วิกฤตหมอกควันในภาคเหนือ เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน
สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะเชียงใหม่ คนในพื้นที่เคยชินกับการเกิดปัญหาเช่นนี้ทุกปีในช่วงรอยต่อเข้าฤดูร้อน แม้จะมีการเตรียมพร้อมรับมือไฟป่าและหมอกควันในหลายจังหวัดภาคเหนือ ทั้งลดการเผาป่า เผาไร่ข้าวโพด แต่ก็ยังคงเกิดปัญหาฝุ่นพิษหมอกควันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และในปีนี้ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในบางพื้นที่ขึ้นสูงถึง 500-600 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจัดว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก
ความรุนแรงของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือหลายภาคส่วนเรียกร้องขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและจริงใจ โดยเฉพาะการพิจารณาประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางอากาศ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กำลังเป็นประเด็นน่าวิตกขณะนี้ กล่าวว่า หลังจากที่กรุงเทพฯ ได้เผชิญมลพิษฝุ่น PM 2.5 ในช่วงปลายเดือนมกราคมเข้ากุมภาพันธ์ ซึ่งวัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ได้สูง 70- 80 มคก.ต่อ ลบ. ถนนพระราม 2 วัดได้สูงถึง 200 มคก.ต่อ ลบ.ม. ทำให้คนกรุงตื่นตัวต่อปัญหาฝุ่นพิษ สื่อนำเสนออย่างครึกโครม รัฐบาลและหน่วยงานต่างชิงพื้นที่สื่อมวลชนเสนอข้อมูลนี้ต่อเนื่อง หันกลับมาดูสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือที่รุนแรงหนักในพื้นที่ จ.เชียงใหม่นั้น บางวันสูงถึง 500-600 มคก.ต่อ ลบ.ม. รวมถึงมีรายงานค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในประเทศเพื่อนบ้านรัฐชาน เมียนมา สูงถึง 1,200 มคก.ต่อ ลบ.ม. จากการเผาที่ทำให้เกิดหมอกควันข้ามมายังหลายจังหวัดของภาคเหนือ
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศ.ดร.ศิวัชย้ำวิกฤติภาคเหนือว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่ชาวเชียงใหม่สูดเข้าร่างกายเพียงแค่ 1 วัน เทียบเท่าค่าฝุ่นพิษที่เข้าร่างกายคนกรุงเทพฯ ในภาวะวิกฤติถึง 10 วัน แต่เรื่องเงียบกริบ หรือปอดของคนเชียงใหม่แข็งแรงกว่าคนกรุงเทพฯ ทั้งที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ เพิ่มขึ้นจนเต็มโรงพยาบาล แต่รัฐบาลก็ยังใช้มาตรการจับปรับกับคนเผาป่าเผาไร่ ผู้ใหญ่บางคนบอกเป็นเรื่องดรามาตื่นตระหนกฝุ่น PM 2.5 ทำไมทั้งที่มันคือมัจจุราชฆ่าคนให้ตายผ่อนส่ง ซึ่งในมลพิษนี้ยังมีสารพิษชนิดอื่น เช่น สารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ และโลหะหนัก
ประเด็นที่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมย้ำคือ รัฐบาลควรหาแนวทางป้องกันและจัดการมลพิษอากาศ ซึ่งแบ่งเป็นในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับมาตรการระยะสั้น ศ.ดร.ศิวัชกล่าวว่า รัฐบาลต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางอากาศเพื่อจังหวัดจะได้มีงบภัยพิบัตินำมาแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและบริหารจัดการฝุ่นให้หายไป รวมถึงจัดซื้อหน้ากากที่ถูกต้องและสามารถกรองมลพิษได้ นำมาแจกจ่ายให้ประชาชน เวลานี้ที่เชียงใหม่หลายภาคส่วนเรี่ยไรเงินบริจาคจากประชาชนเพื่อซื้อหน้ากาก ประชาชนต้องควักเงินซื้อหน้ากาก ซื้อเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งมีราคาสูงเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องปกป้องสุขภาพประชาชน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ก็เพียงประกาศยกให้เป็นวาระแห่งชาติ มันเป็นเรื่องนโยบาย จะแก้ได้ 5 ปี 10 ปี เป็นเรื่องอนาคต โดยที่ไม่ยอมรับเป็นภัยพิบัติ ห่วงกระทบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แต่แลกกับสุขภาพคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะเด็กเล็กที่ได้รับผลกระทบล้นโรงพยาบาล
สำหรับกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กและเยาวชนในภาคเหนือเขาเสนอภาครัฐจำเป็นต้องเร่งหามาตรการเฉพาะกิจมาดำเนินการแก้ไข เช่น การให้ความรู้กับประชาชนในการงดพฤติกรรมในที่โล่งแจ้งในช่วงที่ค่า AQI สูงเกินมาตรฐาน ส่วนการประกาศหยุดเรียนในพื้นที่วิกฤติหมอกควันอาจไม่ตอบโจทย์ เพราะเด็กบางส่วนอาจไม่ได้ระมัดระวังออกไปสัมผัสฝุ่นภายนอก ทางการควรจัดพื้นที่ให้เด็กเรียนรวมกันและภายในอาคารดังกล่าวมีเครื่องฟอกอากาศที่มีคุณภาพเป็นการป้องกันสุขภาพของเด็กๆ
เผาป่าเผาไร่สาเหตุของวิกฤติ PM 2.5 ในภาคเหนือ
เครื่องฟอกอากาศขนาดยักษ์ให้กับเมืองเป็นอีกข้อเสนอ นักวิชาการด้านฝุ่นพิษกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องคิดเรื่องการฟอกอากาศให้คนทั้งเมือง จีนเป็นผู้นำระดับโลกเรื่องการจัดการมลพิษทางอากาศ ตนได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยกับจีน ปัจจุบันที่เมืองซีอานมีต้นแบบปล่องบำบัดมลพิษทางอากาศ งบประมาณสร้าง 60 ล้านบาท ปล่องนี้สามารถลดค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ในรัศมี 10 ตารางเมตรรอบปล่องบำบัด มลพิษลดลงได้ถึง 10% และมีแผนจะสร้างปล่องบำบัดมลพิษที่สูงขึ้น 300 เมตรอนาคตหัวเมืองใหญ่ในจีนจะมีนวัตกรรมรูปทรงคล้ายปล่องไฟกระจายเต็มทั่วเมือง แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ประเทศไทยต้องมีนวัตกรรมนี้ เพราะมลพิษลดลงเพียง 1% คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นแล้ว ใช้พื้นที่ไม่มาก ถ้าปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างเดียวไม่รอด โดยเฉพาะช่วงสภาพอากาศวิกฤติ สำหรับการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ต้องเวนคืน ในอนาคตกฎหมายต้องบังคับโครงการคอนโดฯ ตึกสูง หรืออาคารหอพัก ให้ปลูกต้นไม้จริงๆ โดยเฉพาะไม้เลื้อยช่วยดูดความร้อนจากตัวอาคาร ประหยัดแอร์ได้ 20-30%
ศ.ดร.ศิวัชกล่าวด้วยว่า ทางการต้องเพิ่มบทลงโทษเอาผิดผู้เผาป่าเผาไร่สาเหตุของวิกฤติ PM 2.5 ในภาคเหนือ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยมีสารก่อมะเร็งกว่า 100 ชนิดซึ่งหมอกควันภาคเหนือมาจากสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะและภูเขาล้อมรอบ บวกกับการเผาป่าเผาซังข้าวซังข้าวโพดจนเกิดการสะสมหมอกควันและฝุ่นพิษในอากาศสูงมาก
“ทางการจับปรับ 500 บาท แล้วก็ปล่อย ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว เพราะเผาป่าได้ขยายพื้นที่ทำเกษตรเพิ่มขึ้นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ค่าตอบแทนคุ้มกว่าเสียค่าปรับ นี่คือโครงสร้างการเกษตรที่บิดเบือน ตราบใดที่กฎหมายบ้านเรายังอ่อนและไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจังก็ลำบาก แนวทางที่เสนอให้น้อมนำแนวพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรเชิงซ้อนไม่ตัดคนออกจากป่า มีต้นแบบวนเกษตรที่น่านปลูกยางพารา ชาอัสสัม กาแฟขี้ชะมด เลี้ยงโคและเลี้ยงไก่ เมื่อคนอยู่กับป่าจะรักษาอย่างยั่งยืนเพราะเป็นแหล่งสร้างรายได้ ส่วนกรุงเทพฯ แม้การเผาที่โล่งแจ้งไม่ใช่แหล่งกำเนิดมลพิษโดยตรง ส่วนใหญ่มาจากภาคขนส่งยานพาหนะ แต่รัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรในปริมณฑลปลูกอ้อยเพื่อส่งออกญี่ปุ่นใช้ในการเลี้ยงวัวสายพันธุ์ที่นำมาทำเนื้อวัววากิว รายได้ดีและลดการเผา" ศ.ดร.ศิวัชกล่าว
นอกจากนี้นักวิชาการนิด้าเสนอให้ตั้งสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านกฎหมายจะต้องยุบรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างกรมควบคุมมลพิษน่าเห็นใจการทำงาน ตรวจพบโรงงานปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานก็สั่งปิดไม่ได้ เพราะอำนาจอยู่ที่กรมโรงงาน หรือจะปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงลดปล่อยมลพิษก็เป็นหน้าที่ของอีกหน่วยงาน
ส่วนมาตรการระยะยาวในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษหมอกควัน ศ.ดร.ศิวัชเสนอว่า ประเทศไทยต้องมีกฎหมายอากาศสะอาด ปัจจุบันสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มีกฎหมายอากาศสะอาดแล้ว แต่บ้านเรายังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ มีแต่พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมปี 2535 มีแค่ 4 มาตราที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศ แม้แต่มาตรฐานการควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศของประเทศก็ไม่มี ปล่อยอะไรออกมาก็ไม่ผิด ทุกอย่างอยู่ในปอดประชาชน ย้อนไปกรุงลอนดอนอังกฤษ เมืองทั้งเมืองคลุ้งไปด้วยหมอกควันจากถ่านหิน มีคนตายเป็นหมื่น นำมาสู่การจัดตั้งกฎหมายอากาศสะอาดและปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย โทษปรับมหาศาลหากปล่อยมลพิษจากปล่องหรือกิจกรรมใดๆ ที่ก่อมลพิษ เรื่องนี้ภาคประชาชนมีส่วนสำคัญต้องร่วมขับเคลื่อนกดดันเพื่อปกป้องสุขภาพและชีวิตของตนเองจากมลพิษอากาศ นอกจากนี้เขาระบุว่า ในเมืองใหญ่รัฐต้องส่งเสริมการทำงานที่บ้านเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ลักษณะงานหลายประเภททำที่บ้านได้ สามารถส่งงานและประชุมร่วมกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพียงแต่ต้องประเมินประสิทธิภาพในการทำงาน รัฐบาลต้องหนุนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ควบคู่กับการส่งเสริมนโยบายลดภาษีรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) รวมทั้งรถเมล์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด-ไฟฟ้า อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เนื่องจากรถยนต์กลุ่มนี้ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศน้อยมาก
“ปัญหาฝุ่นพิษจะเวียนมาทุกปี ถ้าไม่แก้ไขจริงจัง ทุกปีมีคน 7 ล้านคน ตายจากโรคหัวใจ มะเร็งปอด และเส้นเลือดอุดตันในสมอง โดยเกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 และมลพิษอากาศตัวอื่นๆ แนวโน้มตัวเลขจะสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้มีงานวิจัยในจีนตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วระบุ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต และอัลไซเมอร์ มีความเป็นไปได้เกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษ เป็นความท้าทายที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาเผชิญ อยากให้ใช้สถานการณ์วิกฤติทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่หาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ไม่ให้รุนแรงไปมากกว่านี้ ไทยต้องมีเป้าหมายลดมลพิษอากาศ ไม่ใช่แค่ควบคุมมลพิษเท่านั้น" ศ.ดร.ศิวัชกล่าว
ผศ.ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล
ด้าน ผศ.ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า การรับมือกับวิกฤติฝุ่นพิษยังเป็นเรื่องที่ประชาชนควรตระหนักและรับรู้ถึงปัญหามลพิษอากาศ เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนในภาคเหนือเวลานี้ต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางฝุ่นละอองพิษ ควรป้องกันตัวเอง สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น ช่วยลดทอนฝุ่นที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งหน้ากากกันฝุ่นมีหลายแบบ โดยหน้ากากมาตรฐาน N 95 สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ วิธีใส่ต้องแนบกระชับกับใบหน้าเพื่อประสิทธิภาพในการกรอง ซึ่งผู้ป่วยโรคหอบหืดโรคทางเดินหายใจควรใช้อย่างระมัดระวัง รวมถึงการใช้กับเด็กต้องดูแลเป็นพิเศษ อาจขาดอากาศหายใจได้
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.รณบรรจบกล่าวว่า การเลือกใช้หน้ากากต้องเหมาะสมกับอันตรายจากมลพิษ และต้องทดสอบหน้ากากทุกครั้งว่าสมบูรณ์พร้อมใช้งานหรือไม่ เพื่อป้องกันฝุ่นเล็ดลอดเข้าไปได้ แต่หากเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยวิกฤติควรย้ายออกจากพื้นที่ชั่วคราว หากย้ายไม่ได้ต้องประเมินความเสี่ยงแต่ละช่วงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงในช่วงที่เกินค่ามาตรฐานสูง
ขณะนี้ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ และ ผศ.ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล พร้อมด้วย ผศ.ดร.รุจิกาญจน์ นาสนิท อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ร่วมกันทำหนังสือ “PM 2.5 มัจจุราชเงียบ” ถือเป็นคู่มือเตรียมเผชิญหน้าวิกฤติฝุ่นพิษ โดยผลงานดังกล่าวคณะผู้เขียนช่วยกันรวบรวมข้อมูลข่าวสารและงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก และเสนอทางแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชน อีกทั้งคณะผู้เขียนจะนำผลงานส่วนหนึ่งส่งต่อสู่สถาบันการศึกษาเพื่อปูพื้นฐานความรู้เรื่องมลพิษอากาศให้เยาวชนไทยอีกด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |