วันก่อนผมเจอท่านทูตเยอรมนีและสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย สนทนากันเรื่องการบ้านการเมืองไทยและต่างประเทศแล้วก็มีคำถามว่าระบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" ในการนับคะแนนจากการเลือกตั้งเพื่อกำหนดจำนวนที่นั่ง "บัญชีรายชื่อ" หรือ Party List กับประเด็นเรื่อง Popular Votes ที่กำลังเป็นประเด็นการถกแถลงกันในสังคมไทยนั้นมาจากเยอรมนีและสหรัฐฯ จริงหรือเปล่า
ท่านเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย Georg Schmidt (เกออร์ก ชมิดต์) ที่ยืนอยู่ซ้ายสุด (พูดจีนกลางคล่องแคล่ว) กับท่านรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ Peter Haymond คนที่สองจากขวา (ที่สนทนาภาษาไทยอย่างเก่งกาจ) ต่างก็บอกผมว่าสูตรของไทยที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่ทั้งของเยอรมนีหรือของสหรัฐฯ แต่อย่างใด โปรดรับทราบเอาไว้ด้วย
ท่านเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำอินโดนีเซีย (และควบคำแหน่งทูตเยอรมนีประจำอาเซียนด้วย) Peter Schoof (คนที่สองจากซ้าย) มาเยี่ยมเยือนกรุงเทพฯ พอดี จึงร่วมวงเสวนาหัวข้อหลากหลายไปด้วย
แต่ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ ระบบเลือกตั้งของเยอรมนีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของเราไปยืมมาบางส่วนจนสร้างความงุนงงในหมู่คนไทยวันนี้
ท่านทูตเยอรมนีประกาศชัดเจนว่าไทยเอาระบบของเขามาเพียง "ครึ่งเดียว" ส่วนอีกครึ่งเป็นการออกแบบของไทยเอง
เหมือนจะแซวเล่นว่าความสับสนงุนงงของระบบการเลือกตั้งไทยวันนี้ เยอรมนีไม่อาจจะรับผิดชอบได้
ท่านทูตสหรัฐฯ ก็แสดงความสงสัยกับผมว่า ไฉนจึงมีการอธิบายกติกาการนับคะแนนสำหรับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ "หลังการเลือกตั้ง" ทำไมไม่ชี้แจงหรือกำหนดให้ชัดเจนกันก่อนการเลือกตั้ง
ผมก็ได้แต่อธิบายว่า กกต.เขาอธิบายว่าอย่างไร และมีผู้คนวิพากษ์ กกต.อย่างไรบ้าง ส่วนใครจะคิดอย่างไรยังเป็นประเด็นที่ต้องแลกเปลี่ยนกันอย่างคึกคักต่อไป
ท่านทูตเยอรมนีอธิบายระบบของเขาว่าอย่างนี้นะครับ
ระบบนี้เรียกว่า Mixed-Member Proportional (MMP) representation
ภายใต้ระบบนี้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกาบัตรสองใบ ใบแรกคือเลือก ส.ส.เขต และใบที่สองสำหรับกาให้พรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ
ก็คล้ายกันกับระบบที่เราเคยใช้ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ
ในระบบของเขาที่นั่งชุดแรกจะจัดให้แก่ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากเขตก่อน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะคำนวณตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับ
เขายกตัวอย่างว่าหากสองพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงเท่ากันที่ 25% ทั้งสองพรรคก็อาจจะได้ที่นั่งในสภาเท่ากับ 25% ของจำนวนที่นั่งในสภา แม้ว่าพรรคหนึ่งจะได้ที่นั่งในการหย่อนบัตร ส.ส.เขตมากกว่าอีกพรรคหนึ่งก็ตาม
แต่ของไทยเราเลือกที่จะใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป
นั่นคือให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวเท่านั้น โดยอ้างว่าจะได้ทั้ง ส.ส.เขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลือกนายกฯ ทางอ้อมด้วย
ความแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ ระบบของเยอรมนีนั้นในการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากในการคิดตามหลักบัญญัติไตรยางศ์ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เข้าข่ายมีเท่าไหร่ก็ให้เป็นเท่านั้น
แต่รัฐธรรมนูญของไทยกำหนดตัวเลขตายตัวสำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ 150 ทั้งๆ ที่ในการคำนวณจริงมีเกินไปที่ 152
ท่านทูตเยอรมนีบอกว่าถ้าเป็นระบบบ้านเขาก็จะปล่อยให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 152 คน เพราะถือว่าประชาชนได้หย่อนบัตรให้ได้ผู้แทนในจำนวนนั้น
แต่เมื่อของไทยเรากำหนดตัวเลขตายตัวเช่นนี้ก็เกิดประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าจะ "ปัดเศษ" กันอย่างไร
เมื่อผู้รู้ตีความรายละเอียดของวิธีการคำนวณและปัดเศษที่กำหนดในกฎหมายเลือกตั้งแตกต่างกัน จึงเกิดกรณีของการถกแถลงอย่างเผ็ดร้อนอย่างที่เห็นกันอยู่ขณะนี้
ส่วนกรณีถกเถียงกันเรื่อง Popular Votes และจำนวน ส.ส.เขต จะเอาอันไหนมากำหนดว่าพรรคไหนมาที่ 1 หรือที่ 2 ก็เป็นวิธีคิดแบบไทยๆ อีกเช่นกัน
เพราะที่สหรัฐฯ นั้นประชาชนรู้แต่ต้นว่าการเลือกประธานาธิบดีเขาไม่ได้ตัดสินกันที่ Popular Votes แต่ตัดสินกันที่ Electoral College คือจำนวน "คณะตัวแทน" จากแต่ละรัฐ ขึ้นอยู่กับขนาดของประชากร
ใครจะชอบหรือไม่ชอบกับวิธีคิดอย่างนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่กติกาว่าไว้อย่างไรก็ต้องเดินตามนั้น
สรุปได้จากบทสนทนาของผมกับนักการทูตวันนั้นก็คือ กติกาของไทยเขียนแบบไทย ยืมใครเขามาครึ่งๆ กลางๆ ก็ต้องอธิบายแบบครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้แหละครับ
อย่าโทษใครเขาเลย หาทางแก้ปัญหาของเราเองเถิด!
ระบบใหม่นี้นัยว่าทำเพื่อจะได้ไม่มีคะแนนไหน "ตกน้ำ" และคนที่รับผิดชอบต้องทำตามสูตรและอธิบายกติกาใหม่นี้ต่างก็ "ดำน้ำ" และ "จมน้ำ" กันเป็นแถวทีเดียว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |