9เม.ย.62-สพฐ. เร่งแก้ปัญหา นิติกร ขาดแคลน หลังจากสพท.แต่ละแห่งยกระดับให้เป็นกลุ่มงานนิติกร เตรียมวางกรอบอัตรากำลังให้ลงตัว พร้อม หามาตรการสร้างแรงจูงใจ
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หลายแห่ง ประสบกับปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่นิติกรส่งผลให้การติดตามสอบสวนคดีต่างๆ ไม่คืบหน้าและล่าช้า ซึ่งตนรับทราบปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี และกำลังจัดเตรียมแนวทางการวางกรอบอัตรากำลังให้ลงตัวอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้งานนิติกรได้ถูกยกให้เป็นกลุ่มงานนิติการใน สพท.แล้ว หลังจากที่ผ่านมาเป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ อยู่ในเขตพื้นที่เท่านั้น แต่แม้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะยกให้เป็นกลุ่มงานก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะคนที่เข้ามาทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่เมื่อตั้งหลักได้ก็จะเปลี่ยนอาชีพไปสอบเป็นอัยการ ผู้พิพากษา ซึ่งคนเก่งๆ จะไปอยู่ในตำแหน่งที่มีค่าตอบแทนที่สูงกว่ามาอยู่กับเรา ดังนั้น สพฐ. กำลังแก้ไขปัญหานี้อยู่ โดยอาจหามาตรการสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้น
เลขาธิการกพฐ.กล่าวอีกว่าขณะนี้ สพฐ.กำลังพยายามเคลียร์กับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เรื่องการจัดสรรกรอบอัตรากำลังในเขตพื้นใหม่อยู่ แต่ ก.ค.ศ.ก็ชี้แจงว่าให้สพฐ.ไปทำกรอบอัตรากำลังเดิมให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน ซึ่งก็คือตอนแยกภาระงานของเขตพื้นที่ออกไปอยู่กับศึกษาธิการภาค (ศธภ.) เพราะทำให้อัตรากำลังของลดลง แต่ยืนยันว่าแม้อัตราลดลงแต่ภาระงานของเขตพื้นที่ ไม่ได้ลดลงเลยกลับมากขึ้น เนื่องจากนโยบายของส่วนกลางมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษา ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องเร่งเคลียร์กรอบอัตรากำลังใหม่จาก ก.ค.ศ.ให้ได้ ซึ่งขณะนี้ สพฐ.เตรียมจัดสรรกรอบอัตรากำลังใหม่ของเขตพื้นที่ไว้หมดแล้วว่าขาดเหลือจำนวนเท่าไหร่บ้าง เพื่อเสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดีมากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะหน่วยปฎิบัติจะทำงานไม่ได้ ดังนั้นหากมติเรื่องใดที่ก.ค.ศ.จะพิจาณาก็ควรเป็นแค่กำหนดหลักการส่วนหลักเกณฑ์วิธีการก็ให้หน่วยปฎิบัติดำเนินการเอง อย่างเช่น การสอบคัดเลือกบรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งมติ ก.ค.ศ.เมื่อเร็วๆนี้ก็ให้เราซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติเป็นผู้ออกหลักเกณฑ์คัดเลือกเอง เป็นต้น