พปชร.ติวผู้แทนใหม่ แนะอย่าบุ่มบ่ามบวชแก้บน-ให้ของขวัญ หวั่นขาดคุณสมบัติ ปัดเสนอรัฐบาลแห่งชาติดัน "ลุงตู่" เป็นนายกฯ คนเดียว ไม่กังวลเดดล็อก ยอมรับรัฐบาลผสมจะอยู่ได้ไม่นาน "เพื่อไทย" บี้ กกต.เปิดสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ขู่ทำผิด รธน.ต้องรับผิดชอบ เครือข่ายนักวิชาการจี้ให้เปิดคะแนนทั่วประเทศ-ถอนฟ้องหมิ่น 7 ผู้ต้องหา "นิพิฏฐ์" ร้อง กกต.ย้ำโกงพัทลุงโยง กก.บห.โทษถึงยุบพรรค ปูดมีการเจรจาต่อรองผู้มีอำนาจเหลือแค่เลือกตั้งใหม่
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วันที่ 10 เมษายน มีประชุมคณะผู้บริหาร แกนนำพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ภาคต่างๆ ของพรรค โดยในที่ประชุมได้มีการรายงานภาพรวมผลการเลือกตั้งของพรรค จำนวน ส.ส.ของพรรคที่ได้ และข้อร้องเรียนต่างๆ รวมถึงแนวทางปฏิบัติก่อนการจัดตั้งรัฐบาล จากนั้นช่วงบ่าย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค เป็นประธานการประชุมว่าที่ ส.ส.ของพรรคทั้ง 116 คน โดยมีแกนนำพรรคและว่าที่ ส.ส.เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ ทางพรรค พปชร.ได้เปิดให้ว่าที่ ส.ส.และสมาชิกพรรครดน้ำผู้หลักผู้ใหญ่และแกนนำพรรค โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
ภายหลังการประชุม นายอุตตมกล่าวว่า พรรคได้มีการชี้แจงหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานในช่วงเวลานี้ให้กับว่าที่ ส.ส.พรรค ทั้งในเรื่องการเมืองที่พรรคจะดำเนินการตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนดไว้ ในกรอบเวลาที่มีอยู่ พรรคมีหลักการว่าจะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และจะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ จะเดินหน้าเตรียมการขับเคลื่อนนโยบายที่ได้นำเสนอไว้กับประชาชน
นายอุตตมกล่าวว่า พรรคยังมีความมั่นใจในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องทำไปตามขั้นตอน ซึ่งต้องรอให้ กกต.แถลงรับรองอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคม เมื่อถึงตรงนั้นก็จะมีความชัดเจนขึ้น เรื่องความชัดเจนของตัวเลข ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเรียกร้องให้ กกต.ทำให้มีความชัดเจนมากที่สุด ส่วนหลักการร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นๆ เบื้องต้นต้องมีอุดมการณ์ร่วมกัน และสอดรับกับพรรค โดยสนับสนุนประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงดูว่านโยบายของแต่ละพรรคมีอะไรสอดคล้องกับพลังประชารัฐบ้าง
หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวถึงเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า พรรคไม่มีแนวคิดเสนอทางเลือกนี้ เพราะเดินหน้าภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และยึดมั่นในกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง เรื่องการหารือกับพรรคเล็กต่างๆ ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ทำอยู่ แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปอะไร และคงไม่มีใครไปพูดอะไรที่ทำให้ผูกมัดได้ตอนนี้ ยืนยันจุดยืนเดิมและจุดยืนเดียวในการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ในนามพรรคต่อไป อย่ากังวลว่าจะมีปัญหาเดดล็อกการเมือง เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิด ต้องเชื่อไว้ก่อนว่าจะสามารถเดินไปสู่จุดที่คนไทยอยากเห็น คือการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล และทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนเรื่องรัฐบาลผสม ถือเป็นเรื่องปกติในระบบการเมือง แต่จะมีผลอย่างไรต้องรอดูว่าหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างไร
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพปชร. กล่าวว่า สำหรับจำนวน ส.ส.ที่พรรคจะได้ เรามีวิธีคำนวณ ซึ่งคิดว่าจะใกล้เคียงที่สุด โดยจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 19 คน เมื่อรวมกับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 97 คน ตัวเลข ส.ส.ของพรรคตอนนี้จะอยู่ที่ 116 คน ทั้งนี้ ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้ง 97 คน มี ส.ส.เก่า 37 คน และเป็น ส.ส.ครั้งแรก 60 คน ซึ่งไม่นับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นกล้าบอกว่าพรรค พปชร.เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้แตกต่างจากพรรคที่บอกว่าเป็นคนรุ่นใหม่เท่าไร เมื่อตัวเลขเป็นอย่างนี้ จึงมีงานต้องทำอีกเยอะ
รัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน
“เบื้องต้นสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องระวังอย่าให้ผิดคุณสมบัติ มีคนบอกว่าชนะแล้วจะบวชแก้บน ขอว่าช่วงนี้อย่าเพิ่งบวช เพราะถ้าบวชแล้วจะผิดคุณสมบัติที่ห้ามเป็นภิกษุสามเณร จึงต้องรีบเตือนกันไว้ ซึ่งต้องดูให้ดี ช่วงนี้จะทำอะไรอย่าบุ่มบ่าม” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลไม่ควรให้ของขวัญหรือสิ่งของใดๆ เพราะไม่สามารถทำได้ ต้องเข้มกันไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปให้มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เพราะ กกต.ยังไม่ได้รับรอง ปัจจุบันพรรคได้ร้องเรียนเรื่องการเลือกตั้งต่อ กกต. 22 เขต และพรรคถูกร้องเรียนด้วย 27 เขต โดยจะมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคอีสาน เป็นผู้ประสานงาน 27 เขตที่มีผู้ร้องเรียน ได้มอบให้นายอนุชา นาคาศัย กรรมการบริหารพรรค ดูแลเรื่องร้องเรียนอยากให้ว่าที่ ส.ส.ดูรายละเอียดและสำนวนให้ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงหนึ่งของการประชุม นายสนธิรัตน์กล่าวว่า "ขอให้ทุกคนตั้งสมมุติฐานว่ารัฐบาลที่กำลังจะตั้งขึ้น อาจอยู่ได้ไม่นาน เพราะรัฐบาลผสม อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร ขอให้จำไว้ว่าพวกเราพร้อมชนะเลือกตั้ง"
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค,นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค, นายชัยเกษม นิติสิริ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ และนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าวเรียกร้องให้ กกต.เปิดเผยวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
โดยนายภูมิธรรมกล่าวว่า พรรคยังยืนยันทุกคำมั่นสัญญาที่พูดไว้ตอนเสียง เราจะทำทุกนโยบายที่ได้แถลงไว้ หากได้เป็นรัฐบาลจะนำสิ่งเหล่านั้นทำทันที หากไม่ได้เป็นรัฐบาลจะนำสิ่งเหล่านั้นมาทำตามศักยภาพของเรา ส่วนเรื่องระบบคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้กำหนดวิธีปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน คงไม่สามารถคำนวณตามอำเภอใจใครได้ กกต.ต้องทำตามขั้นตอนกฎหมาย ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคมีความเห็นจะทำหนังสือเป็นทางการ ให้ กกต.ทำตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติถือว่า กกต.จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ตามที่ กกต.แถลงว่าจะมีพรรคการเมืองได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรคนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่าวิธีการคำนวณดังกล่าวอาจเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายชัดเจน ว่าจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ต้องยึดจำนวนตามที่คำนวณได้เป็นเกณฑ์ จะนำไปเฉลี่ยให้กับพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนนมิได้ พรรคการเมืองใดที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคนย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส.พึงมีเสียก่อน
กกต.ต้องรับผิดชอบ
เมื่อถามว่า หาก กกต.ยังยืนยันจะใช้สูตรเดิมในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถ้าคำนวณเป็นอื่นแล้วพิสูจน์ไม่ได้ว่าถูกต้อง ถือว่า กกต.มีความพยายามจงใจทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ก็ต้องไปว่ากันในวันข้างหน้า จะอ้างว่าทำถูกกฎหมายก็อ้างได้ แต่ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบ
ถามว่ากรณีเครือข่ายภาคประชาชนเข้าชื่อและไปยื่นถอดถอน กกต. พรรคเห็นด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ภาคประชาชน พรรคการเมือง มีข้อคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ร้องขอให้ กกต.กระทำการไปในทางที่ถูกกฎหมาย การไปเข้าชื่อยื่นถอดถอน กกต.ของภาคประชาชนนั้น สามารถทำได้ ในส่วนของเราจะไม่หยุดแค่นี้ มีช่องทางไหนที่พอทำได้ก็จะทำทุกช่องทางตามกฎหมาย
ถามอีกว่า จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อกับประเด็นเรื่องเลือกตั้งโมฆะ น่าจะเป็นคนละประเด็น คำว่าการเลือกตั้งโมฆะคือมีการกระทำโดยมิชอบโดยรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมามีการร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน และมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่ในส่วนของพรรค เราเรียกร้องให้มีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นไปตามกฎหมาย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า การเคลื่อนไหวล่ารายชื่อถอดถอน กกต. เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง แม้การถอดถอนไม่ง่ายดาย แต่สิ่งยิ่งใหญ่กว่าคือมโนธรรมสำนึกและจริยธรรมทางการเมือง ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ ส่วนจะลุกลามนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ คิดว่าทุกฝ่ายระมัดระวัง เพราะทุกคนก็รู้ว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์อันแสนสาหัส อีกทั้งคนไทยทุกคนก็รู้ถึงกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่รออยู่ข้างหน้า ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง ถ้า กกต.ตอบข้อสงสัยไม่ได้ ก็ไม่ควรเอาผลการเลือกตั้งนั้นมาใช้ปกครองบ้านเมือง นี่เป็นข้อสงสัย ข้อกังวล และแบบมันถูกออกให้บ้านเมืองถึงทางตัน
ที่หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) พร้อมด้วยสมาชิก สนท.ร่วมชี้แจงการเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 7 คน ในข้อหา “เป็นเจ้าพนักงานรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยนายจักรี เสาวภา ตัวแทน สนท. อ่านแถลงการณ์
นายพริษฐ์กล่าวว่า สนท.จะรอให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ให้เรียบร้อยก่อน ทั้งการรับรองผลการเลือกตั้งจนสามารถเปิดสภาได้ หาก กกต.ได้รับโทษจากแคมเปญนี้หรือติดคุกจริง จะขอเช็กบิลภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ยิ่งชัดเจนว่า กกต.ต้องรับผิดชอบ ตอนนี้ สนท.อยู่ในขั้นเตรียมการและรวบรวมประเด็น คาดว่าจะได้ขึ้นศาลราวเดือนมิถุนายน
ย้ำโกงเลือกตั้งพัทลุง
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง เขต 2 แถลงถึงประเด็นการทุจริตการเลือกตั้ง เขต 2 จังหวัดพัทลุง ว่า ยืนยันว่ามีการเตรียมการทำเป็นกระบวนการที่ใหญ่มาก มีการถ่ายบัตรประชาชนไว้เบื้องต้น 4 หมื่น และเพิ่มมาเป็น 6 หมื่นใบ โดยกรณีนี้ กก.บห.พรรคนี้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจการทุจริตด้วย มีโทษถึงการยุบตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่มีการต่อรองของพรรคการเมืองนั้นกับผู้มีอำนาจว่าอย่าให้โทษถึงยุบพรรค ขอให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็พอ เพราะหากลงโทษตามกฎหมายถึงขั้นยุบ จะกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลเพราะพรรคที่กระทำนี้เป็นพรรคหนึ่งที่จะร่วมรัฐบาล ย้ำว่ากรณีนี้มีหลักฐานที่สามารถโยงถึง กก.บห.และมีพยานบุคคลรวมถึงคลิป ข้อความสั่งทางไลน์ด้วย และต้องเรียกร้องต่อหัวหน้า คสช.โดยตรง ขอให้ดูแลคุ้มครองพยาน หากพยานทุกคนของตนเป็นอะไรไป คงต้องโทษหัวหน้า คสช.
จากนั้นนายนิพิฏฐ์เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงาน กกต. ขอให้ประธาน กกต.ตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งเขต 2 จ.พัทลุง และขอให้คุ้มครองพยานที่รู้เห็นการทุจริต เนื่องจากพยานถูกโทรศัพท์ข่มขู่จนหวาดกลัวว่าจะได้รับอันตราย ต้องหลบหนีออกนอกพื้นที่แล้ว 3 ราย แต่ยังคงมีพยานอีกกลุ่มที่พร้อมจะให้ข้อมูลการทุจริตเลือกตั้งครั้งนี้ สาเหตุที่ต้องเดินทางมาร้องเรียนที่ กกต.ส่วนกลาง เนื่องจากไม่เชื่อมั่นการทำงานของ กกต.ในพื้นที่
ขณะที่นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายชุมสาย ศรียาภัย ทนายความ เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ขอความชัดเจนว่า กกต.คิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อยึดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตราใด
ทางด้านนายอนุสรณ์ อุณโณ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองถึง กกต.ระบุว่า กกต.สังคมไทยไปสู่จุดตีบตันหรือว่าวิกฤติระลอกใหม่ จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ต้องเปิดเผยผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงวิธีการรวบรวมผลการนับคะแนน 2.ต้องเปิดเผยวิธีการและขั้นตอนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยละเอียดอย่างเป็นทางการ 3.ต้องถอนฟ้องประชาชนที่แชร์การลงชื่อถอดถอน กกต. รวมถึงประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน กกต.ในลักษณะอื่น เพราะการลงชื่อและการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเจตนาจะหมิ่นประมาท กกต. ไม่ควรใช้กฎหมายมาปิดปาก หาก กกต.ไม่ถอนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 7 ราย ก็ขอให้ดำเนินคดีกับนักวิชาการที่ลงชื่อและแชร์การถอดถอน กกต.ใน Change.org จำนวน 121 คน เพื่อความเท่าเทียมกัน
"อยากให้ กกต.ทำงานด้วยความกล้าหาญมากกว่านี้ อย่าเห็นแก่ตนเองที่ได้รับการปลุกปั่นหรือหวาดกลัวสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อทำให้ กกต.เป็นองค์กรอิสระที่เที่ยงธรรม กกต.ชุดนี้มีความไม่เป็นกลางมากที่สุด ส่วนตัวประเมินว่าสอบตก เพราะจนถึงขณะนี้ตอบไม่ได้ว่าเหตุใดจำนวนผู้ใช้สิทธิ์กับจำนวนบัตรลงคะแนนจึงไม่ตรงกัน ดังนั้น กกต.ควรจะรีบเปิดเผยผลคะแนนโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ คนส.ไม่ได้มองไปไกลถึงทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การลงชื่อถอดถอนเป็นเพียงยุทธวิธี เพราะเอาเข้าจริงการลงชื่อถอดถอนนั้นไม่ได้มีผลทางกฎหมาย แต่ทำไปเพื่อให้เกิดแรงกดดันทางสังคม” นายอนุสรณ์กล่าว
กกต.ซื้อเวลาต่อไป
ส่วนนายอัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมายมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม นำรายชื่อ 63 เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและมนุษยชน เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อประธาน กกต. เช่นเดียวกัน
เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เปิดเผยว่า หลังจากเครือข่ายกลุ่มคนและสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศ ร่วมลงชื่อสนับสนุนในแคมเปญ ‘ลงชื่อถอดถอน กกต.’ ผ่าน Change.org/EC กระทั่งปัจจุบันมีผู้เห็นด้วยกว่า 8 แสนคน เครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ ขอเป็นตัวแทนเสียงของผู้สนับสนุนแคมเปญดังกล่าว จะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมรายชื่อผู้ที่ร่วมสนับสนุนกว่า 8 แสนคนต่อ ป.ป.ช. ในวันที่ 11 เม.ย. เวลา 09.00 น. เพื่อขอให้มีการสอบสวนและตรวจสอบ กกต. ตามกระบวนการทางกฎหมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ทางด้านนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม กกต.ว่า ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องใดได้ข้อสรุป และยังไม่มีมติใดๆ ออกมา ซึ่งหลังจากนี้จะกลับขึ้นไปประชุมกันต่อ ทั้งนี้ กกต.จะพิจารณาข้อความในมาตรา 128 ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร แต่ยืนยันว่ามีแนวคิดในการคำนวณไว้อยู่แล้ว ขอให้รอมติจากที่ประชุม กกต.ก่อน โดยสำนักงาน กกต.ได้เสนอเรื่องและวิธีการคำนวณมายัง กกต.แล้ว
เมื่อถามว่า สูตรที่กำหนดไว้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย จำเป็นจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า เป็นหนึ่งในประเด็นที่ กกต.จะพิจารณาด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่อยากให้ความเห็น เพราะที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จึงกลัวจะเกิดความคลาดเคลื่อน ซึ่งหากมีความชัดเจนใดๆ จะมอบหมายให้สำนักงาน กกต.เป็นผู้แถลงข่าว
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวกจารแผ่นดิน ส่งความเห็นให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 24 มีนาคมเป็นโมฆะว่า ได้อ่านคำร้องดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอยู่ในขั้นตอนพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากรับไว้พิจารณา ก็ต้องดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 9 พ.ค.นี้
"แม้คำร้องที่เข้ามาจะมีผลกระทบต่อทางการเมืองก็ไม่ลำบากใจ โดยการทำงานยึดหลักความสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติ ถ้าองค์กรอิสระทุกองค์กรยึดตามนี้ เชื่อว่าประชาชนจะไว้วางใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้" พล.ท.วิทวัส กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |