“ประยุทธ์” ฉวยจังหวะใกล้สงกรานต์ ดอดใช้มาตรา 44 อุ้ม “มือถือ-ทีวีดิจิทัล” ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้ “ฐากร” มีอำนาจเด็ดขาดวินิจฉัย พร้อมยืดจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 จาก 4 งวดยาวไป 10 งวด ปีละงวด พ่วงให้ทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตและได้ค่าชดเชย “ประธานทีดีอาร์ไอ” ชำแหละค่าแกล้งโง่ ยกประโยชน์ 2.4 หมื่นล้านบาทให้นายทุน ไร้ความรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและการเมือง ไม่ต่างยุครัฐบาลโกง
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนพิเศษ 93 ง และมีผลใช้บังคับแล้ว
สำหรับเนื้อหาของประกาศดังกล่าวมีทั้งสิ้น 6 หน้า จำนวนทั้งสิ้น 16 ข้อ เนื้อหาที่น่าสนใจเริ่มตั้งแต่ข้อ 2 ที่ให้อำนาจนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยในการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ และให้ถือเป็นที่สุด
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวยังได้แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.การประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 895-915 เมกะเฮิรตซ์/ 940-960 เมกะเฮิรตซ์ หรือคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยผู้รับใบอนุญาตรายใดไม่สามารถชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ได้ แจ้งเป็นหนังสือยังสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วัน เพื่อขอแบ่งชำระเงินประมูลคลื่นความถี่เป็น 10 งวด ปีละงวด งวดละเท่าๆ กัน (เดิมกำหนดให้จ่าย 4 งวด) โดยให้ปีที่ผู้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่เริ่มนับเป็นงวดแรก และเมื่อสำนักงาน กสทช. พิจารณาแบ่งเงินประมูลคลื่นความถี่ที่ต้องชำระในแต่ละงวดได้แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ตามงวดดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป สำหรับงวดที่ต้องชำระในปี 2563 ให้ชำระรวมกับเงินชดเชยของงวดที่ผ่านมาด้วย
กรณีผู้รับใบอนุญาตไม่ชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือตามงวดที่แบ่งชำระภายในเวลาที่กำหนด ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่เพิ่มเป็นจำนวนเงินเท่ากับผลคูณของจำนวนเงินประมูลคลื่นความถี่ที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี โดยคำนวณเป็นรายวัน หากพ้นกำหนดชำระเงินจะถือว่าผู้รับใบอนุญาตกระทำผิดเงื่อนไข กสทช. อาจพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
2.การใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล คำสั่งได้กำหนดให้ผู้รับอนุญาตรายใดประสงค์จะคืนใบอนุญาตให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วันเช่นกัน และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว โดยจะยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ต้องชำระงวดสุดท้ายของราคาขั้นต่ำ หรือราคาเริ่มต้น และ 2 งวดสุดท้ายของราคาที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ หรือราคาเริ่มต้นตามประกาศ และในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตรายใดไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่จนถึงงวดที่ได้รับยกเว้น ให้ผู้รับใบอนุญาตรายนั้นชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ครบถ้วนจนถึงงวดที่ได้รับยกเว้น โดยให้ชำระภายใน 120 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
คาด 4-5 รายคืนใบอนุญาต
นายฐากรกล่าวว่า กสทช.จะทำรายละเอียดชี้แจงในวันพุธที่ 17 เม.ย. เวลา 11.00 น. ซึ่งจากคำสั่งส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลือรายละ 13,622 ล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่าใบอนุญาต และให้คืนใบอนุญาตได้ โดย กสทช.จะตั้งอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชย ส่งผลให้เหลือช่องทีวีน้อยลงและอุตสาหกรรมสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ เบื้องต้นประเมินว่าจะมีผู้คืนใบอนุญาต 4-5 ราย
“การออกมาตรการช่วยเหลือครั้งนี้จะได้ประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยมาตรการต่างๆ ไม่น่าทำให้รัฐเกิดความเสียหาย และผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถนำเงินที่ยังไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 900 MHz มาประมูลคลื่น 700 MHz ในอัตราที่มีเหตุผล” นายฐากรกล่าว และว่า เงื่อนไขการประมูลคลื่น 700 MHz นั้น กสทช.จะจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ได้ภายในปลายเดือน เม.ย.นี้
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2562 ถือเป็นการแก้ไขปัญหาของโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ยุ่งยากและความเดือดร้อนก่อนหน้านี้ได้เกือบหมด โดยผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะได้รับการช่วยเหลือในการขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz แต่การจะได้รับสิทธิต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะได้รับความช่วยเหลือให้สามารถประกอบกิจการต่อ หรือคืนใบอนุญาตได้ ส่วนผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX) จะได้รับการสนับสนุน
ทั้งนี้ ตามคำสั่งมาตรา 44 ที่ให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz สามารถแบ่งชำระเงินค่าคลื่นความถี่จากเดิม 4 งวดเป็น 10 งวดนั้น จะทำให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ที่จะจ่ายค่างวดครั้งสุดท้ายในปี 2563 ประมาณ 63,744 ล้านบาท เหลือจ่าย 23,269 ล้านบาท และปีต่อไปจนถึงปี 2568 จำนวน 8,095 ล้านบาท, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือทรู ที่จะจ่ายค่างวดครั้งสุดท้ายในปี 2563 ประมาณ 64,433 ล้านบาท จะเหลือ 23,614 ล้านบาท และจ่ายปีต่อไปจนถึงปี 2568 ประมาณ 8,164 ล้านบาท ส่วน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค จะยืดไปจนถึงปี 2570
นักวิเคราะห์ บล.เอเชียพลัสระบุว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาต 3 ใบ และมีช่องความคมชัดสูง ได้แก่ บมจ.บีอีซีเวิลด์ หรือช่อง 13, 28 และ 33 จะได้รับค่าตอบแทนอย่างเต็มที่สูงถึง 1,965 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตช่อง SD 1 ใบ อย่าง บมจ.อาร์เอส ช่อง 8, บมจ.โมโน เทคโนโลยี ช่อง 29 และ บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ช่อง 23 จะได้ค่าตอบแทนราว 800 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นปิดตลาดเมื่อวันที่ 22 เม.ย. พบว่าราคาหุ้นทรูปิดที่ 5.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 สตางค์หรือเพิ่มขึ้น 0.96% ขณะที่ดีแทคปิดตลาดอยู่ที่ 53 บาท ลดลง 2.25 บาท หรือลดลง 4.07% และหุ้นเอไอเอสปิดตลาดอยู่ที่ 190.50 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือลดลง 0.26%
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อเรื่อง "ยืดหนี้มือถือ = ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุน" โดยระบุว่า 1-2 วันนี้มีข่าวลือว่าจะมีการออกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 เพื่อยืดหนี้ให้กับบริษัทโทรศัพท์มือถือ 3 รายคือ เอไอเอส, ทรู และดีแทค ในเร็วๆ นี้ ซึ่งทำให้หุ้นของบริษัททั้งสามเด้งสูงขึ้นมาทันที ซึ่งชัดเจนอย่างไม่มีข้อสงสัยว่าผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสามจะได้ประโยชน์ หากมีมาตรการยืดหนี้จริง ซึ่งตรงกันข้ามกับความพยายามก่อนหน้านี้ของคนในภาครัฐ ที่บอกว่ามาตรการนี้ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางรายบอกว่า ทรูจะได้ประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่ดีแทคจะได้ผลประโยชน์น้อยที่สุด เพราะหนี้งวดสุดท้ายที่จะถูกยืดออกไปมีมูลค่าน้อยที่สุด
ชำแหละค่าแกล้งโง่
“การคำนวณของผมพบว่า ที่จริงแล้วทั้ง 3 บริษัทได้ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน แม้ว่าหนี้ก้อนสุดท้ายที่จะยืดออกไปจะใหญ่ไม่เท่ากัน แต่การปรับระยะเวลาในการยืดหนี้ที่แตกต่างกันก็ทำให้สุดท้ายได้ตัวเลขเท่าๆ กัน คือแต่ละรายได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เสมือนมีการหารือกันมาก่อนเพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่ผู้เสียเปรียบจากมาตรการดังกล่าวคือ ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะการที่รัฐยืดหนี้ให้ทั้ง 3 รายคือ การยกผลประโยชน์ของประชาชน 2.4 หมื่นล้านบาทให้นายทุนโทรคมนาคม” นายสมเกียรติระบุ
นายสมเกียรติโพสต์อีกว่า ข้ออ้างเรื่องการยืดหนี้อุ้มผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าประมูลคลื่น 5G ก็เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น ด้วยหลายเหตุผลคือ 1.ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมและความจำเป็นต้องประมูลคลื่น 5G ในปีนี้ และ 2.ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ไม่มีใครสัญญาว่าจะเข้าประมูล 5G เลย โดยต่างพูดตรงว่า ต้องดูเงื่อนไขการประมูลและราคาเริ่มต้นก่อน
“ข้ออ้างในการยืดหนี้เพื่อให้เอกชนเข้าประมูล 5G จึงไม่ใช่หมูไปไก่มา แต่เสียหมูไปฝ่ายเดียว เสมือนเป็นค่า (แกล้ง) โง่ โดยหากมีการใช้มาตรการดังกล่าวจริงก็ต้องถือว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง”นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติอธิบายต่อว่า ในทางกฎหมายการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 จะทำให้ คสช.และรัฐบาลพ้นความรับผิดทางกฎหมาย ประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้ ส่วนในทางการเมือง การดำเนินการในช่วงหลังเลือกตั้งทำให้ไม่ถูกคู่แข่งโจมตีในการเลือกตั้งว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และการดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อย เพราะเป็นวันหยุดยาว
“หากรัฐบาลและ คสช. ซึ่งมาจากการยึดอำนาจและกล่าวหารัฐบาลก่อนหน้านี้ว่าทุจริตคอร์รัปชันต้องออกคำสั่งใช้มาตรการพิเศษ เพื่อทำเรื่องที่ไม่จำเป็น สร้างความเสียหายต่อประชาชน และทำลายความน่าเชื่อถือในการทำสัญญากับภาครัฐ เพียงเพื่อเอื้อนายทุน เราคงอดคิดไม่ได้ว่า แม้ คสช.จะประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่รัฏฐาธิปัตย์แท้จริงที่เหนือกว่า คสช. ก็คือกลุ่มทุนบางกลุ่มนั่นเอง” นายสมเกียรติโพสต์ทิ้งท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |