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพแบบเสรีนิยม ดังที่ นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ อ้างอิงคำนิยามของ โกรเช นักปรัชญาการเมืองอิตาลีว่า:
"การแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์โดยการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ" (เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, บทที่ ๑๐)
๒) การเปรียบเทียบธนาธรกับเสกสรรค์ในแง่เจตจำนงมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมน่ารับฟัง แต่ในทางกลับกัน การไม่พิจารณาความเป็นจริงทางภาววิสัยภายนอกและหนทางการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างยุคสมัยและสถานการณ์กัน ยึดเอาแต่ภาวะจิตเฉย ๆ ก็นับว่าขาดพร่อง หลุดลอยจากความเป็นจริง และอัตวิสัยมหัศจรรย์ (magical subjectivism) อย่างยิ่ง
การมีอำนาจและต่อรองในบริบทระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้ง (ก็คือระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ย่อมแตกต่างจากการมีอำนาจและต่อรองในบริบทของสงครามปฏิวัติต่อระบอบเผด็จการทหารสมัยพุทธทศวรรษ ๒๕๑๐ ต่อ ๒๕๒๐ อย่างยิ่ง
การเปลี่ยนแปลงการเมืองในบริบทระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งแม้ว่าต้องอาศัยเจตจำนงที่มุ่งมั่นไม่แพ้กัน แต่วิถีทางคือการสร้าง "พรรคปฏิรูป" (reformist party) ขึ้น สร้างอำนาจต่อรองและผลักดันการเปลี่ยนแปลงผ่านการปฏิรูปอย่างยืนหยัดยาวนานทรหดอดทน เพื่อให้บรรลุผลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยไม่ต้องผ่านวิถีทาง "สงครามกลางเมือง" หรือ "เลือดนองแผ่นดิน" (Ralph Miliband, Marxism and Politics, Chapter VI Reform and Revolution)
ตรงกันข้าม ขอให้วิญญูชนทั้งหลายลองใช้สมองตรองคิดดู แทนที่จะมโนประวัติศาสตร์แบบไม่มีที่มาที่ไปว่า "สงครามกลางเมือง" หรือ "เลือดนองแผ่นดิน" เท่าที่เคยเกิดมาในสังคมการเมืองไทย มีต้นเหตุริเริ่มมาจากฝ่ายใดกันแน่? ฝ่ายเผด็จการหรือประชาธิปไตย? ฝ่ายปฏิกิริยาหรือปฏิรูป?
mindset แบบไหนกันที่หูหนาตาบอดต่อความเป็นจริงถึงเพียงนี้?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |