สำนักงานศิลปวัฒนธรรม (สศรฺ) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมจัดแสดงผลงานของประเทศไทยในงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 11 พ.ค.-24 พ.ย. โดยนายธวัชชัย สมคง ภัณฑารักษ์ของศาลาไทย สถานที่แสดงผลงานของศิลปินไทยในเวนิส เบียนนาเล่ กล่าวว่า ในปีนี้ สศร. พิจารณาคัดเลือก 3 ศิลปินไทยเข้าร่วมงานดังกล่าว ได้แก่ นายปัญญา วิจินธนสาร และนายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ทั้ง 2 คน เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และ นายกฤช งามสม ศิลปินสื่อสมัยใหม่ นำเสนองานศิลปะร่วมสมัยในศาลาไทย ภายใต้แนวคิด "โลกยังคงหมุนไป" นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และความจริง ที่เกิดขึ้นทั้งใน ประเทศไทยและชาติตะวันตกจากบริบทของวัฒนธรรมทางสังคม วาทกรรมความเป็นชาติ และพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างชาติ โดยได้หยิบยก 3 สิ่งมารวมกัน เพื่อนำเสนอรูปแบบงานศิลปะร่วมสมัย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนนำเสนอผลงานนามธรรมเกี่ยวกับเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมา และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในมุมมองเชิงศิลปะ ผ่านโศกนาฏกรรม เชื่อมโยง แง่มุมเชิงสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ ที่ผูกพันกับพุทธศาสนา โดยมี 2 เรื่อง หลัก ได้แก่ ตำนานแม่นากพระโขนง โศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 3 เป็นเรื่องเล่าจากเรื่องจริง จนได้มีการสร้างเป็นความบันเทิงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีผลงานภาพชุดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สุสานทหารสัมพันธมิตรที่ จ.กาญจนบุรีไปร่วมแสดงด้วย
นายปัญญา กล่าวว่า ตนมีความตั้งใจนำผลงานศิลปะไทยไปเผยแพร่ในซีกโลกตะวันตกให้ได้จึงได้มีการสร้างสรรค์จิตรกรรมประเพณีไทย โดยคัดลอกฝาผนังหอไตร วัดบางแคใหญ่ จ. สมุทรสงคราม ซึ่งถูกเขียนขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 3 มานำเสนอ เรื่องราวพุทธประวัติ และพุทธชาดก ทั้งสอดแทรกภาพทหารสยามและทหารตะวันตก ปรากฏอยู่คนละด้านตรงข้าม เล็งปลายกระบอกปืนเข้าหากัน สื่อถึงบริบททางสังคมการเมืองช่วงต้นรัตนโกสินทร์ รวมถึงนำจิตรกรรมฝาผนังวัดสุทัศน์ มาจัดทำงานประติมากรรมจัดวาง เกี่ยวกับงานพระพุทธศาสนา ซึ่งตนอยากให้ชาวตะวันตกได้เห็นงานศิลปกรรมของไทยอันล้ำค่า ที่จะสะกดคนดูให้เห็นความละเมียดละไมได้อย่างแท้จริง
ด้าน นายกฤช กล่าวว่า ตนนำเสนอสื่อสมัยใหม่ ผ่านงานสถาปัตยกรรม ที่มีเรื่องเล่าของ ตู้ประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงในสมัย รัชกาลที่ 5 ที่ ไทยมีความสัมพันธ์กับอิตาลี นำเสนอผ่านอาคาร สถานีรถไฟหัวลำโพง ตึกไทยคู่ฟ้า และทำเนียบรัฐบาล สื่อความเชื่อมโยงระหว่างไทยและอิตาลี นอกจากนี้ ยังมีประติมากรรม ม้ากัณฐกะ สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาของการก้าวข้ามโลกียะและโลกุตระไปสู่สัจธรรมของชีวิต และยังมีม้าโยกของเล่น ประดับลายคิวปิดแบบตะวันตกด้วย